ชวนคนกรุง ทำ ‘เกษตรในเมือง’ ลดภาวะเนือยนิ่ง สร้างพื้นที่สีเขียวกินได้

กทม. ร่วมกับ UDDC เปิดรับนักปลูกทั่วกรุงเทพฯ ร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ ผ่านการทำเกษตรในเมือง จัดหลักสูตรติวเข้มการปลูกพืชผลให้ประชาชนที่สนใจ นักวิชาการ ชี้ การทำสวนช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกาย ช่วยลดมลภาวะจากการขนส่งพืชผล และได้กินอาหารที่ปลอดภัย

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เดินหน้าโครงการ ‘ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok’ เปิดรับนักปลูกทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหน่วยงาน ไปจนถึงระดับชุมชน มาช่วยกันพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์มากมาย ทั้งพืชผักปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน คนในชุมชนได้ออกแรง มีกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนเพิ่มพื้นที่อากาศสะอาด และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานโครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (IURC) และเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Urban Food Policy Pact) โดยร่วมมือกับกรุงมิลาน ประเทศอิตาลีและสหภาพยุโรป มุ่งพัฒนาแหล่งกำเนิดอาหาร, การผลิตอาหารคุณภาพ และการกำจัดขยะเศษอาหาร ซึ่งทาง กทม. มีนโยบายที่เข้ามาส่งเสริมประเด็นเหล่านี้ เช่น การพัฒนาพื้นที่เกษตรในเมือง, การส่งเสริมตลาดเกษตรกร, ยกระดับมาตรการการประกอบอาหารในร้านอาหาร ตลอดจนการจัดการขยะอย่างครบวงจร

รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UDDC-CEUS เปิดเผยว่า หลายเมืองใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการนำแนวคิดของการทำเกษตรในเมืองมาปรับใช้ อย่างนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการผลักดันให้ทำเกษตรอย่างแพร่หลาย บริเวณทางเท้ามีการปลูกพืชผักสวนครัว หลังคาของโรงละครโอเปร่าเองก็สามารถปลูกผักได้ เพื่อย้ำเตือนว่า ‘การเกษตรนั้นสามารถทำได้ทุกมุมเมือง’ หรืออย่างในร้านขนมปังยังมีการปลูกข้าวสาลีพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้เยาวชนได้สัมผัสถึงต้นทางของอาหารทั้งหลายที่พวกเขาบริโภคในทุกวัน

ข้อมูลจาก UDDC เปิดเผยว่า นครปารีสมีแปลงผักชุมชนในทุกเขต เขตละ 10 กว่าแห่ง ดำเนินการด้วยประชาชนและสมาคมสวนคนเมือง ออกแบบร่วมกับสวนสาธารณะ และได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยงานรัฐ ในขณะที่กรุงเทพฯ เองก็กำลังเริ่มต้นได้สวย มีพื้นที่การเกษตรอยู่ใน 26 เขตด้วยกัน มีทั้งการปลูกข้าว ทำไร่ ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงปลา และปศุสัตว์ ทาง กทม. จึงเร่งผลักดันให้พื้นที่การเกษตรนั้นสามารถเกิดขึ้นและทำได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหน่วยงาน และระดับชุมชน

รศ.นิรมล เปิดเผยอีกว่าคนไทยมีวัฒนธรรมการบริโภคที่หลากหลาย แต่ด้วยข้อจำกัดของเมืองใหญ่ทำให้คนกรุงไม่อาจเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ต้องกินซ้ำซากจำเจ หรือหากจะนำเข้าพืชผลเข้ามาในเมืองก็ทำให้เกิด ‘Food Miles’ หรือมลภาวะที่เกิดจากการขนส่งผลิตผล ‘ยิ่งขนส่งไกล ก็ยิ่งทำให้โลกร้อนมากขึ้น’ ดังนั้น หากประชาชนสามารถปลูกพืชผลเบื้องต้นได้ จะช่วยลดการพึ่งพาจากการขนส่ง ได้กินผักสะอาดปลอดสารพิษ และยังทำให้คนเมืองมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ลดความเสี่ยงเป็นโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างความดัน เบาหวานอีกด้วย

“ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงโควิด-19 การขนส่งในโลกหยุดชะงัก และสิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดคือ ผักสด การเกษตรในเมืองจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เรามีตัวเลือกทางอาหารที่ปลอดภัย ลดมลภาวะ และยังสามารถสร้างชุมชนให้เกิดการร่วมมือกันมากขึ้น”

รศ.นิรมล เสรีสกุล

เกศศิรินทร์ แสงมณี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร วิทยากรผู้บรรยายการทำเกษตรในเมือง ให้ความเห็นว่า จากการบรรยายในวันนี้ พบผู้เข้าร่วมมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีคนหลากหลายช่วงวัย หลากหลายฐานะ สะท้อนว่า คนกรุงก็มีความสนใจในประเด็นการทำเกษตรเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีความรู้ หรือยังไม่มีช่องทางในการได้ศึกษาและลองผิดลองถูก เชื่อว่าถ้าทุกคนได้รับการส่งเสริม จะสามารถเป็นนักปลูกที่ช่วยทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้แน่นอน

‘ที่ดิน’ คือปัจจัยสำคัญที่ทาง เกศศิรินทร์ มองว่าภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ เพราะคนกรุงส่วนใหญ่ไม่ได้มีพื้นที่ในการทำเกษตร หรือบางคนมีอยู่ แต่ไม่เหมาะกับการปลูกผักเช่น ดินไม่ดี แสงไม่พอ เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีที่ดิน หรือชุมชนที่มีแปลงรกร้างว่างเปล่า สามารถประสานร่วมมือกับทางเขต หรือทางกรรมการชุมชนเพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นพื้นที่สุขภาวะกินได้ ให้คนในชุมชนได้พบปะกัน ผลผลิตสามารถส่งขายหรือแจกจ่ายให้ครัวเรือนได้

“ทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีเยอะ ก่อให้เกิดโรคเยอะ ดังนั้นจึงมีแนวคิดการทำเกษตรปลอดภัยในเมือง ผลพลอยได้คือเราอยากให้ทุกคนมีรายได้ด้วย การเตรียมปัจจัยการผลิตก็ไม่ได้ใช้ทุนเยอะอย่างที่ทุกคนเข้าใจ และสวนผักยังให้อากาศบริสุทธิ์แก่ชุมชนอีกด้วย”

เกศศิรินทร์ แสงมณี

ทิ้งท้าย รศ.นิรมล และ เกศศิรินทร์ ย้ำว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยควรตระหนัก แม้ประเทศไทยมีภาพรับรู้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ห่วงโซ่อาหารของทั่วโลกได้รับผลกระทบแน่ จากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ห่วงโซ่อาหารหยุดชะงักลง การเริ่มต้นทำเกษตรในชุมชน อาจเป็นเรื่องเล็ก แต่พฤติกรรมที่เล็กน้อยเหล่านี้ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชุมชนและเมืองที่ทุกคนอาศัยอยู่ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active