เครือข่ายสวัสดิการเด็กเล็กฯ ยื่นข้อเสนอนโยบาย ยกระดับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

Policy Forum ครั้งที่ 4 ระดมความคิดเสนอ รัฐบาลเดินหน้าเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ขยายสิทธิลาคลอด พัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ยืดหยุ่น หลากหลาย สอดคล้องบริบทพื้นที่ เสนอเปลี่ยน ‘การสงเคราะห์’ เป็น ‘การพัฒนามนุษย์’ ด้าน นพ.ชลน่าน ปัดตอบ ‘ถ้วนหน้า’ หรือไม่

วันนี้ (16 พ.ย.66) ไทยพีบีเอส และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกว่า 450 เครือข่าย ร่วมจัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 4 : นโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก เพื่อพัฒนาแนวคิด หลักการและความร่วมมือในระดับนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และการดำเนินงาน

ช่วงแรกเป็นการนำเสนอผลงานศึกษาวิจัยสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในประเด็น เศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดา…ลดภาระความเป็นมารดาสร้างรายได้มั่นคง โดย เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) ที่พบว่า ต้นทุนของความเป็นแม่ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

ต้นทุนทางการเงิน (Monetary Cost) ต้นทุนในการเลี้ยงดูลูก 0-6 ขวบให้มีคุณภาพ 1.2 ล้านบาทต่อคน

ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) จากการมีลูก ทำให้มีเวลาในการทำงานน้อยลง หรือแม่บางคนต้องลาออกจากการทำงานประจำ

ต้นทุนประเภทที่ไม่ใช่การเงิน (Non-Monetary Cost) เช่น ต้องใช้พลังกายและพลังใจอย่างสูง ความอดทนต่างๆ ทั้งหมดนั้นเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนจากการมีลูก

ขณะที่ต้นทุนการทำงานบ้านของผู้หญิงหรือแม่ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 26% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยในปี 2566 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมูลค่าประมาณ 18.4 ล้านล้านบาท จะเป็นต้นทุนการทำงานบ้านของผู้หญิงมูลค่า 4.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมูลค่าส่วนนี้ไม่ได้นับรวมไว้ในบัญชีรายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศแต่อย่างใด

พร้อมเสนอว่า ภาครัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมและจัดกรอบงบประมาณเพื่อพัฒนาแม่และเด็กใหม่ด้านสวัสดิการภาครัฐและตลาดแรงงานในประเทศไทยให้เอื้อสำหรับคนที่คิดจะมีครอบครัวและมีลูก ได้แก่  การขยายวันลาคลอดของแม่แบบได้รับค่าจ้าง เป็น 180 วัน ส่งเสริมการลาของบิดาเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกหลังคลอด เพิ่มวันลาเพื่อดูแลบุตรทั้งในระบบราชการและสถานประกอบการทั่วไป เงินของขวัญเด็ก  มารดา กองทุนสำหรับที่มีความยากลำบาก เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย  นโยบายการลดภาษีสำหรับเอกชนที่มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวของพนักงาน ให้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ กรณีบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาหรือศูนย์พัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัย หรือสูงขึ้นไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงาน ทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการเพิ่มบทบาทชุมชนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เช่น จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวระดับชุมชน เพื่อให้คำปรึกษาดูแลคนทุกช่วงวัย

ด้าน รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอในประเด็น สถานการณ์ ปัญหาศูนย์เด็กเล็ก และเงินอุดหนุน ระบุว่า ปี 65 เด็กปฐมวัยช่วงอายุ 0-6 ปี มีจำนวน 4,497,476 คน โดยมีเด็ก 52.8%  หรือ 2.3 ล้านคน ที่ได้รับเงินอุดหนุนถ้วนหน้าจากรัฐ และมีเด็กปฐมวัยอีก 47.2 % หรือ 2.1ล้านคน ยังคงไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยไม่มีฐานข้อมูลว่าเด็กเหล่านั้นอยู่ไหน

จากสภาพดังกล่าวชี้ว่า การบริหารจัดการเด็กปฐมวัยทั้งระบบของประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะที่เรียกว่า ความอสมมาตรของข้อมูลทำให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับปัญหาทั้งในระดับระดับพื้นที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงส่งผลต่อทั้งเชิงคุณภาพ ปริมาณ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาครัฐขาดการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นระบบระหว่างหน่วยงานส่วนกลางระดับชาติกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น รวมถึงในด้านงบประมาณ แม้มีการศึกษาที่พบว่า การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้อัตราผลตอบแทนมากถึง7 – 10 % ต่อปี แต่รัฐมีการลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยค่อนข้างต่ำและไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้เห็นว่า รัฐบาลควรจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี ตามมติคณะกรรมการเด็กและเยาวชน (กดยช.) เพราะปัจจุบันมีช่องโหว่การดูแลสวัสดิการช่วงวัยต่าง ๆ ของสังคมไทยอย่างมาก และการสร้างระบบฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐ ทั้งในแง่จำนวนศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวนเด็กปฐมวัย 0-6 ปี และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาวะความอสมมาตรของข้อมูลรัฐควรเร่งรัดปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงรัฐบาลควรดำเนินนโยบายสู่เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อความยั่งยืน โดยเน้นการทำงานผ่านเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม

“หากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า ในปี 65 จะใช้งบฯ 29,000 ล้านบาท หรือเพียง 0.13 ของ GDP  หากรัฐต้องการก้าวข้ามความเป็นประเทศติดกับรายได้ปานกลาง การลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของแม่และเด็กปฐมวัยที่ดีและเหมาะสมต่อการพัฒนาเรียนรู้ จะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตด้วย”

รศ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ

การสำรวจ 6 พื้นที่นำร่อง ใน 4 ภูมิภาคของประเทศ โดยคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ทำให้ค้นพบความเข้มแข็งของพื้นที่รวมถึงอุปสรรคที่แตกต่างกัน

อบต.แม่วิน จ.เชียงใหม่ ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง ขยายอายุรับเด็กเล็ก 2 ขวบ สามารถรองรับเด็กหลากหลายชาติพันธุ์ เทศบาล ต.สังขะ จ.สุรินทร์ เทศบาลจัดระบบรองรับที่เพียงพอ มีการพัฒนาผู้ดูแลเด็กเล็ก ชุมชนคนไทยพลัดถิ่น มีเด็กเล็กที่ต้องรอสัญชาติ ที่เครือข่ายช่วยกันแก้ไขให้ครอบครัวสามารถส่งลูกเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ได้ ชุมชนรถไฟขอนแก่น / มักกะสัน มีศูนย์รับเลี้ยงเอกชน ดูแลนอกเวลา และสามารถรับได้ตั้งแต่ 1 เดือน อบต.ปลังเผล จ.กาญจนบุรี มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง จัดการหารถรับส่งประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่ติดพื้นที่ชายแดน และเทศบาล ต.คูเต่า จ.สงขลา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง ใน 10 หมู่บ้าน ที่มีระบบข้อมูลและการติดตามที่ต่อเนื่อง

แต่ข้อจำกัดที่พบในพื้นที่ เกรียงไกร ชีช่วง คณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอธิบายว่า ผู้ปกครองหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่รู้หนังสือ ขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยากจนเด็กหลายคนได้ช้าจนบางคนอายุเกินที่จะได้รับสิทธิ ผู้ดูแลขาดระบบสวัสดิการที่เพียงพอ และต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน รวมถึงท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับเด็กเล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเสนอให้รัฐมีระบบฐานข้อมูลเด็กเล็ก ครอบครัวทุกกลุ่มในประเทศไทย มีสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มศักยภาพท้องถิ่น

ด้าน ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวถึงประเด็นความสำคัญ จำเป็นของการลงทุนในเด็กเล็ก ว่า การลงทุนในมนุษย์ พบว่ายิ่งทำได้เร็วยิ่งคุ้มค่า งานวิจัยในต่างประเทศชี้ชัดว่า การลงทุนในเด็ก 1 บาท จะได้ผลตอบแทนทางสังคม 7-9 บาท เพราะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย พร้อมต่อยอดการเรียนรู้ มีผลิตภาพดีเมื่อทำงาน และเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมได้ดีขึ้น

แต่เมื่อพิจารณาจากการลงทุนในประเทศ พบว่า ไทยให้ความสำคัญกับเด็กเล็กน้อยเกินไปกว่าเส้นที่องค์การยูนิเซฟขีดไว้ ซึ่งเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบเจาะจง 600 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอกับต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตรของกลุ่มยากจน 2,500 บาทต่อเดือน อีกทั้งการพิสูจน์ความจนทำให้มีเด็กใต้เส้นความยากจนถึง 433,245 คน หรือ 30% ตกลงเข้าไม่ถึงเงินส่วนนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ไม่เป็นภาระงบประมาณอย่างที่คิด

“ในทางตรงกันข้ามถ้าเราไม่ลงทุนในเด็กวันนี้ จะต้อสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งเด็กเกิดน้อยที่เสี่ยงด้านพัฒนาการ อัตราการพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นราว 56% ใน 20 ปี โดยเฉพาะต้องดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาครอบครัวไม่มั่นคง ครอบครัวแหว่งกลางมากยิ่งขึ้น”

