กทม. เดินหน้านโยบาย ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ มอบผ้าอนามัยฟรี หลายหมื่นชิ้น แก่นักเรียนหญิง ม.1- ม.3 โรงเรียนสังกัด กทม. พื้นที่เขตคลองสามวา 4 แห่ง 875 คน แจกฟรีตลอด 4 เดือน ปีการศึกษานี้
ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานด้านยุทธศาสตร์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานในกิจกรรม กทม.ส่งมอบผ้าอนามัยฟรีให้แก่นักเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 โรงเรียนสังกัด กทม. ในพื้นที่เขตคลองสามวา เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือน และครอบครัว ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นที่โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) เขตคลองสามวา
ก่อนหน้านี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กำหนดนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรี โดยสำนักงานเขตคลองสามวา ได้นำเสนองบประมาณผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตคลองสามวา ภายใต้ชื่อ “โครงการเสริมสร้างความรู้และสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนสำหรับนักเรียนหญิง ม.1 – ม.3 ฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขตคลองสามวา”
โดยมีกลุ่มเป้าหมายนำร่องเป็นนักเรียนหญิงที่เรียนอยู่ระหว่างชั้น ม.1 – ม.3 จำนวน 875 คน จาก 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) 412 คน จำนวน 23,072 ชิ้น, โรงเรียนวัดคู้บอน (วัฒนานันท์อุทิศ) 216 คน จำนวน 12,096 ชิ้น, โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ (บุญมีอนุกูล) 132 คน จำนวน 7,392 ชิ้น และ โรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ 115 คน จำนวน 6,440 ชิ้น
โดยจะมอบให้นักเรียนหญิง เฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 2 ชิ้นต่อวัน และเฉลี่ยจำนวน 7 วัน ที่มีประจำเดือน ซึ่งจะนำร่องมอบในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 รวม 4 เดือน และจะมอบอย่างต่อเนื่องในภาคเรียนต่อ ๆ ไปด้วย
“เรื่องผ้าอนามัย มองเผิน ๆ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมว่า มีเด็กต้องขาดเรียน เพราะไม่มีผ้าอนามัย อันนี้ต่างประเทศทำวิจัยเลย และพอได้ลงพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เจอปัญหาเดียวกันคือ เด็กผู้หญิงที่ครอบครัวมีฐานะยากจนเมื่อมีประจำเดือนจะไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะไม่มีผ้าอนามัย จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนสำหรับผู้หญิง แต่ละเดือนผู้หญิงมีค่าใช้จ่าย เพื่อซื้อผ้าอนามัยราว ๆ 80 – 150 บาทต่อเดือน ตรงนี้คือค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ตายตัว และอาจเพิ่มขึ้นแล้วแต่ละคน แม้เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เริ่มจากเด็กนักเรียน แต่ก็ภูมิใจที่ได้ช่วยคิด ช่วยแก้ไขและลงมือทำด้วยตัวเอง”
ผศ. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
สำหรับโครงการแจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่เด็กนักเรียน เป็น 1 ในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) 216 ข้อ ตามนโยบาย 9 ดี เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง และแก้ไขปัญหาความจนประจำเดือน (Period Poverty) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขอนามัยของผู้มีประจำเดือน โดยได้ดำเนินการนำร่องที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ปัจจุบันได้ดำเนินการแจกจ่ายไปแล้วหลาย 10,000 ชิ้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นผลสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง