‘ตีตรา’ เพียงครั้ง อาจตราตรึง…ชั่วชีวิต

อ้วน
โง่
เด็กเนิร์ด
ลูกคนกลาง
ลูกสาวคนจีน
ตอนเด็กก็เรียนเก่ง โตมาทำไมเป็นได้แค่นี้ ?

และอีกสารพัดคำง่าย ๆ ที่เราใช้แปะป้ายลงไปในตัวผู้อื่น…แต่หารู้ไม่ นี่คือการฝากบาดแผลร้าวลึกในจิตใจ ที่บางครั้งอาจไม่เคยเลือนหาย และทำลายมนุษย์คนหนึ่งไปทั้งชีวิต


The Active ขอพาสำรวจ อคติ และการ ตีตรา ผ่านประสบการณ์จริงของผู้คนทั้งในฐานะ ผู้ถูกตีตราจากสังคม หรือในบางครั้งเป็นผู้ตีตราคนอื่นเสียเอง ผ่านนิทรรศการศิลปะ See the Unseen : เห็นกาย สัมผัสใจ เพื่อให้มองเห็นอคติในใจทั้งของเราเอง และของผู้อื่นได้อย่างแจ่มชัดกว่าที่เคย

การตีตรา : บาดแผลในหัวใจ ที่ไม่เคยมีใครมองเห็น

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบความคุ้นเคย เรามักชอบอยู่กับคนที่เหมือนกับเรา หรืออยู่ในสถานที่ที่คุ้นชิน เพราะมันย่อมทำให้รู้สึกปลอดภัยและคาดเดาได้ และบ่อยครั้งที่พบเห็นคนที่แตกต่าง อาจนำมาซึ่งความรู้สึกแปลกใจ บ่อยครั้งทำให้เกิดความสงสัย บางคราวเกิดความหวาดกลัว หรือบางครั้งรุนแรงไปจนถึงขั้นรังเกียจ


การเผลอใจตัดสินผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจนี้ อาจนำไปสู่การแสดงออกทางสายตา คำพูด ท่าทาง หรือการเลือกปฏิบัติ และการสร้างความรู้สึกแปลกแยกเป็น เป็นอื่น และนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า การตีตรา

การตีตรา (stigma) คือ พฤติกรรมและความคิดที่ดูเหมือนเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เกิดได้ทุกเมื่อและทุกเวลา อาจเพียงแค่ชั่วขณะที่ตาเห็น หรือเพียงแว่วแค่หูได้ยิน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. Self Stigma การตีตราตัวเอง
  2. Personal Stigma การตีตราจากบุคคลใกล้ชิด
  3. Public Stigma การตีตราจากสังคม 

ทั้งหมดนี้กลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่กั้นขวางไม่ให้คนก้าวออกไปจัดการกับปัญหา หรือกล้าส่งเสียงขอความช่วยเหลือ จนกระทั่งทวีความรุนแรง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาจิตเวชระดับชาติ


ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2566 พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช ถึง 4.4 ล้านคน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักมาจาก การตีตรา และ การเลือกปฏิบัติ (discrimination) และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือการที่เราเองก็เผลอใช้การตีตรา ลดทอนคุณค่าของตัวเองเช่นกัน


บี – ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการบริหาร mutual เล่าว่าที่ผ่านมา ปัญหาสุขภาพจิตในบ้านเรารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่เรากลับเริ่มพูดถึง และมองเห็นมันเมื่อปัญหาเดินมาสู่ปลายทางแล้ว เช่น โรคซีมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล และแพนิค แต่กลับแทบไม่เคยมองย้อนไปสู่ต้นทางที่นำมาสู่สิ่งเหล่านี้ และคงต้องมีอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตที่เราถูกตีตรา และอาจพลั้งเผลอไปเป็นผู้ตีตราคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ

บี – ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการบริหาร mutual

“หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต คือ การบุลลี่ ตีตรา หรือตัดสินคนอื่น เราคิดว่าการป้องกันสำคัญพอ ๆ กับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การตีตราคนรอบข้างไม่มีอะไรดีเลย เราอยากให้คนรู้ว่าสิ่งนี้มันส่งผลต่อตัวเองและคนอื่นยังไงบ้าง”

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

บรรณาธิการบริหาร mutual ยังบอกอีกว่า การตีตราที่ร้ายแรงที่สุดกลับไม่ใช่สิ่งที่เราทำกับผู้อื่น แต่คือ การที่เราตีตราตัวเองโดยไม่รู้ตัว

