ป่วยซึมเศร้า รอหมอนาน กินยาแล้วแต่ไม่หายขาด?

รอบตัวเราจะมีคนรู้จักมากกว่า 1 คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า… ถึงเวลาแล้วที่ระบบสาธารณสุขต้องตั้งรับ

“มันเริ่มหนักขึ้น หนักขึ้น จนอีกนิดเดียวผมจะฆ่าตัวตายแล้ว ตอนนั้นมันอาจจะเพียงแค่เสี้ยววินาทีที่ทำให้คิดว่า… ไม่ได้แล้วต้องหาคนช่วย” 

นี่คือสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่า “กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล“ หรือ “จิมมี่” เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จึงตัดสินใจเริ่มเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนเป็นครั้งแรก​ เมื่อ 3 ปีก่อน

 กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

“ผมโทรไปเป็นสิบโรงพยาบาลของรัฐ คิวเต็มรอข้ามเดือน เรารู้สึกว่ารอขนาดนั้นเราอาจตายก่อน จึงไปที่โรงพยาบาลเอกชนก่อน คือแค่ได้พบหมอ รับยาเพื่อชะลอเวลา  จนกว่าได้คิวจากโรงพยาบาลรัฐ”

หลังได้คุยกับจิตแพทย์โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งนานกว่า 30 นาที จิมมี่ ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง และป่วยมานานแล้วตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นแต่ไม่ได้รับการรักษา

เขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายขณะรักษากับโรงพยาบาลเอกชนสูงเกือบเดือนละ 4,000 บาท  จนเมื่อได้คิวจากโรงพยาบาลรัฐ ทำให้สามารถเบิกค่ารักษาตามสิทธิบัตรทอง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่กว่าจะได้รับการรักษากับโรงพยาบาลรัฐ​นั้นไม่ง่ายเลย เพราะต้องรอคิวพบจิตแพทย์นานกว่า 1 เดือน​ 

ระบบสาธารณสุขที่ยังไม่รองรับกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้ป่วยคนนี้ สะท้อนออกมาในฐานะผู้รับบริการ 

ขณะที่อีกปัญหาสำคัญคือ “ยารักษาโรคซึมเศร้า” ที่อยู่ในบัญชียาหลัก ไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้นแต่ก็ไม่ทำให้แย่ลง…

“เรารู้ว่ายารักษาโรคซึมเศร้าที่อยู่ในบัญชียาหลัก ที่เบิกได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่ยาที่ดีนัก มันเหมือนแค่ช่วยให้อาการทรงตัว  แต่มันไม่หายขาด แต่ตอนที่ไปใช้ยานอกบัญชีกับโรงพยาบาลเอกชน ช่วงนั้นไม่มีอาการเศร้าเลย ไม่เครียดไม่กังวล” 

ความหวังของผู้ป่วยทุกคน คือต้องการหายขาดจากโรคที่เป็นอยู่ ขณะที่ตัวยาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอยู่นอกบัญชียาหลักมีราคาสูง ปัจจุบัน จิมมี่ ยังอยู่ระหว่างการรักษาโรคซึมเศร้า เขาหวังว่าการที่ออกมาเป็นตัวแทนของผู้ป่วยซึมเศร้าสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ จะช่วยระบบสาธารณสุขตอบสนองต่อผู้ป่วยซึมเศร้าได้ดีขึ้น 

ราคาที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องจ่าย 

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปี 2565 ไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสะสม ในประเทศกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 คน ต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี 

ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าสังคมมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า มองว่าเป็นภาวะของอารมณ์ที่สามารถจัดการได้ และเป็นเรื่องส่วนบุคคล ต่อมาในภายหลังถูกอธิบายว่าอาการดังกล่าว เป็นอาการป่วย ที่สามารถใช้ยาในการรักษาให้หายได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้าเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในสังคมมากขึ้น ผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และกล้าพบแพทย์มากขึ้น แต่ “ร็อกเกตมีเดียแล็บ” สำรวจพบว่าสัดส่วนการใช้สิทธิ์รักษาสุขภาพของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดคือ ชำระเอง รองลงมาเป็นบัตรทอง หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประกันสังคมตามลำดับ 

คำถามก็คือ ทำไมผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จึงเลือกที่จะจ่ายเงินในการรักษาเอง ซึ่งอย่างต่ำต้องจ่าย 2,000 บาทสูงสุด 10,000 บาทในการพบจิตแพทย์ในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ ยังสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่เคยหยุดการรักษากลางคันถึง 46% โดยหนึ่งในสาเหตุที่หยุดการรักษาก็คือ ค่าใช้จ่ายสูง 19.2% และหยุดรักษาเพราะผลข้างเคียงจากยา 6.3% 

ขณะที่สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องการเป็น 5 อันดับแรก อันดับ 1 คือราคายาที่ถูกลง  การทำงานที่ยืดหยุ่น ทำประกันส่วนบุคคลได้  มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการบำบัดเร่งด่วน และ สามารถใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลในการพบจิตแพทย์นักจิตวิทยาได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

จิตแพทย์เผยผู้ป่วยซึมเศร้า 20% ไม่ตอบสนองยาในบัญชียาหลัก

นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลสำคัญ กับ The Active ถึงการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติว่า จะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีกลุ่มนี้ราว 20% ขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 70-80% ตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักได้ดี 

แต่การจ่ายยาของแพทย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และสามารถพิจารณาจ่ายยานอกบัญชีได้ตามรายกรณี ซึ่งหากแพทย์ระบุลงความเห็นไปก็จะสามารถเบิกตามสิทธิบัตรได้เช่นกัน แต่โดยหลักแล้วแพทย์ จะใช้ยาที่เบิกได้ตามบัญชียาหลักเป็นอันดับแรกก่อน  

ถ้าฟังจากจิตแพทย์ท่านนี้ก็จะพบว่าจะมี 20% ของผู้ป่วยที่ไม่สามารถตอบสนองกับยาในบัญชียาหลักได้ แล้วก็ไม่แน่ว่าผู้ป่วยในถึง 80% ที่ตอบสนองต่อยาเหล่านี้ จะรักษาได้หายขาดหรือไม่ และหากมีผลข้างเคียงก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยหยุดตัดสินใจหยุดการรักษาไปกลางคัน 

เปิดรายชื่อ 4 ยาซึมเศร้า กรมสุขภาพจิตเสนอขึ้นบัญชียาหลัก 

The Active ไปสอบถามเรื่องนี้กับ นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่อยู่ระหว่างผลักดันบัญชียาซึมเศร้าบางชนิดให้ขึ้นสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ บอกว่าปัจจุบันก็มีตัวยารุ่นใหม่ๆ อย่างเช่น​ เซอทราลีน​ ฟลูออกซิทีน​ หรือ โปรแซค​ ซึ่ง2​ ตัวนี้​ อยู่ใน บัญชียาหลักอยู่แล้วสามารถจะสั่งจ่ายได้ 

อย่างไรก็ตาม ยาในบัญชียาหลักบางตัว ก็ยังมีเรื่องผลข้างเคียง เช่น ระบบทางเดินอาหาร อาเจียน เบื่ออาหาร ประกอบกับมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยที่มีโรคหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน ลมชัก โรคไต อาจจะใช้ยาเหล่านี้ไม่ได้​ 

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายชื่อยารักษาโรคซึมเศร้าที่อยู่นอกบัญชียาหลัก 4 ตัวที่จะเสนอขึ้นบัญชียาหลักให้สามารถเบิกได้ตามสิทธิบัตรทอง ได้แก่ โอแลนซาปีน, อะริพิพราโซล, เวนลาฟาซีน และ เมทิลเฟนิเดต 

ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เปิดเผยกับเราว่า ไม่ขัดข้องหากแพทย์จะจ่ายยานอกบัญชีหากมีความเห็นแพทย์ที่เพียงพอในส่วนของการขึ้นทะเบียนยาหลัก ซึ่งจะทำคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติยังรอคอยข้อมูลเชิงวิชาการที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะเสนอเข้ามาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ทางออกระบบสาธารณสุข รับมือกับคลื่นผู้ป่วยซึมเศร้า ควรเป็นอย่างไร? 

ดูเหมือนว่าโรคซึมเศร้ากำลังกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งในระบบสาธารณสุข หลังจากที่แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2556 ประเทศไทยสำรวจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขณะนั้นพบว่ามีเพียง 4 พันกว่าคนและทำการสำรวจเชิงรุกต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2560 พบว่าผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 2 แสนคน 

จนกระทั่งในปีนี้ พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสะสมถึง 1.5 ล้านคน แต่ภาพรวมทั้งประเทศมีจิตแพทย์อยู่ทั้งหมด 845 คนคิดเป็นอัตราส่วน 1.28 คนต่ออัดต่อประชากร 1 แสนคนเท่านั้น ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ที่มีจิตแพทย์ 7.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน 

จิตแพทย์มองว่า แนวทางในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ด้วยหลักการป้องกันและควบคุมโรค ที่เริ่มต้นจากความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว การเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน ยังเป็นสิ่งที่ต้องรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงเชิงสังคมที่ต้องทำควบคู่กันไป  

ขณะที่การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถเพิ่มได้จำนวนมาก ๆ เหมือนแพทย์สาขาอื่น ๆ เนื่องจาก กระบวนการผลิตจิตแพทย์ที่ทำได้ยากและใช้เวลานาน จิตแพทย์ผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียน 3 ปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 ปี และสำหรับจิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์ประมาณ 3 คน ด้วยอัตราแบบนี้ทำให้เพิ่มจำนวนจิตแพทย์ได้ช้า ไม่เหมือนกับสาขาอื่น ๆ ที่ผลิตได้เยอะกว่า เช่น ศัลยศาสตร์ สถาบันหนึ่งผลิตได้ปีละ 30 คน

ดังนั้น การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาให้หายขาดได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักแห่งชาติ ลดภาระค่าใช้จ่ายแก้ผู้ป่วย น่าจะเป็นสิ่งที่ระบบสาธารณสุขขณะนี้สามารถทำได้เร็วที่สุด เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากภาวะสังคมโซเชียลมีเดีย เศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัวกดดัน การแข่งขันสูง ความเหลื่อมล้ำสูง การตั้งรับโดยการรักษาอาการป่วยโรคซึมเศร้า จึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดความสูญเสีย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS