สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม และภาคี จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับแก้ผังเมืองรวมใหม่ และสร้างการรับรู้ในสังคมวงกว้าง พร้อมปรับแก้เงื่อนไขในรายละเอียดให้สอดรับกับกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนาดของถนน และวางแนวทางจัดการพื้นที่น้ำซึมดิน
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง (คปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ และสภาองค์กรของผู้บริโภค(สภาผู้บริโภค) ได้มีการจัดเวทีเสวนาภาคประชาชนในหัวข้อผังเมืองรวมกทม. เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน? โดยมีผู้ร่วมเสวนาที่หลากหลาย ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มาร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น ทั้งจากการติดตามข้อมูลในเรื่องเนื้อหาของกฎหมายทั้งที่กำลังจัดทำร่างฯ ขึ้นใหม่ และที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสิ่งที่ประชาชนต้องประสบกันมาโดยตลอดในปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติ การตีความข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน การบังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมไปถึงการละเว้นไม่บังคับใช้กฎหมาย ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางคณะผู้จัดงานได้จัดทำสรุปรายละเอียดเป็นเอกสารไว้แล้ว
จากข้อสรุปที่ได้จากการเสวนาดังกล่าว จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะเรียกร้องให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักวางผังและพัฒนาเมือง รวมไปถึงคณะผู้จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้มีการทบทวนกระบวนการรวบรวมข้อมูลเพื่อจะนำไปใช้ในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทมหานครใหม่ทั้งหมด โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
- ขอให้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชนใหม่ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบผังเมืองอย่างแท้จริง โดยเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างละเอียด ดังนี้
1.1) การประชาสัมพันธ์ ต้องทำอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางสื่อ ที่หลากหลาย ไปสู่ทุกพื้นที่ ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และต้องจัดสรรเวลาการประชุมรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับเนื้อหาของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง เข้าใจในเนื้อหาและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้อย่างแท้จริง โดยมิใช่การจัดทำเนื้อหาแบบสรุปรวบรัดมาจากผู้จัดทำ และจัดรับฟังความเห็นเพื่อนำเสนอให้ประชาชนรับทราบเท่านั้น
1.2) ขอให้จัดเตรียม หัวข้อ เนื้อหา เอกสาร สื่อนำเสนอ ที่ใช้ในการรับฟังความเห็นให้มีความครบถ้วนและชัดเจนเพียงพอที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจ และสามารถตั้งคำถาม รวมไปถึงการนำเสนอ แลกเปลี่ยน เพื่อให้ทางคณะผู้จัดทำสามารถ นำผลที่ได้กลับไปวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อร่างเนื้อหา การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและ นำกลับมาแสดงให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ ว่าข้อเสนอหรือข้อสังเกตจากประชาชนเป็นไปตามที่ได้มีการประชุมรับฟังความเห็นกันไป
1.3) การประชุมรับฟังความเห็นกับภาคประชาชนต้องมิใช่การทำร่างผังเมืองจากเฉพาะกลุ่มคนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบางกลุ่ม และจัดประชุมเพื่อนำเสนอให้ประชาชนรับทราบแบบไม่เข้าใจเนื้อหา เพื่อให้จบกระบวนการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แบบรวบรัดและเร่งการประกาศใช้หรือทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
- ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นกับภาคประชาชน ขอให้เพิ่มสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้มีความรู้ด้านการผังเมือง หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จากองค์กร หรือสถาบันต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากคณะผู้จัดทำ ที่ปรึกษาผู้ร่วมจัดทำร่างผังเมืองชุดเดิมที่เคยทำขึ้นมาไว้แล้วเอามาใช้นำเสนอตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ข้อมูล รวมไปถึงการจตอบข้อสงสัย ข้อซักถามจากประชาชนในการนำมาประกอบการพัฒนาร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และเพื่อป้องกันมิให้การจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4) เกิดขึ้นจากความเห็นของคณะผู้จัดทำเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากผังเมืองที่กำลังพัฒนาอยู่เป็นผังเมืองที่คณะผู้จัดทำดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561
- ขอให้รวบรวมประเด็น และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เคยได้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนา ปรับปรุง รวมไปถึงประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และนำเข้าสู่กระบวนการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชนใหม่เพื่อให้มีการปรับปรุงในรายละเอียดในเนื้อหาที่จะสอดคล้องสัมพันธ์กันในเรื่องการพัฒนา ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ ระบบของเมือง และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ที่มีองค์ประกอบ และปัจจัยที่ต่างกันไป
