“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.4
อดีตพันธมิตรฯ บุกปิด NBT สู่วันที่สรุปกับตัวเองว่า “หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำ”
“ผมกำลังจะเข้าไปเยี่ยมประธาน นปช. ในเรือนจำ”
คือคำพูดของอดีตผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้มีเบื้องหลังอันแสนเจ็บปวด ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่รัฐประหารในปี 2549 แม้จะพยายามสรุปบทเรียนกับตัวเองมานานเพียงใด แต่ใจยังต้องยอมรับว่าได้ทำผิดพลาดไปแล้วในอดีต
ชื่อของ “ไผ่” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หลายคนในแวดวง NGOs อาจรู้จักเขาผู้นี้ ทั้งในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน และอีกด้านหนึ่งยังถูกจดจำผ่านวีรกรรมในปี 2551 ด้วยการบุกเข้าไปปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT ในนามกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ลงเอยด้วยการถูกจับและมีคำพิพากษาศาลฏีกาให้จำคุก 6 เดือน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561
บทบาทก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ?
ไผ่ เล่าว่าก่อนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ตนทำงานอยู่กองเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) และทำงานร่วมกับเอ็นจีโอกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน ในช่วงนั้นเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนบางกลุ่มที่ส่งเสียงไปไม่ถึงรัฐบาล ต้องยอมรับว่ามีอยู่จำนวนมาก ไผ่ คิดว่าด้วยฐานเสียงสนับสนุนของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่มีจำนวนมาก จึงทำให้บางครั้งท่าทีของรัฐบาลต่อประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งจึงทำเหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน
นำมาสู่การตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยหวังขับเคลื่อนประเด็นสังคมต่าง ๆ ทั้งการลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และร่วมตรวจสอบการทำงานตามข้อสังเกตเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไผ่มีบทบาทสำคัญในการกำกับเวที ดูแลเนื้อหาการปราศรัย ภายใต้ข้อตกลงว่าเราจะไม่พูดถึงมาตรา 7 หรือ นายกฯ พระราชทาน
ไผ่ เล่าให้เราฟังว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด เพราะเกิดจากการรวมตัวจากทั้งฝั่งรัฐวิสาหกิจ NGOs และเครือข่ายภาคประชาชนมากกว่า 30 องค์กร สับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยในประเด็นปัญหา จึงทำให้ในบางครั้งก็มีขัดแย้งกันในเรื่องของเนื้อหา ที่กลุ่มหนึ่งก็ต้องการใช้เวลาช่วงไพรม์ไทม์ในการนำเสนอประเด็นทางการเมือง จนในบางครั้งเนื้อหาในแง่ของปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จนกระทั่งมีผู้ปราศรัยที่ขึ้นเวทีแล้วกล่าวถึงมาตรา 7 “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตกลงกันไว้ และเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชุมนุมอย่างท่วมท้น
เมื่อไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ?
ไผ่ ตอบว่าตอนนั้นหน้างานรู้สึกโกรธมาก เดินออกจากเวทีทันที ไปพูดคุยกับเพื่อนที่เข้าร่วมการชุมนุม แต่เหตุที่ยังต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะมองว่ากลุ่มมวลชนที่รอฟังเรื่องที่เป็นปัญหาของชาวบ้านจริง ๆ ก็มีอีกจำนวนมาก ตนไม่สามารถละทิ้งผู้ชุมนุมกลุ่มนั้นไปได้ และยังมองไม่ออกว่าหากตนไม่ทำหน้าที่ตรงนั้นแล้ว ความขัดแย้งภายในอาจมีเพิ่มมากขึ้น และระบบที่เคยทำไว้อาจจะสูญเปล่า
19 กันยายน 2549 วันรัฐประหาร
ไผ่ เล่าว่าในขณะนั้น แม้จะมีคนค่อนขอดว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่รู้ถึงสัญญาณการก่อรัฐประหาร แต่เขาก็ยอมรับว่าไม่รู้ ว่าการชุมนุมครั้งนั้นจะนำไปสู่การยึดอำนาจของทหาร และยังเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะสามารถควบคุมได้ และสามารถทำให้รัฐบาลทักษิณออกไปได้ด้วยวิถีทางปกติ ที่ไม่ใช่รัฐประหาร และยังยืนยันด้วยเบ้าหลอมการใช้ชีวิตของตนเองที่ผ่านมา ล้วนต่อต้านและไม่ยอมรับการเมืองนอกระบบ ตั้งแต่ในสมัยที่ยังทำหน้าที่อยู่ในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.
