คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กและเครือข่ายกว่า 450 องค์กร ประกาศ ‘ปฏิญญาหอศิลป์ฯ’ ชี้ปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ทวงรัฐจัดหาสวัสดิการเพื่อเด็กเล็กถ้วนหน้า นักวิชาการห่วง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ตัดโอกาสสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็ก เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 450 เครือข่ายและฝ่ายการเมือง ร่วมประกาศ ‘ปฏิญญาหอศิลป์ฯ’ ก้าวสู่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ย้ำปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ขาดสวัสดิการถ้วนหน้ารองรับ ความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิเด็กยังมีอยู่ทั่วไป ส่งผลให้ประเทศไม่พร้อมต่อความท้าทายของสังคมผู้สูงวัย จึงประกาศปฏิญญานี้ไว้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็ก ให้พร้อมก้าวสู่การพัฒนาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและรัฐธรรมนูญปี 2560
โดยแต่ละหน่วยงานที่ร่วมประกาศปฏิญญานี้ให้คำมั่นในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก สรุปใจความ 6 ข้อ ดังนี้
- ดูแลเด็กเล็กทุกคน ให้ได้รับสวัสดิการและการดูแลที่มีคุณภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
- ปกป้องสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
- ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก
- สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาการเด็ก
- เสริมสร้างครอบครัวและชุมชน โดยการร่วมมือจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม
- ประเมินและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของครอบครัว
สวัสดิการถ้วนหน้าตบมือข้างเดียว
ทุกภาคส่วนพร้อมผลักดัน ยกเว้นฝ่ายการเมือง
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ว่า เด็กอย่างน้อย 6 ใน 10 คนอยู่ในครอบครัวที่ยากจน และปัจจุบัน มีเด็กมากกว่าครึ่งที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ต้องอาศัยอยู่กับญาติ หรือปู่ย่าตายาย เพราะพ่อแม่ต้องเข้าไปทำงานในเมืองที่ห่างไกล ดังนั้น “เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาทถ้วนหน้า” เป็นเพียงหนึ่งในหลายธงสวัสดิการที่ต้องขับเคลื่อน เพียงแค่เงินอุดหนุนยังไม่พอ
ณัฐยา บุญภักดี ระบุว่า สังคมควรมีนโยบายลาคลอดพร้อมเงินอุดหนุนอย่างน้อย 6 เดือน และการให้วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรเมื่อเจ็บป่วยหรือพัฒนาการล่าช้า พร้อมทั้งการสนับสนุนจากรัฐในการดูแลเด็กอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เด็กตั้งแต่เล็ก นอกจากนี้ การจะสร้างระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยนั้น ต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็ก ปัจจุบันประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง เด็กเล็กมีเพียง 4 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่ทำให้ฐานเด็กแข็งแรง จะไม่สามารถรองรับจำนวนผู้สูงอายุได้อย่างสมดุล
“เรายังรอคอยสิ่งที่เรียกว่า “เจตจำนงทางการเมือง” หรือ ความมุ่งมั่นความมุ่งมั่นทางการเมือง เพราะตอนนี้ เรามีทั้งข้อมูลภาควิชาการ มีภาคประชาสังคมสนับสนุน และหลายองค์ประกอบครบแล้วที่จะสร้างเป็น “นโยบายสาธารณะ” แต่ยังขาดความมุ่งมั่นของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายเท่านั้นเอง”
ณัฐยา บุญภักดี
ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ เล่าถึงความพยายามตั้งแต่เริ่มต้นที่ไม่ได้รับสวัสดิการเลย จนกระทั่งได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 600 บาทต่อเดือน โดยยังจำกัดเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งข้อเรียกร้องล่าสุดคือการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือนตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เชื่อว่าจะตอบโจทย์การพัฒนาเด็กเล็กได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันมีเด็กเล็กทั้งหมดประมาณ 3.3 ล้านคนที่ต้องการเงินอุดหนุนถ้วนหน้า แต่มีเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน สร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ว่าเงินอุดหนุนนั้นจะได้รับโดยถ้วนหน้าหรือไม่ และยังมีเด็กทั้งหมดประมาณ 4.2 ล้านคนที่ต้องการการดูแลในโรงเรียนอนุบาล แต่มีเพียง 2.4 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ นั่นหมายความว่ายังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ ผศ.สุนี ยังเสนอให้จัดตั้งสถานเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนจนถึง 6 ปีที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มเวลาเปิด-ปิดให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของพ่อแม่ เพื่อให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลลูก
นักวิชาการห่วง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ตัดโอกาสสู่สวัสดิการถ้วนหน้า
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เข้าร่วมวงเสวนาภายในงาน เห็นพ้องว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้สวัสดิการถ้วนหน้ายังไม่อาจเกิดขึ้นได้เป็นเพราะยังขาดเจตจำนงทางการเมือง หลายครั้งที่นโยบายรัฐสวัสดิการ “ถ้วนหน้า” ถูกปัดตกด้วยคำอ้างว่าไม่มีงบฯ อ้างว่าจะเป็นการแจกเงินให้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ อ้างว่าคนจะเอาเงินไปใช้กับอบายมุข เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าคำกล่าวอ้างว่าไม่มีเงินนี้ จะถูกใช้อยู่ต่อไปในอนาคต เหตุเพราะการใช้งบฯ มหาศาลกับนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
สมชัย มองว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จะยังใช้งบฯ ล่วงหน้าต่อไปอีก 2 – 3 ปี ทำให้ความหวังสู่สวัสดิการถ้วนหน้าริบหรี่ลง แต่ตนไม่ถอดใจ ย้ำว่าต้องผลักดันต่อไป ทั้งในมิตินโยบาย และมิติการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่าเหตุใดสวัสดิการจึงต้องให้ “ถ้วนหน้า” โดยตนเล่าว่า ทุกวันนี้ยังมีเด็กที่ตกหล่นการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐถึง 30 – 40% เหตุที่ตกหล่นไม่ใช่เพียงเพราะเกณฑ์รายได้ที่กีดกันโอกาส แต่เป็นเพราะการไม่รู้ข่าวสาร เอกสารไม่ครบถ้วน เดินทางไม่สะดวก ฯลฯ ทำให้คนที่ตกหล่นไปนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยากจนซับซ้อน
“อย่าว่าแต่งบฯเพื่อสวัสดิการ แต่โครงการเก่า ๆ ที่เคยมีหรือโครงการพรรคร่วมอื่น ๆ ยังถูกรีดงบฯ ไปเพื่อทำดิจิทัลวอลเล็ต และต่อให้ไม่มีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลของเราก็ไม่ได้มีเงินเยอะนัก ดังนั้นการจะผลักดันให้สวัสดิการถ้วนหน้าเป็นจริงได้ ต้องแก้ไขเรื่องปฏิรูปภาษี เพื่อให้รัฐหารายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย”
สมชัย จิตสุชน
“งบฯ เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
เสมือนใช้เงินเพียง 7 บาทจากเงิน 3,000 บาท”
ด้าน รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการด้านสวัสดิการและกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ย้ำว่า การเมืองคือตัวนำการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ แม้นักเศรษฐศาสตร์จะทำงานหนักแค่ไหน แต่ถ้าฝ่ายการเมืองไม่รับไม้ต่อ นโยบายใด ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น สำหรับการทำสวัสดิการถ้วนหน้าเด็กเล็กใช้เงินเพียง 7,000 ล้านบาท จากงบ 3.3 ล้านล้านบาท เหมือนเรามีเงิน 3 พันบาท และพยายามตั้งคำถามอย่างเอาเป็นเอาตายว่าเงิน 7 บาทนี้เพื่อยกระดับชีวิตเด็กเล็กจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ โดยษัษฐรัมย์ ย้ำข้อมูลการวิจัยว่า สิ่งแรกเมื่อคนได้รับเงินก้อนหนึ่งโดยปราศจากเงื่อนไข เขาจะนำเงินก้อนนี้ไปจุนเจือคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา
“นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อย่างผม วิเคราะห์นโยบายได้เป็นฉาก ๆ คำนวณและสั่งการตารางเอกเซลได้ แต่สิ่งที่ผมไม่สามารถสั่งการในเอกเซลได้ คือ การคืนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เป็นแม่ …การให้สวัสดิการถ้วนหน้า คือการคืนสิทธิและศักดิ์ศรี คนไม่ต้องมาลุ้นชิงโชคว่าจะได้เงินไหม หรือไม่ต้องมานั่งพิสูจน์ความจนว่าทำไมฉันถึงจนพอที่ควรจะได้รับเงินเหล่านี้”
รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
ทุกวันนี้ ประกันสังคมมีเงินเข้า 9 หมื่นล้านบาท ถ้าเพิ่มการลาคลอดเป็น 180 วัน จะใช้เงินเยอะขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายในอนาคตจะน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะเด็กเกิดน้อยลง ดังนั้นถ้าเพิ่มสิทธิลาคลอดไปก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน และการเพิ่มวันลาคลอด ไม่ได้ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมล้มละลาย แต่ปัญหาสำคัญคือความเชื่อมั่นของผู้ประกันตนต่อระบบประกันสังคม ดังนั้น สิ่งที่กองทุนนี้พึงทำ คือการมอบสวัสดิการที่จะประกันคุณภาพชีวิตของเขาได้ ดังตัวอย่างสิทธิลาคลอด 180 วัน