หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 312 ต่อ 84 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมด 402 คน
ท่ามกลางคำถาม ว่า กฎมายนี้จะออกมาพิกลพิการหรือไม่ เพราะการพิจารณารายมาตราในวาระ 2 ได้โหวตตัดคำ หรือ คว่ำมาตราสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในหมวด 5 มาตรา 27,28,29 เรื่อง พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเสียงส่วนใหญ่สภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก โดยมี สส.ตบเท้าอภิปรายแสดงความกังวล ว่า จะเป็นการให้อภิสิทธิ์กับกลุ่มชาติพันธุ์เหนือคนอื่นหรือไม่
ทั้ง ๆ ที่กรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่ และสส. อีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันความหลากหลายและสร้างความเท่าเทียมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ยืนยันว่า ไม่ได้ให้อภิสิทธิ์ใครอยู่เหนือกฎหมาย แต่จะส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ ได้เท่าเทียมคนอื่น ๆในสังคม และมีส่วนร่วมสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ แต่ผลสรุปมติที่ประชุมสส.มีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย ที่หลักการเรื่องพื้นที่คุ้มครองฯ จะต้องไม่กระทบ หรือ overrule กฎหมายอื่น
ทันที เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมด้วยตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ แถลงประณาม และแสดงความผิดหวัง หลังสภาฯโหวตคว่ำหมวดนี้ โดยชี้ว่า มติที่ประชุมสภาฯ ยืนตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย จะไม่สามารถคุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ตามเจตนารมณ์ได้ เพราะหัวใจสำคัญได้ถูกตัดไปหมดแล้ว แม้ผ่านวาระ 2,3 แต่บิดเบี้ยว และจะไม่นำไปสู่การคุ้มครองชาติพันธุ์ ทั้งคำว่า ชนเผ่าพื้นเมืองยังถูกตัด ไม่ปรากฏในนิยามด้วย

ภาคประชาชน จึงตั้งความหวัง ไปที่ชั้นกลั่นกรอง คือ สมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องไม่ตัด หรือเปลี่ยนแปลงหมวดสำคัญนี้ ไปมากกว่าในชั้นสภาผู้แทนราษฎร เพราะแม้จะยังคงยึดว่า เรื่องพื้นที่คุ้มครองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่หลักการและสาระสำคัญของเรื่องนี้ยังอยู่และเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
การอภิปราย ของ สว.โดยภาพรวมในวันโหวตรับหลักการวาระ 1 ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องเดินหน้าผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมี ธวัช สุระบาล เป็นประธานกรรมาธิการ ฯ
ล่าสุด พิจารณาและลงมติแล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมาโดยยืนตามร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างเตรียมเข้าพิจารณา วาระ 2,3 วันที่ 8 เม.ย.นี้
เครื่องมือ ‘พื้นที่คุ้มครองฯ’
หนุนจุดเด่นศักยภาพทุนวัฒนธรรม ส่วนร่วมพัฒนาทุกมิติ
จริง ๆ แล้ว พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ นำร่องมาแล้ว 24 พื้นที่ ตามมติ คณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และ 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังถือเป็นหนึ่งในสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย เป็นแนวทางในการคุ้มครอง “สิทธิทางวัฒนธรรม” ของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้รับการคุ้มครองและยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะพลเมือง ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ควบคู่กับการผสานองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตมีความสำคัญในฐานะเป็น “พื้นที่จิตวิญญาณ”
นอกจากจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่พวกเขายังไม่ได้รับอย่างเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ เหมือนคนอื่น ๆในสังคมแล้ว ยังหนุนเสริมจุดเด่น ศักยภาพวิถี วัฒนธรรม องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่มีมาแต่ดั้งเดิมของพวกเขาให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวช่วย หรือส่วนร่วมสำคัญที่สร้างประโยชน์โดยรวม ให้ภาครัฐและสังคม ซึ่งพบรูปธรรมในหลายพื้นที่ มีศักยภาพและความโดดเด่นในหลากหลายมิติ

📍 ปกาเกอะญอดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน
ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ประกาศเป็น พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 โดยประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ ปี 2563
โดยชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ มีอาชีพทำไร่หมุนเวียน ทำนา ทำสวน เช่น กาแฟ รวมทั้ง เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้งโพรง ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ มีประชากรประมาณ 270 คน ทั้งหมด 74 หลังคาเรือน ที่น่าสนใจและเรียกว่าน่าทึ่งมาก ๆ คือหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางผืนป่า ที่มีชาวบ้านไม่ถึง 300 คนแห่งนี้ สามารถช่วยกันรักษาผืนป่า จากไฟป่าได้กว่า 21,000 ไร่เลยทีเดียว ด้วย แนวกันไฟสีเขียว ที่เยาวชนและชาวบ้านที่นี่ร่วมกันทำทุก ๆ ปี
ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา The Active มีโอกาสติดตามชาวบ้านช่วยกันทำแนวกันไฟแบบแห้ง เก็บกวาดเศษใบไม้ ที่จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในฤดูไฟป่า ซึ่งมีความยาวกว่า 30 กิโลเมตร ครอบคลุมการดูแลพื้นที่ป่า ในแนวเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านโฮ่ง ไร่หมุนเวียน นา สวน พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน รวม 21,300 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ อ.บ้านโฮ่ง ลำพูน อ.ฮอด และ อ. จอมทอง จ.เชียงใหม่ เท่ากับว่า พวกเขาช่วยกันดูแลผืนป่าผืนใหญ่มาก
จากนั้นเยาวชนุมชนดอยช้างป่าแป๋ พาเราขึ้นไปบนยอดดอยช้าง แต่ก่อนขึ้น พวกเขาไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ เพื่อให้คุ้มครองการเดินทางและการทำงานในครั้งนี้ เมื่อถึงยอดดอยช้าง ชาวบ้านบอกว่าพื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมาไหว้ขอพรทุก ๆ ปีในฤดูเพาะปลูก
จากจุดนี้ ซึ่งมีระดับความสูงกว่า 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล มองไปรอบ ๆ เราได้เห็นรอยต่อผืนป่าของ 3 อำเภอ ทั้งเชียงใหม่ และลำพูน ที่นี่จึงเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับการเฝ้าระวังไฟป่า พวกเขาจึงได้ติดตั้ง IP camera เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ เพิ่มประสิทธิภาพจัดการไฟป่าแบบ 360 องศา บนหน้าผาสูง ช่วยให้ป่าผืนใหญ่ อยู่ในสายตาได้แค่เพียงหน้าจอมือถือ
ชาวบ้านยังจัดการวางระบบท่อสปริงเกอร์รอบแนวกันไฟ โดยวางระบบน้ำ ขุดสระเก็บน้ำไว้ตั้งแต่หน้าฝน และยังมีที่สำรองไว้ในถังน้ำขนาด 200 ลิตร กว่า 500 ถัง กระจายติดตั้งตามจุดต่าง ๆ กว่า 40 จุดทั้งหมดนี้ คือระบบ IOT สั่งการอัตโนมัติ ช่วยให้ดับไฟป่าได้ทันท่วงที

ที่สำคัญ เครื่องไม้ เครื่องมือ ทั้งหมดที่ใช้เฝ้าระวังจัดการไฟป่า แทบไม่ได้ใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐเลย ข้าวของต่าง ๆ มาจากน้ำพักน้ำแรง และการทำจริง เห็นผลเชิงประจักษ์ สามารถป้องกันไฟป่า ซึ่งในแต่ละปีที่เสียหายน้อยมาก ไม่เกิน 10-15 % จนมีผู้สนับสนุนให้ทุกปี
แน่นอนว่าภารกิจแบบนี้ทั้งเหนื่อย ทั้งเสี่ยง แต่ชาวบ้านก็เต็มใจเพราะไม่เพียงช่วยปกป้องป่า มากกว่านั้น คือ หวังให้สังคมเข้าใจวิถีคนอยู่กับป่า อย่างน้อย เพื่อลบล้างอคติ ว่า พวกเขาไม่ใช่ตัวการทำลายป่า
ศักยภาพของชาวบ้าน ที่ได้ร่วมกันดูแลผืนป่า การันตีด้วยรางวัลมากมาย เช่น รางวัลลูกโลกสีเขียว, รางวัลโล่ และเกียรติบัตรจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพราะชุมชนทำคุณประโยชน์และช่วยเหลืองานด้านอนุรักษ์ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่ง สิ่งนี้น่าจะพอบ่งบอกได้ถึงส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนดั้งเดิม หนึ่งในหลักการสำคัญของพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม

📍ชุมชนปกาเกอะญอห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย
เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากซัดกลางหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2567 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบบ้านเรือนเสียหาย 6 หลังคาเรือน แต่รุนแรงพัดพาโรงเรียนเสียหายทั้งหมด แต่กลับไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งชาวบ้าบอกว่า นั่นเป็นเพราะใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของคนอยู่กับป่า ในการสังเกตสีของน้ำ การไหลของน้ำ จึงเตือนภัยหลบหนีกันได้ทัน
ในช่วงเวลานั้น เกิดดินสไลด์ ปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้านหลายจุด เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือจากภายนอกนานเกือบสัปดาห์ ในห้วงเวลาวิกฤติเช่นนั้น คงมีคำถามว่า แล้วชาวบ้านที่นั่น อยู่รอดมาได้อย่างไร ? คำตอบคือ ศักยภาพบนวิถีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่เป็นการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ เป็นทั้งความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และเศรษฐกิจชุมชน จากการรักษาทรัพยากรของชาวบ้านที่นั่น
ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 The Active ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่หมุนเวียน ปีนี้ข้าวออกรวงเต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้ผลผลิตดี พอทำให้ชาวบ้านห้วยหินลาดใน มีรอยยิ้ม หลังจากต้องเผชิญกับวิกฤตภัยพิบัติใหญ่
และยิ่งทำให้ชาวบ้านที่นี่มั่นใจ ในความมั่นคงทางอาหารในไร่หมุนเวียน ที่รับมือวิกฤตต่าง ๆ ได้ รวมถึงภัยพิบัติใหญ่ ที่การช่วยเหลือจากภายนอกในช่วงแรกที่เข้าไม่ถึง แต่อยู่ได้ด้วยผลผลิตจากไร่หมุนเวียน
ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน บอกกับเราว่า องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมา แม้มีการตัดฟัน แต่พักฟื้นหมุนเวียน ให้ต้นไม้ได้แตกกอใหม่เพิ่มมากขึ้น อคติที่มองว่าพวกเขาทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า จึงควรต้องถูกหักล้างไป
ทั้งยังมีงานวิจัยรองรับ ว่า นอกจากช่วยดูดซับคาร์บอนได้ดี ป่าหนุ่มในไร่หมุนเวียน ยังยึดหน้าดินได้ดี ไม่ทำให้เกิดการทรุดตัวหรือดินสไลด์

ภาพที่เห็นยิ่งตอกย้ำ ว่าป่าใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เกิดดินสไลด์ แต่ถัดไปคือไร่หมุนเวียน ที่ทิ้งพักฟื้นไว้เป็นป่าหนุ่ม ไม่เกิดร่องรอยการสไลด์ ขณะที่นาข้าว มีดินโคลนทับถม เสียหายกว่าร้อยละ 50 เป็นคำตอบว่า หากชาวบ้านเลือกทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น นาข้าวอย่างเดียว อาจไม่รอด
ชาวบ้านที่นี่ยังแบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานแบบวนเกษตร ปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลาย หมุนเวียนให้ขายตามฤดูกาล แต่ที่เป็นผลผลิตที่สร้างชื่อและเป็นที่ต้องการของตลาด คือ ผึ้งโพรง ซึ่งสะท้อนการใช้ประโยชน์พึ่งพากันและกันของชาวบ้านกับธรรมชาติ เพราะปริมาณน้ำผึ้ง ประชากรผึ้งที่มากขึ้นในทุก ๆ ปี สะท้อนว่าชาวบ้านที่นี่จัดการดูแลป่าได้ดี โดยเฉพาะการป้องกันไฟป่า ที่สำคัญรายได้ที่ได้จากการขายน้ำผึ้ง จะถูกแบ่งเข้ากองทุนเพื่อดูแลรักษาป่าและป้องกันไฟ
เท่ากับว่า ศักยภาพชุมชนเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ด้วยศักยภาพภูมิปัญญาแห่งวิถีชาติพันธุ์ ที่เป็นความมั่นคงชีวิต ความมั่นคงอาหาร และยังพร้อมรับมือทุกวิกฤติ รวมทั้งภัยพิบัติในยุคโลกรวน

📍ชาวเลทับตะวัน จ.พังงา
ชุมชนชาวเลมอแกลนทับตะวัน-บนไร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 17 นอกจากเป็นชุมชมที่ยังคงวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาวเลอันดามันไว้ได้จนถึงปัจจุบัน องค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่โดดเด่นและถือเป็นศักยภาพที่สำคัญของชาวเลมอแกลนที่นี่ คือ การรับมือและเอาตัวรอดจากสึนามิ เมื่อ 20 ปีก่อน
เพราะในขณะคลื่นยักษ์สึนามิ ในปี 2547 คร่าชีวิตผู้คนในพังงา ไปไม่น้อยกว่า 4,000 คน องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชาวเล ช่วยให้ชาวบ้านทับตะวัน สูญเสียจากสึนามิ เพียง 2 คน
“หากวันนั้น 20 ปีก่อน แม่ผมไม่รอดจากสึนามิ
ก็คงไม่มีผมและน้อง ๆ มาจนถึงวันนี้ ”
คำบอกเล่าจากเด็กหนุ่มวัย 13 ปี ลูกหลานชาวมอแกลนที่นี่ ย้ำถึงการเอาตัวรอดของชาวเลในวันที่เผชิญกับภัยพิบัติใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย แม้เขาอาจไม่เคยมีประสบการณ์และความทรงจำต่อเหตุการณ์สึนามิ แต่เมื่อเกิดเป็นลูกหลานชาวเล สิ่งที่เด็กหนุ่มวัย 13 ปีคนนี้ได้ถูกถ่ายทอดตั้งแต่เล็กจนโต คือ ภูมิปัญญาการรับมือพิบัติ ที่มีส่วนสำคัญทำให้เขามีชีวิตในวันนี้
การเติบโตมาในชุมชาวเล ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และตกอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ซ้ำได้ทุกเมื่อ จึงทำให้ ต้นกล้า สนใจ ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม จัดทำแผนจัดการภัยพิบัติ ร่วมกับเยาวชนลูกหลานชาวมอแกลนที่นี่ โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาจากผู้เป็นพ่อ และคนรุ่นก่อนในชุมชน


ทุก ๆ ปี ชุมชนทับตะวัน จะประชุมหารือกัน เพื่ออัพเดทสถานการณ์ และวางแผนป้องกัน รับมือ เผชิญเหตุ รวมไปถึง เส้นทางอพยพ เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมตลอดเวลา
ภัยพิบัติอาจเตรียมการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงได้ แต่ภัยคุกคามที่กำลังท้าทายชุมชนชาวเลเวลานี้ คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก เพราะกระทบต่อสิทธิที่ดิน ที่ทำกินของชาวเล และยังเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการจัดการภัยพิบัติ
ภาพของหอเตือนภัย ที่ตั้งตระหง่านกลางหมู่บ้าน ยังเป็นอีกสิ่งที่คอยย้ำเตือนให้ ต้นกล้า และพี่น้องชาวเล ได้เรียนรู้ว่า การเตรียมพร้อมชุมชนเพื่อเอาตัวรอดจากภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากจะหวังพึ่งการเตือนภัย การช่วยเหลือจากรัฐ คงเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมา แทบไม่เคยซ้อมแจ้งเตือน หรือซ้อมแผนอพยพให้กับชาวบ้านเลย
แต่การจะคาดหวังให้ชุมชน ปรับตัว รับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ยังจำเป็นต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยไม่ทิ้งพวกเขาไว้เพียงลำพัง ต่อยอดหนุนเสริมศักยภาพภูมิปัญญา องค์ความรู้ ที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้อยู่รอดจากสึนามิ และรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

