รองผู้ว่าฯ กทม. ตั้งโต๊ะแจงเดินหน้าจัดหาแทนรถขยะดีเซล พบ ประหยัดงบฯ กว่า 127 ล้าน ลดใช้พลังงาน ลดปล่อยมลพิษ
วันนี้ (4 ต.ค. 67) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงถึง กรณีการเช่ารถเก็บขยะมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่มีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงปัญหาการทุจริตในการทำสัญญาเช่าซื้อรถไฟฟ้า พร้อมกับชี้แจงถึงรายละเอียดของโครงการจัดเก็บขยะมูลฝอย
จักกพันธุ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ กทม. ใช้วิธีการ “จัดซื้อ” รถเก็บขนมูลฝอย (รถเก็บขยะ) กระทั่งปี 2545 ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการ “เช่าซื้อ” โดยในปี 2545 ถึง 2563 ได้เช่ารถเก็บขยะไปแล้ว 28 สัญญา วงเงินรวม 21,974,978,103 บาท โดยมีรถเก็บขยะที่จะหมดสัญญาเช่าในปี 2567 – 2568 ตามรายการ ดังนี้
- รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน หมดสัญญา 102 คัน วันที่ 30 ก.ย. 67
- รถแบบอัด 2 ตัน จำนวน 152 คัน หมดสัญญา 68 คัน วันที่ 22 พ.ย. 67 ส่วนอีก 84 คัน วันที่ 22 ธ.ค. 67
- รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. จำนวน 124 คัน หมดสัญญา 58 คัน วันที่ 19 ธ.ค. 67 อีก 66 คัน วันที่ 27 ธ.ค. 67
- รถแบบอัด 5 ตัน จำนวน 464 คัน หมดสัญญา 92 คัน วันที่ 22 ธ.ค. 67 หมดสัญญา 92 คัน วันที่ 19 มี.ค. 68 หมดสัญญา 110 คัน วันที่ 27 มี.ค. 68 และอีก 170 คัน หมดสัญญา วันที่ 20 เม.ย. 68 และยังมีรถที่จะหมดสัญญาเช่าในวันที่ 16 มิ.ย. 69 11 ม.ค. 70 และ 31 มี.ค. 70 ด้วย ซึ่งปี 70 ถือว่าเป็นปีที่สัญญาเก่าทั้งหมดจะจบลง
รองผู้ว่าฯ กทม. บอกอีกว่า จากสัญญาดังกล่าว ทำให้ต้องมีการเตรียมจัดซื้อจัดจ้างรถขยะทดแทน ซึ่งต้องตั้งโครงการตั้งแต่ปีงบฯ 66 แต่ติดข้อร้องเรียน ทำให้โครงการหยุดชะงักลง ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ตามจริงแล้ว กทม. ควรจะต้องมีรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน มาทดแทนรถที่หมดสัญญา โดยก่อนที่จะหมดสัญญาเช่าอย่างน้อย 1 ปี กทม. จะตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อเป็นการเช่าทดแทนรถที่จะหมดสัญญาเช่า เพื่อนำเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในปี 2566 โดย กทม. ตั้งโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยขึ้นมา 5 โครงการ แต่โครงการเช่ารถสามล้อไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการที่ 5 มีการยกเลิกไปเนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่าค่าเช่าแพงกว่าซื้อ
“รถไฟฟ้าข้อดีที่สำนักสิ่งแวดล้อม รายงานมา คือ สามารถเข้าไปในชุมชนได้ แต่ถ้าหากแพงกว่าเก่าจะยกเลิกส่วนโครงการที่เหลือ จะเห็นว่าเป็นชื่อโครงการเช่ารถเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งในโครงการ กทม. ไม่เคยระบุว่าเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงอะไร เพียงแต่บอกถึงขนาด จำนวนคัน และงบประมาณที่ใช้ ดังนั้นเราจึงไม่มีการระบุ ในการเช่ารถตั้งแตาปี 2545 ไม่เคยเห็นประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้”
จักกพันธุ์ ผิวงาม
รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุอีกว่า หลังจากที่ผู้บริหารชุดใหม่ เข้ามาได้มีการหารือว่าควรจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าหรือไม่ ทำให้มีการหาข้อมูล 3 เรื่อง คือ 1. หลักเกณฑ์ในการเช่ารถขยะไฟฟ้า 2. ราคา 3. ประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งแนวคิดการเปลี่ยนมาใช้รถขยะไฟฟ้า นำมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 24 ส.ค. 64 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- มีมติเป็นหลักการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (รถยนต์ไฟฟ้า: EV) มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน
- ในระยะแรกให้ส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
“การที่เราจะนำรถไฟฟ้ามาเช่า แทนรถดีเซล ดูจากวัตถุประสงค์แล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เราจึงเริ่มดำเนินการโครงการนี้ แต่ระหว่างดำเนินการ ทางสำนักสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสงสัยว่าสามารถดำเนินโครงการนี้ได้จริงหรือไม่ จึงทำเรื่องหารือกับ ปลัด กทม. โดยได้ส่งสำนักงบประมาณพิจารณา และได้รับคำตอบว่าเนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการไม่ได้ระบุประเภทการใช้พลังงาน ดังนั้นการที่สำนักสิ่งแวดล้อม จะใช้รถประเภทใดก็แล้วแต่ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นวงเงินเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนวงเงินและวัตถุประสงค์ต้องเสนอสภา กทม. แต่ในขณะที่กำลังดำเนินโครงการนั้น ได้รับการร้องเรียนว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักลงและเป็นอันต้องยกเลิกไป ดังนั้นในปีงบประมาณ 2568 สำนักสิ่งแวดล้อมจึงเสนอโครงการเช่ารถขยะไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 4 โครงการ ซึ่งผ่านสภา กทม. เรียบร้อยแล้ว”
จักกพันธุ์ ผิวงาม
เช่ารถไฟฟ้า แทนดีเซล 9 เดือน ประหยัดงบฯ 127 ล้าน
รองผู้ว่าฯ กทม. บอกอีกว่า รถขยะที่หมดสัญญา 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ กทม. ไม่มีรถขยะมาใช้ สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้รับอนุมัติจัดสรรงบกลางเพื่อไปดำเนินโครงการจัดหารถขยะมาใช้ในช่วงสั้น ๆ ระยะเวลาเช่าไม่เกิน 270 วัน เนื่องจากเห็นสมควรว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยได้มีการเปรียบเทียบค่าเช่ารถดีเซลกับรถไฟฟ้าในช่วงระยะเวลา 9 เดือน พบว่า ใช้รถขยะไฟฟ้าจ่ายน้อยกว่ารถดีเซล ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับประชาชนและประโยชน์กับทางราชการ
เทียบราคา – ปล่อยมลพิษ รถขยะไฟฟ้า
ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ก่อนเสนอโครงการได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลว่ารถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้ามีการใช้งานอยู่จริงหรือไม่ ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มีหน่วยราชการใดใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าในการเก็บขนมูลฝอยบ้าง พบว่า ในพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับ กทม. อย่าง เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เทศบางตำบลบางปู และองค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง จ.สมุทรปราการ ได้ใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า กรุงเทพมหานครไม่ใช่ที่แรกที่จะใช้รถประเภทดังกล่าว โดยจากการศึกษาติดตามการดำเนินการในเทศบาลข้างเคียงที่ได้มีการใช้รถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้าเป็นประจำมาระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ประมาณเดือน ม.ค. 2567 พบว่าสามารถใช้งานได้ดีและเต็มศักยภาพ
ขณะที่ ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปรียบเทียบมลพิษต่าง ๆ ได้ศึกษาจากงานวิจัยในหลาย ๆ พื้นที่ เกี่ยวกับรถเก็บขนมูลฝอยพลังงานไฟฟ้า พบว่า รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน หากเป็นรถดีเซลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,256 กิโลคาร์บอน ต่อเที่ยว ส่วนรถไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 192 กิโลคาร์บอน ต่อเที่ยว
การปล่อย PM2.5
รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม.รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 40 กรัม/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 72 กรัม/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 48 กรัม/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน รถดีเซลจะปล่อย PM2.5 ประมาณ 90 กรัม/คัน/วัน แต่หากเป็นรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถไฟฟ้าจะไม่ปล่อย PM2.5
การปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์
รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถดีเซลจะปล่อยคาร์บอนมอนออกไซด์ประมาณ 8, 11, 8, และ 11 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 0 กรัม/คัน/วัน
การปล่อยไฮโดรคาร์บอน
รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. รถแบบอัด 2 ตัน และรถแบบอัด 5 ตัน ที่เป็นรถดีเซลจะปล่อยไฮโดรคาร์บอนประมาณ 356, 428, 428, 535 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าจะปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ 0 กรัม/คัน/วัน
การปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน
รถดีเซลประเภทรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 666 กรัม/คัน/วัน รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 1,200 กรัม/คัน/วัน รถแบบอัด 2 ตัน จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 800 กรัม/คัน/วัน และรถแบบอัด 5 ตัน จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนประมาณ 1,500 กรัม/คัน/วัน ส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภท จะปล่อยก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน 0 กรัม/คัน/วัน
“จากการเปรียบเทียบค่ามลพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่กรุงเทพมหานครประสบทุกปี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สำนักสิ่งแวดล้อมตัดสินใจที่จะใช้รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตัวเรา เนื่องจากรถของเราต้องวิ่งเข้าพื้นที่ชุมชน ซอยต่าง ๆ ทุกวัน และระหว่างการดำเนินการเก็บขนมูลฝอยในแต่ละวันก็จะมีการปล่อยมลพิษจากตัวรถ โดยตัวเลขข้างต้นคำนวณจากการใช้รถ 200 กม. ต่อวัน และค่ามลพิษคิดจากปริมาณการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ หากเริ่มต้นปรับเปลี่ยนรถราชการมาใช้รถไฟฟ้าก็จะสามารถลดปัญหามลพิษในกรุงเทพมหานครได้ส่วนหนึ่ง”
ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ
สอบทุจริต-ทำแผน จัดหารถขยะทดแทนรถที่หมดสัญญา
จักกพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้รถไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบรถดีเซลทั้งโครงการเช่ารถฯ จะใช้งบประมาณที่ถูกกว่า ต้นทุนพลังงานถูกกว่า และมลภาวะต่าง ๆ น้อยกว่า ส่วนปัญหารถเก็บขยะ 102 คัน ที่หมดสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. นั้นเกิดความล่าช้า เนื่องจากพบว่าหลังจากมีผู้ยื่นซอง พบว่า เอกสารรถไฟฟ้าไม่ตรงกับ TOR จึงทำให้ต้องยกเลิก เช่นเดียวกันกับกรณีก่อนหน้านี้ หากสำนักสิ่งแวดล้อม เสนอขอเช่ารถสามล้อไฟฟ้ามาแล้วถ้าตรวจสอบพบว่า แพงกว่าการซื้อก็ต้องยกเลิกเช่นกัน
รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า พยายามตรวจสอบทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยเตรียมแก้ปัญหาโดยบริหารจัดการรถที่ยังมีใช้อยู่ประมาณกว่า 1,000 คัน ที่พบว่าวิ่งไม่ครบ 200 กม./วัน ตามสัญญา มาเข้าจัดเก็บทดแทนรถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. ดังนี้
- รถขนาด 2 ตัน จำนวน 55 คัน
- รถขนาด 5 ตัน จำนวน 99 คัน
- รถเปิดข้าง 2 ตัน จำนวน 4 คัน
- รถกระบะเทท้าย จำนวน 2 คัน
- โดยมีการตั้งวางภาชนะขนาด 8 ลบ.ม. และใช้รถยกภาชนะขนาด 8 ลบ.ม. เข้ายกภาชนะ จำนวน 23 คัน
- ตั้งถังขยะ ขนาด 240 ลิตร หรือ 130 ลิตร แทนภาชนะขนาด 3 ลบ.ม.
- เพิ่มรอบและความถี่ในการจัดเก็บ และปรับเปลี่ยนวิธีการทิ้งขยะโดยนัดเวลาทิ้ง นัดเวลาเก็บ โดยให้รถเก็บขยะ 2 ตัน เข้าจัดเก็บกรณีถนนแคบ ส่วนรถเก็บขยะ 5 ตัน เข้าจัดเก็บกรณีถนนกว้าง
“ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน 22 ปี เราทำอะไรกันบ้างในเรื่องนี้ สัญญาเช่า 22 ปี แต่ตอนนี้ผมยอมรับว่าเข้าในปีแรกผมไม่ทราบจริง ๆ แต่เพิ่งมาทราบเมื่อประมาณต้นปี เนื่องจากเขตสายไหม กรุงเทพตะวันออก 10 เขต มีปัญหาเรื่องขยะตกค้าง ผมและสำนักสิ่งแวดล้อมลงไปแก้ปัญหา แล้วก็เอาข้อมูลทุกอย่างมาดู GPS ไม่เคยเห็นก็เห็นกันคราวนี้ กรณีรถวิ่งไม่ได้ 200 กม.มันก็ไม่ได้ รถใช้แค่ครึ่งเดียว เพราะฉะนั้น ผมยืนยันถ้าอะไรที่มันผิดต้องแก้ให้ถูก ถ้าอะไรที่มันทุจริตต้องไม่ทุจริต ขณะนี้เรื่องการเช่ารถผมเรียนว่ามีคำถามอยู่ 3 คำถาม คำถามแรกคือทุจริตไหม ผมยืนยันว่าในขณะนี้เรื่องการเช่ารถไฟฟ้าทุจริตเนื่องจากว่าต้องการเงินทอนสำหรับผมแล้วไม่มี แต่ถ้าในกรณีรถล่าช้ายอมรับว่าจริง เนื่องจากการทำเอกสารผิดพลาดผมยอมรับว่าจริง 2 เรื่องนี้ผมยอมรับว่าหน่วยงานต้องแก้ปัญหา ต้องทำอย่างไรให้รถสามารถนำมาใช้ได้ตรงตามเวลาที่ควรจะเป็น การทำงานที่ถูกต้อง เอกสารที่ครบถ้วน รวดเร็วสมบูรณ์ต้องเกิดขึ้น ถ้าตัวผม เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพัฒนาการทำงานเรื่องนี้ ปัญหาในข้อที่ 2 และ 3 ก็ไม่น่าจะเกิดตามขึ้นมาครับ”
จักกพันธุ์ ผิวงาม