ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกแปลงให้กลายเป็น ยิมออกกำลังใจ พื้นที่ฝึกความแข็งแรงทางจิตใจ ที่เปิดรับนักศึกษา นักจิตวิทยา และคนธรรมดาทุกคนที่เชื่อว่าสุขภาพจิตคือรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านเครื่องมืออย่าง จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

เมื่อวัยรุ่นเติบโตท่ามกลางความคาดหวังและความโดดเดี่ยว ผู้สูงอายุจมอยู่กับความเหงา และโลกออนไลน์ผลักให้ผู้คนไม่เห็นใจกัน จิตวิทยาเชิงป้องกัน (Preventive Psychology) อย่าง จิตวิทยาเชิงบวก จึงชวนกลับมาทบทวนว่า การดูแลจิตใจไม่ใช่แค่การรักษาให้หายจากโรค แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจเพื่อเห็นคุณค่าในตนเองด้วยการออกกำลังใจ เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคทางกาย
The Active ชวนคุยกับ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก ผู้ก่อตั้ง Mindset Maker และกิจกรรมพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในนามทีม Well-Being Creators เพื่อเน้นย้ำว่า ความสุขสร้างได้ โดยใครก็ได้ และเป็นเป้าหมายสุดท้ายของทุกนโยบายสาธารณะในสังคม
ความสุข ≠ Well-being
เราเริ่มต้นบทสทนากับ อรุณฉัตร ด้วยสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามากที่สุด นั่นคือประโยคที่ปรากฎด้านหลังเสื้อยืดที่เขาใส่อยู่
“เพราะความสุขไม่ใช่เรื่องบังเอิญ”
คำกล่าวที่ว่าจริงหรือไม่ ? และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น…

อรุณฉัตร จึงชวนให้นึกย้อนถึงเหตุการณ์ความสุขที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจจะหนึ่งวัน หรือหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เรากลับรู้สึกมีความสุขอีกครั้ง แม้เหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว เป็นจุดที่ยืนยันได้ว่า แม้ชั่วขณะของความสุขได้สิ้นสุดลง แค่ความรู้สึกก็ยังคงถ่ายทอดมาถึงเรา ผ่านตัวกลางที่เรียกว่าความทรงจำ
เช่นเดียวกันกับในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสุขหรือความทุกข์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนมีจุดสิ้นสุด แต่ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นมักยังคงอยู่ และสามารถกลับมามีอิทธิพลต่อเราได้เสมอ
ที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงสุขภาพจิตหรือจิตวิทยา เรามักโฟกัสกับอารมณ์เชิงลบ เช่น ความเศร้า ความเครียด ความกังวล ซึ่งอารมณ์เหล่านี้มักจะฝังอยู่ในระบบความคิดของเราในรูปแบบของ คำสั่ง หรือกรอบความคิดที่เรายึดถือโดยไม่รู้ตัว และคำสั่งเชิงลบเหล่านี้สามารถจำกัดมุมมองของเรา ทำให้เรามองโลกแคบลง
ในทางกลับกัน หากเราเริ่มพูดถึงความสุขบ่อยขึ้น เริ่มมีคำสั่งทางความคิดในเชิงบวกมากขึ้น มันก็จะเปลี่ยนทิศทางการมองโลกของเรา เราจะจัดเก็บและใส่ใจความสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
“เมื่อเราแลกเปลี่ยนความรู้สึกเชิงบวกให้กับผู้อื่น เราจะจดจำมันได้มากขึ้น เพราะการที่เราหัวเราะแล้วมีคนหัวเราะตอบกลับกับเรา ความทรงจำนี้ มันจะปักหมุดแข็งแรงขึ้น เพราะมีคนสัมผัสได้หรือสะท้อนอารมณ์เชิงบวกกลับมาหาเรา แล้วก็ทำงานกับตัวเราได้ดีขึ้น”
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์