“ในวันรัฐประหารเราก็ช็อกเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะในวันรุ่งขึ้นจะมีการชุมนุมใหญ่และยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม วางแผนการเคลื่อนไหวทุกอย่างเหมือนเดิม”
พอรัฐประหารสำเร็จ เป็นช่วงเวลาที่ไผ่ ผิดหวังอย่างรุนแรง และพยายามที่จะแก้ไขกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตนเดินทางไปเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออยากแสดงจุดยืน และแน่นอนว่าไม่ได้รับการต้อนรับจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยภาพลักษณ์ที่ยังติดตา ฝังใจว่าเป็นหนึ่งในสายล่อฟ้ารัฐประหาร แม้จะอธิบายว่าตนเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ไม่คิดให้เกิดการรัฐประหารก็ตาม
จากรัฐประหาร ’49 ถึงการชุมนุมปี ’51 จุดเปลี่ยนชีวิตสู่เรือนจำ
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2551 แม้ไผ่จะได้สรุปบทเรียนที่ผ่านมากับตัวเอง แต่ตนยอมรับว่ายังไม่มากพอ สถานการณ์การชุมนุมที่เต็มไปด้วยเพื่อน และคนรู้จักชักชวนให้กลับเข้ามาสู่การเคลื่อนไหวอีกครั้ง ทำให้ไผ่ ยังก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแห่งกงล้อประวัติศาสตร์ และถูกจดจำในฐานะแกนนำที่บุกปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT ก่อนที่จะถูกจับกุม และศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือนในเวลาต่อมา
ไผ่ เล่าว่าในฐานะที่เป็นผู้ออกแบบการเคลื่อนไหวของมวลชนมาตลอด จึงรู้ว่าหากเดินทางไปในพื้นที่สื่อ และสถานที่ราชการถือเป็นจุดสุ่มเสี่ยง เมื่อรู้เช่นนั้นจึงต้องไปร่วมกับผู้ชุมนุม ด้วยแนวทางของตนเองที่ไม่คิดจะปะทะให้ถึงชีวิต แต่พร้อมเผชิญหน้าและกดดัน ให้สังคมได้ยินเสียงเรียกร้อง ในวันนั้นไผ่จึงเลือกที่จะเดินไปมอบตัว และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถือเป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนตัวเองอย่างแท้จริง
มหาวิทยาลัยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ช่วงเวลาของการสรุปบทเรียน จนทำให้ชายคนนี้ยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง พร้อมประกาศว่า “หลังจากนี้ ต่ำกว่าประชาธิปไตย จะไม่เอาอีกแล้ว” ไผ่เล่าว่าหลังจากออกจากเรือนจำ ชัดเจนว่าจะ “ไม่ร่วม” และ “ต่อต้าน” อำนาจนอกระบบทั้งปวง และหากการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การรัฐประหารตนจะไม่ทำ เพราะยึดหลักสำคัญในชีวิตว่า “การขจัดความอยุติธรรม ต้องไม่มีวิธีการที่อยุติธรรมนั้นด้วย”
ไผ่ ยกตัวอย่างวีรกรรมที่ตนทำเพื่อเตือนสติไว้ว่า การเคลื่อนมวลชนที่ไม่อยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรม ความพยายามจะไปถึงเป้าหมายอย่างสุดโต่ง และการบุกยึดสถานที่ต่าง ๆ อย่างที่ตนเคยทำนั้นไม่ควรเกิดขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการที่ถูกต้องควบคู่กันไป เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาตามครรลองของประชาธิปไตย และหากย้อนเวลากลับไปได้ ในการชุมนุมรอบที่สองกับกลุ่มพันธมิตรฯ ตนเลือกที่จะไม่เข้าร่วม
ภายใต้การตกผลึกทางความคิดจากการกระทำของตนเอง การรับฟังปัญหาของประชาชนที่ทำงานร่วมกัน ยังทำให้ไผ่เชื่อว่า เราจะสร้างแต่ประชาธิปไตยในทางการเมืองไม่ได้ แต่ต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับให้คุณภาพชีวิตของคนในทุกชนชั้นเท่าเทียมกัน หากประเทศมีรัฐสวัสดิการที่ดี เราจะไม่เห็นคนออกมาประท้วงเรียกร้อง การทำงานของทุกคนควรคุ้มค่ากับความเหนื่อยหนัก และมีโอกาสในความมั่นคงของชีวิตเท่าเทียมกัน
นี่จึงเป็นเส้นทางที่ “ไผ่ นิติรัตน์” เลือกเดินร่วมกับเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ในปัจจุบัน