เมื่อความท้าทายและเป้าหมาย กลายเป็นพิษ
- 25 ม.ค.66 จาซินดา อาเดิร์น ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว หลังอธิบายว่า ตัวเองหมดแรงที่จะทำหน้าที่ และเป้าหมายในการเป็นผู้นำต่อไป
- จิตแพทย์ ชี้ ภาวะหมดไฟ (Burnout) เกิดขึ้นได้กับผู้นำทั้งเพศชาย-หญิง แม้ความท้าทาย อดทนภายใต้แรงกดดัน เป็นภาวะของผู้นำ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้ามีน้อยหรือมากเกินไปอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม
- ปี 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ขึ้นทะเบียนให้ภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นโรคใหม่ที่เป็นผลจากความเครียดเรื้อรัง ในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญงดทำงานในชั่วโมงส่วนตัว
“ฉันหวังที่จะเจอสิ่งที่ทำให้ฉันอยากทำงานนี้ต่อไป
แต่เสียใจที่ต้องบอกว่าฉันไม่เจอเลย
และฉันไม่อยากจะสร้างความเสียหายให้แก่นิวซีแลนด์อีกต่อไป”
จาซินดา อาเดิร์น 19 ม.ค.66
คำอธิบายถึงเหตุผลในการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ของ จาซินดา อาเดิร์น ไม่ใช่เพราะคะแนนความนิยมที่ตกต่ำลง แรงสนับสนุนภายในพรรค หรือบทบาทผู้หญิงในการเป็นผู้นำ เพราะไม่เช่นนั้นเธอคงลาออกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนในการทำหน้าที่
สาเหตุที่แท้จริงในการลงจากตำแหน่งของผู้นำหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกในขณะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียง 37 ปี คือการทำงานที่ท้าทายตลอด 6 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ อาเดิร์น คิดว่าได้เวลาที่ต้องลงจากตำแหน่งนี้แล้ว ซึ่งตามรายงานระบุว่าเธอจะลาออกจากตำแหน่งในวันนี้ (25 ม.ค.66) และกลับไปใช้เวลาอยู่กับครัว
อาเดิร์น ยังเป็นผู้นำหญิงคนที่ 2 ของโลกที่ให้กำเนิดบุตรขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากเบนาซีร์ บุตโต นายกฯ ปากีสถาน เธอ นำพานิวซีแลนด์ผ่านวิกฤตต่าง ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช การปะทุของภูเขาไฟเกาะไวท์ โดยเฉพาะการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่่ผ่านมา ที่ทำให้เธอได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกถึงนโยบายที่ใช้ควบคุมและจัดการกับประชากรนิวซีแลนด์
นักการเมืองหญิงทั่วโลกออกมาสะท้อนว่า การลาออกของอาเดิร์น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะยอมรับว่าตัวเองหมดไฟ เพราะการอยู่บนจุดสูงสุด แม้จะทำให้ผู้นำหลายคนได้รับสิทธิพิเศษมากมาย (Privilege) แต่ก็ต้องแลกมากับการรับมือภารกิจที่ต่อเนื่องและยาวนาน ที่ค่อย ๆ กัดกร่อนพลังงานด้านในจิตใจ ดังนั้นการประกาศลาออกของอาเดิร์น สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตด้วยตัวของเธอเอง ซึ่งหาได้ยากท่ามกลางโลกที่ต้องการผู้นำที่ดีที่สุด
ภาวะหมดไฟ (Burnout) ก้าวต่อไปอย่างไรดี
The Active พูดคุยกับ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงภาวะหมดไฟ” (Burnout) ว่าสามารถจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้จะไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม ซึ่งอาจจะมาจากการความรู้สึกของงานที่เริ่มไม่ท้าทาย รู้สึกห่างเหินไม่เป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร งานมีปริมาณมากกดดันจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหากปล่อยไว้ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่องาน ลาออก หรือมีปัญหาสุขภาพจิต โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ทุกตำแหน่ง
“หลายคนอาจมองว่าความท้าทาย อดทนภายใต้แรงกดดัน เป็นภาวะของผู้นำไม่ใช่หรือ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้ามีน้อยหรือมากเกินไปจะทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เครียด เหนื่อยล้า โดยเฉพาะตำแหน่งสูง ๆ ความเครียดอาจจะมากกว่าเพราะความรับผิดชอบก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าไม่รีบหาทางจัดการกับปัญหาก็อาจจะเกิดภาวะเครียด หรือ Burnout ขึ้นได้”
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหมดไฟในการทำงาน อาจทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและมีคุณภาพ เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความเครียดควรพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และไม่ควรดื่มสุราเพื่อคลายเครียด เพราะพิษจากแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์ให้เกิดอาการแบบคล้ายกัน
นพ.อภิชาติ ยังแนะนำว่า หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ควรทำความเข้าใจกับภาวะหมดไฟในการทำงานว่าแตกต่างจากความขี้เกียจ สังเกตได้จากผู้ที่มีภาวะหมดไฟจะเป็นคนที่เคยมีความมุ่งมั่นกับการทำงาน แต่เปลี่ยนไปในภายหลัง จากปัจจัยในที่ทำงาน ดังนั้น การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น จะช่วยแก้ไขและยังทำให้ได้งานที่มีคุณภาพดีกว่า
องค์การอนามัยโลก ขึ้นทะเบียนภาวะหมดไฟเป็นโรคที่ต้องรักษา
หลายปีที่ผ่านมาองค์กรหลาย ๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับภาวะหมดไฟ หรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลากรเช่น ฝรั่งเศส ที่ปลุกกระแสการทำงานแบบ always-on ให้สิทธิจะตัดการเชื่อมต่อจากงานในวันหยุด หรือโปรตุเกส ให้พนักงานต้องมีโอกาสได้พบหัวหน้าอย่างน้อยทุก ๆ สองเดือนเพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงานเกินไป
ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายระบุไว้ เพียงแต่ต้องดูเนื้อหาข้อความที่สั่งมา เช่น โทรมาสั่งงานและให้ทำให้เสร็จในวันนั้นเลย ถือเป็นการให้ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยินยอมสามารถปฏิเสธได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ปี 2562 ขึ้นทะเบียนให้ภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นโรคใหม่ที่เป็นผลจากความเครียดเรื้อรัง ในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง ก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต ภาวะนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียด จนบางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย ไม่หยิบจับทำอะไร รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองงานที่กำลังทำอยู่ในเชิงลบขาดความสุข สนุกในเนื้องาน หมดแรงจูงใจประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง บางรายอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน จนทำให้มีความรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน
“ท้ายที่สุดหากเราหาทางจัดการแก้ไข และยังรู้สึกหมดเป้าหมายในการทำงานตำแหน่งเดิมต่อไป การขอพักเพื่อไปปรับแผนคุณภาพชีวิต หรือการลาออก ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ที่สำคัญคือการบริหารความรู้สึกหลังจากการตัดสินใจให้อยู่ต่อไปอย่างมีความสุข”