‘บางอ้อ’ สายใยมุสลิม ริมฝั่งเจ้าพระยา

เมื่อก่อน ใคร ๆ ก็เรียกพวกเขาว่า ‘แขกแพ’ นั่นคือสมญานามของ ‘ชาวชุมชนบางอ้อ’ ในอดีต จากอาชีพทำแพ ค้าซุง แม้วันนี้บริบทของพื้นที่และวิถีจะเปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กับแม่น้ำเจ้าพระยามานับร้อยปี ยังคงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีเรื่องเล่าและมนต์เสน่ห์เสมอ…ต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมนี่เอง ที่เป็นจุดขายให้คนรุ่นใหม่วาดฝันถึงโอกาสสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวชุมชน

บางอ้อเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เดิมเป็นย่านสวนผลไม้นานาชนิด มีลำน้ำคูคลองมากมาย ที่ลาดชายตลิ่งปกคลุมหนาแน่นไปด้วยพันธุ์ไม้น้ำ โดยเฉพาะต้นอ้อ อันเป็นที่มาของชื่อ ‘บางอ้อ’ นั่นเอง

ความเป็นชุมชนของย่านบางอ้อ คาดว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2310 และมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านนี้เรื่อยมา ชื่อของย่านยังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปรากฏอยู่ใน ‘นิราศวัดเจ้าฟ้า’ ซึ่งประพันธ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

“ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ได้ไม้อ้อ
ทำแพนซอเสียงแจ้วเที่ยวแอ่วสาว
แต่ยังไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว
สุดจะกล่าวกล่อมปลอบให้ชอบใจ”

อย่างไรก็ตาม บางอ้อนั้นเป็นย่านที่มีความหลากหลายของผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม ทั้งจีน มอญ และโดยเฉพาะ ‘มุสลิม’ ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีบ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดติดกันโดยรอย ตามรูปแบบและคำสอนของศาสนาอิสลาม

สาโรจน์ บางอ้อ มัคคุเทศก์ชุมชนบางอ้อ เล่าว่า พวกเราไม่ใช่แขกมลายู แต่เป็นแขกเปอร์เชีย มุสลิมนิกายสุหนี่ สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งเป็นเจ้านายชาวเปอร์เชียที่ติดตามบิดามายังเมืองสงขลา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสุลต่านสุลัยมานได้ปกครองเมืองสงขลา สร้างความเจริญก้าวหน้า ภายหลังรัฐสุลต่านถูกทำลาย ในปี พ.ศ.2223 และลูกหลานเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นยังได้มีกลุ่มพ่อค้ามุสลิมนิกายนี้เข้ามาทำมาหากินในกรุงศรีอยุธยา กระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก และพากันอพยพเข้ามาที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยเป็นกลุ่มนักเดินเรือ ชำนาญการค้าทางน้ำ นิยมสร้างแพริมฝั่งเจ้าพระยา จึงมักถูกเรียกขานว่า แขกเทศ หรือ แขกแพ ตั้งบ้านเรือนเรียงรายตั้งแต่นนทบุรี บางอ้อ บางพลัด บางกอกใหญ่ เลยไปจนถึงบางลำพู

สาโรจน์ บางอ้อ

“หลังจากอยุธยาล่มสลาย แขกสุลต่านกลุ่มหนึ่งอยู่ในราชสำนัก ทำการค้า อีกกลุ่มเป็นชาวบ้านธรรมดา มีบทบาทแตกต่างกันไป กลุ่มที่เป็นชาวบ้านก็มาตั้งรกรากใหม่แถวบางอ้อ มีการผสมผสานกันระหว่างชนชั้น วิถีวัฒนธรรมกันไป ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและเจ้าสำนัก พอมาถึงช่วงรัชกาลที่ 5 เราได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้มีกิจการเกิดขึ้นมากมาย สองฝั่งเจ้าพระยา เกิดธุรกิจทำไม้ และแพซุงจำนวนมาก จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีนโยบายปิดป่า ทำให้ไม่สามารถทำการค้าไม้ต่อไปได้ ก็ต้องปรับวิถีกันอีกครั้ง เปลี่ยนจากค้าไม้ซุงเป็นไม้แปรรูป และปรับเป็นธุรกิจอื่น ๆ ต่าง ๆ กันไป แต่หลายกิจการหลังจาก พ.ศ.2475 ก็ล่มสลาย แต่ความเป็นมุสลิมยังอยู่ เรายังพัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างมัสยิด และโรงเรียนในชุมชน”

โรงเรียนบางอ้อศึกษา แหล่งเล่าเรียนของเด็ก ๆ ในชุมชน

สาโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราแม้จะมีที่มาเป็นมุสลิมชาวเปอร์เชีย แต่ว่าได้อยู่ในไทยเป็นเวลานาน ลูกหลานเติบโตมาเป็นคนไทย และยังความตั้งใจที่จะสร้างความเจริญ เพื่อยังประโยชน์สาธารณะ จึงถือกำเนิดโรงเรียนบางอ้อศึกษา เป็นสถานศึกษาบนที่ดินของมูลนิธิดำรงผล ก่อสร้างโดยมูลนิธิบางอ้ออิสลาม ร่วมกับพี่น้องมุสลิมตระกูลต่าง ๆ ในย่านบางอ้อ เพื่อพัฒนาเยาวชนทั้งทางศาสนาและวิชาการสามัญ แม้ว่าปัจจุบันจะมีความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการเนื่องจากจำนวนนักเรียนน้อยลง จากการที่จำนวนเด็กเกิดน้อยลง และมีโรงเรียนเอกชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามโรงเรียนยังหาแนวทางที่จะทำให้กิจการดำเนินต่อไปได้ เช่น อาจจะปรับให้เป็นโรงเรียนสอนในระดับชั้นอนุบาลเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการสอนที่มีคุณภาพเหมาะสมกับช่วงวัย

“โรงเรียนบางอ้อศึกษาตอนนี้ก็อยู่ยาก เพราะอัตราการเกิดน้อย อนาคตจะเป็นยังไง เราก็กำลังคิดกันอยู่กับสองมูลนิธิทั้งมูลนิธิดำรงผล และมูลนิธิบางอ้ออิสลาม ซึ่งดูแลโดยตระกูลใหญ่ของมุสลิมในย่านนี้ เราจะต้องร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ และทำให้เป็นจุดเริ่มในการชวนชุมชนคนในย่าน ลูกหลานมาช่วยกันคิดถึงอนาคตร่วมกัน เพื่อไม่ให้โรงเรียนล่มสลาย บรรพบุรุษสั่งไว้ว่าที่ตรงนี้จำเป็นที่จะต้องใช้เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาอย่าแปรเป็นอย่างอื่น ดังนั้น คนในชุมชนจึงต้องมีส่วนร่วมพัฒนา เราอาจจะยกประถมศึกษาแล้วมุ่งพัฒนาหลักสูตรอนุบาล ถ้าชุมชนเห็นความสำคัญก็จะเป็นความหวังต่อไป”

มัสยิดบางอ้อ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

มัสยิดบางอ้อ ศาสนรวมใจมุสลิมในย่าน

อดุลย์ โยธาสมุทร เลขานุการ คณะกรรมการอิสลาม ประจำมัสยิดบางอ้อ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เล่าว่ามัสยิดบางอ้อ ปัจจุบันอายุ 107 ปี ก่อสร้างและเปิดใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2461 ถือเป็นศาสนสถาน 1 ใน 25 แห่ง ของเขตบางพลัด ซึ่งปัจจุบันใช้ในการประกอบศาสนกิจ ของพี่น้องมุสลิมคนบางอ้อ ซึ่งมีประชากรราว ๆ 1,400 คน เป็นกลุ่มคนที่ย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งล่มสลายครั้งที่ 2 และได้พากันตั้งรกรากในที่นี้ เช่นเดียวกับมัสยิดบางอ้อที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ครั้งหนึ่งในอดีต ที่ตรงนี้เคยเป็นตลาดค้าไม้ซุง เมื่อปี 2554 ก็ประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และได้รับการบูรณะปรับปรุงต่อมา ปัจจุบันมัสยิดอยู่เยื้องกับรัฐสภาแห่งใหม่

“การมีอยู่ของมัสยิดเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมงดงามแห่งหนึ่งของไทย ต้นทุนของมัสยิดและอาคารทรงขนมปังขิงที่อยู่ใกล้กัน เป็นต้นทุนชีวิตที่เรายังใช้ประโยชน์ในการเป็นศาสนสถานทำกิจกรรมเชิงศาสนา ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และวิถีของการประกอบสัมมาอาชีพ อยู่ในที่เดียวกัน เมื่อมีแขกมาจะได้รับการต้อนรับด้วยขนมหรุ่ม ข้าวมะเขือเทศ ขนมไส้แกงกะหรี่ ซึ่งเป็นการอุดหนุนสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนไปในตัว”

อดุลย์ โยธาสมุทร

เลขานุการฯ กล่าวว่า มัสยิดบางอ้อยังเป็นต้นแบบของ “กองทุนซะกาต” หรือ กองทุนรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อจัดสรรให้เป็นทานหรือเพื่อสาธารณกุศล เพื่อส่งเสริมให้ชาวมุสลิม มีบทบาทเป็นผู้ให้ โดยเชื่อว่าทุกคนที่เป็นมุสลิมเป็นคนขยัน เมื่อมีทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะพัฒนาให้เป็นประโยชน์ที่สุด

“หากในอนาคตภาครัฐจะมีการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มองว่าน่าจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับน้ำ เนื่องจากมีหลายสถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นสถานที่สำคัญ หากก็มีการออกแบบพื้นที่ริมน้ำให้มีความสวยงาม เป็นประโยชน์ในการให้ความสุข ความสบาย ความสงบ และให้โอกาสในการเข้าถึงก็น่าจะเป็นผลดี นอกจากนี้ในย่านยังมีลำคลองหลายสาย ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่น หลายประเทศมีมีทริปพาล่องเรือชมแม่น้ำ ซึ่งคนที่มาเยี่ยมเยือนแม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถที่จะสัมผัสวิถีดั้งเดิมได้ทั้งฝั่งตะวันออกหรือฝั่งตะวันตก เช่น สวนริมคลองท้องร่อง เขตบางพลัด-บางอ้อ”

ชุมชนริมน้ำ เอกลักษณ์สวนท้องร่อง-ภูมิปัญญาช่างศิลป์

ภูมิ ภูติมหาตมะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าว่า ชุมชนบางอ้อ เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองจนถึงปลายคลอง ในเชิงกายภาพฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ หรือฝั่งธนบุรี บางอ้อจะอยู่บนสุดของฝั่งธนบุรี เพราะถ้าข้ามไปจะเป็นบางกรวย-นนทบุรี ซึ่งหากดูจากแผนที่จะเห็นความถี่ของคลองชัดมาก ว่าในบริเวณนี้มีคลองเยอะมาก ตั้งแต่คลองวัดละมุด คลองเตย คลองบางอ้อ คลองสะพานยาว คลองมอญ คลองเตาอิฐ คลองบางรัก คลองบางพลัด คลองบางพระครู คลองมะนาว คลองสวนพริก คลองบางพลู ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายคลองเหล่านี้คือแม่น้ำ ทำให้ผู้คนที่อยู่ในบริเวณนี้มีวิถี-อาชีพที่ผูกพันกับคลอง โดยดั้งเดิมเป็นชาวสวน มีการจัดการน้ำ-ดิน เกิดภูมิปัญญาสวนท้องร่อง ทำให้ที่นี่เป็นสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์

“ถึงวันนี้ก็ยังมีพื้นที่ที่ยังคงเป็นสวนเกษตรอยู่ แม้อาจจะไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ หรือสร้างผลผลิตที่มากมาย แต่ถ้าอยากจะกินเมี่ยงใบทองหลาง สามารถเดินไปตลาด ซื้อหากับชาวสวนที่เขาใส่กระจาดมาขายได้ ซึ่งเป็นของจากสวนท้องร่องของเขา สวนท้องร่องยังมีอยู่ในตอนในของพื้นที่ ขายราคา 5-10 บาท อาจจะไม่ได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจมากมาย แต่เป็นคุณค่าทางใจ เพราะคนที่ยังทำอยู่เขายังมีความรู้สึกผูกพันกับวิถีดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่เกิด รวมไปถึงบริบทตำรับอาหารของครอบครัวที่ยังมีอยู่”

อาจารย์ภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนวัฒนธรรมในย่าน พื้นเพก็ยังผูกพันกับความเป็นย่าน เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของผู้คน มาอาศัยอยู่ริมคลอง บางคนมีอาชีพทำสวนจริงจัง บางครอบครัวก็เอาดีทางช่างศิลป์ ซึ่งภาพใหญ่ทั้งในย่านของบางอ้อและบางพลัดก็จะมีหลายส่วนที่ร่วมกันอยู่ ตั้งแต่คลองบางอ้อมีภูมิปัญญาเรื่องกระบี่กระบอง คลองมอญมีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นศิลปินอังกะลุงพื้นบ้าน หรือ อังกะลุงแสงทอง ถัดลงมาริมคลองบางพระครูตอนใน จะมีภูมิปัญญาเรื่องว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวสวยงาม ส่วนในโซนบางพลัดมีภูมิปัญญาเรื่องวงปี่พาทย์ กลางยาว หลายกลุ่ม ถัดลงไปริมแม่น้ำวัดเทพากร เป็นแหล่งศิลปินครูช่างที่หลากหลาย ทั้งลิเก โขนชาวบ้าน ละครชาตรี โดยมีการสืบทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่นและมีฝีมือในการทำหัตถศิลป์ หากจะหาซื้อผ้าลายปัก พัสตราภรณ์ต่าง ๆ ต้องมาที่นี่

“บางอ้อ-บางพลัด จึงเป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมที่มีการสั่งสมมาอย่างยาวนาน ทั้งวิถีความเป็นชาวสวน ทั้งวิถีความผูกพันกับศาสนา หล่อหลอมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า การทำความเข้าใจอาจจะต้องใช้เวลา และการที่จะนำต้นทุนเหล่านี้มาเผยแพร่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากจะต้องประยุกต์เพื่อสื่อสารในสังคมร่วมสมัยก็อาจจะต้องคำนึงถึงความเชื่อม จิตวิญญาณ ความผูกพันการให้ค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวบ้านรักษาและดำเนินมา”

ภูมิ ภูติมหาตมะ

อาจารย์ภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างที่เราทำอยู่ สร้างเครือข่ายด้วยกิจกรรม รวมพลังพื้นที่ ใครสนใจด้านไหน มีความรู้ด้านไหน มาเติมเต็ม คิดสร้างกิจกรรมด้วยกัน ช่วยทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่กำลังจะหมดไป แม้ก็ไม่อาจจะฝืนที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จะทำอย่างไรให้มันเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ในย่านสวน หลายคนก็มีไอเดียว่าจะทำเรื่อง co-farming space รักษาพื้นที่สวนท้องร่องโบราณ แต่ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงนันทนาการพร้อม ๆ กับการรักษาพื้นที่เท่าที่จะทำได้

โดยยกตัวอย่าง สวนป้าผินดอกไม้กินได้ มีคนรุ่นใหม่ในตระกูลเก่าแก่ มีที่อยู่ราว ๆ 10 กว่าไร่ ก็มีการปรับพื้นที่จากสวนท้องร่องเป็นสวนดอกไม้กินได้ เป็นความพยายามที่จะรักษาพื้นที่และปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ความท้าทายของบางพลัด-บางอ้อ ในปัจจุบันเราพบว่า มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรไปจำนวนมาก บางส่วนอาจจะซื้อแล้วยังไม่ได้ทำอะไร ปล่อยทิ้งร้างยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็มี บางพื้นที่ชาวสวนอาจจะยังขอเข้าไปปลูกพืชอยู่ แต่ไม่นานหากมีโพรเจกต์เข้ามา การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ก็จะเปลี่ยนไป สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ ข้อมูลท้องถิ่น ให้มากที่สุด เพราะยังมีหลายพื้นที่ ที่กำลังจะเปลี่ยนไป หลายพื้นที่ หลายชุมชนที่เปลี่ยนไปแล้ว ผมก็เสียดายที่เก็บข้อมูลไม่ทัน เพราะวันนี้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นรถไฟฟ้าหรือคอนโดไปแล้ว”

การทำงานในย่านเก่าของกรุงเทพฯ อย่าง ม.ศิลปากร ทำให้ อาจารย์ภูมิ รู้สึกว่า ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านวัฒนธรรมน้อยมากโดยเฉพาะในพื้นที่ อาจจะต้องหาวิธีเชื่อมโยงการทำงานว่าสามารถจะทำอย่างไรก็ได้ ถ้าภาคเอกชนจะมีสภาวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ก็ยังไม่มีส่วนที่เป็นสำนักงานทำงานเชิงวัฒนธรรมโดยตรง แต่ต้องฝากไว้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ทำให้การทำงานไม่เต็มที่เท่าที่ควร เช่น สำนักวัฒนธรรมของกรุงเทพมาหนคร อาจจะส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานยังสำนักเขต แต่ไม่ใช่ในทุกเขต

“คิดว่าภาครัฐน่าจะเป็นเซ็นเตอร์ในเรื่องนี้ได้ ทราบว่ามีนโยบายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีที่บางพลัดด้วย ถือว่าเป็นที่ใหม่ ภาคประชาชนเองก็มีอาสาสมัครที่ทำงานแข็งขัน… และอยากจะให้มีส่วนหรือหน่วยงานที่ทำงานเชิงวัฒนธรรมโดยตรงมาให้ทั้งองค์ความรู้ สนับสนุนการทำงานชุมชน ของกรุงเทพฯ ส่วนกลางมีสำนักวัฒนธรรม แต่ส่วนท้องถิ่นไม่มีฝ่ายนี้”

อนาคต ‘บางอ้อ’ ชุมชนชาวสวนและการท่องเที่ยวยั่งยืน

ประมาณ มุขตารี ตัวแทนชุมชนบางอ้อ กล่าวว่า การต่อสู้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คนบางอ้อ ชุมชนบางอ้อ ตั้งกลุ่มขึ้นมาเป็นชุมชนรักเจ้าพระยา เราอนุรักษ์และหวงแหนวิถีชีวิตริมน้ำ วันนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว จากการที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว สำหรับอนาคตของเรา เราต้องการให้ชุมชนดำเนินกิจการเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนริมแม่น้ำ ต้องการทำให้บางอ้อ-บางพลัดเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเรามีเอกลักษ์ในเรื่องของอาหารชัดเจน เป็น DNA ของกลุ่ม ซึ่งจะนำเสนอแนวคิดนี้สู่สาธารณะ อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเจ้าพระยา และเกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นมาของชุมชน เป็นรากเหง้าที่ทำให้เกิดปัจจุบัน และรากฐานของอนาคต

“เรามีต้นทุนอยู่แล้ว มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีงานวิจัย 14 ชุมชน ของบางอ้อ วันนี้เราจะนำเป็นจุดขาย และเป็นการเดินท่องเที่ยวในชุมชน อยากให้ทุกคนได้เห็นวิถีวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เป็นของจริงที่ไม่ได้แค่จำลองมาโชว์ให้ชม ดังนั้นการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์แม่น้ำไม่ใช่การหวงแหนไม่ให้ใครมาทำอะไร แต่เราพยายามที่จะหยิบยกคุณค่า ซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมมาแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ ในการจัดกิจกรรมชุมชนก็พยายามเชิญชวนคนจากชุมชนต่าง ๆ มาสร้างความร่วมมือร่วมกัน”

โดยยกตัวอย่างว่าหากกรุงเทพมหานคร​เห็นแบบนี้ น่าจะส่งเสริมเพื่อเป็นโอกาสในการส่งเสริมของดีของไทยด้วย เพื่อให้เป็นรายได้ของชุมชน และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ในฐานะของรัฐ แทนที่จะทำนโยบายโครงสร้างใหญ่ ๆ อย่างทางเลียบเจ้าพระยาบนแม่น้ำ ซึ่งผิดวิถี แต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนแบบนี้ มีต้นทุนอยู่แล้ว ก็ควรที่จะส่งเสริมสร้างโอกาสให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมวิถีชุมชนยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้เรียกร้องด้วยความรุนแรง เราเรียกร้องเพื่อหลอมรวมโอกาสให้กับกรุงเทพมหานคร และโอกาสให้กับประเทศไทย

ประมาณ มุขตารี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้