อย่างไรก็ตาม Martin Seligman ผู้บุกเบิกจิตวิทยาเชิงบวก ได้อธิบายไว้ว่า แม้คำว่า ความสุข (Happiness) จะดูเข้าใจง่าย แต่เมื่อใช้ในวงกว้างกลับมักถูกตีความแคบว่าหมายถึงความรู้สึกพึงพอใจหรือสนุกในระยะสั้นเท่านั้น จึงไม่สามารถสะท้อนมิติที่ลึกซึ้งของการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างแท้จริง เขาจึงเสนอให้ใช้คำว่า Well-being แทน ซึ่งสื่อถึงภาวะความสมดุลและแข็งแรงทางจิตใจที่สามารถพัฒนาได้ และมีความหมายครอบคลุมทั้งในแง่การใช้ชีวิต การเติบโตภายใน และการมีจิตใจที่มั่นคงในระยะยาว
ประโยคที่ว่า “ความสุขไม่ใช่เรื่องบังเอิญ” จึงเป็นหัวใจของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งเสนอว่าความสุขในชีวิตสามารถออกแบบได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตาหรือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ หากเรารู้จักจัดการและวางแผนชีวิตในแต่ละวันให้มีความหมาย สมดุล และตอบสนองมิติสำคัญของชีวิต ความสุขที่ได้จึงไม่ใช่แค่ความพึงพอใจชั่วคราว (Happy) แต่เป็น Well-being หรือ ความสุขระยะยาวที่มั่นคงกว่า เช่น การรู้สึกว่าตนเองกำลังเติบโต มีเป้าหมาย และจัดการชีวิตได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อรุณฉัตร ยังชี้ว่า บางครั้งคนเราไม่มีโอกาสได้หยุดคิดทบทวนถึงรายละเอียดของช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้ความสุขที่เคยเกิดขึ้นนั้นหล่นหายไปตามเวลา เช่น ถ้าเราเพิ่งผ่านมา 1 สัปดาห์ หรือแม้แต่แค่ 24 ชั่วโมง แต่ไม่ได้หยุดคิดเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราอาจพลาดโอกาสในการจดจำและรู้สึกกับช่วงเวลาที่ดีเหล่านั้น
ทั้งที่การศึกษาหลายแห่งบ่งชี้ว่า ในแต่ละวัน คนเรามีอารมณ์เชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เพียงแต่เราอาจไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่าความสุขได้หรือไม่ ? โดยที่การมองชีวิตในแต่ละวันผ่านมุมมองของอารมณ์บวกและลบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ช่วงละประมาณ 6 ชั่วโมง ดังนี้
- 6 ชั่วโมงแรก: เป็นช่วงที่เกี่ยวข้องกับการนอน หากเรานอนหลับไม่เพียงพอหรือหลับไม่มีคุณภาพ อารมณ์ในวันนั้นก็จะได้รับผลกระทบทันที ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ยาก การจัดการกับอารมณ์ก็ยิ่งลำบาก
- 6 ชั่วโมงถัดมา: เป็นเวลาที่เราใช้กับกิจกรรมย่อย ๆ เช่น การอาบน้ำ เดินทาง ทานอาหาร หรือแม้กระทั่งการเรียกรถ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเล็กน้อย แต่หากมันเป็นไปอย่างราบรื่น เราจะรู้สึกดีโดยไม่รู้ตัว ความสุขบางครั้งไม่ได้มาจากเรื่องใหญ่ แต่มาจากความราบรื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เอง
- 6 ชั่วโมงถัดไป: เป็นช่วงเวลาที่เราเลือกใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำงาน การใช้เวลากับคนที่เรารัก หรือการพักผ่อน หากเราเลือกกิจกรรมที่สอดคล้องกับตัวเอง โอกาสในการสร้างอารมณ์บวกก็จะสูงขึ้น
- 6 ชั่วโมงสุดท้าย: มักเป็นเวลาพักผ่อนหรือทบทวน ซึ่งเป็นช่วงที่อารมณ์ต่าง ๆ จากทั้งวันจะสะสมอยู่ หากมีความสุขเกิดขึ้นในวันนั้น มันจะฝังลึกในความทรงจำของเรา
ถ้าความสุขสร้างได้ ทำไม…คนยังทุกข์อยู่ ?
