เป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางเมื่อร่างผังเมืองฉบับใหม่ของ กทม.ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผังเมืองนี้จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มหรือไม่? ย้อนไปเมื่อ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางพรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ถึงข้อกังวล 10 ข้อต่อร่างผังเมือง กทม.และในวันที่ 11 ม.ค. 2567 ทาง กทม.ก็ได้ออกแถลงชี้แจงถึงข้อกังวลดังกล่าว จุดที่น่าสนใจคือ เนื้อหาการชี้แจงของทาง กทม.นั้น สอดคล้องพอดีกับข้อสังเกตที่ทางพรรคก้าวไกลได้ตั้งไว้ทุกข้อ The Active ชวนผู้อ่านสำรวจ 10 ข้อสงสัยผังเมือง ก้าวไกลถาม – กทม. ตอบ เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพปัญหาผังเมืองกรุงเทพฯ อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกชีวิตในเมือง
1. กระบวนการรับฟัง-มีส่วนร่วมมีข้อจำกัด?
ก้าวไกลสงสัย: การรับฟังความเห็น (ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา) มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ หากพี่น้องประชาชนไม่ได้เข้าร่วม หรือไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางวาจาไว้ จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดใดหลังจากนี้ได้อีก นอกจากนี้ร่างผังเมืองปัจจุบันนี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องประกาศบังคับใช้ก่อน จึงต้องร่วมกันสงวนสิทธิไว้ เพื่อจะได้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในรอบถัดไป
กทม. แจง: กรุงเทพมหานครกําหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานครฉบับใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ไปจนถึง 22 มกราคม 2567 ด้วยการแสดงความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านแบบแสดงความคิดเห็น (แบบ สค.) ซึ่งสามารถยื่นผ่านระบบ Online หรือยื่นเป็นเอกสารได้ด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์มาที่สํานักการวางผังและพัฒนาเมือง ทั้งนี้ การยื่นแสดงความคิดเห็นตามระยะเวลาดังกล่าวจะถือว่าเป็นการสงวนสิทธิ์เพื่อให้สามารถยื่นคําร้องในช่วงการปิดประกาศ 90 วันเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการผังเมือง
แต่ภายหลังการจัดกิจกรรมประชุมรับฟังความคิดเห็นวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจต่อร่างแผนผังเป็นจํานวนมาก
และมีข้อคิดเห็นของประชาชนที่เสนอให้ขยายระยะเวลาการรับฟังความของประชาชนออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยคงช่องทางการรับความเห็นไว้ทั้งช่องทาง Online และการยื่นแบบ สค. ไว้เช่นเดิม
2. วางผังเมืองตามหลังรถไฟฟ้า?
ก้าวไกลสงสัย: การเปลี่ยนผังเมือง กทม. ในครั้งที่ 4 วางหลักการเป็นเพียงเรื่องของการ Upzoning (การเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้า และการใช้ที่ดินปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่วางผังเมืองหลังจากที่เมืองเจริญเติบโตไปก่อน แล้วค่อยปรับผังเมืองตามการเจริญเติบโตทิศทางของเมือง
กทม. แจง: การวางและจัดทําผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีแนวคิดซึ่งเป็นไปตามผังโครงสร้างการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2580 ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นการถ่ายทอดนโยบายที่สําคัญต่าง ๆ ของชาติ ตลอดจนผังนโยบายระดับภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ที่ดําเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง) โดยมีแนวคิดที่สําคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์บริเวณพื้นที่ที่มีคุณค่าความสําคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี การส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในย่านพาณิชยกรรม
ศูนย์กลางเมือง และศูนย์กลางรอง
ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ในบริเวณพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในวงแหวนรัชดาภิเษก และสําหรับพื้นที่ชั้นกลางระหว่างวงแหวนรัชดาภิเษกและวงแหวนกาญจนาภิเษกที่มีการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจะส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยในบริเวณที่ยังไม่มีการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยมีการกําหนดการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองและศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน และการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในบริเวณพื้นที่ภายนอกของวงแหวนกาญจนาภิเษก
ดังนั้น การกําหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะเป็นไปตามแนวความคิดหลักตามที่กล่าวมาซึ่งมีการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการกําหนดเพื่อชี้นําแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตตามแนวความคิดที่กําหนดและสอดคล้องนโยบายระดับภาคและประเทศ
3. ผังสีเขียวทำเมืองเจริญไม่เท่าเทียม?
ก้าวไกลสงสัย: ผังสีเขียวมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และพื้นที่เกษตรกรรม ผังสีเขียวฝั่งตะวันตก เช่น เขตทวีวัฒนา, ตลิ่งชัน ที่เคยถูกวางไว้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ เมื่อเทียบในส่วนของฝั่งตะวันออก ซึ่งปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
กทม. แจง: บริเวณที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันตก มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมชั้นดีในพื้นที่บริเวณเขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนาซึ่งแตกต่างจากที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ํา
ในบริเวณที่มีข้อจํากัดด้านการระบายน้ําและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในปัจจุบันสภาพพื้นที่บริเวณตลิ่งชันและทวีวัฒนา ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรมแล้ว เนื่องจากมีแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดงและสีส้มเข้ามาในพื้นที่ เมื่อพิจารณาจากสภาพทางกายภาพ ราคาที่ดินและความต้องการที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง พื้นที่บริเวณนี้จึงมีความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง รวมถึงเป็นการพัฒนาที่เชื่อมต่อกับย่านที่อยู่อาศัยของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย
ส่วนการปรับลดพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรมในฝั่งตะวันตก เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมชานเมืองมีนบุรี ตามศักยภาพการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้มและสายสีชมพู และการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมชานเมืองลาดกระบัง โดยได้คํานึงถึงประสิทธิภาพของการระบายน้ํา การบริหารจัดการน้ํา และการป้องกันน้ําท่วมในพื้นที่ด้วยแล้ว
4. รอยต่อผังเมืองไม่เชื่อมจังหวัดข้างเคียง?
ก้าวไกลสงสัย: การไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันระหว่าง กทม. กับปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ทำให้การพัฒนาไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งที่พื้นที่ติดต่อกัน แต่กลับเจริญไม่เท่ากัน
กทม. แจง: การประสานกับจังหวัดปริมณฑลโดยรอบ ถึงแผนงานโครงการต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดในอนาคตให้มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อจังหวัด เช่น โครงการเชื่อมถนนต่าง ๆ การระบายน้ํา รวมการกําหนดโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ขัดแย้งกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านผังเมืองซึ่งทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางในการจัดทําผังเมืองรวม ได้แก่ ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด ตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562
5. FAR Bonus ไม่สร้างประโยชน์ให้คนตัวเล็ก?
ก้าวไกลสงสัย: เงื่อนไขการให้ FAR Bonus ไม่สร้างประโยชน์ และไม่ตอบโจทย์พื้นที่ ในร่างผังเมืองปัจจุบันกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชน แลกกับการได้ FAR Bonus เพิ่มในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำบ่อหน่วงน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว, การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Affordable Home), หรือการทำทางเชื่อมถนนสาธารณะหรือการทำพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอย เพื่อแลกกับ FAR ที่สูงขึ้น โดยการได้ค่า FAR ที่สูงขึ้น จะนำมาซึ่งสิทธิในการสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้น สูงขึ้น หนาแน่นขึ้นได้ แต่ไม่มีกำหนดหรือผลประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครได้อย่างเป็นรูปธรรม และบ่อยครั้งจะไม่มีการติดตามผลการดำเนินการ
สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ยังเห็นควรให้กำหนดยุทธศาสตร์ FAR Bonus แบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละเขต ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงวางแผนการติดตามผลลัพธ์ที่กรุงเทพมหานครจะได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ในเขตราชเทวี เขตสาทร เขตบางรัก ถ้าเอกชนอยากจะขอ FAR Bonus เพิ่มควรต้องแลกกับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Affordable Home) เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยในเขตดังกล่าวมีราคาแพง
- ในเขตวัฒนา และเขตคลองเตย ถ้าเอกชนต้องการ FAR Bonus เพิ่ม ก็ควรทำถนนเพื่อสาธารณะ เชื่อมซอยพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อลดปัญหาการจราจรและก็มุ่งหน้าสู่การเป็นพื้นที่มลพิษต่ำ
- ในเขตกรุงเทพตะวันออก และฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ถ้าเอกชนต้องการ FAR Bonus เพิ่มก็ควรสร้างพื้นที่หน่วงน้ำเพิ่มเติมเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแล้วก็เสี่ยงในการน้ำท่วมขังจากฝน
กทม. แจง: มาตรการ FAR Bonus เป็นมาตรการจูงใจ โดยการให้สิทธิพิเศษ (Bonus) ในการเพิ่มพื้นที่อาคารมากขึ้นจากข้อกําหนด ซึ่งทุกกรณีเป็นการทําเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การเพิ่มที่ว่างและพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้กับเมืองทั้งริมถนนและริมน้ํา การจัดหาแก้มลิงกักเก็บน้ําฝนเพื่อบรรเทาปัญหาน้ําท่วม การมีอาคารประหยัดพลังงาน การเพิ่มที่อยู่อาศัยสําหรับผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มที่จอดรถบริเวณชานเมืองเพื่อส่งเสริมให้รถไฟฟ้าเข้าสู่พื้นที่เมืองชั้นในรวมถึงการจัดหาพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรจากรถไฟฟ้าไประบบอื่นๆ รอบสถานี การเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กและผู้สูงอายุ และการจัดระเบียบทางเท้า เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นไปตามวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์หลักในการทําผังเมืองรวม ซึ่งทุกคนล้วนได้รับประโยชน์ และเป็นมาตรการรูปธรรมที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้
6. ผังเมืองใหม่ ไม่แก้รถติด?
ก้าวไกลสงสัย: ผังคมนาคมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกัน สำหรับการตัดถนนใหม่ใน กทม. เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางคมนาคมโดยรวมของภาครัฐ เนื่องจาก กทม. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมระบบขนส่งมวลชน อย่าง รถไฟฟ้า รถเมล์ ทางด่วน หรือ สะพานขนาดใหญ่ กทม. ไม่ได้เป็นผู้สร้าง แต่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ทำให้ผังคมนาคม ไม่สอดคล้องกันทั้งหมด อีกทั้ง กทม. เองก็ไม่ได้ส่งเสริมการวางผังระบบตาราง (Grid-pattern system) กล่าวคือ ไม่ได้มีความพยายามที่จะเชื่อมต่อถนนสายต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหารถติดอย่างจริงจัง
กทม. แจง: การวางและจัดทําแผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่งของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นการดําเนินการที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานราชการและองค์การรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฯลฯ
ประกอบกับการดําเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บทต่าง ๆ ได้แก่ แผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรอง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-MAP) แผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างการวางแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางแผนผังการคมนาคมและขนส่งของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม การวางและจัดทําแผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่งของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนาโครงข่ายถนนสายรอง (secondary road) ในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ซึ่งจะส่งผลต่อการลดปริมาณการจราจรในถนนสายหลัก (primary road) ได้ประมาณร้อยละ 18 (SPURT Study และ Bangkok Urban Transport Project, UNDP-ADB) จึงได้กําหนดให้มีโครงการขยายและเชื่อมต่อถนนซอย (เส้นเลือดฝอย) ให้มีความสะดวกและความปลอดภัยต่อการสัญจรของประชาชน และความสามารถในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีแนวสายทางพาดผ่านถนนสายหลักในบริเวณนั้น ๆ
7. ที่ดินทหาร-ผังสีขาว อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง?
ก้าวไกลสงสัย: ตามผังเมืองกำหนดให้พื้นที่ทหารใน กทม. กว่า 12,900 ไร่ บางส่วนเป็นผังสีขาว ซึ่งหมายถึงสถานะที่อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง ไม่มีเงื่อนไขกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่อย่างใด ผิดกับที่ดินของประชาชนที่ยังถูกบีบให้อยู่ภายใต้กฎหมายของเมืองอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การใช้พื้นที่ผังสีขาวในการสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่เหล่านายพลหรือเป็นบ้านพักของทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหากเอกชนต้องการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง กลับต้องเจอกับเงื่อนไขหลากหลายที่กำหนดขอบเขตในการใช้ที่ดินได้ แต่พื้นที่ทหารไม่ได้ถูกกำหนดภายใต้กฎหมายผังเมือง
กทม. แจง: แปลงที่ดินที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพหรือฐานที่ตั้งของหน่วยทหารต่าง ๆ ถูกกําหนดให้เป็นพื้นที่สีขาวในแผนผังกําหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้จําแนกประเภท โดยแปลงที่ดินส่วนใหญ่ที่กําหนดไว้ในแผนผังนั้น กองทัพยังคงใช้ประโยชน์ที่ดินกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ตามภารกิจและหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงทางการทหาร ซึ่งมีหน่วยงานกํากับดูแลและกําหนดนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉพาะ ดังนั้นการนําข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บังคับใช้กับพื้นที่โดยทั่วไปของกรุงเทพมหานครเพื่อบังคับใช้กับพื้นที่ทหารอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการทหารหรือภารกิจหน้าที่ของฐานที่ตั้งของหน่วยทหารนั้น
8. ผังสีแดงเอื้อนายทุน?
