ประชาชนชาว กทม. ร่วมแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม กทม. หลายคนแสดงความเห็น “คัดค้าน” เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม ขณะที่กระบวนการร่าง “ไร้การมีส่วนร่วม” ของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น แนะควรขยายเวลารับฟัง
วันนี้ (6 ม.ค.67) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้ประชาชนรับทราบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุง ตามขั้นตอนมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเพื่อทุกคนและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีภาคประชาชน ผู้แทนราษฎร ผู้บริหาร คณะทำงาน กทม. เข้าร่วม
ณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. กล่าวว่า การแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองรวมของประชาชนครั้งนี้จะเป็นการร่วมกันกำหนดอนาคต กทม. เพื่อทุกคนและลูกหลานสืบไป ขอให้ทุกคนร่วมแสดงความเห็นต่อผังเมืองนี้ โดยหวังนำข้อเสนอแนะและแนวคิดอย่างสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสู่การสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งเอเชีย เมืองที่มีความสมดุล มีความเสมอภาค อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
การประชุมครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ มาอธิบายรายละเอียดในและด้านที่มีการปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนได้ยืนขึ้นกล่าวแสดงความเห็นต่อคณะทำงาน โดยการแสดงความเห็นทั้งหมดจะถูกบันทึกและสรุปความเห็นทั้งหมดที่ได้รับในวันนี้จะนำมา สรุป 12 ม.ค. เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดพิจารณาลงความเห็นตามลำดับ ก่อนเข้าสู่การปิดประกาศ 90 วัน ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการยื่นร้องขอแก้ไขต่อไป
ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังเมือง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการร่างผังเมืองรวม คือเมื่อ 24 ม.ค. 61 คณะกรรมการผังเมืองอนุมัติให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 จากนั้นได้มีการศึกษาวิเคราะห์และจัดทำร่างขึ้น พร้อมจัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เมื่อเดือน พ.ค. 62 และต่อมา 28 ม.ค. 64 คณะกรรมการผังเมืองมีมติให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ 2562 กทม.จึงดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมการศึกษาวิเคราะห์และจัดทำร่างผังเมืองฉบับปัจจุบัน และนำมาสู่การรับฟังความเห็นจากประชาชน ที่จัดไปแล้วเมื่อ 23-24 ธ.ค.66 และวันนี้
ชูขวัญ ระบุว่า ประชาชนลงความเห็นได้ 3 ทาง คือ กล่าวด้วยวาจาในห้องประชุม เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบฟอร์ม สามารถส่งกับเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ทางไปรษณีย์ได้ หรือสามารถแสดงความเห็นผ่านออนไลน์ที่ webportal.bangkok.go.th/cpud ภายในวันที่ 22 ม.ค.67
ผศ.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวว่า เหตุผลในการปรับปรุงผังเมือง กทม. เนื่องจากคาดการณ์ในปี พ.ศ.2580 ประชากรจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนคน มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 30% ของประชากรทั้งหมด รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า การจราจรที่จำนวนรถสวนทางกับถนน ทำให้ กทม. มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ประกอบกับการพัฒนารถไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้น 22 เส้นทางในอนาคต
ขณะที่ รศ.นพนันท์ ตาปนานนท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง กล่าวถึง รายละเอียดในการปรับปรุงผังเมืองว่าเป็นไปตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายผู้ว่าฯ 9 ด้าน 9 ดี ผังนโยบายระดับภาค ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผังนโยบายของประเทศ โดยการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ประกอบด้วย
- แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ทางที่ดิน เพื่อกำหนเดทิศทางการใช้ที่ดิน ในอนาคตให้สอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
- แผนผังแสดงที่โล่ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ
- แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง ในอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง
- แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูประโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
- แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แผนผังแสดงผังน้ำ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม
ธนิชา นิยมวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมและการขนส่ง เผยข้อมูลที่มีการแก้ไขผังเมืองที่สำคัญใน 9 บริเวณ คือ
- บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ (เปลี่ยนจาก ศ.1 และ ศ.2 เป็น ย.11 พ.1 พ.2 และ ส.)
- รัชโยธิน (เปลี่ยนจาก ย.5 และ ย.7 เป็น ย.11 และ ย.13) ที่มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
- ดอนเมือง (เปลี่ยนจาก ย.3 เป็น ย.7 และ พ.5) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)
- ลาดพร้าวรามอินทรา (เปลี่ยนจาก ย.3 และ ย.4 เป็น ย.6 และ ย.7) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ส าโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)
- ศรีนครินทร์ (เปลี่ยนจาก ย.4 เป็น ย.7) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (อ่อนนุช-เคหะฯ) สายสีแดง (ARL พญาไท-สุวรรณภูมิ) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
- มีนบุรี (เปลี่ยนจาก ย.3 เป็น ย.6 และ เปลี่ยนจาก ย.6 เป็น ย.10) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
- ทางน้ำหลาก (เปลี่ยนจาก ก.1 บางส่วน เป็น ก.2 ใหม่) โดยขยาย ขุดคลองระบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ
- ตลิ่งชันและทวีวัฒนา (เปลี่ยนจาก ก.2 เดิม และ ก.4 เดิม เป็น ย.1 ย.3 ย.4 ย.6 ย.8 และ พ.4) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางแค) และสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน)
- วงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์ (เปลี่ยนจาก ย.4 เป็น ย.8 และจาก ย.11 เป็น ย.13) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วง (เตาปูน-ครุใน)
สามารถอ่านรายละเอียดการร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครได้ที่ https://plan4bangkok.com/download/
ด้าน ผศ.พรสรร วิเชียร์ประดิษฐ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวว่า นอกจากการปรับปรุงผังเมือง กทม.ได้เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่ต้องการพัฒนาหรือดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 10 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมระหว่างแปลงที่ดิน TDR ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคาร อนุรักษ์ และมาตรการเฉลี่ยอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมสำหรับโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ (PUD) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ดินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
มลดา ระหว่างโรจน์ ประชาชน กล่าวว่า ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากผังเมือง เพราะที่ดินของแม่อยู่ตรง 3 แยกสุวิทวงศ ประชาอุทิศ ให้เป็นที่ดิน ก.1 (พื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) มา 56 ปี จนพ่อเสียเสียชีวิต ส่วนแม่อายุ 94 ปีแล้ว แต่ฉบับปรับปรุงใหม่ยังคงเป็นสีเดิม อยากให้แก้ไขเป็นสีส้มที่อยู่อาศัย เพราะบริเวณนั้นไม่เหมาะที่จะทำเกษตรกรรมตามที่ผังเมืองกำหนด
“แม้ว่าที่ดินจะติดกับพื้นที่สีส้ม (ย.6-ย.10) และมีรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีมีนบุรีก็อยู่ไม่ห่างจากตรงนั้น ขอเปลี่ยนให้เป็นสีส้มบ้าง ไม่อยากเป็นเขียวลายแล้ว แล้วปลูกต้นไม้ตายทุกปี น้ำท่วมทุกปี พอปลูกไม่ได้ก็เสียภาษีเต็มที่ เพราะหาว่าเป็นที่รกร้าง”
มลดา ระหว่างโรจน์
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวว่า เรื่องเวลาในการแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองนั้นมีให้ประชาชนที่ให้น้อยเกินไป ถามว่ารับฟังแล้วจะนำไปทำอะไรบ้าง ตนพยายามส่งสัญญาณบอกมาตอลดว่ากระบวนการเริ่มผิด เพราะการปรับปรุงต้องเริ่มจากประชาชน ก่อน พร้อมท้าให้ไปถามว่ามีประชาชนกี่คนที่รู้กระบวนการปรับปรุงผังเมืองฉบับนี้ รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้กันกี่คน
“ที่บอกว่าทำมาตั้งแต่ ปี 60 ถามว่ามีใครรู้บ้าง พอปี 62 ต้องทำใหม่ ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มีเงื่อนไขเยอะมากที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้ว่าฯ เคยรับปากว่าจะรื้อผังเมืองใหม่ มาตรา 9 สำคัญมา แต่ท่านกลับทำกับแบบเดิม ประชาชนรู้กันกี่คน และมีคนที่รู้แล้วเล็ดลอดเข้าไปในกระบวนการท่าน กี่คนที่เข้าใจ ผังที่เนรมิตขึ้นมา เส้น สาย สี ที่ระบาย ยุบยิบไปหมด พอเริ่มด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ มันถึงตกผลึกได้ว่า ผมเข้าใจแล้วว่าท่านไม่ต้องการให้เรารู้ เพราะถ้าเรารู้ก็น่าจะเป็นภาพวันนี้ ที่เห็นภาพใหญ่ ว่าถ้าประชาชนรู้รายละเอียดทั้งหมดร่างผังเมืองนี้จะไม่มีทางผ่าน ถ้าเขารู้ว่าท่านเขียนอะไร ผังท่านจะล้มทั้งหมด จุดอ่อนของกฎหมายฉบับนี้คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ถามง่าย ๆ เลย การเวนคืนถนนมาจากไหน ใครขีดขึ้นมา ผมจะถามท่าจะตัดอีกกี่หมื่นสายก็ได้ แต่มาถามพวกผมก่อนครับ สิทธิในการเริ่มกฎหมายฉบับนี้เริ่มที่ประชาชน จบที่ประชาชน ขยายเขตถนน 12-16 เมตร บอกว่าจะไม่เวนคืน ถ้าอย่างนั้นระบุไปในผังเมืองด้วยนะว่าจะไม่เวนคืน”
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ผังเมืองที่ร่างขึ้นนี้ดูเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนมาเกินไป และยังให้เวลาในการแสดงความเห็นกับประชาชนน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นลงลึกในรายละเอียดได้ จากการลงพื้นที่หลายเขต เช่น จตุจักร บางซื่อ พญาไท จึงขอเสนอ ดังนี้ 1. การขยายถนน ควรทำผังเมืองย่อย พื้นที่ถนนซอยย่อยจำนวนมาก ส่วนใหญ่กว้างเพียง 6 เมตร ซึ่งในการใช้งานจริงบ้านเรือนอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ นำกระถางต้นไม้ไปวาง ทำให้รถไม่สามารถขับสวนทางได้ โดยยกตัวอย่างซอยราชครูและซอยสายลมย่านอารีย์ ที่มีแผนจะขนายถนนเพื่อรองรับคอนโดมเนียมที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยหนาแน่น มองว่าควรจะหยุดได้แล้ว ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีการสร้างคอนโดขึ้นใหม่ ดังนั้น กทม.จะต้องทำผังเมืองย่อย โดยต้องรับฟังเสียงประชาชน 2. สร้างถนนทางลัดแทนการขยายถนนหลัก 3. ความเป็นเมืองซับน้ำของ กทม. หายไป มองว่าสีในผังเมืองที่เข้มขึ้นสะท้อนให้เห็นความหนาแน่นของพื้นที่โดยลืมคำนึกถึงลักษณะภูมิประเทศ ทั้งที่ กทม. ชั้นในควรจะถูกสงวนไว้ ไม่ควรสร้างตึกเพิ่ม
“สีที่ทำผังเมืองเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ท่านฟังนายทุนมากไป ท่านควรจะเปิดเวลารับฟังประชาชนให้มากขึ้น เวลามันน้อยเกิน พอน้อยเกินไปเนื้อหาข้าในมันไม่ได้อะไรเลย”
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี