หลัง รองเลขาธิการสภาพัฒน์ มีแนวคิดเสนอ นำเงินส่วนต่างภาษีที่ปรับเพิ่ม ดูแลสวัสดิการวัยเกษียณ ชี้คนสูงวัยส่วนใหญ่ รายได้ต่ำ มีเงินไม่พอใช้ดูแลชีวิตช่วงบั้นปลาย
วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนา “ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย” เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา จัดโดย สศช.ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งประเทศไทย ว่า โครงสร้างประชากรไทยถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
การสำรวจรายได้ผู้สูงอายุ 34% หรือ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณแล้วของประเทศไทย ยังคงทำงานอยู่ แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยผู้สูงอายุกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ยกเว้น ข้าราชการเท่านั้น ที่เกษียณแล้วมีรายได้จากเงินบำนาญ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออมเงินอยู่ในช่องทางอื่น เช่น ประกันสังคม หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ มีไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ
รองเลขาธิการสภาพัฒน์ บอกด้วยว่า การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% เป็นแนวทางที่ดี โดยส่วนที่ปรับขึ้น 3% รัฐอาจออกกฎหมายเฉพาะให้ส่วนนี้ มาเป็นเงินออมของประชาชนเพื่อใช้วัยเกษียณ โดยทำความเข้าใจให้ประชาชนยอมรับการขึ้นภาษีนี้ได้ เพราะทำให้มีหลักประกันวัยเกษียณ และรัฐก็มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน นำมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงวัยในอนาคต
หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่น ๆ ผลการจัดเก็บรายได้จะสูงกว่าประมาณการ 4.1% หรือ 80,923 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8%
คลังย้ำ! ยังไม่คิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขณะที่วันนี้ (27 ส.ค.66) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า ตามที่มีข่าวเสนอถึงแนวทางการแก้ปัญหาการออมสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% โดยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 3% นั้น จะออกกฎหมายเฉพาะกระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดดังกล่าว