ครั้งแรก! เลือกตั้ง ‘สภาเด็กฯ กทม.’ ผ่าน Blockchain รู้ผลทันทีหลังปิดหีบ


วันนี้ – 15 ก.พ. 67 ชวนเด็ก และเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ภูมิลำเนาใน กทม. ลงทะเบียนเลือกตั้ง ‘ประธานสภาเด็กฯ ระดับเขต’ ก่อนจัดเลือกตั้งออนไลน์ 16 ก.พ. นี้

การเลือกตั้งประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบรับข้อเสนอการปฏิรูปการคัดเลือกสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ตามที่สภาเด็กฯ ได้เสนอมาทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่

  • ปรับระบบการคัดเลือกประธานสภาเด็กระดับเขต ให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งกรุงเทพฯ เพื่อให้วาระการทำงานของคณะบริหารสภาเด็กฯ เป็นระบบมากขึ้น และวางแผนการทำงานได้ง่ายขึ้น ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่จะเกิดการเลือกตั้งพร้อมกัน โดยเริ่มต้นที่ 30 เขตที่ประธานหมดวาระการทำงานแล้ว 

  • การเลือกตั้งครั้งนี้ จะจัดให้มีการพัฒนาระบบการเลือกตั้งผ่านระบบ blockchain ผ่านเว็บไซต์เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างขึ้น เพิ่มความโปร่งใส และเป็นนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาเป็นต้นแบบระบบเลือกตั้งออนไลน์ของประเทศไทยในอนาคต

  • เพื่อกระตุ้นเด็กและเยาวชน ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองภายใต้ทำการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งในวงกว้าง ทั้งระดับเขต และระดับเมือง โดยทาง กทม. ได้ตั้งเป้าให้เด็กและเยาวชนรับรู้และมาใช้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น จึงได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานสถานศึกษาต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ และเป็นสถานที่เลือกตั้งด้วย

บทบาทของผู้ดำรงตำแหน่งในสภาเด็กและเยาวชน กทม.

ผู้ดำรงตำแหน่งในสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร จะมีวาระการทำงาน 2 ปี โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวแทนเด็กและเยาวชนในการสะท้อนปัญหา นโยบายและผลประโยชน์ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่หลักๆ คือ

  • รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ หรือประเมินเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

  • เป็นกระบอกเสียงในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

  • จัดกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนภายในเขต จากงบประมาณและทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรร โดยมีงบประมาณโดยประมาณ 30,000 – 100,000 บาท ต่อ 1 เขต

ใครมีสิทธิ์เลือกตั้งได้บ้าง ?

การเลือกตั้งประธานสภาเด็กและเยาวชนเขต จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. 2567 โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี มีทะเบียนบ้านอยู่ใน 30 เขตที่จัดการเลือกตั้ง จะต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผ่าน แอปพลิเคชัน ThaiD หรือเว็บไซต์ youthvote67.bangkok.go.th ในระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และ 30 เขต

  • โซนกรุงเทพฯ กลาง : ดินแดง, ดุสิต, พระนคร, สัมพันธวงศ์, ห้วยขวาง

  • โซนกรุงเทพฯ เหนือ : จตุจักร, ดอนเมือง, บางเขน, บางซื่อ, ลาดพร้าว

  • โซนกรุงเทพฯ ใต้ : คลองเตย, บางคอแหลม, บางนา, พระโขนง, วัฒนา

  • โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก : คลองสามวา, บางกะปิ, บึงกุ่ม, ประเวศ, มีนบุรี, ลาดกระบัง

  • โซนธนบุรีเหนือ : คลองสาน, จอมทอง, ตลิ่งชัน, บางกอกน้อย

  • โซนธนบุรีใต้ : บางขุนเทียน, บางบอน, ภาษีเจริญ, หนองแขม, บางแค

ศึกษาขั้นตอนการยันยันตัวตน ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD หรือ เว็บไซต์ youthvote67.bangkok.go.th 📌 ได้ที่นี่

Blockchain คืออะไร และดีอย่างไร ?

บล็อกเชน (Blockchain) เป็นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบกระจายศูนย์ ไม่อาศัยตัวกลาง ต่างจากแบบเดิมที่เป็นแบบรวมศูนย์และอาศัยตัวกลาง เช่น การโอนเงินแบบเดิมที่ต้องมีตัวกลางคือธนาคาร ในขณะที่ระบบบล็อกเชนเหมือนให้ทุกคนในเครือข่ายถือเอกสารชุดเดียวกัน หากมีการทำธุรกรรมใดแล้วจะมีการเข้ารหัส (Crytography) และ ไม่สามารถกลับมาแก้ไขข้อมูลได้ ต้องอาศัยฉันทามติ หรือความยินยอมของผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ในการทำธุรกรรม ทำให้ระบบมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และป้องกันการปลอมแปลงได้ ปัจจุบันมีการประยุกต์การใช้บล็อกเชนในหลายมิติ เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ โมเดลของบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นต้น

การเลือกตั้งประธานสภาเด็กฯ กทม. ในครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกในไทย ที่ดำเนินการผ่านระบบบล็อกเชน ซึ่งจัดการข้อมูลอัตโนมัติทำให้สามารถนับและคำนวณผลการเลือกตั้งได้ทันที สะดวกต่อการลงคะแนนเนื่องจากเป็นรูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การใช้บล็อกเชนเลือกตั้ง ก็ยังมีข้อน่ากังวลบางประการ เช่น เครื่องมือที่รองรับการลงคะแนน, การเข้ารหัสที่อาจถูกเจาะเพื่อแก้ไขผลได้ หรือ ผู้ใช้งานอาจถูกเสี่ยงต่อการโดนสวมรอยเพื่อลงคะแนนแทนได้ การที่ผู้คนตั้งคำถามว่าระบบโปร่งใสจริงหรือไม่ นำมาสู่ความท้าทายด้านการเข้าถึงความปลอดภัย และการยืนยันตัวตน ที่ทางผู้จัดการเลือกตั้งต้องพิจารณาต่อไป


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active