อีกหนึ่งบทสนทนา ในสัปดาห์ก่อนครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ การหยิบยกเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย มาสนทนาผ่านสายตาของคน 3 รุ่น
ญานิศา วรารักษพงศ์
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
และ สุรชาติ บำรุงสุข
คือ คน 3 รุ่น จากรั้วสิงห์ดำ ในเวทีเสวนา “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย”
คนรุ่นใหม่ คนรุ่นปัจจุบัน คนรุ่นอนาคต
เริ่มต้นด้วย ญานิศา วรารักษพงศ์ นิสิตจากคณะรัฐศาสตร์ บอกว่า ตอนที่เกิดรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้น ตนอายุเพียง 5 ขวบ ยังไม่รู้เรื่องอะไร มาถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ก็ยังไม่รู้เรื่อง รู้แค่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เมื่อเข้าศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีค้นหาข้อมูลข่าวสาร ทำให้ได้เปิดมุมมองที่หาดูไม่ได้จากบ้าน จากสื่อโทรทัศน์ หรือ จากหลักสูตรในโรงเรียน ซึ่งหลักสูตรก็ผ่านการเซ็นเซอร์จนมองไม่เห็นปัญหา
“หลักสูตรที่เรียน พูดถึงการเมืองร่วมสมัยน้อยมาก พูดแค่ประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี ได้เรียนการเมืองร่วมสมัยช่วง ม.ปลาย แต่ก็รู้แค่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ไม่ได้รู้พื้นฐานความคิด ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจากอะไร และส่งผลอย่างไร ไม่ได้มีโอกาสถกเถียง ไม่มีโอกาสวิเคราะห์”
เธอมองว่า สิ่งนี้ทำให้นักเรียนในระบบการศึกษาไม่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ไม่รู้ความหมาย และไม่รู้ถึงความร้ายแรงของการรัฐประหารหรือการละเมิดสิทธิ ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่รู้ว่ามีคนถูกจับ โดนข้อหาที่ไม่ชอบธรรม เมื่อไม่รู้ จึงมองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เห็นความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่มันส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง ทั้งระดับครอบครัว โรงเรียน ประเทศชาติ
“ในสายตาของเรา มองว่า รัฐประหารเป็นเหมือนอาการของโรคร้ายแรงเรื้อรังที่มีมานาน มันเกิดจนเราชินชา จนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ไม่รู้ว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นเกิดขึ้น”
จนถึงจุดหนึ่งจากการเข้าถึงข้อมูลโซเชียลมีเดีย ทำให้ ญานิศา ได้ฟังเสียงจากด้านนอก และได้คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ปกติ เป็นอาการของสิ่งที่รุนแรงกว่า และจากการพูดคุยกันกับเพื่อน ๆ ทำให้ได้ เคาะกะลา ซึ่งก็มาจากการสรรหาข้อมูลกันเอง ไม่ใช่จากการศึกษา แต่ได้มาจากการอ่านหนังสือนอกบทเรียน
และจากอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ระบบอุปถัมภ์ มีเพื่อนที่ใช้เส้นสายเข้าโรงเรียน เห็นเพื่อนถูกอำนาจนิยมในโรงเรียน ถูกกดทับ ทำให้เอะใจและหันมามอง และคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ค่อย ๆ กระตุ้น และทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในปัจจุบันของนักเรียน แต่ ญานิศา คิดว่าต้องค่อย ๆ พยายามรักษาอาการ ย้อนไปให้ถึงจุดต้นกำเนิดของ โรคการไม่เป็นประชาธิปไตย โรคคนที่ไม่เท่ากัน
“ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อแค่เปลี่ยนผู้เล่นในเกมส์ แต่เราต้องการเปลี่ยนเกมส์ เพราะถ้ารักษาแต่อาการไปเรื่อย ๆ โรคก็ไม่หาย ต้องรักษาที่ต้นตอ”
เธอยังเห็นอีกว่า 3 ข้อเรียกร้องของ กลุ่มประชาชนปลดแอก คือ การพยายามหาวิธีเพื่อเปลี่ยนเกมส์ เพื่อรักษาที่ตัวโรค ไม่ใช่แค่อาการ ซึ่งในการเรียกร้องนั้นยังเห็นความพยายามสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และชนชั้น
คนรุ่นกลาง ของการเมืองร่วมสมัย
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปกครอง บอกว่า บทเรียนจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 มีหลายประเด็น เรื่องแรก คือ การคาดคิดว่าเหตุการณ์แบบ 19 ก.ย. ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะตอนนั้นไทยห่างจากการรัฐประหารมานาน 10 กว่าปี ครั้งสุดท้ายที่เกิดก็คือปี 2534 หลังจากนั้นก็ไม่มีรัฐประหารอีก กระทั่งประเทศไทยถูกยกเป็นประเทศตัวอย่างของการมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น แต่สุดท้ายก็มาสะดุดอีกเมื่อ 19 ก.ย. 2549
“แต่การรัฐประหารครั้งนั้นจะบอกว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุก็ไม่ใช่ เพราะวันนี้ประเทศไทยก็สั่นคลอนมาตั้งแต่ครั้งนั้น เกิดปัญหาการเมืองที่ร้าวลึก จึงไม่ค่อยเชื่อคำอธิบายที่บอกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งตอนปี 2549 มันมีความต่อเนื่องกันอยู่แล้ว”
เขายังมองว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2549 เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจดี ซึ่งต่างจากก่อนหน้านั้นที่การรัฐประหารมักจะเกิดในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่การต้านโกงก็เป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะสภาวะจากระบอบทักษิณได้สร้างผลอย่างกว้างขวาง และก่อกำเนิดวาทกรรมการเมืองคนดี ขณะที่การรัฐประหารปี 2534 ไม่มีวาทกรรมนี้
เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ยังมีลักษณะการออกบัตรเชิญ เกิดการแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองระหว่างมวลชนขนาดใหญ่กับมวลชนที่มาจากเลือกตั้ง แต่เสียงจากการเลือกตั้งก็ใช้ไม่ได้ เพราะจำนวนเสียงไม่สำคัญเท่าคุณภาพ รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เลยเป็นแม่แบบการรัฐประหารปี 2557 ที่ก็มีการขับเคลื่อนมวลชนและมีบัตรเชิญ
ในช่วงปี 2549 ยังมีประเด็นความเป็นทหารอาชีพ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม นักวิชาการไทยเชื่อว่า ทหารอาชีพไม่ทำรัฐประหาร ไม่แทรกแซงการเมือง การป้องกันไม่ให้แทรกแซงจึงต้องจัดความสัมพันธ์ให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร ก็เลยพยายามออกแบบให้ทหารอยู่ภายใต้พลเรือน
“แต่จริง ๆ แล้วเห็นว่า สำหรับประเทศไทย ทหารอาชีพ คือ ทหารที่ชำนาญในการทำรัฐประหารเป็นอาชีพ สังเกตได้ว่า ก่อนรัฐประหารทหารมักจะบอกว่าเขาไม่ทำรัฐประหารเพราะเขาเป็นทหารอาชีพ แต่หลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหาร แล้วทหารก็จะอ้างว่ามีความชอบธรรมที่ต้องทำเพราะเขาเป็นผู้ปกป้อง”
ครั้งนั้นยังมีปัญญาชนฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารออกมาอธิบายและสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารอย่างเป็นล่ำสัน อธิบายว่าทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกฉีกเพราะรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปก่อนแล้วตั้งแต่ทักษิณขึ้นมามีอำนาจ
ขณะที่ในหมู่ปัญญาชนไม่เอารัฐประหารก็มีคำถามใหญ่ ก็เกิดการขยับเพดานการศึกษาเรื่องการรัฐประหารอย่างเป็นระบบขึ้น ทำให้เข้าใจว่า เหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารเริ่มตั้งแต่ปี 2490 ไม่ใช่ยุคจอมพล สฤษดิ์ ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะเข้าใจว่า การรัฐประหารคือการยึดอำนาจสำเร็จ โดยมีจอมพล สฤษดิ์ เป็นสัญลักษณ์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ทำให้เริ่มเห็นบทบาทสถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารอย่างชัดเจน งานวิชาการขณะนั้นได้ย้อนกลับไปดูการรัฐประหารปี 2490 พบว่าไม่ได้เบ็ดเสร็จด้วยทหารอย่างเดียว แต่มีคำพิพากษารับรองด้วยว่าแม้การรัฐประหารจะผิดกฎหมาย แต่เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ คำสั่งของ คณะรัฐประหารก็เป็นผลสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังเห็นรูปแบบการอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหาร ที่จากเดิมจะอาศัยแค่การร่างรัฐธรรมนูญ แต่วิธีใหม่ที่ได้เห็น คือการแต่งตั้งกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้ามาแชร์อำนาจกับคณะรัฐประหาร มีกำหนด “แม่น้ำ 5 สาย” ใช้งบประมาณรัฐจ่ายให้กับคนเหล่านี้
คนรุ่นบุกเบิก
ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองไทย กล่าวว่า ถ้าวางเหตุการณ์รัฐประหารตามช่วงเวลาเทียบกับสถานการณ์โลก การรัฐประหารครั้งแรกของไทยเมื่อปี 2490 ถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกของยุคสงครามเย็น การรัฐประหารครั้งต่อมาปี 2534 ก็เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น ส่วนการรัฐประหารปี 2549 ก็เป็นครั้งแรกของการเมืองไทยในศตวรรษที่ 21
และถ้าดูความเชื่อมโยงเหตุการณ์กับช่วงเวลาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548, เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 และเกิดรัฐประหาร, ปี 2556 เกิดกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และก็เกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557
การรัฐประหารไทยเมื่อปี 2549 คือ การสู้กันของ 2 พลังอำนาจในการเมืองไทย ระหว่างพลังเก่ากับพลังใหม่ หรือ พลังเสรีนิยมกับพลังอนุรักษ์นิยม และยังเปิดโจทย์การเมืองอีกแบบที่ไม่เหมือนเดิม เพราะถ้าถอยกลับไปก่อนปี 2549 จะคุยกันว่ารุ่นไหนคุมกำลัง แต่ปี 2549 ไม่ใช่เงื่อนไขแบบนั้น
ครั้งนั้นเมื่อทหารไทยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม โลกเปลี่ยนไปมากกว่าที่พวกเขาคิด ไม่มีปัญหาคอมมิวนิสต์ที่เป็นภัยคุกคาม จึงต้องอาศัยปัญญาชนมาช่วย และยังเริ่มเห็นกลุ่มปีกขวาไทยเริ่มใช้เครื่องมือระบบสื่อสารสมัยใหม่ เช่น ข้อความตัววิ่งในข่าวทีวีช่องหนึ่ง
“ถ้าใช้เส้นแบ่งการเมืองร่วมสมัย การรัฐประหารปี 2549 คือ จุดเปลี่ยนใหญ่ชุดหนึ่งของการเมืองไทย เป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะของสังคมการเมือง เพราะทิ้งมรดกปัญหาใหญ่เอาไว้ และยังเป็นผลสืบเนื่องชุดใหญ่ในปัจจุบัน”
เขายังบอกอีกว่า การรัฐประหารครั้งนั้น เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของกลุ่มอนุรักษ์หรือพลังเก่า เพราะถ้าย้อนไปปี 2540 ไม่มีใครคิดว่าระบบ 2 พรรคจะเกิดขึ้นเร็ว ยังคิดว่าเป็นระบบพรรคเบี้ยหัวแตก แต่กลับเกิดพรรคไทยรักไทยที่มาพร้อมกับนโยบายใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ และเป็นครั้งแรกที่เห็นพรรคการเมืองชนะกันด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
การรัฐประหาร 2549 ด้านหนึ่งจึงเป็นชัยชนะของปีกอนุรักษ์นิยม แต่ในชัยชนะสะท้อนความพ่ายแพ้ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่สามารถกุมเกมส์การเมืองในระบอบรัฐสภาได้
นอกจากนี้ การรัฐประหารทั้งที่เกิดในปี 2549 และปี 2557 จำเป็นต้องอาศัยการปูทาง ต้องการคนทำถนนเพื่อให้รถถังวิ่งไปสภา ต่างกับในอดีตที่ทหารจะยึดเลย แต่ปี 2549 และปี 2557 จะเห็นพลังที่เคลื่อนไหวที่ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นพลังในสังคม
“สิ่งที่เห็นจากปี 2549-2557 เป็นการรวมอำนาจในด้านตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบอำนาจนิยม ซึ่งต่างจากยุคเก่าที่การรวมอำนาจในระบบเดิมใช้กองทัพเป็นศูนย์กลาง”
สถานะของปีกขวาไทยหรืออนุรักษ์นิยมมีลักษณะจารีตนิยมมากขึ้นและสุดโต่งมากขึ้น เริ่มเห็นการสร้างบ้านของกลุ่มอนุรักษ์นิยม คือ มี 4 เสา คือ อนุรักษ์นิยม จารีตนิยม เสนานิยม และทุนนิยม, 3 จั่ว คือ อุดมการณ์ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ และ 2 คาน คือ เสนาธิปไตย – ตุลาการธิปไตย
วาทกรรมที่ถูกสร้างหลังการรัฐประหาร 2549 อย่างคำว่า ตุลาการภิวัฒน์ แต่ความหมายที่อธิบายไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงที่ควรเป็นขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับเป็นการเข้ามามีบทบาทของสถาบันตุลาการ ทำให้มีทั้งเสนาธิการและตุลาการ กลายเป็นคำที่รับกับปีกขวาของชนชั้นกลาง
“มีคำถามว่าขบวนการนักษาศึกษาไทยหายไปไหน ทั้งที่ในอดีตเคยเป็นขบวนใหญ่ แต่วันนี้ที่เกิดขึ้นเริ่มเห็นม็อบขาสั้นคอซอง เป็นม็อบของเยาวชน และม็อบขายาวกระโปรงบาน ของนักศึกษา แปลว่าเรากำลังเห็นม็อบนักเรียนนักศึกษา ฟื้นตัวกลับมา”
ศ.สุรชาติ มองว่า การกำเนิดของม็อบเหล่านี้กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมือง ซึ่งที่ผ่านมาการเมืองไทยก็ถูกกระทบจากเงื่อนไขระหว่างประเทศ และการเมืองภายใน ม็อบเหล่านี้เกิดในช่วงที่การเมืองกำลังถูกท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นข้ออ้างให้รัฐบาล ทั้งที่มีคนตกงาน เศรษฐกิจไทยแย่ลง และอาจจะแย่ขึ้นถ้าเกิดระบาดรอบสอง แปลว่าการเมืองแบบนี้ซ้อนกับความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่
5 โจทย์ 2 ข้อเสนอ ก้าวผ่านวงจรวิกฤตการเมือง
เพื่อจะให้สังคมไทยก้าวผ่านเหตุการณ์ในปัจจุบันไปให้ได้ ศ.สุรชาติ เห็นว่ามีคำถาม 5 ข้อ 2 ข้อเสนอ ที่คนไทยต้องช่วยกันหาคำตอบและทำให้เกิดขึ้นจริง โดย คำถาม 5 ข้อ คือ
- ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่เกิดความรุนแรง
- ถ้าการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญและกติกาการเมืองใหม่อย่างไร เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ออกแบบเพื่อประชาชน การกำหนดกติกาทิศทางการเมืองใหม่จึงสำคัญมาก
- ทำอย่างไรที่จะร่วมออกแบบสถาบันการเมืองใหม่มารองรับ เพราะไม่สามารถใช้สถาบันการเมืองเก่ามารับได้
- จะล้างอิทธิพลเผด็จการในการเมืองไทยได้อย่างไร
- ทำอย่างไรให้กลไกการเมืองในอนาคต ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน ในเงื่อนไขปัจจุบัน
ส่วน 2 ข้อเสนอ คือ 1. ต้องตัดสินใจร่วมกัน ทั้งฝ่ายขวาและซ้าย เพื่อให้เห็นอนาคตร่วมกัน และ 2. ต้องปฏิรูปทหาร ตำรวจ สถาบันยุติธรรม และองค์กรอิสระ ข้อเรียกร้องแนวร่วมปลดแอกถือเป็นบานประตูแรกที่จะเปิดไปสู่ข้อเสนอนี้ ต้องคิดอนาคตสังคมไทยที่เราจะอยู่ด้วยกัน และเป็นการเมืองที่ดีกว่า
ดูเพิ่ม
ชมการเสวนา ‘รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย’