ยื่น 493 รายชื่อ ร้อง กสม. สอบ กทม. ปม ทำผังเมืองขัดกฎหมาย

‘สภาผู้บริโภค’ และ ‘เครือข่ายผู้บริโภค’ ร้อง ขอให้ยุติจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 อ้าง กระบวนการรับฟังความเห็น ยังขาดการมีส่วนร่วม มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ชี้ กทม. ติดกระดุมผิดเม็ด เข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชน ขัดรัฐธรรมนูญ 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 67 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ร่วมกับ ตัวแทนกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) นำรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 493 รายชื่อ เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวมของ กทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค บอกว่า กทม. ละเมิดสิทธิของชุมชนและประชาชนในการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ แต่ กทม. ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รับฟังปัญหาก่อนว่าประชาชนพบปัญหาในการใช้ผังเมืองเดิมหรือไม่ ทั้งเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่ เพื่อนำความคิดเห็นและปัญหาความต้องการดังกล่าวมาออกแบบผังเมืองใหม่ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จึงเข้ายื่นหนังสือและรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบต่อคณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยขอให้ ตรวจสอบการดำเนินการของ กทม. พร้อมขอให้ทบทวนการจัดทำร่างผังเมืองดังกล่าวใหม่ โดยขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (1) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน

“กทม. ติดกระดุมผิดเม็ด ทำผิดขั้นตอน โดยออกแบบและนำร่างผังเมืองใหม่ฯ มาอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ไม่มีโอกาสหรือมีส่วนร่วมรับรู้ผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงไม่ทราบว่ามีมาตรการในการเยียวยาแก้ไขอย่างไร จึงขอให้กรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบเพื่อให้ยุติการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย”

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา

ทวีทอง ลาดทอง ผู้แทนประชาชนจากเขตคลองเตย และสภาชุมชนคลองเตย บอกว่า ชาวชุมชนคลองเตย มีทั้งหมด 26 ชุมชน มีประชากรประมาณ 1 แสนคน ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ เนื่องจาก เดิมพื้นที่ชุมชนคลองเตยเป็น “สีน้ำตาล” ซึ่งหมายถึง “ที่อยู่อาศัย” แต่ตอนนี้กลับมีการเปลี่ยนเป็น “สีน้ำเงินและสีแดง” ซึ่งหมายถึง “พื้นที่พาณิชย์และพื้นที่ราชการ”

หากร่างผังเมืองฯ ดังกล่าวบังคับใช้จริง ทำให้ชาวชุมชนคลองเตยมีความกังวล ว่า จะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่หรือไม่ และหากสุดท้ายมีการปรับเปลี่ยนสีตามร่างผังเมืองฉบับนี้ ชาวชุมชนคลองเตยขอเรียกร้องพื้นที่ 20% เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจำนวน 515 ไร่จากจำนวนทั้งหมด 2,455 ไร่ รวมทั้งขอให้กรรมการสิทธิฯ ช่วยตรวจสอบถึงการดำเนินการที่อาจละเมิดกฎหมายและขอให้ กทม.ทบทวนการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ นี้

ขณะที่ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับปากนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ โดยจะมีการพิจารณาว่าการร่างผังเมืองรวม กทม. ว่า เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่จากการรับฟังปัญหาเบื้องต้น พบว่า มีหลายประเด็นที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่รับรู้ถึงการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงาน และหากตรวจสอบและพบว่าเข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิของประชาชน จะมีการเสนอให้ กทม.ยุติการจัดทำร่างผังเมืองฉบับนี้

รายงานข้อเท็จจริงการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) 

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภค ยังได้จัดทำรายงานข้อเท็จจริงการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่มาจากการติดตาม กระบวนการจัดทำร่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ปัญหากระบวนการรับฟังความเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการประชาสัมพันธ์อย่างไม่ทั่วถึง กว้างขวาง เพียงพอ และไม่มีข้อมูลความละเอียด ว่า “ผลกระทบ” และแนวทางเยียวยาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เดือดร้อน เสียหายจากผังเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นสาระเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่ต้องชี้แจงรายละเอียด ผลกระทบ และมาตรการเยียวยากับชุมชน

  2. ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคยทราบเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาก่อน และไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหาได้เลย โดยเฉพาะเนื้อหาผลกระทบเรื่องการขยายถนน การตัดถนนใหม่ 148 เส้นและผังแสดงผังน้ำ ที่มีการขยายคลองระบายน้ำ การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 200 คลองรวมไปถึงการวางแนวอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงเรื่องการเวนคืนที่ดินจากประชาชน

  3. การชี้แจงเนื้อหาการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบ” ที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกมิติ กล่าวถึงเพียงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มุ่งให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน

  4. มาตรา 72 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มิได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหา สอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างระบบคมนาคม หรือระบบระบายน้ำ การเปลี่ยนสีของผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

  5. การดำเนินการวางเส้นการตัดถนน เพื่อการคมนาคมหรือขนส่ง อาจขัดต่อ มาตรา 37 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง  แต่การทำผังเมืองรวมที่ระบุแนวการขยายถนน หรือการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย ระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร ,แผนผังแสดงผังน้ำ ที่มีการวางแนวการขยายคลอง ตัดคลอง หรือทำอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ กว่า 200 สาย ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเวนคืนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดแจ้ง

  6. ขัดต่อ มาตรา 41 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่  แต่พบว่ามีประชาชนเพียง 21,776 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,471,588 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.4 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) จาก 22 ขั้นตอน แต่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเหลือ 18 ขั้นตอนโดยประชาชนไม่ทราบมาก่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active