📍ชาวเลหลีเป๊ะ จ.สตูล
ชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีพื้นที่วิถีทำกินแบบไร่หมุนเวียน ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ก็มีทะเลหมุนเวียน ด้วยการ ‘บาฆัด’ หรือ เพิงพักค้างแรมชั่วคราว
ชาวเลที่นี่บอกกับเราว่า บาฆัด เป็นภาษาชุมชนของอูรักลาโว้ย เป็นการเรียกชื่อของการพักแรมดั้งเดิมของพี่น้องชาวเล ซึ่งด้วยวิถีชีวิตของชาวเลมีการอยู่อาศัยตามฤดูกาลของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฤดู ทั้ง ฤดูแล้ง ฤดูฝน มรสุมวิถีชีวิตชาวเล จึงไม่สามารถที่จะต่อต้านกับสภาพธรรมชาติได้ พอช่วงลมตะวันออกมา ตั้งแต่ เดือนมกราคม-เดือนเมษายน เรือของพี่น้องชาวเล ซึ่งเป็นสมบัติอันเดียวในชีวิตที่เขามีไว้ทำมาหากิน ต้องถูกเคลื่อนย้ายจากจุดจอดเรือที่เกาะหลีเป๊ะ เอามาหลบลมตามแหล่งบาฆัด คือตามหาดต่างๆ บริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวี ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล

บาฆัด หรือ เพิงพักค้างแรมชั่วคราวของชาวเล สร้างขึ้นง่าย ๆ ภายในมีแค่ของใช้จำเป็น ห้องน้ำ ห้องครัว ก็ต้องพร้อมเก็บ โยกย้าย ตามเกาะต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา เพื่อหลบลมมรสุม การเลือกทำเลในการตั้งบาฆัด เป็นอีกสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
ที่สำคัญ ต้องอยู่ในบริเวณที่เป็นชายหาดที่สามารถหลบลมได้ และก็ในพื้นที่ป่าสามารถใช้สอยพวกน้ำ พวกทรัพยากรในป่า เช่น ผักป่า พวกพืชผลที่ชาวเลสมัยก่อนเขามาเพาะปลูกไว้
ชาวเลที่นี่ ยังมี ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร เป็นอีกสิ่งสำคัญ ต่อการมาอยู่บาฆัด ส่วนปลาที่จับมาได้ พวกเขาจะนำมาถนอมอาหาร ทำปลาเค็มไปตาก วันไหนมีมรสุมออกเรือไม่ได้ ก็ยังมีปลาเค็มไว้กินให้อิ่มท้อง และที่ต้องชื่นชม คือ การทำประมงตามวิถีชาวเล ใช้เครื่องมือประมงที่เน้นจับปลาตัวเต็มวัย เช่น ลอบ หรือ ไซ ที่เป็นภูมิปัญญาส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น

การหมุนเวียนตั้งบาฆัด ตามหาดต่างๆ ของชาวอูรักลาโว้ยที่นี่ ไม่ใช่แค่เหตุผลในการหลบมรสุม แต่วิถีนี้ ยังเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากร เพื่อไม่ให้ใช้ทรัพยากรบริเวณใด บริเวณหนึ่งมากเกินไป ทำให้ทรัพยากรได้ฟื้นตัว วิถีชาวเลนี้ยังมีส่วนช่วยเป็นหูเป็นตา ต่อการกระทำความผิด ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้เป็นอย่างดี
“ชาวเลก็ได้ดูเรือ นอกพื้นที่เข้ามาเขตบริเวณนี้ เป็นหูเป็นตาให้ฝ่ายปกครอง ว่า มีเรือลักลอบเข้ามาในเขตอุทยาน มีคนตัดไม้ ทำผิดกม.ก็โทรมาหาหน่วยงานรัฐ เพราะชาวบ้านทำมาหากินไม่ใช่เฉพาะกลางวัน กลางคืนเขาก็วางอวนตกปลากัน จะเห็นอวนลาก อวนโน่น อวนนี่ ที่ทำผิดกฎหมาย ครั้งก่อนที่จับกลุ่มขนยาเสพติดก็ได้พวกเขาช่วยเป็นคนแจ้งเป็นพยาน”
ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ
ชาวเลคาดหวังให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทบทวน สำรวจ กำหนดและกันพื้นที่ความจำเป็นแห่งวิถีชีวิตนี้ รวมถึงสร้างส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ที่เป็นการใช้ประโยชน์ควบคู่การอนุรักษ์

📍กะเหรี่ยงโพล่วห้วยหินดำ จ.สุพรรณบุรี
ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ไกล ที่ จ.สุพรรณบุรี มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโพล่ว หรือ กะเหรี่ยงโปว์ ที่ชุมชนบ้านห้วยหินดำ ชุมชนที่นี่ยังคงทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ในพื้นที่ป่ายังปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่า โดยไม่กระทบกับผืนป่า ที่สำคัญปกคลุมให้ป่าสมบูรณ์อย่างกาแฟ สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชน
เราเดินสำรวจพื้นที่พบกับเยาวชนในหมู่บ้าน สวมชุดชาวกะเหรี่ยงโพล่ว นอกจากสะท้อนอัตลักษณ์ได้ชัดเจน ผ้าทอที่คนที่นี่สวมใส่ยังมีสีที่สวยละมุนต่างจากที่เคยเห็น ซึ่งพวกเขาบอกกับเราว่า เป็นสีที่ได้จากการย้อมจาก เปลือก ผล และใบของต้นไม้ในผืนป่าที่พวกเขาใช้ประโยชน์คาบคู่ไปกับการรักษา

ต้นประดู่ใหญ่ คือเป้าหมาย ที่พวกเขาตั้งใจเก็บเปลือกไปย้อมผ้า โดยใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญา เน้นเลือกไม้แก่ ที่สำคัญคือต้องระมัดระวังในการตัดส่วนเปลือก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเนื้อไม้ โดยภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น เป็นภูมิปัญหาของการพึ่งพาเพื่อใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรักษาธรรมชาติอย่างนอบน้อม สะท้อนตรงข้ามกับอคติ ที่มองว่าคนอยู่กับป่า มักตัดไม้ทำลายป่าอย่างสิ้นเชิง
เมื่อได้เปลือกไม้ ใบไม้ และผลต่างๆที่ให้สีเพียงพอ ได้เวลาลงมือต้ม และมัดย้อมฝ้าฝ้าย พวกเขาบอกว่า นอกจากจะนำด้ายที่ย้อมไปทอ ผ้ามัดย้อมที่ทำก็เป็นการปรับให้เข้ากับความนิยมของลูกค้าในปัจจุบันด้วย
เรื่องราวที่มาของผ้าย้อมสีธรรมชาติ และการทอที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ ทำให้ผู้คนภายนอกสนใจ สั่งออเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องรอนานและราคาค่อนข้างสูง เพราะใช้เวลาในการทอ เนื่องจากทอมือ มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ แต่ก็มีคนพร้อมจะรอและสั่งต่อเนื่อง เพราะเสื้อหรือผ้าทอต่าง ๆ ที่ได้ ถือว่ามีชิ้นเดียวในโลก
องค์ความรู้ของชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญให้กับโรงเรียนที่อยู่รอบ ๆ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และผู้คนที่สนใจเข้ามาดูงานไม่ว่างเว้น ภูมิปัญญาบนวิถีวัฒนธรรมนี้ ยังถูกนำไปต่อยอดประยุกต์ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้วด้วย

ทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น พวกเขาหวังอยากให้ถูกผลักดันต่อยอดสู่ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจรายได้ให้กับชุมชน แต่ยังพบข้อจำกัดจากการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทับ และสัมปทานป่าเอกชน เบียดขับให้เหลือพื้นที่ใช้สอยทางธรรมชาติลดลง ขณะที่ต้นฝ้ายที่ปลูกเพื่อมาทอผ้าก็ไม่มีพื้นที่เพาะปลูก ต้องซื้อหาจากภายนอก ล้วนกระทบต่อทุนการผลิต
การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม เพื่อปลดล๊อกข้อจำกัดการเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกิน ฐานการผลิตตามวิถีวัฒนธรรม จึงถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญ ที่พวกเขาหวังว่า จะช่วยเปิดโอกาส ควบคู่ไปกับการเดินหน้ายกระดับทุนทางวัฒนธรรมของพวกเขา สู่ส่วนร่วมการพัฒนาที่สร้างโอกาสต่าง ๆให้ชุมชน
“5 ชุมชน ใน 24 แห่ง ชุมชนนำร่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยกตัวอย่างมา มีจุดเด่น ศักยภาพบนวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนต้นทุนสำคัญ ที่หากได้รับการหนุนเสริม จะเป็นโอกาสสำคัญให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่สู่ส่วนร่วมการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ และขยายหนุนเสริมสู่ชุมนชาติพันธุ์ที่มีอยู่กว่า 60 กลุ่ม ประชากรกว่า 7 ล้านคน หรือเกือบ 10% ในประเทศไทย”
กางหลักการสำคัญ ‘พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’
พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ครอบคลุม 5 พื้นที่ทางกายภาพของชุมชน
- พื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานชุมชน ที่กลุ่มชาติพันธุ์สามารถสืบประวัติศาสตร์และหลักฐานให้เห็นว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง
- พื้นที่ทำกิน เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำการเกษตรหรือแหล่งทำมาหากิน ตามวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มาอย่างต่อเนื่อง
- พื้นที่พิธีกรรม เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ จารีต และประเพณี โดยถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน
- พื้นที่ใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เพื่อดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม โดยยึดหลักการรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน
- พื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตามวิถีวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของชุมชน
3 หลักการสำคัญ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
1. ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะประกาศกำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีคุณลักษณะดังนี้
- ต้องเป็นชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องก่อนประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐ โดยก่อนประกาศต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีและในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ร่องรอยการอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน
- ต้องเป็นชุมชนที่มีวิถีปฏิบัติที่ดีในการดูแลทรัพยากรในพื้นที่ตามภูมิปัญญาจนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่นั้นไมส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุกฝ่ายให้การยอมรับ
- คนในชุมชนต้องมีความเข้าใจและยอมรับหลักการร่วมกันว่าการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต้องยึดหลักการจัดการแบบ “สิทธิชุมชน” หรือ “สิทธิหน้าหมู่” และไม่ได้เป็นการให้กรรมสิทธิ์หรือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะบุคคล
2. การประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต้องไม่เป็นการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแนวเขตพื้นที่ของรัฐ แต่เป็นการให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ได้ในฐานะที่เป็นชุมชนดั้งเดิมและมีวิถีชีวิตผูกพันกับพื้นที่นั้น
3. ต้องเป็นไปโดยความสมัครใจขอชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์โดยต้องร้วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ทำข้อมูลชุมชน และสำรวจขอบเขตพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่เสนอให้คณะกรรมการพิจารณประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครอง และมีการจัดข้อกำหนดพื้นที่คุ้มครองให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาท และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคุณภาพของความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้น ๆ
4 หลักเกณฑ์สำคัญ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
- สร้างความเข้มแข็งชุมชน ชุมชนต้องยึดหลัก “สิทธิทางวัฒนธรรม” และ “สิทธิชุมชนดั้งเดิม” ยอมรับหลักการของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยแสดงเจตนาที่จะมีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน
- สร้างแนวร่วมการทำงาน ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เปลี่ยน “คู่ขัดแย้ง” เป็น “แนวร่วม” สร้าง “หุ้นส่วนการทำงาน” และสร้าง “สำนึกความเป็นเจ้าของ” เพื่อขับเคลื่อนชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานชุมชนให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของชุมชน
- สร้างรูปธรรม ชุมชนต้องแสดงความพร้อมและศักยภาพของชุมชน โดยจัดทำข้อมูลชุมชน ที่มีข้อมูลขอบเขตพื้นที่ทางกายภาพข้อมูลประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต และจัดทำแผนบริหารพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
- สร้างองค์ความรู้ ชุมชนต้องมีการสำรวจองค์ความรู้ท้องถิ่น และเปิดรับปรับประยุกต์ใช้ความรู้สมัยใหม่อย่างเท่าทัน เพื่อขยายขอบเขตความรู้ของชุมชน รวมทั้งใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับความสำคัญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ ได้แก่
- ส่งเสริมความเข้าใจ เป็นการส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ดำรงอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาคในฐานะพลเมืองของชาติ
- รักษาจิตวิญญาณชาติพันธุ์ วิถีชาติพันธุ์สัมพันธ์กับ “พื้นที่” ในฐานะ “บ้าน” ที่ใช้อยู่อาศัยและทำกิน และในฐานะ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ของบรรพบุรุษ พื้นที่คุ้มครองจึงสำคัญมากกว่ากายภาพแต่เป็นจิตวิญญาณของชุมชน
- ส่งเสริมทุนวัฒนธรรมของชาติ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มั่นใจในศักยภาพ เห็น “คุณค่า” ของวิถีวัฒนธรรมและสามารถใช้เป็น “ทุนวัฒนธรรม” สร้าง “มูลค่า” บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมให้เป็นพลังสร้างสรรค์ชาติ
- วิถีแห่งความสมดุลและยั่งยืน สนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลระหว่าง “การรักษา” และ “การใช้ประโยชน์”จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนหลักการ “อยู่ร่วมและอยู่รอด”
- สร้างความมั่นคงในชีวิต ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ “พึ่งตนเอง” ได้บนฐานวัฒนธรรม มีความเสมอภาค ในการดำรงชีวิตตามวิถีอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เติบโตอย่างมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีภูมิรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกชุมชนชาติพันธุ์ อยากยกระดับเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ ก็เป็นได้เลย เช่นเดียวกับ เมื่อมีกฎหมายนี้ ก็ไม่ใช่ทุกชุมชนชาติพันธุ์ จะกลายเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไดทันที เพราะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกติกาข้อกำหนดร่วมกัน เดินหน้าตามหลักเกณฑ์หลักการประกาศพื้นที่คุ้มครองที่ว่ามาก่อนหน้านี้
โดยการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องผ่านการพิจารณาภายใต้กลไก คณะกรรมการพื้นที่คุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ ซึ่งมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย รัฐมนตรี และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าส่งเสริมคุ้มครองวิถีวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์
ที่ไม่ใช่แค่ชุมชนจะได้รับ แต่จุดเด่นศักยภาพของพวกเขา เป็นกำลังหนุนเสริมภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมในการเดินหน้าพัฒนาประเทศในทุกมิติ
การคุ้มครองคน คุ้มครองชาติพันธุ์ คุ้มครองวัฒนธรรม
=
คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวม