ยื่น ‘วิปฝ่ายค้าน’ ทวงเพิ่มงบฯ อุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ชงแนวคิด “เด็กเท่ากัน” หลังพบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รายได้ลดลงกว่า 81% รายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 50% และเป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

วันที่ 24 พ.ค. 65 สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า 349 องค์กร ยื่นหนังสือวิปฝ่ายค้าน เรื่อง ขอให้ช่วยเสนอสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566

สุนี กล่าวว่าคณะทำงานฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน กดยช.และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 65 จากการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมติคณะรัฐมนตรีดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ปี 2558 และขยายความคุ้มครองแก่เด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันดูแลเด็กแรกเกิด 0-6 ปี คนละ 600 บาท/คน ในกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จนในปี 2565 ได้สนับสนุนเด็กเล็กไปประมาณ 2 ล้านคนจากจำนวนทั้งหมดประมาณ 4.2 ล้านคน

ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานในประเด็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ เครือข่ายแรงงานทั้งใน/นอกระบบ และนักวิชาการ รวม 340 องค์กรทั่วประเทศ ได้มีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์คนจน ตามมติการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.)ได้สรุปถึง 2 ครั้งในปี 2563 และ 2565 ให้สนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ภายในปีงบประมาณ 2565 แก่เด็กเล็กอายุ 0-6 ปี คนละ 600 บาท/เดือน

แต่พบว่า รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามมติ กดยช. ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ตั้งวงเงินอุดหนุนเด็กเล็กประมาณ 14,000 ล้านบาท และในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 กระทรวง พ.ม. ก็ตั้งวงเงินอุดหนุนเด็กเล็กเพียงประมาณ 15,000 ล้านบาท ทั้งที่มีการยื่นข้อเรียกร้องมาเป็นลำดับ ว่าเพียงรัฐบาลเพิ่มวงเงินอีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ก็จะสามารถจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีเดือนละ 600 บาทได้ถ้วนหน้า 4.2 ล้านคนตามมติ กดยช.

สุนี กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหลายครอบครัวยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 มีผลให้เกิดคนจนหน้าใหม่และภาวะคนว่างงานเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก เช่น รายได้ลดมากกว่า 81% และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 50% เป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

“เด็กเล็กเข้าไม่ถึงบริการด้านสวัสดิการสังคมและสาธารณสุข การที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปิด ส่งผลต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร ทุพโภชนาการ ปัญหาพัฒนาการทางร่างกาย สมองและการเรียนรู้ภาษาต่อเด็ก เสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาเร่งรัดดำเนินการนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า ตามมติ กดยช. ทั้งในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าคนละ 600 บาทต่อเดือน และให้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2565”

คณะทำงานฯ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ขอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านช่วยอภิปรายปรับปรุง ร่างพ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อเป็นไปตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.)

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) (ครั้งที่ 1) มติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 : เห็นชอบในหลักการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปีเดือนละ 600 บาท แบบถ้วนหน้า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ครั้งที่ 2) มติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 : เห็นชอบต่อแนวทางจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาท โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้