เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ กทม. และการทางพิเศษฯ เปิดพื้นที่สวนใต้ทางด่วนพระโขนง ฉบับปรับปรุงใหม่ ด้วยแนวคิด Blue-Green Infrastructure ใช้ประโยชน์ร่วมพื้นที่สีเขียว พื้นที่น้ำ ตามแนวคิดสวน 15 นาที เข้าถึงง่ายใกล้บ้าน
วันนี้ (22 ก.ค. 2566) กลุ่ม we!park เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตคลองเตย กทม. จัดกิจกรรม workshop Healthy City Trends Review เปิดโครงการ POP PARK BKK ณ สวนใต้ทางพิเศษฉลองรัช ซอยสุขุมวิท 48/1 โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นในงานประกอบด้วย เสวนาถอดบทเรียนการพัฒนาสวน 15 นาที การปลูกพืชสมุนไพร และการแห่เทียนทางน้ำ ฟื้นคืนวัฒนธรรมเก่าแก่ท้องถิ่นที่เคยมีในอดีต
ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ที่มีศักยภาพแต่ถูกใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอยู่เป็นจำนวนมาก เครือข่ายพัฒนาเมืองฯ จึงได้ร่วมมือกับ กทม. หยิบยกเอา 24 พื้นที่ตัวอย่างจาก ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Park Coaching and Clinic)’ และ 6 สวน 15 นาทีนำร่อง มาทดลองใช้เป็นพื้นที่ปลดล็อกศักยภาพของเมือง เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่เกิดจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างเปล่า สร้างสุขภาวะที่ดี และสร้างพื้นที่กิจกรรมทางสังคมให้ผู้คน
เขาบอกว่ากิจกรรมในครั้งนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนงานผ่านพื้นที่สวน Pop-up park ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการทดลองสร้างตัวชี้วัดกับพื้นที่สาธารณะ โดยมีการพัฒนาแบบร่วมกับชุมชนและสำนักงานเขตที่ได้เข้ารับการอบรม และได้ทำการจัดกลุ่มเข้าประเด็นจาก 6 ประเด็นสำคัญของเมืองที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Community & Well-being, Mobility & Connectivity, Blue-green infrastructure, Biodiversity, Urban Agriculture และ Cultural and creative activity เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเพื่อการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีสุขภาวะที่ดีในอนาคต ซึ่งในกระบวนการออกแบบ พัฒนาแบบ และการจัดกิจกรรมของแต่ละพื้นที่ ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา วิชาชีพ ประชาสังคม จากรอบ ๆ พื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
“กิจกรรมในวันนี้เป็นเหมือนสวนจำลองที่ให้คนได้เข้ามาลองใช้และสะท้อนความคิดเห็น ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนในประเด็น Blue-green infrastructure คือการพัฒนาพื้นที่สวนพร้อม ๆ กับการใช้ประโยชน์ทางน้ำร่วมกัน ตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 สิงหาคมนี้ จะมีการจัดกิจกรรมในสวนต่าง ๆ และเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงพื้นที่สวนของกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งกระบวนการที่สำคัญหลังจากนี้คือการเชื่อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชุมชน เอกชน มหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้กิจกรรมสอดคล้องตรงใจ และระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงิน อุปกรณ์ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป”
ยศพล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้พื้นที่นี้ยังมีพื้นที่สวนในประเด็นอื่น ๆ จะจัดแสดงการทดลองใช้ในอีก 24 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ความร่วมมือในครั้งนี้ต้องการเปลี่ยนกระบวนการผลิตสวนรูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพราะถ้าจะต้องเพิ่มพื้นที่สวนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพไปพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าแต่ละเขตมีศักยภาพในการออกแบบพื้นที่ร่วมกับวิชาชีพ ก็จะทำให้การพัฒนาตอบโจทย์ตรงในการใช้งานจริงของคนในพื้นที่
จุไรรัตน์ เครือพิมาย ประธานวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง กล่าวว่า สวนนี้ถูกปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ ในโอกาสครบรอบ 80 พรรษา 100 ปีการทางพิเศษฯ และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่สวนร่วมกับการทางพิเศษฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ ทำเลดี มีความปลอดโปร่ง เป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มาออกกำลังกาย สำหรับการปรับปรุงเพิ่มเติมในครั้งนี้ ก็เป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น แปลงปลูกพืชสมุนไพร เพื่อเป็นต้นทุนทางอาหารปลอดภัยให้กับชุมชน
นอกจากนี้การใช้แนวคิดพัฒนาสวนควบคู่กับการคำนึงถึงทรัพยากรทางน้ำ ซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ยังเป็นอีกแนวทางในการอนุรักษ์วิถีชีวิตริมคลองพระโขนง อย่างกิจกรรมไฮไลต์ของวันนี้คือ การแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ไปถวายที่วัดมหาบุศย์ เป็นวัฒนธรรมในอดีตที่ไม่ปรากฏในปัจจุบัน งานนี้จึงสะท้อนความพยายามเชื่อมสัมพันธ์ชุมชน และฟื้นคืนวิถีดั้งเดิม
“เรามองว่าพื้นที่สวนไม่ใช้แค่การมีไม้ประดับ แต่ต้องมีไม้ประแดกด้วย เลยเป็นความคิดร่วมกันที่จะปลูกพืชสมุนไพรและพืชสวนครัวที่กินได้ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนของเราเป็นต้นแบบของการจัดการขยะ ขับเคลื่อนเรื่องการใช้ประโยชน์จากขยะเหลือทิ้ง นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เปลี่ยนขยะมาสร้างประโยชน์ เช่น สบู่ น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ การที่มีพื้นที่แบบนี้จึงไม่ใช่แค่การมีพื้นที่กลาง พื้นที่สีเขียวให้อากาศดี ยังเป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือในอนาคตก็จะเป็นพื้นที่เวิร์กช็อปเพื่อการเรียนรู้ ส่วนต้นทุนวัฒนธรรมทางน้ำที่เคยมีทั้งการแห่เทียน งานบวช ต่าง ๆ ถ้าหวนคืนกลับมาก็น่าจะช่วยสร้างสีสันได้ดีไม่น้อย และยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมวิถีชีวิตริมคลองพระโขนงด้วย”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธาน Thammasat Fleet กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ใต้ทางด่วนมักเป็นพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ การปรับพื้นที่เป็นสวนอย่างในครั้งนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพิ่มโอกาสในกรุงเทพฯ มีสวนเพิ่มขึ้นอีกมากมาย สำหรับสวนนี้มีความพิเศษ เพราะนอกจากพื้นที่สีเขียวจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษในเมือง ยังมีแปลงปลูกพืชผักสวนครัวที่กินได้ ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องของขยะได้ด้วย เพราะเมืองใหญ่มีปัญหาเรื่องนี้มาก แต่ขยะเศษอาหารหากแยกแล้วยังสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืชในสวนได้ ช่วยลดปริมาณขยะอาหารในภาพรวมได้ เป็นการทำงานแบบครบวงจร ทั้งสิ่งแวดล้อมและเรื่องเศรษฐกิจ เพราะการมีพืชผักไว้เป็นวัตถุดิบทำอาหารก็ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ หรือมากกว่านั้นคือเก็บขายได้ด้วย
“สิ่งสำคัญคือต้องชวนเอกชนที่อยู่รอบ ๆ มาร่วมขับเคลื่อนด้วย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกบริษัทมี CSR เราก็ชวนเขามาทำสวนแบบนี้ได้อีกมาก ให้เป็นสวนเล็ก ๆ กระจายอยู่ให้ทั่ว ถ้าให้สวนเป็นตัวดึงภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะเป็นโมเดลในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ จากการมีส่วนร่วมได้”