‘ชัชชาติ’ โวใน 4 ปี พลิกระบบ กทม. ไม่มี “เช้าชาม เย็นชาม”

ย้ำเดินหน้านโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ด้วยเทคโนโลยี และพลังความร่วมมือ พร้อมปักธง กรุงเทพฯ สู่ เมืองแห่งประสิทธิภาพ น่าอยู่ ความหวัง

วันนี้ (7 พ.ค. 68) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าฯ แถลงผลงานในโอกาสการทำงานครบรอบ 3 ปี ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง” ด้วยหลักการทำงาน 5 ข้อ 

ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ตอนนี้ในบ้านเรามีข่าวร้ายเต็มไปหมด อยากให้เล่าถึงโอกาส และความหวัง ก้าวต่อไปของการบริหารงานให้ กทม. ยืนอยู่ได้ต่อไป จากการทำงานมาเกือบ 3 ปี ของทีมผู้บริหาร คณะทำงาน ภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีความกังวลว่า ตึกในพื้นที่จะพังเสียหายไปหมด แต่ปรากฎว่ามีเพียงตึกเดียวที่พัง คือ อาคาร สตง. ขณะที่ตึกใน กทม. อื่น ๆ ไม่ได้รับความเสียหาย หมายความว่ากฎหมายยังเข้มแข็งอยู่

ส่วนอาคารที่เกิดปัญหาก็ต้องทำการตรวจสอบต่อไป ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. ได้จัดแคมเปญ We are OK ที่มีสถานทูต 30 ประเทศเข้าร่วม ทำให้เห็นว่า กทม. ยังเข้มแข็งและเดินหน้าต่อไปได้ โดยเล่าถึง 3 เรื่องสำคัญคือ 1. ความหวัง และโอกาส 2. หัวใจการทำงาน 3. โครงการสำคัญในอนาคต

ความหวัง และโอกาส ของ กทม.

ชัชชาติ ยังระบุถึง ความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจัง จะสามารถเอาชนะสิ่งที่ยากได้ ยกตัวอย่าง ระบบราชการที่มีความล่าช้า มีเสียงบ่นว่า “ล่าช้า เช้าชาม เย็นชาม ไม่สนใจประชาชน ไม่ประสานงาน” กทม. ได้แก้ปัญหาโดยการใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า ข้าราชการต้องทำตามความต้องการของประชาชน เป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนให้สามารถร้องเรียนเข้ามา จากวันที่เริ่ม จนถึงเมื่อวานนี้ มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 934,961 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 757,354 เรื่อง 

“เกือบ 1 ล้านเรื่อง ที่เจ้านายเขาจ้างเราทำงาน เราทำงานและส่งต่อหน่วยงานอื่นไปแล้ว นี่คือการปฏิรูปการทำงานของข้าราชการโดยไม่ต้องใช้กฎหมายเลย ใช้อำนาจเดิมที่มี ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มด้วย แต่เปลี่ยนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น มีการให้ประเมินการทำงานของแต่ละหน่วย ช่วยในการตัดสินใจด้วยว่าเราจะเอาใครทำตำแหน่งไหน ในช่วงแรกที่ผมเป็นผู้ว่าฯ 1 ปัญหา ใช้เวลาแก้ 2 เดือน 3 ปีผ่านไป จาก 2 เดือน เหลือเวลาในหารแก้ปัญหาแค่ 1.9 วันต่อเรื่อง”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึงปัญหา หาบเร่แผงลอย ที่สามารถจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผันไปมากกว่า 446 จุด ผู้ค้าลดลงกว่า 5,300 ราย และจากการทำนโยบายที่ชัดเจนและเอาจริงเอาจัง เช่น โบ๊เบ๊ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ต่อเนื่อง จนทำให้สามารถจัดระเบียบได้สำเร็จ

