ภาคประชาชน คาดใช้งบฯ กว่า 1.7 แสนล้าน เพิ่มจากงบฯ ปี 67 เฉียด 6 หมื่นล้าน เน้นยกระดับสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า สร้างหลักประกันทางรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ทางสังคม กลุ่มเปราะบาง รวมกว่า 17 ล้านคน
วันนี้ (17 มิ.ย. 67) เครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.), คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กร, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และภาคประชาสังคม ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เพื่อทวงถามการยกระดับสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง ในงบประมาณ ปี 2568
รายละเอียดในจดหมายเปิดผนึก ระบุถึง ระยะเวลากว่า 9 เดือนของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จนถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ตอกย้ำภาวะไร้ทิศทางในการสร้างนโยบายการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในปัจจุบัน ไม่เป็นสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า สร้างระบบสวัสดิการอุปถัมภ์เชิงสงเคราะห์ เน้นแนวนโยบายทุนนิยมผูกขาด รวมศูนย์ที่คาดหวังการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดิจิตอลวอลเลต ที่ใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้าน ก่อหนี้สินผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว และการแก้ไขวิกฤติการณ์ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย
ภาคประชาสังคม จึงมาทวงถามการยกระดับนโยบายแนวรัฐสวัสดิการ โดยริเริ่มที่กลุ่มประชากรเด็กแรกเกิด สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนพิการ เพื่อให้บรรจุงบประมาณในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 หรือให้ประกาศเป็นคำมั่นว่าจะนำงบประมาณมาใช้สำหรับสวัสดิการนี้ เพื่อการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้า สร้างหลักประกันทางรายได้รายเดือนแก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่คำนึงถึงความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมทางสังคม
รายละเอียดในจดหมายฯ ยังระบุว่า การยกระดับสวัสดิการโดยการบรรจุงบประมาณปี 2568 จะพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาล เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐนำเสนอ ที่มี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน จากข้อเสนอการขับเคลื่อนยกระดับสวัสดิการโดยรัฐ ด้านสวัสดิการกลุ่มเปราะบางมีผู้ได้รับประโยชน์ 17.26 ล้านคน ประกอบด้วย
- เด็กแรกเกิด 0-6 ปี 3,267,293 คน
- สตรีมีครรภ์ 475,874 คน
- ผู้สูงอายุ 11.38 ล้านคน
- คนพิการที่มีบัตรคนพิการ 2.14 ล้านคน
โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณปี 2568 จำนวน 169,500 ล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 59,310 ล้านบาท ดังนี้
- เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จำนวนเด็ก 0-6 ปี : ในปี 2567 มีจำนวน 3,267,293 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เมื่อมีมติให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า 600 บาทต่อคนต่อเดือน จะใช้งบประมาณ จำนวน 23,525 ล้านบาท ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ตั้งเงินอุดหนุนเด็กไว้แล้ว 16,846 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเพิ่มงบประมาณเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้ถ้วนหน้าตามมติอีกเพียงประมาณ 6,679 ล้านบาทเท่านั้น
- เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ : จำนวนสตรีมีครรภ์ประมาณการเบื้องต้นจากเด็กแรกเกิด โดยปี 2569 มีประมาณการเด็กแรกเกิด 475,874 คน จึงประมาณการสตรีมีครรภ์ในปี 2568 จำนวน 475,874 คน ในเบื้องต้น ดังนั้น ตามมติที่ให้เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ 5 เดือน ๆ ละ 3,000 บาท จะใช้งบประมาณปี 2568 ประมาณ 7,260 ล้านบาท
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ : จำนวนผู้สูงอายุในปี 2567 ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 -1,000 บาท จำนวน 11.38 ล้านคน เมื่อมีมติให้ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน แบบถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณปี 2568 จำนวน 136,560 ล้านบาท
- เบี้ยความพิการ : จำนวนคนพิการในปี 2567 ได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท จำนวน 2.14 ล้านคน เมื่อมีมติให้ปรับเพิ่มเบี้ยความพิการให้กับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทุกคน 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน จะใช้งบประมาณปี 2568 จำนวน 25,680 ล้านบาท