เมืองหนังสือ : เมือง…ที่ต้องมี ‘หนังสือ’

รู้หรือไม่ 22 ปีที่ผ่านมา ในภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ที่ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก และประเทศไทยคือ 1 ในนั้น

ผ่านมาเกือบ 1 ทศวรรษ กทม. ในฐานะเจ้าภาพพยายามทำให้บรรยากาศเมืองของการอ่านกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ลามไปถึงอุตสาหกรรมหนังสือ ที่อาจทำให้ความฝันนี้…ไม่ง่าย

เกือบ 2 ปี หลังการระบาดโควิด-19 ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ทั้ง 34 แห่ง ใน กทม. กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่จำนวนของผู้เข้ามาใช้บริการหลายแห่งยังลดลงไปกว่าครึ่ง เช่น ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ เขตพระโขนง จากเดิมมีผู้ใช้งานเฉลี่ย 100 คนต่อวัน เหลือ 70 คน จึงพยายามรณรงค์ผ่านกิจกรรมเปิดโลกนิทาน กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และล่าสุดกับ “บางกอกวิทยา” ที่จัดขึ้นภายในพื้นที่ของห้องห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ทุกๆ วันเสาร์

รวมถึงกิจกรรม “หนังสือในสวน ” ที่จัดโดย กทม. และภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่ให้หนังสือจากสำนักพิมพ์ชื่อดัง และนักเขียนอิสระ ได้มาเจอกับนักอ่าน กิจกรรม Book Club นำหนังสือมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย หนังสือเก่าหาบ้านใหม่ และ Mini Talks จากนักเขียน และสำนักพิมพ์ เช่น หนังสือพัฒนาสังคม อนาคตธุรกิจหนังสือไทย มาแลกเปลี่ยนสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างสิ่งแวดล้อมในการอ่านหนังสือ

ซึ่งนโยบายส่งเสริมการอ่าน หรือการเมืองหนังสือ ถือเป็นหนึ่งใน นโยบายด้านเรียนดี และสร้างสรรค์ดี ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ด้วย ทั้งการพัฒนาห้องสมุดและห้องการเรียนรู้เคลื่อนที่ ห้องสมุดออนไลน์อ่านอีบุ๊กได้จากทุกที่ ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน เพิ่มฟังก์ชั่นให้ห้องสมุดเป็น co-woring space และเปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรมพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน

โควิด-19 ไม่ใช่ความท้าทายแรก


ย้อนกลับไปปี 2556 กรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี 2556 จาก UNESCO โดยมีพันธกิจที่ต้องทำต่อเพื่อส่งเสริมการอ่านมีอยู่ด้วยกันหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือการสร้างบรรยากาศการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และได้สร้าง “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” ขึ้นให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่บนถนนราชดำเนิน มีการพัฒนาห้องสมุดชุมชน ให้เป็นห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการทำงานของบ้านหนังสือกว่า 117 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป แต่เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้จาก 50 เขต กลับเหลือเพียง 34 เขต ทีมีกำลังไปต่อไหว

วรรณภา พนิตสภากมล พร้อมลูก ๆ 2 คน กลับมาเยือนห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ ในรอบ 2 ปี เนื่องจากเธอและครอบครัวย้ายไปอยู่บ้านใหม่ในเขตบางแค แต่ที่นั่นไม่มีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ใกล้ที่สุดอยู่ที่เขตภาษีเจริญ ทำให้ช่วงหลังลูก ๆ เริ่มห่างจากห้องสมุด จึงต้องหันมาซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

“ถ้าเป็นเล่มใหม่ ๆ อาจจะมี 199 บาท เทอมหนึ่งอาจจะซื้อได้ซัก 2 เล่ม ส่วนใหญ่ก็เลยจะไปยืมห้องสมุดเอา ก็เลยคิดว่าสำคัญเลยที่ควรจะมีในทุก ๆ ชุมชน เพื่อให้เด็กเริ่มรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ และถ้ามันไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายเราก็จะยิ่งดี”

วรรณภา พนิตสภากมล

กว่า 1 ทศวรรษ กรุงเทพฯ เตรียมฟื้นเมืองหนังสือ

จากสถิติที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2561 เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลง โดย 10 อันดับจังหวัดนักอ่านมากที่สุด อันดับ 1 คือ กทม. มากถึงร้อยละ 92 จากการสอบถาม ใกล้เคียงกับอันดับ 2 คือ จ.สมุทรปราการ ตามมาด้วย ภูเก็ต ขอนแก่น สระบุรี อุบลราชธานี แพร่ ตรัง นนทบุรี และปทุมธานี

ส่วนสถิติรายเขตในกทม. จากการอ่านภายในห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ปี 2565 อันดับ 1 คือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร 40,775 คน ตามมาด้วยสวนลุม ซอยพระนาง วัดลาดปลาเค้า และห้วยขวาง จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปหาก กทม. จะพยายามฟื้นการเป็นเมืองหนังสือโลกขึ้นมาอีกครั้ง แต่โจทย์ท้าทายคืองบประมาณ และภาระหน้าที่ที่มีจำกัด

หากพิจารณาจากการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโดยตรงของห้องสมุด เช่น ผลผลิตส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และ โครงการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย จะเห็นได้ว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่งบฯ ในการซื้อหนังสือจะมากกว่าปีที่ผ่านมา 44,356 เล่ม และยังมีพันธกิจร่วมกับภาคประชาสังคม และผู้ที่ทำงานด้านหนังสือ ซึ่งอาจมีผลลัพท์มากกว่าการบริหารโครงการโดย กทม. เพียงลำพัง

เมืองหนังสือ ที่ต้องมีหนังสือ


หากย้อนดูสถานการณ์หลังโควิด-19 มีร้านหนังสือจำนวนไม่น้อยที่ทยอยปิดตัวลง เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ในขณะที่บางรายก็ปรับตัวขายออนไลน์มากขึ้นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่รายได้ของคนทำหนังสือ โอกาสในการอยู่รอดได้นั้นยังน้อยมาก

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ อธิบายว่า การทำหนังสือ 1 เล่ม หากมีราคา 100 บาท จะถูกแบ่งเป็นค่าสายส่งฝากขายตามร้านหนังสือ ประมาณ 45 บาท จ่ายให้กับนักเขียน 10 บาท ค่าพิมพ์ 15-20 บาท ที่เหลือจึงจะเป็นกำไรของสำนักพิมพ์ ประมาณ 25-30 บาท ซึ่งอยู่ในภาวะเช่นนี้มานานแล้วโดยที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนให้กลไกต่างๆ มีต้นทุนที่ถูกลง

ทิพย์สุดา ยกตัวอย่างในประเทศจีน หากร้านหนังสือมีขนาดใหญ่กว่า 200 ตารางเมตร รัฐบาลจะช่วยค่าเช่าร้อยละ 20 ส่งผลให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงหนังสือเพิ่มขึ้น หรือกำหนดให้ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งต้องมีร้านหนังสืออย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อให้คนเข้าถึงหนังสือมากขึ้น

“สิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ว่าฯ กทม.อันดับแรกคือการเอาโครงการ Book Start กลับมา แจกหนังสือให้กับเด็กแรกเกิด เมื่อครบ 6 เดือนฉีดวัคซีนอีก 1 เล่ม หากกทม. มีเด็กแรกเกิด 6 หมื่นคน ถ้าใช้เงินกับเขา 100 บาท สมาคมฯ สามารถหานักเขียน และพิมพ์ในราคาต้นทุน 5-6 ล้านบาท นอกจากจะส่งเสริมพัฒนาการเด็กในช่วงต้นแล้ว นักเขียน สำนักพิมพ์ ก็จะช่วยพัฒนาวงการหนังสือด้วย”

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์

การเริ่มต้นการเป็น “เมืองหนังสือ” ด้วยการพัฒนาห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของ กทม. ถือเป็นการจัดการทรัพยากรที่ง่ายที่สุดในเวลานี้ มากกว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือตามความต้องการของสมาคมฯ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผู้คนต้องเลือกระหว่างซื้อหนังสือ 1 เล่ม หรืออาหาร 1 มื้อ

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จการเป็นเมืองหนังสือล้วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีมุมมองต่อหนังสือไม่ใช่แค่สินค้าอุปโภคหรือฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายและการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตอบโจทย์การเป็นเมืองหนังสือที่ผู้คนมีหนังสือหลากหลายให้อ่าน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน