ปภ.รายงาน เกิดอุบัติเหตุสะสมแล้วกว่า 500 ครั้ง! สาเหตุหลัก “ขับเร็ว” ด้านข้อมูลปี67 พบอุบัติเหตุช่วงเทศกาลเพิ่มขึ้น 2 เท่า เหตุ “ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ”
วันนี้(29 ธ.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณชานชาลา ในสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งเป็นจุดที่จะมีผู้โดยสารมานั่งรอเพื่อขึ้นรถกลับภูมิลำเนา ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา พบมีผู้โดยสารเดินทางมานั่งรอกันอย่างต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมาใช้บริการก่อนหน้านี้พบว่าลดลงจากเดิมเมื่อเทียบกับช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันแรกของการเดินทางก่อนหยุดยาว
หนึ่งในผู้โดยสาร เปิดเผยว่า ตัวเองต้องการจะเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสาเหตุที่เลือกเดินทางมาขึ้นรถกลับบ้านเมื่อคืนที่ผ่านมา เนื่องจากได้ติดตามข่าวสาร พบว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาการจราจรบนถนนมิตรภาพมีปริมาณมาก และติดขัดยาวหลายกิโลเมตร อีกทั้งยังมีผู้มาใช้บริการที่สถานีขนส่งหมอชิตสองเป็นจำนวนมาก
“เตรียมใจมาแล้วว่าจะต้องเจอกับปัญหารถติด ซึ่งจากเดิมเคยเดินทางกลับบ้านใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 4 ชั่วโมง แต่ครั้งนี้ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 8 ชั่วโมง”
ด้าน นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. คาดการณ์ว่า เมื่อวานที่ผ่านมา (28 ธ.ค.67) มีประชาชนเดินทาง เฉลี่ยกว่า 110,000 คน โดยทาง บขส.ได้จัดรถโดยสารไม่ประจำทาง ไว้ ประมาณ 1,000 คัน เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว
คุมเข้มปีใหม่โทษหนัก “เมาขับ ขับเร็ว” เพิ่ม”ด่านชุมชน ด่านครอบครัว”คุมเข้ม
วันนี้ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กำชับจังหวัด อำนวยความสะดวกในเส้นทางสายหลัก สายรอง และถนนใน อบต.และหมู่บ้าน รวมถึง เฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มมาตรการตรวจสอบของคนขับรถโดยสารสาธารณะและยานพาหนะในทุกจุดที่มีการรับ – ส่ง ผู้โดยสาร กำชับจุดตรวจ ด่านตรวจ ด่านชุมชน ด่านครอบครัว เพิ่มความเข้มข้น
นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะ ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เปิดเผยว่า มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากถึง 1,100,000 เที่ยว และ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างทาง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจาก ขับรถเร็วเกินกำหนด
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เน้นย้ำ เพิ่มมาตรการตรวจสอบความพร้อมคนขับ โดยเฉพาะคนที่ขับรถสาธารณะ และให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน ทั้งถนนสายหลัก-สายรอง อบต. และหมู่บ้าน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทางแยก ทางร่วม เพิ่มความถี่การเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ในเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อป้องกันการง่วงหลับใน พร้อมย้ำ มาตรการ “ด่านชุมชน” และ “ด่านครอบครัว” เฝ้าระวังตักเตือนผู้ขับขี่ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ให้ออกจากชุมชน หมู่บ้าน ทั้งการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รถจักรยานยนต์ที่มีสภาพไม่ปลอดภัย การขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น และตรวจความพร้อมสภาพร่างกายของผู้ขับขี่
ปภ. ชี้ อุบัติเหตุสะสม 592 ครั้ง เสียชีวิต 93 คน สาเหตุยังเป็นขับรถเร็ว
มีรายงานจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 269 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 38 คน ขณะที่ยอดอุบัติเหตุสะสมสูงถึง 592 ครั้ง บาดเจ็บ 575 คน เสียชีวิต 93 คน
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.40 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.25, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.98, ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 28.25 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 11.90 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 15.93
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
- ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.29
- ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 21.56
- ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.33
ช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งอุบัติเหตุ และจำนวนผู้เสียชีวิต จะสูงกว่าช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ข้อมูลปี 2567 จะพบว่า การตายจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยทางถนน มีมติกำหนดระยะเวลาช่วงควบคุมเข้มข้น 10 วัน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 ภายใต้การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ขณะที่ข้อมูลอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า นี่คือสัญญาณที่ดีของการบังคับใช้กฎหมายในช่วงเทศกาล ที่จะดำเนิคดีกับผู้ที่ก่อเหตุ โดยเฉพาะ เมาแล้วขับ ในข้อหาที่มากกว่า ประมาท ภาพรวมของการรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักในช่วง 4-5 ปีมานี้ สิ่งที่เห็นชัด คือ การทำงานร่วมกันของชุมชน
จากข้อมูลพบว่า การตั้งด่านชุมชนสามารถช่วยคัดกรอง และลดอุบัติเหตุได้ โดยข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ยังพบว่าสถิติอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตลดน้อยลง ด่านชุมชนจึงควรเพิ่มการทำงานเชิงรุก เพื่อช่วยทำให้ไทยไปถึงเป้าหมายการลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์