- ขอให้ชี้แจงรายละเอียดของเนื้อหาและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ปรากฏเพียง 3 ขั้นตอนจากทั้งหมด 22 ขั้นตอนในพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ. 2562 ว่าเป็นการจัดการประชุมในรูปแบบใด ที่จะไม่เป็นการเร่งรัด มีความชัดเจน โดยต้องจัดสรรเวลาและสถานที่อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง โดยไม่อ้างเหตุผลเรื่องข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ หรือความเร่งรีบใดๆที่จะต้องประกาศใช้ จากที่ล่าช้ามานาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ถูกต้องในกระบวนการจัดทำ เป็นธรรม และไม่สร้างความเสียหายต่อประชาชนผู้ที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้กฎหมายผังเมือง ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น ๆ อีก เช่น กฎหมายควบคุมอาคารกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ถูกนำไปใช้ในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง และการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และกฎหมายเหล่านี้ล้วนมีเจตนารมณ์ที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนในหลายมิติ ซึ่งหากมีการละเลย หรือละเมิด รวมไปถึงการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือบังคับใช้กฎหมาย จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของสวัสดิภาพ ความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในระดับชุมชน และระดับเมือง ยกตัวอย่างเช่น
- การกำหนดระยะความกว้างของถนนสาธารณะให้มีความสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่อาคาร เช่น เมื่ออาคารมีขนาดใหญ่ กฎหมายก็กำหนดให้ถนนสาธารณะมีความกว้างมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อให้ถนนสาธารณะมีความกว้างมากเพียงพอต่อการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการจราจร ทั้งในยามปกติ หรือในยามที่จำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องมีการขนย้าย อพยพ หรือการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ
- จากเรื่องระยะความกว้างถนนที่มีผลต่อขนาดพื้นที่อาคารที่สามารถสร้างได้ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากการละเมิด การตีความข้อกฎหมาย การละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้อาคารขนาดใหญ่เข้าไปสร้างในพื้นที่ชุมชน จำนวนหลายชุมชนที่ระยะความกว้างถนนไม่สัมพันธ์กับขนาดพื้นที่อาคารที่สร้าง และยังเชื่อมโยงไปถึง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่งจากเนื้อหาที่นำเสนอโดยคณะผู้จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่ได้แสดงให้เห็นถึงจำนวนถนน 154 สาย ระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร ที่จะมีการขยายระยะความกว้างเพิ่ม หรือตัดใหม่โดยอ้างเรื่องการจราจร การขนส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงประชาชน ทั้งในเรื่อง การเวนคืนที่ดินที่ประชาชนเป็นเจ้าของในหลายพื้นที่ โดยไม่มีการปรึกษาหารือ แจ้งให้ทราบ หรือรับฟังความเห็นใด ๆ จากประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวและ ยังเป็นที่มาถึงข้อสังเกตุในเรื่องของการเอื้อเฟื้อผลประโยชน์ ใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างอาคารขนาดต่าง ๆ ในซอยที่มีความกว้างของถนนไม่ถึงตามที่กำหนดสามารถสร้างอาคารที่ต้องการได้ ดังนั้น ควรมีการ นำเสนอผังเส้นทางถนนดังกล่าวทั้งหมดอย่างละเอียด และชัดเจนออกมา เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบได้รับทราบ และแสดงความคิดเห็นได้ก่อนที่จะนำไปสรุปชี้นำ และจัดทำผังเมืองใด ๆ ขึ้นมา
- เรื่อง พื้นที่น้ำซึมดิน – Biotope Area Factor ( BAF ) ที่ถูกบรรจุไว้ในกม.ผังเมืองที่มีอยู่เดิม แต่ความเป็นจริงในการปฏิบัติ กลับมีการละเมิดไม่กระทำตามกันมากมายและไร้ซึ่งการตรวจสอบหรือการจัดการใด ส่งผลในเรื่องการระบายน้ำของชุมชนและเมือง สังเกตได้จากอาคารที่แทบไม่มีพื้นดินในบริเวณแปลงที่ดินที่ก่อสร้างเลย เทปูนเป็นลานคอนกรีต หรือ ต่อเติมจนเต็มพื้นที่ เพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์ของผู้ประกอบการ
จากตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่แสดงข้างต้น เป็นแค่บางปัญหาที่แม้ว่าจะมี กฎหมายผังเมืองฯ กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ดูแลอยู่ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับสร้างปัญหา และผลกระทบความเสียหายอย่างมากต่อชุมชนและประชาชนส่วนใหญ่อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ในส่วนของ กฎหมายผังเมือง จึงควรต้องถูกพิจารณาปรับแก้เนื้อหาในกฎหมายออกมาอย่างรอบด้าน ถี่ถ้วน และมีการประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ หรือไม่บังคับใช้ในเนื้อหาของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ จากสิ่งที่เกิดขึ้นที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว และร่างกำหนดเนื้อหาใน ร่างกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่กำลังจัดทำขึ้นมาใหม่นี้ ควรให้มีผลในการบังคับใช้ทางกฎหมายได้จริง และควรมีการระบุบทลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้ที่ละเมิด หรือละเว้นการใช้กฎหมายโดยต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละให้มีการละเมิด บิดเบือนกฎหมาย อนุมัติผ่านให้สร้างกันไป แล้วค่อยมาไล่แก้เปลี่ยนสีในผังให้เข้ากับการใช้งานที่ถูกรุกรานละเมิด ไม่ทำตามประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้อย่างที่กระทำกันต่อเนื่องมา