มุ่งโจทย์สร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง สร้างการมีส่วนร่วมในนวัตกรรม ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต เผยในรอบ 6 เดือน เดินหน้าต้นแบบ แก้ปัญหาป้ายรถเมล์-สัญญาณไฟข้ามทางม้าลาย-ที่พักอาศัยเพื่อคนไร้บ้าน
วันนี้ (21 มิ.ย. 67) งาน BKK EXPO 2024 นิทรรศการกรุงเทพมหานคร 2567 จัดขึ้นที่ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิตติ รวบรวมผลงานในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาของ พร้อมนำเสนอให้เห็นรูปธรรมต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดการทำงานของ กทม. ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
Bangkok City Lab “ศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพฯ” มีแนวคิดการทำงานในการสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาเมือง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกทม. โดยมุ่งเน้นโจทย์ 3 ด้าน ได้แก่
- Solvent Lab เน้นการเชื่อมกลไกและซ่อมสร้างความไม่ต่อเนื่องของระบบทำงาน เสมือน “จิกซอว์” ที่ขาดหายไปของระบบ
- Outreach Lab เน้นทำงานพัฒนาเครื่องมือร่วมกับพันธมิตร ที่ต้องการเห็นเมืองที่ดีขึ้น
- Future Lab เน้นการสร้างโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างเท่าทัน
โดยการทำงานจะเริ่มต้นตั้งแต่ การค้นหาปัญหาโดยเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมพัฒนาโจทย์และหาทางออก พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ๆผ่านการใช้ Design Thinking และการทดลองเชิงสังคมเพื่อหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของเมือง ไปสู่การสร้างต้นแบบโดยไม่จำเป็นต้องประสบผลสำเร็จเพียงอย่างเดียว เพราะต้นแบบที่สำเร็จจะถูกแก้ปรับปรุงผลักดันต่อเนื่องในระยะยาว
ส่วนต้นแบบที่ล้มเหลวก็นำมาทบทวน เพื่อรอขยายผลต่อยอดจากต้นแบบที่สำเร็จไปสู่การดำเนินงานครอบคลุมทุกเขต โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีหน้าตาที่เหมือนกัน แต่ออกแบบแนวทางครอบคลุมทั้งระบบ
ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผอ.ศูนย์การทดลองของเมือง (City Lab) กทม. ระบุว่า โครงการเพิ่งเริ่มได้ประมาณ 6 เดือน ได้สร้างต้นแบบการแก้ปัญหาเรื่องหลัก ๆ ของคน กทม. หลายเรื่อง เช่น ปรับปรุงป้ายรถเมล์ให้สามารถบอกรถเมล์ที่ให้บริการในจุดจอด และการเดินทางให้แม่นยำมากขึ้น, จุดจอดวิน, ปรับปรุงอาคารรอรถที่ป้ายรถเมล์, สัญญาณไฟข้ามทางม้าลาย, และสร้างที่พักอาศัยให้คนไร้บ้านที่ประปาแม้นศรี
“ต้นแบบส่วนใหญ่ที่ทำ ยังไม่มีการใช้ในพื้นที่จริง อย่างป้ายรถเมล์ก็เป็นการทดสอบในพื้นที่ที่กำหนด คือสร้างพื้นที่ขึ้นมาทดลองเพื่อให้รู้ว่าติดขัดการใช้งานอย่างไร จุดจอดวินแก้ปัญหาวินกีดขวางจราจร ก็ทดลอง 10 วัน ให้วินได้ลองปรับเปลี่ยนวิธีการวิ่งรับผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องนำรถมาจอดที่วิน แต่ใช้การเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันไลน์แทน ต้นแบบนี้วินมอไซด์ พอใจเพราะระบบช่วยสนับสนุนเขา”
ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์
ผศ.ณัฐวุฒิ ยอมรับว่า ต้นแบบหลายตัวที่เริ่มทำขึ้น เมื่อนำไปทดสอบการใช้งาน อาจพบว่าล้มเหลว เช่น สัญญาณไฟข้ามทางม้าลาย ซึ่งออกแบบไว้เพื่อแก้ปัญหาคนขับรถมองไม่เห็นทางม้าลาย ด้วยการเพิ่มสัญญาณไฟส่องไปที่ถนน ซึ่งจะเตือนเมื่อมีผู้ที่ต้องการข้ามทางม้าลาย แต่เมื่อนำไปทดสอบในพื้นที่จริงกลับพบว่าผู้ใช้กดสัญญาณดังกล่าวน้อยมาก
“เราไปติดตั้งทดสอบ 10 วัน พบว่า คนข้ามทางม้าลายไม่ค่อยกดปุ่มที่เรานำไปติดตั้ง ซึ่งหากกดปุ่มนี้ ไฟจะกระพริบส่องเตือนไปยังถนน ทำให้คนขับทราบว่ามีทางม้าลายและคนกำลังจะข้าม อีกทั้งจุดที่ทดสอบก็สว่างเกินไป มองไม่เห็น ซึ่งต้นแบบนี้ถือว่าล้มเหลว และยังไม่ได้คิดต่อในการปรับปรุง”
ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์
ขณะที่โปรเจคต์ใหญ่และท้าทายของ กทม. คือโปรเจคต์การทำที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านในพื้นที่ประปาแม้นศรี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการออกแบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้าน และ City Lab แต่สิ่งที่จะต่างจากเดิมคือการทำงานครั้งนี้ เป็นการดึงคนไร้บ้านเข้ามาร่วมออกแบบด้วยตั้งแต่แรก สอบถามถึงความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งแนวทางนี้เป็นการถอดบทเรียนจากความล้มเหลวที่ผ่านมาว่าการทำงานแบบไม่มีส่วนร่วมไม่สามารถแก้ปัญหาและนำไปใช้ได้จริง
“การทำงานลักษณะนี้ไม่ง่าย และยังเป็นการทำงานกับระบบความคิดทั้งของประชาชนและหน่วยงานของรัฐเองด้วย ตัวชี้วัดขององค์กรเวลานี้อาจไม่ได้พึ่งไปที่ผลลัพธ์ของต้นแบบเท่ากับว่า City Lab ควรเป็นองค์กรอย่างไร”
ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์
ขณะเดียวกันยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ร้านค้าอาหาร 80 ร้านจาก 50 เขต, การฝึกวิชาชีพฟรี, การฉายหนังกลางแปลง, ชวนปลูกต้นไม้, สำรวจเส้นทางนิเวศสวนป่า, กิจกรรมเวิร์คชอป
สำหรับงาน BKK EXPO 2024 จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2567 โดยไฮไลต์นิทรรศการภายในงานแบ่งเป็นอาทิ
- เมืองเศรษฐกิจ โอกาส และความหวัง
- เมืองสร้างสรรค์ การศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เมืองปลอดภัย สุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน
- เมืองยั่งยืน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
- เมืองเดินทาง เส้นทาง และสายน้ำ