ฉัตร คำแสง

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ยังได้ ยื่นหนังสือให้กับ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนนายกรัฐมนตรี

ผศ.สุนี ไชยรส คณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ระบุว่า ต้องการขอให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ จนเด็กถึงอายุ 6 ปี คนละ 3,000 บาท/เดือน , ขยายสิทธิลาคลอด เป็น 180 วัน เพิ่มระยะให้แม่และพ่อได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีจำนวนมากพอ กระจายตัวใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ให้ยืดหยุ่นเวลา เปิด – ปิด สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และวิถีชีวิตการทำงานพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

สนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรโดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยชุมชนและเอกชน ที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนจัดตั้ง ให้สามารถดำเนินการได้ ตามมาตรฐาน และ สนับสนุนให้มีนโยบายการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจังแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดอำนาจหน้าที่ ในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ให้มีคุณภาพมากขึ้น

ด้าน นพ.ชลน่าน ระบุว่า รัฐให้ความสำคัญกับสวัสดิการเด็กเล็ก แต่ปัดตอบให้ถ้วนหน้าหรือไม่ เวลานี้รัฐมีนโยบายอนามัยเจริญพันธุ์ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีลูก ผ่านการผลักดันเป็นวาระชาติ

แนวคิด หลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการกระจายอำนาจ

ในช่วงเวทีเสวนา “แนวคิด หลักการ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และการกระจายอำนาจ” เปิดเวทีโดย  ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร    คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ที่สำคัญต้องเน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณโดยเริ่มจากครรภ์มารดา เช่น แม่ได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการช่วงตั้งท้อง และหลังลูกเกิดจะได้รับการศึกษาอย่างดี มีโอกาสได้เรียนสูง ก่อนหน้านี้มีการสำรวจครัวเรือนยากจนในภาคต่างๆ ว่าอยากฝากอะไรถึงรัฐบาล คำตอบคืออยากให้รัฐบาลส่งเสียลูก ๆ เขาถึงปริญญาตรีทุกคน เพราะจะแก้จนให้กับทุกคนได้อย่างยั่งยืน แต่ลูก ๆ เขาเสียโอกาสเพราะพ่อแม่จนไม่อาจส่งเรียนสูง ๆ ได้

ที่สำคัญต้องพูดถึงความสำคัญของผู้หญิงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากบทบาทความเป็นแม่ผู้ดูแลรักษา ยังมีเรื่องความเท่าเทียมศักยภาพ แต่บางคนอาจไม่ได้มีโอกาสพัฒนาอย่างเต็มที่ ต้องทำให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมากกว่านี้ ทั้งในเรื่องของการงานมีสามีมาช่วยดูแล มีรัฐบาลสนับสนุน เพราะถ้าไม่มีผู้หญิงประชากรในชาติจะเจริญได้อย่างไร

ขณะที่การกระจายอำนาจ ขณะนี้ยังกระจุกตัวอย่างมากอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้การใช้ศักยภาพไม่เต็มที่ เพราะคนส่วนกลางไม่รู้เรื่องระดับของท้องถิ่นเพียงพอ และไม่มีแนวคิดหรือความกระตือรือร้นที่จะหาการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งที่หลายประเทศเศรษฐกิจดีกว่าเพราะมีหลักการกระจายอำนาจที่ดี ฉะนั้นต้องคิดเรื่องกระจายอำนาจให้จริงจังกว่านี้

ขณะที่หัวข้อวันนี้เป็นเรื่องสวัสดิการเด็กแต่จริง ๆ เป็นเรื่องอนาคตไทย การได้สวัสดิการเด็กไม่ง่ายเพราะเมืองไทยกลับไปอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแรงมาก แต่ปัจจุบันประชาชนมีอำนาจต่อรองในการเลือกตั้ง หรือก็คือการยื่นหมูยื่นแมว ถ้ากลุ่มมีอำนาจในปัจจุบัน อยากจะมีอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของประชาชน ทั้ง สวัสดิการเด็กและเรื่องอื่น ๆ ด้วย

