เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย แต่สิ่งที่คนตั้งคำถามมากที่สุด ดูเหมือนเจาะจงไปที่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ เพราะยังมองไม่เห็นเหตุผลว่า แก้แล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ? กับ ฝ่ายที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ ก็มองว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดในรัฐสภา 13 – 14 ก.พ.ที่ผ่านมา คือสิ่งที่ พรรคเพื่อไทย ยื้อเวลา แม้คนในพรรคจะดาหน้าออกมายืนยันว่า “ไม่ได้เล่นเกมการเมือง”
แต่ถ้าไปถามมุมมองจาก ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็วิเคราะห์ประเด็นนี้กับ The Active โดยระบุจนถึงตอนนี้ ยังฟันธงไม่ได้ ว่า เพื่อไทยไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ การที่สภาล่ม อาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญถูกตีตก เพราะหากตกไปแล้ว จะเรียกขึ้นมาพิจารณากันอีกต้องใช้เวลาอีกนาน

แม้ เพื่อไทย เป็นพรรคที่หาเสียงเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาไว้ ซึ่งก็ดูเหมือนไร้เหตุผลถ้าดู ถ้าเพื่อไทยจะไม่ผลักดันให้เกิดขึ้น เพียงแต่เวลานี้ บรรยากาศของพรรคร่วม และเสียงของ สว.สายสีน้ำเงิน ที่มีจุดยืนไม่อยากเปลี่ยนแปลง ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นข้อจำกัด ซึ่งมีผลทำให้แรงสนับสนุนให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านวาระ 1 ที่ยังต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก สว. ถึง 67 คน เพราะหากนับเฉพาะ สว.สายสีขาว และ สว.พันธุ์ใหม่ ก็ยังได้เสียงไม่เพียงพอ
ผศ.ปริญญา ย้ำว่า หากร่างฯ ถูกตีตกไปแล้ว โอกาสที่จะเสนอร่างฯ ในรัฐบาลนี้ จึงเกิดขึ้นได้ยาก อาจต้องรอรัฐบาลใหม่ในปี 2570 ดังนั้นเทคนิคการล่มประชุมรัฐสภา จึงเป็นเพียงแค่ “การยื้อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถูกบรรจุไว้ไม่ให้ร่างฯ นั้นตกไป” จึงยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ความจริงใจจาก เพื่อไทย ว่า จะเดินเกมการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี้ต่ออย่างไร ?
รวมถึงการดึงดันที่จะพิจารณาต่อ อาจทำให้วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกตีตก และใช้เวลานานมากกว่าเดิม แต่จะสามารถพิจารณาได้ทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ ? ยังต้องรอพิสูจน์ความจริงใจจากเพื่อไทย อีกเช่นกัน
“เพื่อไทย แม้จะไม่อยากทำ สภาล่ม แต่เขาก็ยืนยันที่จะใช้วิธีนี้ เพราะหากเดินหน้าไปแล้ว คะแนนเสียง 1 ใน 3 จาก สว. ก็ยังไม่พอที่จะทำให้ผ่านการพิจารณา ญัตตินี้ก็จะตกไปแล้วเริ่มต้นใหม่ ซึ่งจะต้อง ใช้เวลานานกว่าเดิม จึงใช้วิธีการไม่แสดงตน เพื่อทำให้องค์ประชุมล่ม”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
แม้การทำสภาล่ม จะเป็นแทคติกที่เพื่อไทยใช้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ ผศ.ปริญญา อยากให้เกิดขึ้น คือ ควรทำให้เกิดบรรยากาศของการอภิปราย ถกเถียงในรายละเอียด นี่จึงสะท้อนว่า เวลานี้ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาชน แยกขาดออกจากกันแล้วอย่างชัดเจน
ปิดทางอภิปราย สัญญาณแยกทาง ‘สีแดง – สีส้ม’
ผศ.ปริญญา ยังวิเคราะห์ด้วยว่า พรรคประชาชน กับ พรรคเพื่อไทย เป็นเพียง 2 พรรคการเมืองที่มีแนวทางการมี สสร.ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คราวนี้ พรรคประชาชน ก็ต้องการเดินหน้าให้มีไปถึงขั้น ลงมติ หรือ อย่างน้อยควรได้อภิปรายกันแล้วค่อยว่ากันอีกที

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย คิดว่า ไม่ควรลงมติ เพื่อไม่ให้เสียของ หรือถูกตีตก จึงเป็นข้อสังเกตว่า ควรจะให้อภิปรายกัน บอกถึงเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ในสภาฯ เพื่ออธิบายในข้อสงสัย และตัดสินใจร่วมกันว่า จะหยุด หรือ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่บรรยากาศเหล่านี้กลับไม่เกิดขึ้น
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ทั้ง 2 วัน ก็มีคนมาเสียบบัตรไม่ครบ ชัดเจนว่า เป็นเทคนิคการทำสภาล่ม เพราะมองไม่เห็นทิศทางที่จะไปต่อ นอกจากนี้ยังเคยแถลงชัดว่า “เพื่อไทย จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ เพราะไม่อยากให้แค่ได้แก้ แต่ต้องการให้แก้ได้” พูดง่าย ๆ ว่า จำเป็นต้องหยุด เพื่อให้สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้
“จนถึงตอนนี้จึงยังฟันธงไม่ได้ชัดเจน ว่า เพื่อไทย ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วม ‘เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย’
ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังคงเกิดคำถามว่า “หักกันหรือไม่ ?” ความจริงแล้ว เรื่องของการไม่แสดงตน จะสังเกตได้ว่า ไม่แสดงตนทั้ง 2 พรรค เพราะฉะนั้นปัญหาในพรรคร่วมก็คงจะไม่มี อยู่ที่ว่า พรรคเพื่อไทย จะคุยกับพรรคภูมิใจไทย อย่างไร การใช้วิธีการแบบนี้ พรรคเพื่อไทยต้องมั่นใจ หรือ ทำให้เห็นเจตจำนงค์ทางการเมืองว่า ต้องการแก้รัฐธรรมนูญจริง ๆ หากเพื่อไทยไม่ทำอะไร ก็จะถูกมองทันทีว่า ที่ผ่านมาไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร. ก็เป็นไปได้
ญัตติให้มี สสร. ทั้งของเพื่อไทย และพรรคประชาชน ก็ยังอยู่ เพราะยังประชุมกันไม่ได้ ยังไม่มีการลงมติ ยังไม่ผ่าน และยังไม่ตก ส่วนญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ได้พิจารณา ทั้ง 3 ญัตติ ทั้ง ร่างแก้ไขเพิ่มเติมให้มี สสร. ของทั้ง 2 พรรค และ ญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(2) ก่อนที่จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ก็ยังอยู่
สภาล่ม 2 ครั้งติด : รัฐสภาไทยแปลกประหลาด ?
เมื่อพรรคเพื่อไทย ถูกตั้งคำถาม ว่า ทำไม ? ไม่คุยกับ พรรคประชาชน แล้วก็ควรจะเคลียร์กับ พรรคภูมิใจไทย กับ สว.ก่อนหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่มเริ่มการประชุม
ผศ.ปริญญา ตั้งข้อสังเกต ว่า องค์ประชุมครบในตอนเริ่มต้น แต่สุดท้ายก็มีคน walk out และ ให้นับองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตร จึงทำให้องค์ประชุมล่มในที่สุด และเป็นที่มาให้ พรรคประชาชน ขอให้ยุบสภาฯ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
“ไม่เสียบบัตร เท่ากับ ไม่แสดงตน เป็นความประหลาดของรัฐสภาไทย เพราะคนอยู่ในที่ประชุมแท้ ๆ กลับไม่ถูกนับเป็นองค์ประชุม”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

พรรคเพื่อไทย จึงใช้วิธีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคเพื่อไทย แทนฉบับรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ พรรคร่วม อื่น ๆ เห็นต่างกันได้ เพราะนี่เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย การหยุดและทำองค์ประชุมล่ม จึงเป็นเหมือนสิ่งเตือนให้พรรคเพื่อไทยต้องทำงานต่อ ไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นผลลบกับพรรคเพื่อไทยไปด้วย เพราะเรื่องนี้เป็น นโยบายรัฐบาลรัฐบาล อย่างไรก็ต้องทำให้สำเร็จ
สำหรับแนวทางจากนี้ ผศ.ปริญญา มองว่า เพื่อไทยจำเป็นที่จะต้องไปเจรจากับพรรคภูมิใจไทย และ สว.สายสีน้ำเงิน เพื่อให้เสียง สว. ถึง 1 ใน 3 เป็นแนวทางเดียวที่จะทำให้ได้เสียงครบหลังจากเดินแยกทางจาก พรรคประชาชน แล้ว
ความหวังมีรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนเลือกตั้งใหญ่ 2570
นักนิติศาสตร์ ย้ำถึงสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า เราควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะเลือกตั้ง สส. ครั้งต่อไป ซึ่งน่าจะไม่ทันแล้ว เพราะสภาฯ ชุดนี้เลือกตั้งมาเดือนพฤษภาคม 2566 ขณะนี้เหลือเพียง 2 ปี 3 เดือน กระบวนการขณะนี้ จะให้มี สสร. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องประชามติ คาดว่าจะใช้เวลา 6 – 8 เดือน และต้องทำประชามติ ครั้งสุดท้าย ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่การพิจารณาทุกอย่างหยุดชะงักลงไป
ขณะที่ร่างกฎหมายประชามติ ก็เป็นร่างที่ถูกยับยั้ง ซึ่งต้องรอให้ผ่านพ้น 180 วัน หากจะลงประชามติก่อน ก็ต้องรอไปถึงเดือนมิถุนายน
ผศ.ปริญญา จึงย้ำว่า หากไปดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติก่อน เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้มี สสร. บอกแต่เพียงว่า “ต้องทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตรงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ทั้งนี้ถ้าลองดูจากข้อมูลจะพบว่า
- ไทยเคยทำอย่างนี้มาแล้วใน ปี 2491 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2490 เกิดเป็น สสร. ปี 2491 และกลายเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2492
- ครั้งที่ 2 ในปี 2539 ไทยแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2534 ให้มี สสร. และกลายเป็น รธน. 2540
- และครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ที่ยังทำไม่สำเร็จ
เมื่อเดินคนละทางกับ พรรคประชาชน ต้องดูกันต่อไปว่า พรรคเพื่อไทย จะไปดีลกับ ภูมิใจไทย และ สว.สายสีน้ำเงิน อย่างไร เพื่อให้การลงทุนทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่มไม่เสียเปล่า จากนี้การกระทำของ เพื่อไทย จะเป็นตัวบอกถึงความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเป็นเพียงแค่เกมการเมือง อย่างที่ผ่านมา…