ขณะที่นโยบาย ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ที่ในช่วงแรกมีคนตั้งคำถามว่าจะทำไม่ได้ แต่ความต่อเนื่องในการทำงานและชักชวนภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการ จนถึงตอนนี้ปลูกไปแล้ว 1,859,894 ต้น ซึ่งเกินเป้าหมาย คาดว่ากว่าจะหมดสมัยอาจถึง 2 ล้านต้น เป็นการเปลี่ยนเมืองได้จริง หรืออย่างการ เพิ่มสวน 15 นาที ที่เพิ่มไปแล้ว 199 สวน จากเป้าหมาย 500 สวน เพื่อให้คนในชุมชนมาใช้ประโยชน์ได้

ปัญหาทางเท้า ที่ประชาชนไม่สามารถใช้สัญจรได้ กทม.ดำเนินการปรับปรุง ไปแล้ว 1,100 กิโลเมตร ทั่วกรุงเทพฯ เชื่อว่า ทุกคนมองเห็นว่าทางเท้าดีขึ้น กรุงเทพฯ ต้องสว่าง เพื่อความปลอดภัยกับประชาชน โดยเปลี่ยนโคมไฟ LED ไปแล้วมากกว่า 115,000 ดวง ตั้งเป้าเปลี่ยนอีก 20,000 ดวง ปรับปรุงทางม้าลาย ไปแล้วกว่า 2,100 แห่ง โดยการทำให้ชัดเจนขึ้น ติดไฟเพิ่มแสดงสว่าง ปรับลดความเร็วในเขต กทม. เหลือ 60 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง ช่วยลดอุบัติเหตุได้

รวมถึง โครงการไม่เทรวม ที่ลดปริมาณขยะได้กว่า 1,300 ตันต่อวัน หรือ 12% สามารถประหยัดค่าเก็บขยะ 2,000 ล้านบาท ลดค่ากำจัดขยะ 1,200 ล้านบาท ในปี 2567 จากการเอาภาคีเครือข่ายมาร่วมกัน โดยภายใน ต.ค. 2568 นี้ ประชาชนก็จะได้เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมี โครงการปรับภูมิทัศน์คลอง ถนนสวยทุกเขต 

เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพเมือง

ชัชชาติ ยังยกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา คือ การศึกษา โดยใช้แท็บเลต เป็นเหมือน Google Classroom พบว่า ผลการเรียนมีประสิทธิภาพดีขึ้น และมีการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักเรียน ด้วย AI ผลการทดสอบการใช้ภาษาอังกฤษได้คะแนนดีขึ้นสูงสุด 37% ต่อมาคือ ใช้เทคโนโลยี AI แก้ปัญหาจราจร ที่ปล่อยสัญญาณไฟตามปริมาณรถ ทำไปแล้ว 72 จุด ซึ่งตั้งเป้าทำให้ครบ 500 แยกใน กทม.

นอกจากนี้ยังใช้จับจักรยานยนต์บนทางเท้า ติดกล้องเพิ่มความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ใช้ AI จับทะเบียนรถบรรทุก 6 ล้อ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเข้ามาในเขต กทม.ชั้นใน จากโครงการกำหนดเขตมลพิษต่ำ Low Emission Zone และ ระบบ Open Data ทั้งเรื่องงบประมาณของ กทม. มีการเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว 1,130 ชุด การขออนุญาตก่อสร้างผ่านออนไลน์ เพิ่มความโปร่งใส ลดทุจริตคอร์รัปชัน มีการนำข้อมูลการตรวจสุขภาพของประชาชนเข้าสู่ฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ นำไปสู่การวิเคราะห์การใช้งบประมาณ และใช้ในการวางแผนได้ และยังมี ระบบ Health Tech อำนวยความสะดวกแกประชาชน ผ่าน Telemed 8 แห่ง มีประชาชนเข้ามาใช้บริการกว่า 92,000 ครั้ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งตัวผู้ป่วยลดระยะเวลาเดินทาง

คนรุ่นใหม่ คนมีไฟ มีประสบการณ์ ร่วมสร้างเมือง

ผู้ว่าฯ กทม. ยังบอกว่า ความเชื่อในคนรุ่นใหม่ คนมีพลัง และคนมีประสบการณ์ โดยเฉพาะคนเก่ง ที่อาจไม่ได้อยู่ใน กทม. จะทำอย่างไรเพื่อดึงคนเหล่านี้มาร่วมในการเปลี่ยนเมือง เช่น เว็บไซต์ แก้ พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ก็มีนิสิต จากจุฬาลงกรณ์มาช่วยพัฒนาให้ มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องบอร์ดเกม มาร่วมพัฒนาเกมที่ใช้ในการรับฟังความเห็น หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน กทม. ไม่ได้มาจากราชการ แต่มาจากพลังของเครือข่าย ทั้ง ดนตรีในสวน, Bangkok Pride, งาน Bangkok Design Week, กรุงเทพฯ กลางแปลง เป็นต้น

โครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในโครงการ Bike Sharing และยังมีสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ที่มีสมาชิก 800 กว่าคน ร่วมเสนอแนวทางขับเคลื่อน กทม. มีการเสนอนโยบายพัฒนาเมือง มีโครงการ Bangkok City Lab ศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพฯ จากภาควิชาการและประชาชน

เมืองพหุวัฒนธรรม ที่เป็นมิตร

อีกจุดแข็งของ กทม. คือ ความเป็นมิตร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้ว่า สิ่งที่ทุกคนมองเห็นตรงกัน ทั้งชาวไทย และต่างชาติ คือ กทม. มีความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม โอบรับความเห็นต่าง มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น เช่น ในโครงการ Food Bank ที่ให้คนที่ลำบากได้มาเลือกของและอาหารอย่างมีศักดิ์ศรี 50 เขต

โดยผลการดำเนินงาน สามารถส่งต่ออาหารให้ผู้ที่ต้องการได้กว่า 225,558 คน หรือ คิดเป็น 4,076,213 มื้อ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 2,455,433 กิโลกรัมคาร์บอน ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่มาจากความช่วยเหลือของคนในสังคม

และ กทม.ยังเป็นเมืองที่สร้างความเชื่อมั่นด้านความเปิดกว้างและความหลากหลาย อย่างในกิจกรรม Pride mount จากปีแรกมีผู้เข้าร่วม 10,000 คน ถึงปีล่าสุด 200,000 คน มีการจ้างงานคนพิการอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมืองที่เปลี่ยนวิกฤต เป็น โอกาส

“เรื่องเหตุแผ่นดินไหว การถล่มของตึก สตง. ท่ามกลางวิกฤตนี้ ต้องทำให้มีเรื่องที่ดีเกิดขึ้นได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวย้ำแนวคิด นี้ โดยยกตัวอย่าง ช่วงเข้ามาทำงานปีแรก ปี 2565 เป็นปีที่ฝนตกหนักมาก ผู้ว่าฯ กทม. ถูกสังคมด่าอย่างหนัก ซึ่งขณะนั้นใน กทม.มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมอยู่ 12 จุด แต่พอในช่วงเดือน ก.ย. 2565 ฝนตกหนักมาก มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มมาเป็น 737 จุด ได้บันทึกจุดที่น้ำท่วมลงบนแผนที่ เพื่อดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 3 ปีที่ผ่านมาปรับไปแล้ว 70% ทำให้น้ำท่วมลดลงชัดเจน

หรืออย่าง สถานการณ์รถบรรทุกตกหลุม ทำให้เกิดมาตรการทั้งตั้งด่าน และ จับน้ำหนักจากสะพาน ระบบจับน้ำหนักจากสะพานจับได้กว่า 1,200 คัน ส่งศาลให้ดำเนินคดี โดยศาลพิพากษาแล้ว 2 ราย การตั้งด่านสุ่มตรวจ จับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 65 คัน, วิศวกรอาสากว่า 130 คน ผนึกกำลังตรวจสอบอาคารหลังแผ่นดินไหว และตอบกลับเรื่องที่แจ้งมาใน Traffy Fondue กว่า 2 หมื่นเคส, ความร่วมมือกับ AirBnB จัดหาที่พักให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวฟรี โดยมีประชาชนมาใช้เครดิต รวม 8,540 คืน และความร่วมมือจากอาสาสมัครและองค์กรจากทั่วโลก ที่เข้าช่วยค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่อาคารถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ กทม.