ด้าน พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ร่วมสะท้อนปัญหาในการจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากการรับเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ทำให้ขัดต่อเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบฯ จะทำได้แค่ทุพโภชนาการเท่านั้น พร้อมย้ำว่า อย่ามองเด็กยากจนด้วยการพัฒนาคุณภาพแบบสังคมสงเคราะห์ แต่ต้องเป็นการร่วมลงทุนมนุษย์ เปลี่ยนวิธีคิดนอกกรอบ พร้อมเสนอให้กรมส่งเสริมส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น ออกระเบียบเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เดิมทีพรรคประชาชาติ มีนโยบายยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยหลักนิติธรรม ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม กระจายงบประมาณอำนาจ และความผาสุขสู่ชุมชนท้องถิ่น สร้างรัฐสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเสียชีวิต อาทิ เริ่มตั้งครรภ์ถึง 7 ปีเงินอุดหนุน 4,500 บาทต่อเดือน 8 ถึง 15 ปี เงินอุดหนุนถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน สวัสดิการผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ปฏิรูปที่ดินป่าไม้กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์และสิทธิในที่ดินอย่างน้อย 20 ไร่ ค่าน้ำค่าไฟพลังงานถูกเรียนฟรีมีคุณภาพถึงปริญญาตรี ขจัดโกงและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน แก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาภาคใต้ความเหลื่อมล้ำหนี้สินความยากจน และปัญหาเร่งด่วนของชาติ

พอมาเป็นรัฐบาลตัวเองมาอยู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็จะมีหลักในนโยบายทั้งหมดสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าหรือ นำประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการ เพราะประเทศไทยเราเหลื่อมล้ำอาจจะมากที่สุดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีหลายทฤษฎี แต่การสงเคราะห์ เหมือนในรัฐธรรมนูญว่าต้องยากจนก่อนไปทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก่อนถึงจะได้รับการหยิบยื่นให้คิดว่านโยบายแบบนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับความเหลื่อมล้ำความยากจน

วันนี้แม้ตนเองจะเข้ามานั่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ในเรื่องงบประมาณเด็กถ้วนหน้าก็ไม่ได้ปฏิเสธในข้อเสนอ แต่จะประสานข้อเสนอถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมยอมรับว่ามีเสียงน้อยในสภาฯ ต้องจับมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน

ในส่วนของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบายของพรรคว่า พรรคเพื่อไทยมองมิติเศรษฐกิจ และสังคมไปด้วยกัน โดยพุ่งเป้าไปที่ครัวเรือน เพราะเมื่อครัวเรือน ครอบครัวเข้มแข็ง สิ่งหลายอย่างที่เป็นปัญหาจะลดน้อยลง ครั้งนี้จึงเน้นนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ซึ่งนายกรัฐมนตรีพยายามขับเคลื่อน คาดว่าประมาณ ม.ค. 67 จะมีข่าวดีในเรื่องของการลงทะเบียนที่จะจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจในครัวเรือนจะดีมีความสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ร่วมกับค่าแรง 600 บาท ในปี 70 วุฒิปริญญาตรี 25,000 บาท ในปี 70 และการผลักดันครอบครัวให้สามารถมีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน แต่จะนำเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้านำเรียนต่อหัวหน้าพรรค

ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เวลามองเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ไม่ได้บอกว่าต้องถ้วนหน้าหรือจำนวนเท่าไหร่อย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำที่ใหญ่กว่านั้นคือคำว่า ระบบคุ้มครองเด็ก เช่นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเงื่อนไขความจำเป็นแต่ละครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน

ทางพรรคมีเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อในประเด็นนี้ 3 เรื่องด้วยกัน คือ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต้องใช้กระบวนการของกรรมาธิการในการดึงเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้งหนึ่ง  ว่า สวัสดิการโดยรัฐไม่เหมือนกับสิทธิ ไม่เหมือนกับการลงทุนในอนาคต ซึ่งการลงทุนกับเด็กกับการลงทุนในอนาคต ข้อที่ 2 หากเป็นการเสนองบฯ เข้ามา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่าเมื่อเข้าสู่การพิจารณา สส.จะแปรญัตติเพิ่มงบประมาณไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อ พม.ชงเข้ามา เช่น  17,000 ล้านบาท จะถูกตัดไปใช้แค่เรื่องเงินอุดหนุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือไปใช้ในการดำเนินการซึ่งไม่ถูกวัตุประสงค์ความตั้งใจ ฉะนั้นข้อเรียกร้องคือเมื่องบประมาณยังไม่สิ้นสุด ยังรอเวลาที่ พม. สามารถปรับแต่งได้ และสุดท้ายคือ การใช้กลไก สภาฯ แถลงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งต้องเกิดขึ้นในการประชุมสมัยที่ 2

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา เครือข่ายฯ ยังได้ร่วมกันมอบข้อเรียกร้องนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ให้กับตัวแทนพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และประชาชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการดูแลเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กทุกคนในสังคมไทยต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active