‘บอร์ดเกม’ งานเมือง เจาะปัญหาเส้นเลือดใหญ่ กทม.

ชวนประชาชนเสนอทางแก้ไข พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมบอร์ดเกม สร้างความเข้าใจปัญหาเมือง ครอบคลุม 3 มิติ งาน-เงิน-คน

วันนี้ (26 เม.ย. 68) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หรือ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบบอร์ดเกม โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยประชาชนที่สนใจเข้าร่วม

เอกวรัญญู บอกว่า วันนี้เป็นวันแรกที่จัดกิจกรรมบอร์ดเกม เพื่อให้ทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นในการแก้ไข พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ซึ่งเป้าหมายในกิจกรรมนี้ ต้องการให้ทุกคนที่มาเล่นได้เข้าใจบริบท และภาพรวมของ กทม.ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การบริหารงานและข้อจำกัดของกฎหมายปัจจุบัน โดยหลังจากเล่นเกม ก็จะชวนทุกคนเข้าไปร่วมแสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ 2528.bangkok โดยความเห็นทั้งหมด จะเป็นสารตั้งต้น ให้ กทม. ได้รวบรวมข้อมูลในการนำเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ต่อไป

เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร

3 บอร์ดเกม สะท้อน 3 มิติ จัดการเมือง

โฆษกของกรุงเทพมหานคร ยังระบุว่า ในส่วนของการเล่นบอร์ดเกม ประชาชนมีส่วนร่วมใน 3 มิติสำคัญของการบริหารเมือง ได้แก่ ภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ของ กทม., รายได้และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน รวมถึง โครงสร้างบุคลากรในการบริหารราชการ ผ่าน 3 บอร์ดเกมที่จัดทำขึ้นคือ

  • My Bangkok สวมบทเป็นผู้ว่าฯ กทม. บริหาร ออกแบบ แบ่งโซนเมือง กระจายทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

  • Bangkok Road จำลองให้เห็นว่าการบริหารถนนและทางเท้าในกรุงเทพมหานครต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และหากไม่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพก็จะนำไปสู่ปัญหา

  • Vote and Fund เข้าใจระบบงบประมาณ ลองจัดงบประมาณลงโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย กทม.

คนอยากแก้ ‘ปัญหาทางเท้า’ มากที่สุด

โฆษกของกรุงเทพมหานคร เผยถึงความคืบหน้า ของผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ 2528.bangkok พบว่ามีแล้วหลายหมื่นคน โดยจากปัญหาที่นำเสนอไป 13 ด้าน มีคนเข้ามาตอบมากที่สุด คือ “ปัญหาเรื่องทางเท้า” ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของคนเมืองในเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 18 พ.ค. 68 หลังจากนั้น กทม. จะจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุง เสนอผ่านกระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะมีร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวข้องหลายฉบับที่เสนอประกอบกัน ภายหลังการรวบรวมความคิดเห็นจากเว็บไซต์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลไปจัดกลุ่มเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เพื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยหัวใจของการดำเนินงานในครั้งนี้ คือ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างจริงจัง

“อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น กล่าวได้ว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ การเดินหน้าแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ของจริง ที่กรุงเทพมหานครพยายามผลักดัน ในรอบเกือบ 40 ปีของ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ” 

เอกวรัญญู อัมระปาล

ธนวัฒน์ ปิ่นนราทิพย์ ผู้ร่วมออกแบบบอร์ดเกม

ธนวัฒน์ ปิ่นนราทิพย์ ผู้ร่วมออกแบบเกม จาก เพจ Experimuch ระบุว่า ได้เข้าร่วมงานนี้เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจ และเกมรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนหลังเล่นเกมเสร็จ เมื่อเกิดความเข้าใจเมืองแล้ว จะชวนให้ไปลงความเห็นต่อในเว็บไซต์ เชื่อว่า หากประชาชนได้ทดลองเล่นครบทั้ง 3 เกม และได้นำมาพูดคุยกัน ว่าแต่ละส่วนอยากนำเสนออะไร จะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากในตัวเกมจะไม่ได้อัดเน้นข้อมูลมากขนาดนั้น 

“ผมเชื่อว่า ตัวเกมจะส่งเสริมประสบการณ์ที่ชัดเจน คือ การย้ำเตือนประสบการณ์บางอย่างผ่านการเล่นเกม เพราะแต่ละคนจะพบเจอปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งในเว็บไซต์มีไฟล์บอร์ดเกมให้ดาวน์โหลดไปเล่น แนะนำว่าให้อ่านคู่มือก่อน ว่าเล่นกี่คน มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจสามารถส่งคำถามไว้ที่เพจกรุงเทพมหานครได้เลย”

ธนวัฒน์ ปิ่นนราทิพย์

ขณะที่ กัปตัน จิรธรรมานุวัตร ชาวกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บอกว่า ได้ลองเล่นเกม My Bangkok ที่เป็นเกมแบ่งโซน กทม. เป็น 6 โซน จาก 50 เขต เพราะสนใจเรื่องการจัดการเมืองอยู่แล้ว รู้สึกว่าเกมสนุก และลองเล่นไปหลายรอบ ได้เห็นภาพใหญ่ของการพัฒนาเมือง มีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะยังมีบางเขตที่ยังกระจายโครงสร้างพื้นฐานไปไม่ถึง เช่น เรื่องสุขภาพ ที่ไปไม่ถึงพื้นที่ชานเมือง เพราะโรงพยาบาลหลัก ๆ กระจุกตัวอยู่ใจกลาง กทม. เป็นหลัก

สำหรับกิจกรรมบอร์ดเกมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมได้ใน วันเสาร์ที่ 26 เมษายน / 3 พฤษภาคม / 10 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ ในงาน Bangkok Expo ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ (ติด MRT ศูนย์สิริกิติ์) วันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2568 โดยผู้สนใจเข้าร่วมฟรี ไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active