นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า เทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 2564 ที่มาพร้อมกับคำว่า 7 วันอันตราย ในทุก ๆ ปี เราต้องสังเวยชีวิตคนไทยไปกว่า 400-500 ชีวิต บาดเจ็บอีกมากกว่า 20,000 คน จากอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 7 วัน ความสูญเสียในระดับนี้ เกิดขึ้นในทุก ๆ เทศกาล ทั้งปีใหม่และสงกรานต์
แม้จะระดมสรรพกำลัง ตั้งด่านในทุกพื้นที่ จัดเวรผู้บริหารออกตรวจเยี่ยมทั้ง 7 วัน แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการเจ็บ-ตายจำนวนมากมายมหาศาลนี้ได้ ขณะที่ในวันธรรมดา ที่ดีกรีความเข้มข้นของกระบวนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจะลดลงต่ำกว่าช่วงปีใหม่มาก ก็แทบจะคาดเดาได้เลยว่า เหตุจะเกิดขึ้นมากเพียงไหน ยอดผู้เสียชีวิต 7 วันอันตราย ปีใหม่ และสงกรานต์รวมกัน จึงเป็นแค่ ไม่ถึง 5% ของการสูญเสียตลอดทั้งปี
พ.ศ. | บาดเจ็บ | รับเข้า | เสียชีวิต |
2555 | 25,678 | 6,409 | 454 |
2556 | 26,204 | 4,277 | 434 |
2557 | 25,535 | 4,149 | 424 |
2558 | 23,774 | 3,745 | 376 |
2559 | 26,632 | 4,129 | 426 |
2560 | 28,341 | 4,506 | 537 |
2561 | 25,661 | 4,407 | 448 |
2562 | 30,113 | 5,569 | 565 |
2563 | 29,079 | 5,512 | 482 |
“เอาใกล้ ๆ แค่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ก็มีความสำเร็จให้เราเรียนรู้ มีคำถามที่คาใจมาหลายปีแล้วว่า เราใช้วิธีการที่ถูกต้องแล้วหรือในการจัดการกับปัญหานี้ เราหมดปัญญาที่จะจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้วหรือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results. มีความหมายว่า คนสติไม่ดีเท่านั้น ที่ใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำงาน แล้วหวังว่าจะได้ผลงานดีขึ้นกว่าเดิม ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายคนพยายามกดยอดความสูญเสียให้ต่ำเข้าไว้ โดยไม่ยอมรับว่าสถานการณ์จริงมันร้ายแรงกว่าที่คิด หากเราจะจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ เราน่าจะต้องทบทวนและกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ปัญหาความปลอดภัยทางถนนเป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อน ประเทศของเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีองค์กรระดับชาติด้านความปลอดภัยทางถนน ทำหน้าที่”
นายแพทย์วิทยา ระบุอีกว่า ไม่แปลกใจ เมื่อทั่วโลกบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีถนนที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะทราบดีว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นด้านคน รถ หรือถนน แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ เราทราบอย่างแน่ชัดว่า ถ้าคนขี่ คนซ้อนมอเตอร์ไซค์ทุกคนใส่หมวกกันน็อก ถ้าทุกคนขับรถให้ช้าลง ถ้าทุกคนไม่ดื่มแล้วขับ ถ้าเราสามารถจัดการกับแค่สามพฤติกรรมเสี่ยงนี้ เราก็สามารถลดความสูญเสียได้แล้ว ถึง 75%
“ความจริงก็คือ เรามีกฎหมายหมวกกันน็อกมาแล้ว กว่า 20 ปี แต่คนขี่มอเตอร์ไซค์ยังใส่หมวกกันน็อกแค่ 40% คนซ้อนใส่หมวกแค่ 15%”
เขาย้ำว่า บนถนนมีทั้งคนเมาขับรถ คนขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เฉลี่ยวันละหลักแสน หรืออาจถึงหลักล้านคัน ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงของคนไทยที่ออกมาใช้รถใช้ถนนร่วมกันในทุกวัน รวมถึงความเสี่ยงของชาวต่างชาติที่ต้องเข้ามาในรประเทศไทย การจัดการกับพฤติกรรมเสี่ยงจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะมีบทเรียนความสำเร็จในการลดความสูญเสียจากเหตุบนท้องถนนมาแล้ว ไม่ว่าจะ อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน
การจัดทำแผนหลักแห่งชาติเพื่อความปลอดภัยทางถนน จึงจะนำไปสู่การบริหารแผนหลักฯ อย่างเป็นระบบ เป็นมืออาชีพ จริงจัง ต่อเนื่อง และผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายกำกับติดตามผลการดำเนินงาน สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
”เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ตลอดทั้งปี ไม่เฉพาะแค่ปีใหม่ สงกรานต์ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้า
มาสนับสนุนการปฏิบัติงาน และลงโทษผู้กระทำผิดจนถึงที่สุด เครือข่ายประชาคม และสื่อมวลชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายของภัยบนทองถนน และให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติตามกฏจราจรในทุกท้องที่ ปัญหายิ่งใหญ่ที่มีความซับซ้อนยิ่งระดับชาตินี้ จึงจะสามารถแก้ไขได้”
อ้างอิง
บทความ นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