อรุณฉัตร ขอแจกคำตอบของคำถามข้างต้นไว้ 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง คือ ความรู้และความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกมีอย่างจำกัด หากย้อนดูพัฒนาการของจิตวิทยา ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะพบว่า แนวคิดหลักในวงการเน้นการจัดการกับปัญหาและอารมณ์เชิงลบเป็นหลัก ในเชิงสถิติ พบว่า งานวิจัยที่ เกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงลบ มากกว่า อารมณ์เชิงบวกประมาณอย่างน้อย 6 เท่า
เช่นเดียวกับวงการแพทย์ ที่เน้นการรักษาโรค มากกว่าการส่งเสริมสุขภาพในเชิงป้องกัน แนวโน้มนี้ทำให้การศึกษาด้านจิตวิทยาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแก้ไข มากกว่าสร้างเสริม จนทำให้ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวกและภาวะ Well-being กระจายไปถึงคนทั่วไปได้น้อยกว่าที่ควร
“เราพูดถึงยารักษาโรคกันมาตลอด 50 ปี
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์
แต่ลืมไปว่า จิตใจก็ต้องการการ ออกกำลังใจ ไม่ต่างจากร่างกาย”
ประการที่สอง คือ การรับรู้ของสังคมต่อจิตวิทยาเชิงบวกถูกบิดเบือน บางคนหยิบเอาแนวคิดนี้ไปใช้ในลักษณะเชิงพาณิชย์โดยไม่อิงหลักวิชาการอย่างถูกต้อง เช่น การขายคอร์สหรือแนะแนวการใช้ชีวิตแบบ เร่งสร้างความสุข โดยไม่พาผู้คนทำความเข้าใจบริบทรอบข้าง ส่งผลให้หลายคนที่เคยลองใช้วิธีการเหล่านี้กลับรู้สึกว่าไม่ได้ผล เมื่อต้องเผชิญปัญหาในชีวิตจริง จึงนำไปสู่การหมดศรัทธาในจิตวิทยาเชิงบวก และมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและโหดร้าย

อย่างไรก็ตาม อรุณฉัตร ยังเชื่อว่า แม้สังคมในปัจจุบันจะมีความสะดวกสบายมากขึ้นในหลายด้าน เช่น ความปลอดภัยจากโรคระบาด อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ด้านมืด ของสังคมก็ชัดเจนขึ้น ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความโดดเดี่ยว หรือความคาดหวังต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งทำให้หลายคนหมกมุ่นอยู่กับด้านลบของชีวิต จนไม่เชื่อว่าตนเองสามารถมีความสุขได้ และมองว่าการสร้างภาวะ Well-being ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ภาวะนี้เรียกว่า Learned Helplessness หรือ ภาวะจำยอม ที่ผู้คนเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จนหมดศรัทธาในการพัฒนาตนเองหรือสร้างความสุขให้กับชีวิต แม้ในความเป็นจริงเครื่องมือและองค์ความรู้ที่จะสร้าง Well-being จะมีอยู่และเข้าถึงได้ หากเราเริ่มจากการปรับความเข้าใจใหม่ว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งที่รอให้เกิดขึ้นเอง
เมื่อราคาที่ต้องจ่ายเพื่อ ‘รักษา’ แพงกว่า ‘ป้องกัน’
อรุณฉัตร ย้ำถึง จิตวิทยาเชิงบวกไม่ใช่ศาสตร์เพื่อการรักษา แต่คือจิตวิทยาเชิงป้องกันที่มุ่งเสริมสร้างความแข็งแรงทางจิตใจให้กับมนุษย์ ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนมักนึกไม่ออกว่ารูปธรรมของการ ป้องกันสุขภาพจิต คืออะไร ? เป็นเพราะเราคุ้นชินกับการเข้าใจจิตวิทยาในฐานะกระบวนการบำบัด รักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิก มากกว่าจะมองว่าเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพใจในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2016 ระบุว่า การลงทุนในเชิงป้องกันด้านสุขภาพจิตให้ผลตอบแทนสูงถึง 4 เท่าของต้นทุน กล่าวคือ ทุก 1 ดอลลาร์ที่ลงทุน จะสร้างผลลัพธ์กลับคืนมาอย่างน้อย 4 ดอลลาร์
หากเราใช้ทรัพยากรไปกับการรักษาเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ได้อาจเป็นเพียงการฟื้นฟูบุคคลหนึ่งให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากเราลงทุนในเชิงป้องกัน เราไม่เพียงแค่ป้องกันโรค แต่เรากำลังสร้างคนที่มีจิตใจงอกงาม แข็งแรง และสามารถเติบโตเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้จริง
“การลงทุน 1 ดอลลาร์ในงานป้องกันสุขภาพจิต
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์
ให้ผลตอบแทนถึง 4 ดอลลาร์”
ในทางตรงกันข้าม การรักษาโรคทางจิตเวชเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าจิตบำบัด หรือค่าดูแลระยะยาว และผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยังไม่นับรวมต้นทุนทางอ้อมจากการว่างงาน ความขัดแย้งในครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่มักเกิดร่วมกัน การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าทั้งต่อบุคคลและสังคมโดยรวม
PERMA model : สร้างความสุขให้ไม่เป็นแค่เรื่องบังเอิญ
จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) คือ แขนงหนึ่งของจิตวิทยาที่มุ่งเน้นการศึกษาอารมณ์เชิงบวก จุดแข็งของมนุษย์ และแนวทางสู่ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) จุดเด่นของจิตวิทยาแขนงนี้อยู่ที่การส่งเสริม ความงอกงาม ของชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงการมองโลกในแง่ดีแบบตื้น ๆ หรือการให้กำลังใจด้วยคำพูดกว้าง ๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับความเป็นจริง แต่มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่าน ประสบการณ์ตรง (experience-based learning) และการฝึกฝนวิธีคิดและพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การตั้งเป้าหมาย หรือการพัฒนาจุดแข็งของตนเอง

อรุณฉัตร อธิบายด้วยว่า มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้บุกเบิกศาสตร์ จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) เคยระบุไว้ในหนังสือ Authentic Happiness (2002) ว่า ความสุขมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ความสุขระยะสั้นที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อเราทำบางสิ่งหรือมีคนทำบางอย่างให้เรา (Positive Emotion) ความสุขจากการจดจ่อกับกิจกรรมที่เราทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้รู้สึกควบคุมชีวิตได้ (Engaged) ไปจนถึงความสุขที่ลึกซึ้งจากการทำเพื่อผู้อื่นและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า (Meaning) และในเวลาต่อมาเขาได้พัฒนาแนวคิดนี้ออกมาเป็น PERMA model โดยมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
- Positive Emotion : การมีอารมณ์เชิงบวก
อารมณ์เชิงบวกไม่ได้หมายถึงแค่ มีความสุข (Happy) เท่านั้น แต่รวมถึงความรู้สึกอย่าง ความรัก การขอบคุณ ความสงบ ความหวัง ความตื่นเต้น ตลอดจนความภาคภูมิใจ เราสามารถสร้างอารมณ์เชิงบวกได้จากกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การเขียนบันทึกความสุข การให้อภัยตัวเอง หรือการทบทวนเหตุการณ์ดี ๆ ในชีวิต เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) - Engagement : การมีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำ
เมื่อเราทำสิ่งใดด้วยความตั้งใจและเพลิดเพลินจนลืมเวลา เราเข้าสู่ภาวะ ลื่นไหล (Flow State) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราพัฒนาทักษะ ฝึกสมาธิ และได้รับความสุขจากการลงมือทำ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ การเข้าสู่ภาวะนี้ต้องเริ่มจากการค้นหาสิ่งที่เราสนใจ ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และหาจุดแข็งของตนเองให้เจอ - Positive Relationships : การมีความสัมพันธ์เชิงบวก
ความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองและผู้อื่น เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือคนในที่ทำงาน ส่งผลอย่างมากต่อความสุขของเรา เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตทางสังคม ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มต้นจากการเห็นคุณค่าในตนเอง มีความเมตตา และใส่ใจคนรอบข้าง ลองเริ่มด้วยการมีเวลาคุณภาพร่วมกับผู้อื่น และฝึกฟังอย่างตั้งใจ - Meaning : การมีชีวิตที่มีความหมาย
ชีวิตที่มีความหมายคือการรู้ว่า เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ดูแลครอบครัว หรือสร้างบางสิ่งให้สังคม เราเริ่มหาความหมายของชีวิตได้ด้วยการฝึกเขียนบันทึกขอบคุณในแต่ละวัน หรือการเปิดใจลองกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ให้คุณค่าทางใจแก่เรา - Accomplishment : การมีพลังจากความสำเร็จ
ความสำเร็จเกิดได้จากเรื่องเล็ก ๆ เช่น การอ่านหนังสือจบ การออกกำลังกาย การตั้งใจทำบางสิ่งให้เสร็จ ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราตั้งเป้าหมายต่อไป สิ่งสำคัญคือต้องใจดีกับตัวเอง (Self-compassion) ไม่เปรียบเทียบ ไม่ตัดสิน และหากมีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุน ก็ยิ่งช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่าโมเดลการสร้างความสุขเหล่านี้สามารถปรับใช้กับทุกคนได้ เพียงแต่ยังมีคนจำนวนน้อยที่ได้นำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้จริง ๆ การฝึกใจตัวเองเพื่อไปสู่ภาวะ Well-being อาจเริ่มต้นจากความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจ แต่เมื่อฝึกอย่างต่อเนื่อง เราจะค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่ภาวะที่มั่นคงขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น Well-being จึงไม่ใช่ภาพจำของความสุขที่ต้องสวยงามเสมอไป ไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์ที่ไม่มีความทุกข์ แต่มันคือการฝึกอยู่กับความจริงอย่างมีสติ
แนวคิดนี้เองที่ทำให้พวกเขาตั้งใจฝึก ครีเอเตอร์ คนที่สามารถออกแบบความสุขให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนเวลาเราแพ็คกระเป๋าไปเที่ยว เรามีตารางเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเองในแต่ละวัน เช่นเดียวกัน หากเราเผชิญกับปัญหาแล้วสามารถออกแบบวิธีจัดการในแบบที่ควบคุมได้ เรียนรู้จากมัน แล้วใช้บทเรียนนั้นออกแบบอนาคตต่อ ก็ถือเป็นชุดเครื่องมือหนึ่งในการจัดการอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละคนได้เช่นกัน
“ถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เราก็จะค่อย ๆ ห่างออกจาก Well-being แต่ถ้าเรายังมองเห็นทางออก ยังเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง แม้เพียงเล็กน้อย ความเชื่อนั้นก็จะพาเราไปสู่การอธิบายโลกที่ดีขึ้นได้”
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์

บทส่งท้าย : สุขภาพจิตที่ดี คือเป้าหมายสุดท้ายของทุกนโยบายสาธารณะ
สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่อาจรับรู้ได้ทันทีเหมือนสุขภาพกาย ในทำนองเดียวกัน ปัญหาสุขภาพจิต เป็นวาระทางสังคมที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า กว่าจะรู้ เราก็ต้องกระโดดไปที่ขั้นตอนการบำบัดเยียวยา แทนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดแต่เนิ่น ๆ
อรุณฉัตร ชวนทุกคนนึกถึงภาพนักเรียน ม.2 คนหนึ่งที่ดูธรรมดา ไม่ได้โดดเด่นหรือมีปัญหาให้เห็นชัด เขานั่งอยู่กลางห้องเรียน และไม่มีใครพูดถึงมากนัก ถ้าห้องเรียนนี้ไม่มีการออกแบบปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยให้เด็กทุกคน รู้สึกว่าเขามีตัวตน เด็กคนนี้ก็อาจค่อย ๆ ถูกลืม คุณค่าของเขาอาจไม่เคยถูกมองเห็น และเมื่อเขาไม่รู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งอย่างไรบ้าง วันหนึ่งเมื่อเขาเผชิญกับปัญหาในชีวิต เขาอาจต้องถอยจากกลางห้อง ไปอยู่หลังห้อง หรือหายไปจากห้องเรียนในที่สุด
ยิ่งในกรณีเด็กที่อาจมีแนวโน้มของภาวะซึมเศร้า หากได้อยู่ในห้องเรียนที่ส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกตั้งแต่ต้น เขาอาจไม่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยในอนาคต เพราะงานวิจัยพบว่า การใช้จิตวิทยาเชิงบวกสามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ เราจึงจำเป็นต้องทำงานควบคู่ทั้ง 2 ด้าน คือ การส่งเสริมให้คนเติบโตอย่างงอกงาม และ สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แข็งแรงในระยะยาว
ในเชิงนโยบาย การส่งเสริมสุขภาพจิตผ่านจิตวิทยาเชิงบวกสามารถออกแบบได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับองค์กร เช่น โรงเรียน ซึ่งในต่างประเทศมีการจัดตั้งเครือข่าย Positive Education Network ที่ผลักดันให้จิตวิทยาเชิงบวกฝังอยู่ในหลักสูตร และความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และครอบครัว แนวคิดนี้ก็เริ่มทดลองใช้ในไทยบ้างแล้ว ผ่านการทำวิจัยเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เครื่องมือเชิงบวกสามารถเข้าถึงและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในระดับประเทศ เครื่องมือด้านสุขภาพจิตเชิงบวกมีอยู่หลากหลาย และเหมาะสมกับบริบท เช่น การมีเวทีสาธารณะในการออกแบบแนวทาง หรือการให้กรมสุขภาพจิตมีบทบาทในการส่งต่อองค์ความรู้เชิงรุก ทั้งนี้ การออกแบบนโยบายควรหลีกเลี่ยงการเน้นหนักไปที่มิติใดมิติหนึ่งมากเกินไป
เพราะหากเน้นเฉพาะ โรค ก็จะทำให้สังคมตกหล่มอยู่กับแนวคิดเรื่องสุขภาพจิตด้านลบ ในทางกลับกัน ถ้าเน้นแต่ ด้านบวก ก็อาจทำให้คนไม่กล้ายอมรับปัญหาของตัวเอง
การสมดุลจึงเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย ทั้งในแง่เนื้อหาและการสื่อสารสาธารณะของภาครัฐ และอย่าลืมว่าปัญหาสุขภาพจิต ล้วนเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ คือ การถูกมองข้าม