ผู้คนนับพัน จับจองพื้นที่ เฝ้าหน้าจอหนังกลางแปลง ณ ลานคนเมือง ร่วมชมหนัง ‘สัปเหร่อ’ กทม. จับมือ ภาคีเครือข่ายภาพยนตร์ เดินหน้าส่งเสริมวัฒนธรรมการดูหนังไทย จัดฉายฟรีพื้นที่สาธารณะ ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ตลอดเดือนมกราคมนี้
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 68 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านภาพยนตร์ เปิดตัว “กรุงเทพกลางแปลง” ปีที่ 3 สอดคล้องนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล นำหนังไทยคุณภาพสู่พื้นที่สาธารณะ 3 จุดใจกลางเมือง ตลอด 3 สัปดาห์ในเดือนมกราคม 2568 พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและฟื้นฟูวัฒนธรรมการดูหนังไทยบนจอกลางแปลง
โดยในช่วงค่ำคืนเปิดงาน (4 ม.ค. 68) ณ ลานคนเมือง บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักจากผู้ชมนับพันคน ที่มาร่วมชมภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดแห่งปี 2566 ที่ได้รับการคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์โอซาก้า
เทศกาลนี้ จัดขึ้นวันเสาร์ – อาทิตย์ ของเดือนมกราคม ใน 3 พื้นที่สำคัญของเมือง ได้แก่ ลานคนเมือง, คลองผดุงกรุงเกษม (ฝั่งหัวลำโพง) และสวนลุมพินี โดยคัดสรรภาพยนตร์ไทยคุณภาพ 6 เรื่อง รวมถึง “ทวิภพ” ฉบับ Director’s Cut ที่ไม่เคยฉายในโรงภาพยนตร์ของผู้กำกับ สุรพงษ์ พินิจค้า ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติด้วย
นอกจากการฉายภาพยนตร์ ภายในงานยังมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งคอนเสิร์ตจากศิลปินที่วนเวียนกันทุกสัปดาห์ การเสวนากับทีมงานเบื้องหลัง และ ตลาดนัดคนกองถ่าย ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรทีมงานจากวงการภาพยนตร์นำสินค้ามาจำหน่าย สร้างรายได้เสริมเข้ากลุ่มชุมชนสร้างสรรค์
ปรีชา ปัดภัย ผู้เขียนเพลงประกอบภาพยนตร์ ยังได้ร่วมเล่นดนตรีและเล่าถึงเบื้องหลังการแต่งเพลงให้กับทีมไทบ้านก่อนเริ่มฉายภาพยนตร์สัปเหร่อ โดยพูดถึงงานกลางแปลงว่า “ปัจจุบันต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้กัน ต้องแข่งขันกันในตลาด จนลืมภาพความทรงจำในวัยเด็กไปแล้ว งานนี้ก็เหมือนบรรยากาศเก่า ๆ มันกลับมา” ก่อนจะเริ่มเล่นเพลงจากเรื่องราวของจักรวาลไทบ้านอย่าง “ขอบใจเด้อ”, “แรกตั้งใจฮัก” และ “ยื้อ”
ขณะที่เวทีเสวนาก่อนการฉายภาพยนตร์ ต้องเต – ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับหน้าใหม่ที่รับหน้าที่ทั้งการแสดง เขียนบท กำกับ ผลิตเพลง และตัดต่อ เผยที่มาของภาพยนตร์ ว่า เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลไทบ้านที่วางโครงเรื่องสัปเหร่อไว้อยู่แล้วก่อนหน้า แต่โควิด-19 ทำให้ทีมงานต้องแยกย้ายกัน จึงขอรับหน้าที่มาทำภาพยนตร์เรื่องนี้
“ผมก็ไม่รู้ว่ามันสัปเหร่อมันดีจริงหรือไม่ดีจริง แต่ผมก็ทำเท่าที่ผมรู้ ทำเท่าที่ผมทำได้ และจะทำต่อไปเรื่อย ๆ”
ต้องเต – ธิติ ศรีนวล
ศุภณัฐ นามวงศ์ ผู้อำนวยการสร้าง เล่าถึงการตัดสินใจเลือก ต้องเต มากำกับว่า เห็นความเป็นไทบ้านภาคแรก ทั้งความตลกและความเป็นธรรมชาติที่เป็นตัวตน ทำให้นึกถึงความรู้สึกตอนทำภาคแรก และเชื่อว่าแฟน ๆ ไทบ้านจะต้องชอบ
ปรีชา ในฐานะผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ เปิดเผยที่มาของบทเพลงว่าได้แรงบันดาลใจจากฉากสนทนาธรรมในภาพยนตร์แม่นาคพระโขนง ที่ได้ดูแล้วสามารถแต่งเพลง “ยื้อ” ประกอบเรื่องสัปเหร่อออกมาได้ภายใน 45 นาที
“ความตายและการต้องจากคนที่รักไปเป็นเรื่องสากล สัปเหร่อเป็นหนังที่มีทั้งความซึ้ง ความรัก และความฮาให้ได้ชมกัน” ทราย – อินทิรา เจริญปุระ ผู้ดำเนินรายการกล่าวปิดท้าย สะท้อนความสำเร็จของภาพยนตร์ที่แม้ไม่ได้ใช้ดาราดัง แต่สามารถสร้างกระแสและรายได้อย่างถล่มทลาย ก่อนที่ ต้องเต จะเกริ่นว่าสามารถรอติดตาม “สัปเหร่อ 2” ได้ในเดือน ตุลาคม ปีนี้ด้วย
สำหรับ กรุงเทพกลางแปลง จัดขึ้นในวัน เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป โดยเริ่มฉายภาพยนตร์ เวลา 19.00 น. ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมฟรีตลอดงาน โดยกิจกรรมมีตารางฉายดังนี้
- วันที่ 4 มกราคม 2568 ฉาย สัปเหร่อ และ วันที่ 5 มกราคม ทวิภพ (Director’s Cut) ณ ลานคนเมือง เสาชิงช้า
- วันที่ 11 มกราคม 2568 ฉาย Sea Sparkle และ วันที่ 12 มกราคม RedLife ณ คลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งหัวลำโพง
- วันที่ 18 มกราคม 2568 ฉาย ดอยบอย และ วันที่ 19 มกราคม ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง ณ อาคารบันเทิง สวนลุมพินี
นอกเหนือจากงานกรุงเทพกลางแปลงแล้ว ยังมีการส่งเสริม soft power อย่างภาพยนตร์คนไทยในเทศกาลอื่น ๆ อย่าง Bangkok Experimental Film Festival ครั้งที่ 7 ในช่วงสิ้นเดือนนี้ นำด้วยภาพยนตร์ Virtual Reality เรื่อง A Conversation with the Sun โดย เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ครั้งแรกในกรุงเทพฯ ด้วย
เวลานี้วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญกับทั้งความท้าทายและโอกาสอันยิ่งใหญ่ ทั้งการปิดตัวลงของโรงภาพยนตร์อิสระขนาดเล็กอย่าง Doc Club & Pub. ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของภาพยนตร์ “หลานม่า” ที่ได้ลุ้นเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งการมีกิจกรรมฉายหนังอย่าง กรุงเทพกลางแปลง ครั้งนี้ ก็ถูกคาดหวังให้ช่วยผลักดันวงการภาพยนตร์และศิลปะไทย ให้แข็งแกร่งขึ้น ให้เห็นศักยภาพที่จะเติบโตเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ได้ในอนาคต