งบฯ 67 เพื่อ “กลุ่มเปราะบาง” มีไหม ? เมื่อเขาก็ “เสียภาษี” ​

ผู้สูงอายุ-คนหาเช้ากินค่ำ ชุมชนคลองเตย วอนรัฐใช้ภาษีประชาชน ช่วยประชาชนให้เต็มที่ หวังจัดงบฯ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เร่งแก้หนี้นอกระบบ จริงจัง แนะทุ่มทุนเน้นพัฒนาคน 

วันที่ 2 ของการเปิดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วาระแรก วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 ม.ค.67 The Active ลงพื้นที่ชุมชนคลองเตย กทม. หนึ่งในชุมชนที่มีกลุ่มเปราะบางอาศัยอยู่หนาแน่น เพื่อฟังเสียงสะท้อนประชาชนในฐานะผู้ที่เสียภาษี

จารุณี​ หิริกูล​ วัย 66 ปี ติดตามการอภิปรายงบฯ 2567 ของรัฐบาลเศรษฐา ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ เธอไม่ได้ตั้งความหวังมาก เพราะเป็นรัฐบาลที่พึ่งจะทำงานมาแค่ 3 เดือน แต่ยอมรับว่า ในฐานะคนเสียภาษีมาเกือบทั้งชีวิต การจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมาสำหรับชาวบ้าน ไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไร และในฐานะผู้สูงวัย อยากให้จัดสรรเบี้ยยังชีพ ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน  

“จ่ายภาษีให้รัฐเกือบจะทุกอย่างไม่ว่าค่าน้ำ ค่าไฟ กะปิ น้ำปลา เหมือนคำกล่าวว่า คุณกินภาษีของประชาชน ต้องทำงานให้เต็มที่ ก็เท่ากับว่า เราจะไปซื้ออะไรก็แล้วแต่ เป็นภาษีของเราหมดเลย แต่บางคนไม่รู้ตัวว่า ตัวเองเสียภาษีเข้าไปแล้ว เลยอยากให้รัฐบาลจัดงบฯ ที่ดูเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน อย่าง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท คิดว่าน้อยไป ที่พูดแบบนี้ไม่ได้เห็นแก่ตัว เพราะ 600 บาทเท่ากับวันละ 20 บาท แต่ตอนนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาทแล้ว เบี้ยผู้พิการ 800 ก็อยากให้ปรับขึ้น”   

จารุณี​ หิริกูล​

ไม่ต่างกับ วิโรจน์​ แซ่จัน​ทร์​ วินจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเขาก็เป็นผู้เสียภาษีเช่นกัน โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายเพื่อออกไปประกอบอาชีพ สิ่งที่อยากเห็น คือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในครั้งนี้ จะแก้ไขปัญหาชีวิตเหล่านี้ได้หรือไม่ เขาก็ยังไม่เข้าใจ 

วิโรจน์​ แซ่จัน​ทร์​ วินจักรยานยนต์รับจ้าง

“รู้สึกไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ยังวิ่งวินอยู่เหมือนเดิม อย่างที่เขาให้เบี้ยคนชราเรา ก็ยังไม่ได้ บัตรสวัสดิการก็ไม่ได้ ไม่ได้อะไรเลย เราก็มีรายได้จากที่วิ่งวินมอเตอร์ไซค์ เราก็นึกไม่ออกว่า เขาจะจัดงบฯ ยังไงเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เราได้” 

วิโรจน์​ แซ่จัน​ทร์​

ขณะที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ชุมชนคลองเตย อย่าง “มูลนิธิดวงประทีป” ซึ่งดูแลเด็ก ๆ กลุ่มเปราะบาง ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ​ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ก็จับตาการอภิปรายงบฯ 2567 ครั้งนี้เช่นเดียวกัน​ เธอมองว่าการจัดเก็บภาษี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาษีทางอ้อม หรือ Vat 7% คนในชุมชนคลองเตย มีส่วนร่วมจ่ายเป็นกลุ่มใหญ่​ 

ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีประชาชนจึงควรที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน​ ไม่เพียงเฉพาะแค่คนในชุมชนคลองเตย แต่หมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเปราะบางทั้งประเทศ โดยลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป

ครูประทีป ยังอยากเห็น การจัดงบประมาณแผ่นดินที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้ประเทศไทย หลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง เวลานี้คิดว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะคนเร่ร่อนมีเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตคนตกต่ำ จึงควรนำเม็ดเงินจากภาษีที่พวกเขาจ่าย มาพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึั้น มีสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข 

”หากว่าเราดูประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนากัน เขาเน้นที่พัฒนาคน ถ้าหากว่าคนได้รับการพัฒนาที่ดี มันจะเกิดความยั่งยืน เกิดการพัฒนาเป็นลูกโซ่“​ 

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในการอภิปรายงบประมาณ ปี 2567 ช่วงหนึ่ง ว่า การเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณ 820.1 ล้านบาท เพื่อเผยแพร่ความรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ผู้สูงอายุมีงานทำ และมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 2,720 คน, สามารถเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไม่น้อยกว่า 331,220 คน, อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 11,000 แห่ง, และ เข้าถึงระบบบริการสุขภาพตามมาตรฐาน และได้รับการดูแลที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 1,393,195 คน ตลอดจน เพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 23,390 คน เพื่อเป็นกลไกในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 62,320 คน ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพและสังคมอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 2,302.7 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชาชน พัฒนาและสร้างโอกาสประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีอาชีพ สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรกรปราดเปรื่อง พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าชุมชนให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active