ก้าวไกล: กำหนดพื้นที่สีแดงอย่างไม่มีหลักการ ร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันกำหนดพื้นที่สีแดง (พื้นที่สำหรับการพาณิชย์) กระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ที่ได้ผังสีแดงไปนั้น กลับไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อย (Sub-CBD) กระจายตามพื้นที่ รวมถึงไม่มีหลักการและเหตุผลที่สามารถอธิบายถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองว่าเหตุใดในบางพื้นที่ถึงกำหนดให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงได้ และบางพื้นที่ถึงกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงไม่ได้
กทม. แจง: หลักการในการกําหนดที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พื้นที่สีแดง) กําหนดตามระดับความเข้มข้นของพื้นที่พาณิชยกรรมและสอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยจําแนกเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมในเขตอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ศูนย์พาณิชยกรรมของชุมชน ศูนย์ชุมชนชานเมืองศูนย์พาณิชยกรรมของเมือง ศูนย์พาณิชยกรรมรอง และศูนย์พาณิชยกรรมหลัก (พ.1 – พ.8) ซึ่งแต่ละพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ศูนย์พาณิชยกรรมของชุมชน ที่กําหนดเป็นที่ดินประเภท พ.3 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายกิจกรรมการค้าและการบริการที่อํานวยความสะดวกต่อการดํารงชีวิตประจําวันของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณชานเมือง ตัวอย่าง ศูนย์พาณิชยกรรมของชุมชนดังกล่าวเช่น บริเวณลาดกระบัง หนองจอก ดอนเมือง บริเวณบางบอน-พระราม 2 เป็นต้น
ในขณะที่ ศูนย์พาณิชยกรรมรอง ที่กําหนดเป็นที่ดินประเภท พ.7 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การบริการและนันทนาการ ในบริเวณโดยรอบเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน ตัวอย่างพื้นที่ที่กําหนดเป็นศูนย์พาณิชยกรรมรอง เช่น พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อบริเวณสี่แยกพระราม 9 บริเวณตามแนวถนนรัชดาภิเษก บริเวณคลองสาน-วงเวียนใหญ่ เป็นต้น
9. สนามกอล์ฟ = ผังที่โล่ง?
ก้าวไกล: ผังที่โล่งถูกนับรวมกับสนามกอล์ฟ ผิดเงื่อนไขการใช้ที่ดิน ผังเมืองกำหนดให้ผังที่โล่ง และผังสีเขียวของกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การรับน้ำให้กับพื้นที่ในเมือง เป็นต้น แต่ผังที่โล่งในปัจจุบันได้ไปนับรวมกับพื้นที่ของเอกชนอย่างสนามกอล์ฟเข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขของการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างชัดเจน
กทม. แจง: แผนผังที่โล่ง มีวัตถุประสงค์จัดทําขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดํารงรักษาที่โล่งไว้เพื่อสาธารณประโยชน์และสภาพแวดล้อมอันจะเป็นการรักษาสภาพภูมิทัศน์ที่ดีของชุมชน ทั้งนี้ ที่โล่งนั้นไม่จําเป็นต้องเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยที่ในแปลงที่ดินของเอกชนเจ้าของที่ดินจะยังคงสามารถใช้สิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินได้ตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินข้างเคียง
10. ผังเมืองเจริญกระจุก ลดความแออัดไม่ได้?
ก้าวไกล: ร่างผังเมืองสะท้อนสภาพปัญหาของกรุงเทพฯ ได้ชัดเจน คือเรื่องของการกระจุกความเจริญ และไม่ได้ลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่มีการกระจายความเจริญโดยมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้กรุงเทพฯ โตเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน เต็มไปด้วยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นำมาซึ่งความแออัดและปัญหารถติดเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนกรุงเทพฯ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ตะวันตก กลับยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
กทม. แจง: การวางและจัดทําผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสําคัญในการกําหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ซึ่งเป็นการดําเนินการตามบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในเขตกรุงเทพชั้นใน ชั้นกลางมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสมบูรณ์ การกําหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินใน กลุ่มเขตนี้ จึงเป็นการกําหนดตามศักยภาพพื้นที่สูงสุด ตามมาตรฐานทางผังเมือง
ซึ่งการพัฒนากรุงเทพชั้นใน กรุงเทพชั้นกลางครั้งนี้ ได้ให้ความสําคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง ตลอดจนการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สําหรับกรุงเทพตะวันออก และกรุงเทพตะวันตก การวางและจัดทําผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้กําหนดให้มีการพัฒนาพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง (Suburban Center) มีนบุรี ลาดกระบัง และหนองจอกในกลุ่มกรุงเทพตะวันออก และศูนย์พาณิชยกรรมชานเมืองตลิ่งชันในกลุ่มเขตกรุงธนบุรีเหนือ และศูนย์พาณิชยกรรมชานเมืองบางแค-ทวีวัฒนา ในกลุ่มเขตกรุงธนใต้ เพื่อให้เป็นย่านการค้าและบริการ ตลอดจนเป็นแหล่งการจ้างงานของประชาชนในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ต่อไป