สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายฯ เรียกร้อง กทม. หยุดกระบวนการรับฟังความเห็น กรณีจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ชี้ ประชาชนมีข้อมูลไม่เพียงพอและไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พร้อมร่วมเสวนา ตั้งคำถาม ผังเมืองนี้เอื้อประโยชน์แก่ใคร? นักวิชาการ ชี้ ผังเมืองเป็นเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ประชาชน หากข้อมูลยังไม่ชัดเจนควรหยุดร่างผังเมืองนี้ไว้ก่อน
จากกรณีการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม. ที่มีการจัดทำผังเมืองใหม่ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยจะมีการปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 ก.พ. 2567 นี้
วันนี้ (11 ก.พ. 2567) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเสวนา ‘หยุดผังเมืองกรุงเทพฯ เหนือสิทธิประชาชน’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ระหว่างการเสวนามีการอ่านแถลงการณ์จากสภาองค์กรของผู้บริโภค โดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ร่วมด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเครือข่ายประชาชนในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ กทม. ยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ และขอให้เริ่มประบวนการรับฟังเสียงประชาชนใหม่โดยไม่ต้องมีร่างผังเมืองที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมมาชี้นำ โดยมีสาระสำคัญ คือ
- การดำเนินการและจัดทำผังเมืองรวมฉบับนี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากกระบวนการรับฟังความเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ก่อน แต่กลับมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมมาก่อนแล้วจึงมาจัดรับฟังความเห็น ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้เห็นความสำคัญของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 72 อนุสอง ที่ระบุว่า รัฐต้องมีการจัดวางผังเมืองทุกระดับ และบังคับให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญ โดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
- การจัดทำผังเมืองนี้ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอ คนในพื้นที่ไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่มีการให้ข้อมูลเรื่องการเยียวยา หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถให้ความเห็นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับตัวเองได้
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างการเสวนา หัวข้อ ‘จุดอ่อนผังเมืองรวม กรุงเทพ ฯ’ ระบุว่า ผังเมืองเปรียบเสมือน ‘รัฐธรรมนูญของท้องถิ่น’ คือ สิ่งที่เขียนขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม แต่ตอนนี้กลับเป็นสิ่งที่เขียนขึ้นสำหรับคนที่มีอำนาจหรือนายทุน ในขณะที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับความคุ้มครองใด ๆ อีกทั้งต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกันได้ไม่ว่าจะเป็นนายทุนหรือชาวบ้าน แต่ในตอนนี้ชาวบ้านกลับไม่เข้าใจเลยว่าเขามีสิทธิในผังเมืองนี้ยังไง
“ในกรุงเทพฯ ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ไม่ได้มีชื่อในโฉนด คุณจะไม่มีสิทธิอะไรทั้งสิ้น แต่ไม่ได้แปลว่าคนพวกนี้ไม่มีประโยชน์จากเมือง เพราะเมืองโตได้จากการขับเคลื่อนของประชากรแฝงเหล่านี้ต่างหาก”
ผศ.พิชญ์ กล่าวต่อไปว่า โดยหลักการพื้นฐานแล้ว ผังเมืองต้องทำหน้าที่ 2 อย่าง คือการกำหนดทิศทางของเมืองการควบคุมพัฒนาเมือง และทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนี้ ไม่ว่าคนรวยหรือจน แต่ผังเมืองนี้กลับเอื้อสำหรับนายทุน เพราะเห็นแต่การจูงใจให้เมืองพัฒนาไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผิดเพราะเมืองต้องเดินไปข้างหน้า แต่ไม่ได้หล่อเลี้ยงให้คนทั้งเมืองอยู่ร่วมกันได้
ผศ.พิชญ์ สรุปว่า ผังเมืองเป็นเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน กทม. มีหน้าที่ต้องทำข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจให้ง่ายกว่านี้ หากต้องมีการเวนคืนที่ดิน ประชาชนควรรู้ล่วงหน้าว่าจะได้ค่าชดเชยอย่างไร และต้องเป็นธรรมและเท่าเทียม ขณะที่ทุกวันนี้ข้อมูลยังคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ กทม. กลับกำลังเรียกร้องให้ประชาชนให้ความเห็น ฉะนั้น จึงควรหยุดร่างผังเมืองนี้ไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์และกระบวนการ
ขณะที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ผังเมืองควรเป็นสิ่งกำหนดคุณภาพชีวิตประชาชนและลดความขัดแย้ง แต่ตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง รวมถึงพบว่ากระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่ กทม. จัดขึ้นมีปัญหา แถมยังมีคนกรุงเทพฯ จำนวนมากที่ไม่รับรู้ว่ามีกระบวนการนี้
“เขามาเล่าเรื่องร่างแผนผังเมืองแค่ 1 ชั่วโมง แล้วใช้แผนที่ฉบับเดียวกันอธิบายในทุกเขตพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มันย่อมมีบริบทต่างกัน แน่นอนว่าไม่มีชาวบ้านที่ไหนฟังรู้เรื่อง และไม่เคยมีการอธิบายถึงผลกระทบที่ชุมชนจะเจอ หรือมาตรการเยียวยาใด ๆ ในช่วงซักถาม ก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านพูดแค่ 15 นาที เท่านั้น”
ด้าน อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เผยข้อมูลสำคัญระหว่างการเสวนาหัวข้อ‘กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมือง’ ว่า แม้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะตกลงกันได้ด้วยดีแล้วแต่ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เหมือนในกรณีของ ‘บึงรับน้ำคู้บอน’ ในเขตคันนายาว คลองสามวา ที่อยู่ ๆ ก็หายไปจากผังเมือง ทั้งที่ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว
“กรณีของบึงรับน้ำคู้บอน แม้จะมีการรับฟังเสียงประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อ กทม. ประกาศเวนคืนที่ดินทำให้ที่บริเวณนั้นราคาตก อยู่ ๆ กลับมีบริษัทอสังหาฯ เจ้าหนึ่งมาซื้อไปได้ นี่คือการกัดกินในระบบคอร์รัปชันในไทย ฉะนั้นเมื่อ กทม. ฟังเสียงนายทุนแล้ว ก็ขอให้ฟังเสียงประชาชนบ้าง”
สอดคล้องกับความเห็นของ กรณ์ จาติกวณิช ที่กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ ‘ผลกระทบต่อประชาชน’ ชี้ว่า ผังเมืองของประเทศไทยมีปัญหามาก ในต่างประเทศ การวางผังเมืองจะมีระบบ ประเทศหนึ่ง ๆ จะมีอย่างน้อย 2-3 เมือง ที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญใกล้เคียงกัน แต่ในไทย ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ จึงต้องมีการวางแผนที่เหมาะสม ซึ่งวิธีหนึ่งคือการรู้จัก pain point ของคนกรุงเทพฯ
กรณ์ ชี้ว่า หนึ่งในหลายความเจ็บปวดของคนกรุงเทพฯ คือเรื่องน้ำท่วมและรถติด แผนการพัฒนาเมืองจึงจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่านำไปสู่การแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม หรือการที่นักลงทุนมีผังเมืองที่เอื้อให้สร้างคอนโดฯ มากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้รถยิ่งติดมากขึ้นไหม หรือสามารถออกแบบให้มีที่จอดรถมากพอและแก้ปัญหารถติดได้
สุดท้ายคือเรื่องอากาศสะอาดและพื้นที่สีเขียว ผังเมืองที่วางไว้ทำให้กรุงเทพฯ กำลังทำให้เรามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นหรือเป็นแค่การเพิ่มโอกาสการก่อสร้างมากขึ้นกันแน่
“ความเจ็บปวดหนี่งของคนที่เป็นประชาชน คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ รัฐจะยืนข้างนายทุนเสมอ เหมือนกับร่างผังเมืองฉบับนี้ที่สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือนายทุนอย่างอย่างชัดเจน”
กรณ์ เชื่อว่า ในฐานะประชาชนต้องมีความตื่นตัว เพราะการหวังพึ่งพาผู้มีอำนาจคงเป็นเรื่องยาก ในขณะที่ความขัดแย้งหลายครั้งเกิดจากการตีความตัวกฎหมายที่ผิดเพี้ยน การแก้ข้อกฎหมายให้กระชับและง่ายต่อการตีความเป็นหนึ่งวิธีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณา