เลี้ยงหมา-แมว หลายตัวมาก่อน ยังสามารถเลี้ยงต่อได้ แต่ ต้องลงทะเบียน-ทำหมัน-ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ-ฉีดวัคซีนสม่ำเสมอ แจงรายละเอียด เพื่อให้ผู้เลี้ยงเตรียมความพร้อม ก่อนบังคับใช้จริง 10 ม.ค. 69 เป้าหมาย ป้องกันสัตว์จร-โรคระบาด
วันนี้ (2 พ.ค. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย น.สพ.ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ชัญญา ผาสุพงษ์ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรม ราชูปถัมภ์ และ โรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อม การใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 หลังจากมีข่าวประชาสัมพันธ์ก่อนหน้านี้แล้วมีประชาชนเกิดข้อสงสัย
รศ.ทวิดา บอกว่า สำหรับผู้ที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมวอยู่แล้ว หลายคนอาจกังวลเมื่อเห็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้เลี้ยงตามบ้านหรือตามห้องชุดได้ 2 ตัวหรือ 3 ตัวและเลี้ยงได้มากที่สุด 6 ตัว ตามขนาดพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ม.ค.69 โดยหลักของกฎหมายไม่บังคับย้อนหลัง นั่นหมายความว่าถ้าเลี้ยงอยู่แล้วไม่มีผล
“ท่านเลี้ยงของท่านมา ท่านรักของท่าน เราไม่ทำอะไรเพียงแต่ขอให้ท่านมาจดทะเบียนแจ้งว่าท่านเลี้ยงอยู่ 6 แล้วก็เลี้ยงต่อไป รักเขาให้มาก ๆ รับผิดชอบเขาให้เยอะ ๆ อย่าให้มีเรื่องเดือดร้อนรําคาญกับเพื่อนบ้านหรือชุมชน ฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ จดทะเบียนเค้าให้เรียบร้อย ทำหมันเลยก็ดี จะได้ช่วยเรากำกับควบคุมจำนวนไปเลย เพราะพอหลังวันที่ 10 ม.ค. 69 จะได้ไม่มีน้องติดท้องไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล อย่าเอาเขาไปทิ้ง เลี้ยงเขามาเลี้ยงเขาต่อไปจนกว่าเขาจะจากท่านไปเอง”
รศ.ทวิดา กมลเวชช
รศ.ทวิดา ระบุว่า ที่มาของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 สืบเนื่องมาจากนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ได้แก่
1. ขึ้นทะเบียนตลอดช่วงชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์ที่มีเจ้าของเป็นสัตว์จรจัด
2. จัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยการควบคุมการเพิ่มจำนวนสัตว์ ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหาบ้านใหม่ให้สัตว์จร ลดการซื้อสัตว์ใหม่มาเลี้ยง
โดย ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.68 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 360 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือวันที่ 10 ม.ค. 69 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- สัตว์ปีก
- สัตว์น้ำ
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
- สัตว์เลื้อยคลาน
- สัตว์มีพิษหรือสัตว์ดุร้าย
ข้อกำหนดพื้นที่ สถานที่เอกชนใน กทม.ให้เลี้ยงสัตว์
- เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ ม้า กวาง หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกัน ได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางวา
- เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกันได้ไม่เกิน 3 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตาราวางวา
- เลี้ยงไก่ เป็ด ห่าน ได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 4 ตารางเมตร
- เลี้ยงนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ หรือนกที่มีขนาดเดียวกัน ได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 50 ตารางเมตร
- เลี้ยงนกขนาดเล็ก ได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อสถานที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่ 1 ตารางเมตร
ทั้งนี้ การเลี้ยงสัตว์ตามข้อ 1-5 ดังกล่าว ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้น
- เพื่อการรักษาโรคเจ็บป่วยหรือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์
- เพื่อกิจกรรมใด ๆ ที่กรุงเทพมหานครประกาศกำหนดพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดให้เลี้ยงสัตว์โดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเป็นการเฉพาะ
- เพื่อการย้ายถิ่นที่อยู่ของเจ้าของสัตว์
- การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ของทางราชการและการปล่อยสัตว์เพื่อการกุศลหรือจารีตประเพณี

เจ้าของสัตว์ต้องเลี้ยงสัตว์ตามปกติวิสัย และต้องปฏิบัติ ดังนี้
- จัดให้มีสถานที่เลี้ยงสัตว์ที่มั่นคงแข็งแรงและเหมาะสมแก่ประเภทและชนิดของสัตว์ โดยมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของสัตว์ มีอาหาร น้ำ แสงสว่าง และการระบายอากาศที่เพียงพอ มีระบบระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ
- รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
- จัดให้มีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ที่เลี้ยงเป็นโรคอันอาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพของประชาชน ให้เจ้าของสัตว์แยกกักสัตว์นั้นไว้ต่างหาก และแจ้งให้หน่วยงานที่จดทะเบียน หรือสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัยทราบ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- เลี้ยงสัตว์ภายในสถานที่เลี้ยงสัตว์ของตน ไม่ปล่อยให้สัตว์อยู่นอกสถานที่เลี้ยงสัตว์ โดยปราศจาศจากการควบคุม กรณีเป็นสัตว์ดุร้ายจะต้องเลี้ยงในสถานที่หรือกรงที่บุคคลภายนอกเข้าไม่ถึงตัวสัตว์และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสังเกตได้อย่างชัดเจน
- จัดให้สัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติตามสมควร
- ควบคุมดูแลสัตว์ของตนมิให้ก่ออันตรายหรือเหตุรำคาญแก่ผู้อื่น
- เมื่อสัตว์ตายลง เจ้าของสัตว์จะต้องกำจัดซากสัตว์และมูลสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันมีให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงหรือสัตวนำโรค ทั้งนี้ โดยวิธีที่ไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่น ควัน และไม่เป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ
- ปฏิบัติการอื่นใดตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข พนักงานเจ้าหน้าที่ คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งของกรุงเทพมหานคร
กำหนดเลี้ยงหมา-แมว ตามขนาดพื้นที่ ใน กทม.
สำหรับในเขต กทม. เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมวเกินจำนวนที่กำหนด ดังนี้
- พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 80 ตารางเมตร เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว
- พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่าตั้งแต่ 80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดินไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดินตั้งแต่ 20 ตารางวา แต่ไม่เกิน 50 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 3 ตัว
- เนื้อที่ดินตั้งแต่ 50 ตารางวา แต่ไม่เกิน 100 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 4 ตัว
- เนื้อที่ดินตั้งแต่ 100 ตารางวา เลี้ยงรวมกันได้ไม่เกิน 6 ตัว
เลี้ยงเกินที่กำหนด ต้องแจ้งภายใน 90 วัน
รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ก่อนวันที่ข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือก่อนวันที่ 10 ม.ค. 69 ให้แจ้งต่อสำนักงานเขต ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 9 เมษายน 2569
ส่วน กรณีเลี้ยงสุนัขและแมวเกินกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ฟาร์มสัตว์ ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์ โรงแรมสัตว์) ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม เจ้าของสุนัขและแมวต้องนำสัตว์ไปจดทะเบียน ออกบัตรประจำตัว และฝังไมโครชิป ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วัน นับแต่ในที่นำสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำการแทน โดยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยงานที่รับจดทะเบียน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขต พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของสัตว์ ทะเบียนบ้านที่สัตว์อาศัยอยู่ และแบบหลักฐาน ใบรับรอง หนังสือยินยอมจากผู้ให้เช่า ในกรณีเป็นผู้เช่า หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ถ้ามี) หนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมันจากสัตวแพทย์ (ถ้ามี) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
พาหมาแมวออกนอกบ้าน ต้องพกบัตร
การนำสุนัขหรือแมวออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องปฏิบัติ ดังนี้
- แสดงบัตรประจำตัวสุนัขหรือแมว เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ
- ใช้สายจูงที่แข็งแรงและจับสายจูงตลอดเวลา หรือใช้ กระเป๋า คอก กรง หรืออุปกรณ์อื่นที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์อื่น กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษ เช่น พิทบูลเทอร์เรีย บูลเทอร์เรีย สเตฟฟอร์ดเซอร์บูลเทอร์เรีย รอทไวเลอร์ ฟิล่าบราซิลเลียโร ต้องใช้อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรงและจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา
- ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือเกินกว่า 65 ปี นำสุนัขควบคุมพิเศษออกนอกสถานที่เลี้ยง
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ มีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฝ่าฝืนตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท)
กทม. มองว่า ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ดังนี้
- ประโยชน์ของการฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขแมว ได้แก่ ไมโครชิปมีอายุการใช้งานตลอดช่วงชีวิตสัตว์ และไม่สูญหายเหมือนอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ป้ายห้อยคอ กรณีพบสัตว์ที่ฝังไมโครชิปในที่สาธารณะ กทม.สามารถประสานงานติดต่อกับเจ้าของสัตว์ได้ สามารถระบุเจ้าของสัตว์ได้เมื่อเกิดข้อพิพาท เช่น สลับตัวสัตว์
- ป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์ที่มีเจ้าของเป็นสัตว์จรจัด โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการควบคุมประชากรสัตว์จรจัด ผ่านโครการควบคุมแมวจรจัดในชุมชน และโครงการจ้างเหมาผ่าตัดทำหมันควบคุมจำนวนและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า