คืบหน้างบฯ จัดซื้อรถไฟฟ้า จัดการขยะ หาบเร่ กทม.

ขณะที่ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงผลการดำเนินงานในประเด็นการจัดการขยะ ทั้ง 1. เรื่องงบประมาณค่ากําจัดมูลฝอยสิ่งปฏิกูลและไขมันของกรุงเทพมหานคร 2. เรื่องหารเช้ารถพลังงานไฟฟ้าทั้งรถขนขยะ รถน้ำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถหารถถไฟฟ้ามาทดแทนรถสันดาปได้ ซึ่งยอมรับว่าล่าช้า เนื่องจากว่าหลังการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 – 2567 ในการเขียนโครงการและคำของบประมาณ ไม่ได้ระบุประเภทรถและประเภทเชื้อเพลิง แต่กำหนดตอนทำ TOR กระทั่งปี 2566-2567 ก็ทำเช่นเดิม แต่ตอนเปลี่ยนจากรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้ามีข้อทักท้วง ว่าต้องมีการระบุไว้ในโครงการเพราะถือเป็นสาระสำคัญ ทำให้ต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวไป เมื่อปี 2567 ล่าสุดฝ่ายบริหารเขียนโครงการใหม่ และระบุเป็นรถไฟฟ้า 4 โครงการ แต่ราคารวมทุกประเภท ราคาลดลงไป 703 ล้านบาท ซึ่งหากทำได้จะช่วยประหยัดงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.

จักกพันธุ์ ยังกล่าวถึง การจัดทำประกาศใหม่ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือทางสาธารณะ ที่ประกาศไปเมื่อ 29 ส.ค. 2567 ซึ่งขณะนี้สำนักเทศกิจ ในแต่ละเขตอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการบนทางเท้าว่าต้องทำตามระเบียบหากดำเนินการตามขั้นตอนก็จะดำเนินการเพื่อกำหนดเป็นจุดการค้า แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เหมือนกัน โดย กทม.จะมีคณะกรรมการประเมิน ที่มีทั้ง สำนักเทศกิจ ผู้ค้า ผู้ตรวจราชการ ลงไปตรวจสอบด้วย กำหนดเสร็จใน ก.ย. 2568

ใช้เทคโนโลยี ในงานโครงสร้างพื้นฐาน แก้น้ำท่วม รับมือแผ่นดินไหว

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง การจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม ที่มีการศึกษาต้นเหตุว่าเป็นเพราะอะไร นำไปสู่การแก้ไขให้ตรงจุด รวมทั้งการพยากรอากาศล่วงหน้า เพื่อช่วยในการเฝ้าระวัง มีการเตรียมความพร้อมที่ดีขึ้น โดยมีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกและเอกชนมาร่วมดำเนินการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 ชั่วโมง มีศูนย์ข้อมูลควบคุมการระบายน้ำแบบเรียลไทม์ โดยมีคนคอยควบคุมและสั่งการ ซึ่งในอนาคตจะมีการใช้ AI ในการทำงานเพิ่มเติม 

พร้อมทั้งกล่าวถึง การรับมือแผ่นดินไหว ที่ได้มีการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือน เมื่อ เม.ย. 2566 และเราเคยมีแผ่นดินไหว เมื่อ มิ.ย. 2566 ไม่รุนแรง โดยได้นำเครื่องมือนั้นมาทำแบบจำลองความสามารถในการรับแรงของตึกธานีนพรัตน์ ตึก 37 ชั้น ของ กทม. ในการรับแรงสั่นสะเทือนล่วงหน้า เสาต้นไหนมีความเสี่ยง ทำให้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 มั่นใจว่ารับมือได้ 

“การรับมือแผ่นดินไหวด้วยข้อมูล จะทำให้ภาพคนอพยพจากโรงพยาบาล ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ถ้าเรามีการติดตั้งเครื่องมือ และนำข้อมูลนี้มาใช้ ไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในสถานการณ์”

วิศณุ ทรัพย์สมพล

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.

วิศณุ ยังกล่าวถึง การแก้ปัญหาจราจร มีการปรับปรุงกายภาพ จุดกลับรถ ปรับผิวจราจร ที่สำคัญคือการใช้เทคโนโลยีในการจัดการจราจร จากเดิมที่เป็นระบบกำหนดเวลาเปิดไฟ ก็ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนเวลาให้มีความเหมาะสม พร้อมกับร่วมมือ Google ในการทำ Green City ที่จะวิเคราะห์ว่าแต่ละแยกควรปรับเวลาเป็นเท่าไร ดำเนินการไปแล้ว 42 ทางแยก เพิ่มความคล่องตัว รวมทั้งใช้เทคโนโลยีในการปรับสัญญาณไฟ ตามความหนาแน่นของรถ

ยกระดับบริการ เพื่อสุขภาวะของทุกคน

ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการออกหน่วยตรวจสุขภาพประชาชนที่ผ่านมา พบว่า สิ่งที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. หรือโรงพยาบาลรัฐไม่เคยทำคือ การเปิด Wellness ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ได้ทำการเปิด Wellness ให้บริการตรวจสุขภาพฟรี การให้บริการนอกเวลา ซึ่งได้เปิดมาแล้วประมาณ 4 เดือน มีประชาชนเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 50,000 ครั้ง

ขณะเดียวกันยังมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลาย ดูแลสุขภาพเพื่อคนทุกกลุ่ม มีการเปิดบริการ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย 31 แห่ง ขณะที่ในเรื่องของการยกระดับบริการเนื่องจากในปีแรกทำข้อมูลค่อนข้างเยอะ และพบบางกลุ่มไม่ได้เข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น ผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้มีชมรมผู้สูงอายุทุกชุมชน และได้มีการเพิ่มให้เข้ามาเป็นสมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขและมาร่วมทำกิจกรรม การดูแลผู้พิการ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการได้โดยมีรถรับส่ง มีระบบรับเบี้ยผ่าน BMA OSS รวมทั้งการลงทะเบียนควบคุมสัตว์เลี้ยงด้วย

ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

สร้างเมืองเข้มแข็ง ยกระดับการศึกษา

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง การสร้างคนให้มีความเข้มแข็งอย่างแรกคือเรื่องการศึกษา จากเดิมที่เราใช้ระบบการเรียนแบบมีครูเป็นศูนย์กลาง ปรับระบบให้เป็น การเรียนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง personalized learning เพื่อให้การเรียนแบบเดิมที่ครูเป็นผู้กำหนดจังหวะ เปลี่ยนเป็นเวลาของเด็กเอง 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการ ยกระดับคุณภาพการศึกษาโดย ลดภาระครูคืนครูให้กับห้องเรียน พัฒนาครูโดยการสร้างครูแกนนำเทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยสอนสร้างห้องเรียนดิจิทัล และเรียนหลักสูตรปรับวิชาเรียนปรับการเรียนการสอนการประเมินเน้นการสร้างให้เด็กมีทักษะ ตั้งคำถามเป็น มีการวางแผนและลงมือทำด้วยตัวเอง นอกจาก เด็กในระดับชั้นประถมแล้ว ยังมีการยกระดับการเรียนรู้ในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด มีโครงการสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย เด็กแรกเกิดในโรงพยาบาลสังกัด จะได้หนังสือนิทาน ต่อมามีการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพิ่มเงินเดือนครู เพิ่มงบประมาณหลายหัวค่าอาหาร ในอนาคตจะมีการร่างข้อบัญญัติเพื่อให้เริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1.5 ปี เพิ่มการอุดหนุนเด็กเล็กนอกชุมชน มีการปรับรับเด็กอนุบาล 1 เริ่มตั้งแต่อายุ 3 ปี 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active