“ต้องการให้ลูกคลอดตามฤกษ์” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้หญิงไทยเลือกการ ‘ผ่าคลอด’ มากกว่าการ ‘คลอดเองตามธรรมชาติ’ นอกจากนี้อาจเพราะกลัวความเจ็บปวดระหว่างการคลอด ข้อจำกัดด้านเวลา และความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่ว่าการผ่าคลอดปลอดภัยกว่า
นั่นอาจเป็นเหตุผลทำให้ปัจจุบันประเทศไทย กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าวิตกเกี่ยวกับอัตราการผ่าคลอดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการผ่าคลอดสูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และจีน
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการคาดการณ์ พบว่าอัตราการผ่าคลอดในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 30% ในปี 2559 เป็น 35% ในปี 2564 และหากไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2573 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สร้างความกังวลให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก
ทำไม ? ‘ผ่าคลอด’ จึงน่ากังวล
มีงานวิจัยในกลุ่มหญิงชาวเอเชียจำนวน 300,000 คน พบว่า การผ่าคลอดมีความเสี่ยงมากกว่าการคลอดธรรมชาติ ในหลายด้าน
สำหรับมารดา
- มีโอกาสเสียเลือดมากกว่า
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการผ่าตัด
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาระงับความรู้สึก
- หากตั้งครรภ์ครั้งต่อไป อาจมีความเสี่ยงจากรกฝังตัวบริเวณแผลเดิม
สำหรับทารก
- มีความเสี่ยงด้านการหายใจผิดปกติ
- เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ
- อาจต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต
- โอกาสได้รับนมแม่ช้าลงหากมารดาได้รับยาสลบ
สถิติในไทยยังบอกให้เรารู้ด้วยว่าโรงพยาบาลที่มีอัตราการผ่าคลอดมากที่สุดเป็น โรงพยาบาลรัฐ มากกว่า โรงพยาบาลเอกชน ด้วยซ้ำไป ขณะที่การรณรงค์ ลดการผ่าคลอดส่งเสริมให้คลอดธรรมชาติ เริ่มเป็นนโยบายจริงจังเมื่อปี 2562 ทำให้เกิดโรงพยาบาลนำร่อง 8 แห่ง ที่ทดลองวิจัยหานวัตกรรมในการที่จะลดการผ่าคลอด หนึ่งในนั้นก็คือ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
The Active เดินทางไปที่นั่นเพื่อที่จะไปดูว่าแม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลนำร่องในการลดการผ่าคลอดลงแล้ว แต่ยังพบว่า อัตราการผ่าคลอดก็ยังเกิน 50% อยู่ดี จะมีวิธีไหนบ้างที่แพทย์ และพยาบาล พยายามที่จะใช้โน้มน้าวใจของคุณแม่ตั้งครรภ์ให้คลอดเองตามธรรมชาติ
‘เพื่อนผู้คลอด’ พลังใจสู่การคลอดธรรมชาติ
“ผ่าหรือไม่ผ่า” เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในใจของคุณแม่มือใหม่หลายคน รวมถึง สุพรรณษา สโรบล แม่ของเด็กชายวัย 5 เดือน ที่เคยกังวลใจกับการคลอดครั้งแรก แต่เธอตัดสินใจเลือกเส้นทางการคลอดธรรมชาติ หลังได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อนผู้คลอด ของโรงพยาบาลเชียงรายฯ เพราะการมีสามีในฐานะเพื่อนผู้คลอดอยู่เคียงข้าง ทำให้รู้สึกอุ่นใจและมั่นใจ จนสามารถคลอดธรรมชาติได้สำเร็จ
ขณะที่ พว.ฐปนัท ช่วยการ หัวหน้างานฝากครรภ์ โรงพยาบาลเชียงรายฯ ต้องคอยทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ ถึงข้อดีของการคลอดเอง และชักชวนเข้าร่วมโครงการเพื่อนผู้คลอด เพื่อลดอัตราการผ่าคลอดของโรงพยาบาล
“ร่างกายของผู้หญิงถูกออกแบบมาให้สามารถให้กำเนิดบุตรได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ในปัจจุบัน การกลัวความเจ็บปวด ความวิตกกังวล รวมถึงความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ทำให้คุณแม่จำนวนมากเลือกการผ่าตัดคลอด”
พว.ฐปนัท ช่วยการ
เพื่อนผู้คลอด…เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะโรงพยาบาลจะให้สิทธิเพื่อนผู้คลอด ซึ่งอาจเป็นสามีหรือคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งได้เข้าไปห้องคลอด และอยู่ด้วยกันในวินาทีสำคัญไปพร้อม ๆ กัน แต่หากใครเลือกการผ่าตัดคลอด จะพลาดช่วงเวลาสำคัญของการให้กำเนิดบุตรร่วมกับครอบครัว
ถ้าตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อนผู้คลอดแล้ว งานฝากครรภ์ก็จะส่งไม้ต่อให้ พยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ พว.โยษิตา ไสยาท บอกว่า เธอจะให้การดูแลแบบองค์รวม ครอบคลุมตั้งแต่การให้ความรู้ระหว่างฝากครรภ์ การเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญคือการมีผู้ดูแลพิเศษที่ผ่านการอบรมคอยให้กำลังใจและช่วยเหลือตลอดกระบวนการคลอด โดยจะฝึกอบรมอาสาสมัครที่จะมาเป็นเพื่อนผู้คลอด ให้มีทักษะการดูแลคุณแม่ ทั้งเทคนิคการนวด การประคบ การจัดท่าที่เหมาะสม และการหายใจที่ถูกวิธี ซึ่งช่วยบรรเทาความเครียดและความเจ็บปวดได้
ถึงแม้จะมีโครงการ เพื่อนผู้คลอด แต่สถิติการผ่าตัดคลอดที่โรงพยาบาลยังอยู่ที่ 51% ซึ่งสวนทางกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่า ในผู้หญิงตั้งครรภ์ 10 คน มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ต้องผ่าตัดคลอด ที่เหลือสามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย
พว.วรางคณา ธุวะคำ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ฝ่ายการพยาบาล ยอมรับว่า อัตราการผ่าคลอดของโรงพยาบาลอยู่ที่ 51% ถือว่าลดลงแล้ว จากเมื่อหลาย 10 ปีก่อนที่มีอัตราการผ่าคลอดสูงถึง 60% เลยทีเดียว หลังจากที่ได้ทำโครงการเพื่อนผู้คลอด แต่หลังจากนี้ก็จะรณรงค์อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อที่จะลดอัตราการผ่าคลอดให้มากขึ้น
เธอ ยอมรับว่า แม้ทุกวันนี้การที่คุณคุณแม่จะเลือกคลอดด้วยวิธีใดนั้นเป็นการสมัครใจ แต่สิ่งที่จะชวนให้คุณแม่ได้ตัดสินใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะคลอดเอง ก็คือเหตุผลด้านสุขภาพของลูกที่จะปลอดภัยกว่า ขณะเดียวกันผลพลอยได้ในภาพรวมคือเรื่องของงบประมาณระบบสุขภาพ
เพราะแม้ว่าทั้งการคลอดธรรมชาติ และการผ่าคลอด จะได้รับความคุ้มครองจากสิทธิบัตรทอง แต่ต้นทุนการรักษามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
- คลอดธรรมชาติ: 5,500 – 6,000 บาท
- ผ่าคลอด: 15,000 – 20,000 บาท
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้ ‘คลอดธรรมชาติ’ ไม่สำเร็จ
ข้อมูลจากฐานข้อมูล e-Claim ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบแนวโน้มที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผ่าคลอดระหว่างปี 2562-2564 โดยมีปริมาณการผ่าคลอดที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงวันทำการ สิ่งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ? (Unnecessary Caesarean Section) เช่น การเลือกวันคลอดตามฤกษ์มงคล หรือความพร้อมของหญิงตั้งครรภ์และแพทย์ที่ทำการผ่าตัด
The Active พูดคุยกับ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 โรงพยาบาลนำร่องลดอัตราการผ่าคลอด ยอมรับถึงความท้าทายในการโน้มน้าวให้คุณแม่คลอดธรรมชาติ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน
ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการผ่าคลอด
- ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย
- มารดามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
นพ.โอฬาริก ยืนยันว่า การผ่าคลอดควรทำเฉพาะกรณีที่จำเป็น เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าการคลอดธรรมชาติ ทั้งต่อแม่และทารก ซึ่งว่าที่คุณแม่ต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน และลงนามยินยอมก่อนตัดสินใจผ่าคลอด
สำหรับการผ่าคลอดตามคำร้องขอนั้น แพทย์ควรให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสม หากแพทย์ไม่เห็นด้วย ควรส่งต่อไปยังแพทย์ท่านอื่น และควรกำหนดวันผ่าตัดหลังอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ขึ้นไป
นพ.โอฬาริก บอกด้วยว่า ปัจจัยด้านเวลาและภาระงานของแพทย์อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ เช่น หากต้องเฝ้าคลอดในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลาเช้ามืด แพทย์ที่ต้องมีภารกิจผ่าตัดในเช้าวันถัดไป อาจตัดสินใจผ่าคลอดก่อนเวลาที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และทารก
“หากคืนนี้ผมอยู่เวรและพรุ่งนี้มีผ่าตัดตั้งแต่ 9 โมงเช้า แต่พบเคสที่ต้องเฝ้ารอตัดสินใจคลอดตอนตีสาม ผมอาจไม่สามารถทำได้ไหว จึงอาจเลือกผ่าคลอดในเวลา 4 ทุ่มแทน แม้จะอยู่ในจุดที่สามารถรอคลอดเองได้”
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์
มนุษย์แม่ กับ ประสบการณ์ช่วงใกล้คลอด
สำหรับคุณแม่บางคน แม้ตั้งใจกับการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ก็อาจมีเหตุปัจจัยทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการคลอดในช่วงวินาทีสุดท้ายได้เช่นกัน พว.ภิญญา โคตรนรินทร์ พยาบาลวิชาชีพในห้องคลอด โรงพยาบาลเชียงรายฯ ซึ่งเห็นการคลอดของคุณแม่หลายคนมาตลอด ทำให้เธอตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะคลอดเอง แม้จะรู้ถึงความเจ็บปวดที่รออยู่ ในช่วงวินาทีสุดท้ายก่อนคลอด เธอยอมรับว่า “เป็นความเจ็บปวดที่สุดในชีวิต” แต่สุดท้ายเธอก็สามารถคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้สำเร็จ
นั่นเป็นความตั้งใจเดียวกับ อรวรรณ สุขโข คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 เธอยอมรับว่า ตั้งแต่คลอดลูกคนแรก ได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดีเพื่อให้คลอดง่ายที่สุด ทั้งออกกำลังกาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญคือเธอบอกว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับฤกษ์ยาม แต่ในช่วงใกล้คลอด แพทย์ตัดสินใจเปลี่ยนแผนให้ต้องผ่าคลอด เนื่องจากปัจจัยด้านความปลอดภัยของแม่ และลูกในท้อง
ทั้ง 2 ประสบการณ์แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอน และความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอในช่วงใกล้คลอด แม้จะมีการเตรียมตัวมาอย่างดีแค่ไหนก็ตาม
บทส่งท้าย
นับเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับการลดอัตราการผ่าคลอดในประเทศไทยให้ใกล้เคียงคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ไม่เกิน 15%) ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง
นอกจากการรณรงค์ และให้ข้อมูลครบถ้วนแก่คุณแม่ตั้งครรภ์เกี่ยวกับข้อดี และความปลอดภัยของการคลอดธรรมชาติแล้ว ยังอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวปฏิบัติ ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแม่และลูกในระยะยาว
หน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จำเป็นต้องพัฒนานโยบายสนับสนุน เช่น การขยายโครงการเพื่อนผู้คลอด และให้แรงจูงใจแก่โรงพยาบาลที่ลดอัตราการผ่าคลอดได้สำเร็จ ที่สำคัญคือการจัดการทรัพยากร เช่น การเพิ่มบุคลากรที่เฝ้าคลอดในเวลาที่เหมาะสม ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความกดดันด้านเวลาในการดูแลผู้ป่วย
หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โอกาสลดอัตราการผ่าคลอดในไทยก็ย่อมเป็นไปได้ เพราะไม่เพียงเหตุผลเรื่องสุขภาพของแม่และลูกเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนของระบบสุขภาพในระยะยาว พร้อมทั้งอาจเป็นอีกส่วนสำคัญของการสร้างความยั่งยืนต่อระบบสาธารณสุขของประเทศได้อีกด้วย