“เวลามีคนมาตีตราว่าเราเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เรายังบอกได้ว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราตีตราตัวเอง นี่คือการฝังรากลึกความเชื่อลงไปในใจ การแก้ไขเป็นเรื่องยาก หากยังแก้ไม่ได้ก็ขอให้ขุดมันออกมาแล้วคุยกับตัวเองก่อนแล้วให้เวลาในการทำงานกับมัน”

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

สอดคล้องกับ เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย จาก Eyedropper Fill ในฐานะทีมศิลปินผู้ออกแบบนิทรรศการ ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า ตีตรา ตนเองไม่ต่างจากคนทั่วไปที่รู้สึกว่าอาจ relate กับคำนี้ได้ยาก นั่นเพราะในบ้านเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า อคติ หรือ bias  มากกว่า


แต่เมื่อได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาก็พบว่า ถ้อยคำที่ใช้ในการตีตรานั้นมีพลังมหาศาล และสามารถทำงานไปถึงระดับการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้

เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย Eyedropper Fill ศิลปินผู้ออกแบบนิทรรศการ

“ตอนเก็บข้อมูล สิ่งหนึ่งที่เราพบจาก audience คือ บางทีเขาไม่ได้ตั้งใจทำร้าย หรือลดทอนความเป็นคนของคนอื่น แต่เพราะเขาไม่เข้าใจว่าสภาวะที่คนอื่นกำลังเป็นอยู่มันคืออะไรต่างหาก”

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

เบสท์ ยังอธิบายว่า สภาวะบางอย่างของมนุษย์จับต้องได้ยาก อธิบายออกไปอย่างไรคนก็ไม่เข้าใจ การออกแบบงานจึงมาจากวิธีคิดว่าต้องทำให้การตีตราและอคติกลายเป็นภาพที่จับต้องได้กลายเป็นภาพปรากฏ

“แผลในใจของเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น เราเลยคิดว่าจะทำอะไรกับพวกเขาก็ได้ เราอยากทำออกมาให้เห็นว่าคำเพียงไม่กี่คำจะทำให้คนเป็นแผลใจได้มากมายขนาดนี้เชียวหรือ”

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

See the Unseen : เห็นกาย สัมผัสใจ

นิทรรศการศิลปะแบบ Experimental Design ที่ถูกออกแบบโดย Eyedropper Fill ทีมออกแบบประสบการณ์ที่ขอนำการ ตีตรา สิ่งที่มองเห็นยากที่สุด และสร้างบาดแผลในใจที่ซ่อนอยู่ลึกที่สุด แสดงออกมาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา โดยสร้างพื้นที่แห่งประสบการณ์ 3 ห้อง

ห้องที่ 1 : คำฝังใจ

ห้องนี้จะเป็นพื้นที่แรกที่ให้คนเข้ามา Tune in ร่วมกัน โดยมีประสบการณ์แบบ interactive เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การถูกตีตราของตนเอง อะไรคือคำฝังใจ และหากคำเหล่านั้นจะปรากฎบนเงาร่างของเราจะรู้สึกเช่นไร ?

“เราให้คนลองเลือกคำที่ตีตราแล้วพิมพ์ลงไปในคอมพ์ เช่น คำว่า โง่ จากนั้นคำนี้มันจะไปปรากฎในตัวเขาเอง นี่เป็นการทำงานกับความรู้สึกมาก ๆ ว่าหากตัวเราถูกแปะป้ายด้วยคำว่าโง่แล้วถูกแสดงออกมาเป็นภาพ มันจะรู้สึกอย่างไร”

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

“มันจะชวนให้คนนึกถึงว่ามีคำไหนในชีวิตบ้างที่เขาเคยเจอมา ทั้งโดยคนอื่นทำกับตัวเอง และตัวเองทำกับคนอื่น เพราะบางทีอาจเป็นคำเดียวกัน เช่น คำว่า ขี้เกียจ เด็กบางคนรับมาจากพ่อแม่ทั้งชีวต และติดตัวเขาไปจนวันตาย ซ้ำร้าย เขาอาจนำคำนี้ไปใช้ต่อกับคนอื่นซ้ำ ๆ”

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

ห้องที่ 2 : 60 ประสบการณ์ฝังจำ

ผืนผ้าใบขนาดใหญ่ พร้อมภาพร่างขนาดเท่ามนุษย์จริง ถูกขึงไว้บนเพดาน การตีตราและอคติที่กดทับไว้ในเนื้อตัวแต่ละคนทอดตัวทิ้งลงเบื้องล่างพร้อมเผยให้เห็นถึงคำธรรมดาสามัญ แต่กลับกรีดเป็นแผลร้าวลึกลงในจิตใจผู้ที่เผชิญ


ทั้งหมดนี้คือผลงานศิลปะ 60 ชิ้น ที่ได้มากจากผู้เข้าร่วม Expreesive Art Workshop จาก 60 เรื่องราว สะท้อนความรู้สึกภายในออกมาเป็นภาพผ่านกระบวนการศิลปะบำบัด และแสดงออกมาเป็นงานศิลปะ ที่ทำให้บาดแผลเหล่านั้นถูกเห็นด้วยตา จับต้องได้จริง

เบสท์ อธิบายเสริมว่า เขาเห็นพลังของศาสตร์ศิลปะบำบัด จึงนำเทคนิค body tracing เข้ามาใช้ โดยให้คนจริง ๆ ลงไปนอนบนผืนผ้า ชิ้นงานที่ได้จึงมีขนาดเท่ามนุษย์จริง ๆ 

“กระจกธรรมดาอาจเห็นแค่ร่างกายภายนอกของเรา แต่งานศิลปะนี้คือ reflection ที่จะสะท้อนไปให้เห็นลึกถึงภายใน มีประสบการณ์แบบไหนบ้างที่ยังคงติดตรึงอยู่กับตัวเรา คำตีตราหลายอย่างที่เรารับเข้ามา เรายอมให้มันอาศัยอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเรา โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น คำว่า อ้วน แม้จะเกิดในวัยเด็ก แต่อาจทำให้ใครบางคนรู้สึกไม่โอเคกับร่างกายตัวเองจนถึงตอนนี้ หรือแม้กระทั่งคำว่า ลูกสาวคนจีน บางคนถูกกดทับด้วยคำนี้ทั้งชีวิต มันเข้ามาอยู่ในตัวเขาทั้งร่างกาย มันทำให้เขาติดอยู่กับที่ ไปไหนต่อไม่ได้ และสูญเสียความมั่นใจ”

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

ในห้องแห่งนี้ หากลองเดินสำรวจดู จะพบว่า ทั้ง 60 คน ผ่านการถูกตีตราไม่ซ้ำกันเลย และบางคำ เราเองก็อาจเผลอเคยใช้กับใครไปบ้างไม่มากก็น้อย เพราะนึกไม่ถึงว่าคำเหล่านี้จะเป็น ประสบการณ์ฝังใจ

เราเจอคำว่า ไม่แต่งงาน เป็นเด็กเนิร์ด หรือแม้กระทั่งคำว่าลูกคนกลาง ไม่น่าเชื่อว่าคำธรรมดา ๆ เหล่านี้ แต่กลับเป็นการตีตราที่เราทำต่อคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เราอยากให้คนที่มาเห็นรู้ว่า ไม่ใช่เขาคนเดียวที่กำลังเจอเรื่องแบบนี้ และกำลังสะท้อนคุณค่าและวัฒนธรรมแบบไหนในสังคมบ้านเรา”

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

ห้องที่ 3 : เห็นกาย สัมผัส 3 ใจ

หนังสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คน 3 ชีวิต ที่เคยผ่านการถูกตีตรา จนนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต ที่ถ่ายทอดผ่านกระบวนการศิลปะบำบัดที่ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงกับร่างกาย 


เบสท์ เล่าว่า สารคดีนี้คือเรื่องราวของเด็กเนิร์ดที่เคยถูกตีตราจากสังคมจนกลายเป็นซึมเศร้า LGBTQ+ ที่ถูกสังคมกีดกันว่าเขาไม่เข้าพวก และผู้มีปัญหาสมาธิสั้น

“นี่คือเรื่องราวของผู้คนที่เคยถูกตีตรา 3 ชีวิต ที่เล่าว่าตั้งแต่เกิดมา พวกเขาเคยถูกตีตราแบบไหน แล้วคำเหล่านี้ประทับเข้าไปในร่างกายเขาอย่างไร สารคดีนี้จะทำให้เราเห็นรอยแผลแห่งการถูกตีตราที่มองด้วยตาไม่เห็น ว่าแท้จริงแล้วมันมีขนาดใหญ่เพียงใด”

เบสท์ บอกเราว่า อยากให้ผู้คนได้ลองฟังเรื่องราวของพวกเขา หากเพื่อใครสักคนที่เจอปัญหาคล้ายกันจะได้รับรู้ว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวเกินไป

แด่ผู้ถูกตีตรา…อย่าปล่อยให้เสียงของคนอื่นมากำหนดคุณค่าในตัวเรา

แน่นอนว่า ในสังคมเรามีชุดคุณค่าหลักที่คอยกำกับ เช่น การประสบความสำเร็จ มีเงินทอง หรือการมีเรือนร่างตามแบบ beauty standard จนกลายเป็นความปกติของสังคม หากใครไม่ตรงตามนี้ย่อมถูกตีตรา


และไม่ว่า นิทรรศการ See the Unseen : เห็นกาย สัมผัสใจ นี้ จะทำงานกับผู้เข้าชมแบบไหน แต่อย่างน้อยการได้มองเห็นอคติ หรือการตีตรา ที่เรามีในตัวเอง ไม่ว่าจะมาจากการได้รับมาจากผู้อื่น หรือเราเป็นผู้ฝากไว้ในร่างกายคนอื่นเสียเอง หรือแม้กระทั่งการตีตราที่เรามีต่อตัวเองที่นับเป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด


ศิลปินผู้ออกแบบนิทรรศการเน้นย้ำ กับเราถึงเป้าประสงค์ ไม่ว่าผู้เข้าชมนิทรรศการนี้พบเจอกับชุดประสบการณ์แบบไหน แต่อย่างน้อย นิทรรศการนี้จะทำให้เรานำสิ่งเหล่านั้นมาวางให้ชัดตรงหน้า และค่อย ๆ ทำงานกับมันอย่างละเอียดอ่อนพิถีพิถัน และช่วยให้รับรู้ว่าเราเองไม่ได้โดดเดียวเกินไป

“บางครั้ง เราถูกเสียงของสังคมกรอกหูมาแต่เด็ก บางทีอาจเป็นเสียงที่พ่อแม่บอกเรา และเรารับคำพูดเหล่านั้นมาเป็นเสียงของตัวเอง จนตีตราตัวเองในที่สุด เราอยากให้คนแยกให้ออกว่าเสียงของตัวเองจริง ๆ คืออะไร เสียงนี้เป็นความคาดหวังจากสังคม หรือเสียงของใคกันแน่” 

“อย่างน้อย ถ้าเขาแยกแยะได้ ว่านั่นคือสิ่งที่สังคมตีตราเขา แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ  มันอาจทำให้เขาหลุดจากปมหรือข้อจำกัดบางอย่าง ใช้ชีวิตได้ง่าย แล้วไปได้ไกลกว่าเดิม”

“ในงานนี้ คุณจะได้เห็นบาดแผลที่เป็นร่องรอยจากการตีตราของคนอื่น คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับคุณ เขาอาจเป็นแค่คนที่คุณเดินผ่านหน้าเขาไปในชีวิตประจำวัน แต่คุณไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร แต่ทุกคนล้วนมีบาดแผล และอย่างน้อย มันทำให้คุณรู้ว่า ไม่ใช่คุณคนเดียวที่โดดเดี่ยวและต้องเผชิญเรื่องเลวร้ายเพียงลำพัง”

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

เพราะใต้ภูเขาน้ำแข็งของการตีตรา คือ ค่านิยมและวัฒนธรรม หากเราไปสำรวจในประเทศอื่น หรือในยุคสมัยอื่นย่อมมีชุดการตีตราที่แตกต่างออกไป แต่อย่างน้อย สิ่งที่สังคมควรตระหนักตั้งแต่วันนี้ คือ การรู้เท่าทันอคติและการตีตราของตนเอง มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อคนที่แตกต่าง ตีตรากันในน้อยลง เพราะเรายังต้องผ่านความขัดแย้งทางสังคม การเมือง และค่านิยม ด้วยกันอีกมาก เพื่อหาทางอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจให้ได้มากที่สุดต่างหาก


นิทรรศการ See the Unseen : เห็นกาย สัมผัสใจ จัดโดย Mutual, Eyedropper fill, MasterPeace และ Studio Persona ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ กระตุกเตือนสังคมไทย ว่า การตีตราด้วยถ้อยคำง่าย ๆ เพียงไม่กี่คำ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย 


ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เคย ‘ถูกตีตรา’ แบบไหน หรือเคยเป็นคนที่เคยพลั้งเผลอ ‘ตีตรา’ ใคร


สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสัมผัสประสบการณ์ได้ฟรี ที่ MMAD Mun Mun Art Destination ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ระหว่างวันที่ 8 – 23 กุมภาพันธ์ 2568