การอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขบวนพาเหรดของ ‘งานฟุตบอลประเพณีฯ’ ที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฎในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันที่ 28 ธ.ค. 2507 โดยมีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน
นั่นหมายความว่าประเพณีดังกล่าวมีอายุราว ๆ 60 ปี และการอัญเชิญพระเกี้ยว ยังถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่เสมอ อย่างปี 2520 ก็เป็นลักษณะของขบวนรถ หรือในปี 2527 ก็ใช้ช้างอัญเชิญพระเกี้ยว การอัญเชิญพระเกี้ยวจึงสามารถทำได้หลายวิธี
และเฉพาะอย่างยิ่งกับงานบอลฯ ปีนี้ที่ทุก ๆ อย่างไม่เหมือนเดิม รูปแบบการอัญเชิญพระเกี้ยวก็ถูกเปลี่ยนไปอีกครั้ง แต่เปลี่ยนไปในทางที่ ‘เรียบง่าย’ ขึ้น ด้วยการใช้รถกอล์ฟไฟฟ้าอัญเชิญพระเกี้ยว แทนการใช้แรงงานแบกเสลี่ยง จนบางกลุ่มใช้คำว่า ‘มักง่าย’ มาวิพากษ์วิจารณ์กันเลยทีเดียว
รวมไปถึงรูปแบบการแปรอักษรก็เปลี่ยนไปเมื่อใช้เทคโนโลยีจอ LED แทนแรงงานคน, ส่วนขบวนล้อการเมืองซึ่งเคยเป็นที่เลื่องลือว่าเจ็บแสบที่สุด ปีนี้ผู้คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจืดชืด กัดไม่เจ็บเหมือนที่เคยมีมา ยังมีการยกเลิกเชียร์หลีดเดอร์ คทากร ฯลฯ จนทำให้บรรยากาศงานซบเซากว่าที่เคยเป็น ท้ายที่สุดงานบอลฯ ปีนี้ ก็ถูกพูดถึงโดยเฉพาะในโลกออนไลน์อย่างดุเดือดว่า ‘งานบอลฯ ปีนี้คิดใหญ่ แต่ทำไม่ถึง’
ทำไมต้องทำให้ถึง ? ทำไมต้องคาดหวังให้มันอลังการ ? ในเมื่อปีนี้ไม่ใช่การจัดงาน ‘ฟุตบอลประเพณีฯ’ แบบที่ผ่านมา หากแต่เป็นการจัดงาน ‘ฟุตบอลสานสัมพันธ์ฯ’ ซึ่งถูกออกแบบกันคนละจุดประสงค์โดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะในฐานะศิษฐ์เก่า หรือเป็นใครก็ตามที่สนใจกับข่าวคราวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับงานบอลฯ ที่ยิ่งใหญ่นี้ และคาดหวังให้งานออกมาดีกว่านี้ อะไร ? ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น เพราะเราเคยเห็นงานบอลฯ ที่ดูดีกว่านี้ หรือเป็นเพราะเราไม่อยากให้สถาบันที่เรารัก น้อยหน้ากว่าใคร ?
The Active ชวนคุยประเด็นที่คนนอกก็สงสัย คนในก็งงใจไปตาม ๆ กันกับ ‘เคี้ยง – อภิสิทธิ์ ฉวานนท์’ ว่าที่นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปแล้วงานบอลฯ มีไว้เพื่อสานสัมพันธ์ ? เพื่อสืบสานประเพณี ? หรือมีเพื่อให้มันมีกันแน่ ?
ทำไม ? งานบอลฯ ปีนี้ ไม่เหมือนเดิม
เคี้ยง เริ่มบทสนทนาโดยเกริ่นความเป็นมาว่าจากเดิมจะเป็น ‘งานฟุตบอลประเพณี’ จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย แต่ปีนี้ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาที่วันจัดงานบอลใกล้กับวันครบรอบสถาปนาจุฬาฯ ทำให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดงานบอลฯ จนเกิดเป็น ‘งานฟุตบอลสานสัมพันธ์’ ที่เกิดจากความร่วมมือของนิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย จัดเป็นงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ขึ้น มีจุดประสงค์ตามชื่อคือ การสานสัมพันธ์ความสัมพันธ์ระหว่างจุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการทำงานร่วมกันและกีฬา อีกทั้งยังเป็นไปเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่หายไปในช่วงโควิด-19 ของนิสิตนักศึกษาด้วย
ส่วน ‘งานฟุตบอลประเพณี‘ เดาว่าคงมีจุดประสงค์ตามชื่อคือการสืบสานประเพณี เน้นหลักไปที่พิธีการ ความศักดิ์สิทธิ์ นำเสนอความยิ่งใหญ่ของสองมหาวิทยาลัย คงแตกต่างกันประมาณนี้ของ 2 งาน
‘อุปสรรคใหม่’ ของการจัดงานบอลฯ ปีนี้ ?
ว่าที่นายก อบจ. คนใหม่ ที่มีส่วนร่วมกับการประมูลจัดงานบางส่วน เล่าว่า แน่นอนการจัดโดยสมาคมศิษย์เก่าฯ เราก็มีข้อจำกัดแบบนึง มันคือความต่างกันทางด้านอายุ มุมมอง เด็กรุ่นใหม่อยากได้อย่างหนึ่ง ศิษย์เก่าก็อยากได้อย่างหนึ่ง เราอาจจะมองไม่เหมือนกัน เชื่อไม่เหมือนกัน แต่เรายังมีเป้าหมายเดียวกันคือการทำเพื่อมหาวิทยาลัยของตัวเอง เพราะไม่ว่าจะศิษย์เก่า หรือศิษย์ปัจจุบัน สายสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องมันเชื่อมเราเข้าหากัน เรามีสถานะที่ทับซ้อนกัน
แต่การจัดงานโดยไร้ศิษย์เก่า อาศัยการสนับสนุนจากกลุ่มทุน – เอกชน มันสร้างสภาวะที่ต่างไปจากเดิม เราได้รับการสนับสนุนจากคนที่ไม่มีจุดร่วมนั้นแล้ว เขาเอาเงินมาให้เรา ไม่ใช่แค่การสนับสนุนให้เปล่า เขาต้องการพื้นที่สื่อ ต้องการชื่อเสียง ต้องการเพียงเสียงชื่นชม ต่อยอดไปเป็นกำไร
การเปลี่ยนจากสมาคมศิษย์เก่า ไปสู่ สปอนเซอร์ กลุ่มทุน
เคี้ยง – อภิสิทธิ์ ฉวานนท์
มันคือการเปลี่ยนจากกรอบเดิม ไปสู่กรอบใหม่
และเป็นกรอบใหม่ที่ครอบเรามากกว่าเดิมอีก
ทำไม ? ฝ่ายอนุรักษ์ – ฝ่ายก้าวหน้า จึงหนีจากเรื่อง ‘พระเกี้ยว’ ไม่พ้น ?
“งานฟุตบอลมันไม่ใช่แค่การแบกพระเกี้ยว มันคือการแบกศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัย” เคี้ยง ย้ำชัดเจน พร้อมบอกต่อไม่ว่าจะมุมอนุรักษ์ หรือมุมก้าวหน้า 2 กลุ่มนี้ถูกครอบด้วย ‘แนวคิดสถาบันนิยม‘ เหมือนกัน เขามองในเรื่องเดียวกันคือสถาบันฉันต้องยิ่งใหญ่ ต้องปังกว่าธรรมศาสตร์ แต่ตีความความยิ่งใหญ่ในคนละแบบ มุมอนุรักษ์อาจจะตีความว่ายิ่งใหญ่ คือยิ่งใหญ่แบบพิธีการ แต่มุมก้าวหน้า อาจจะมองเรื่องความสวยงาม และยังต้องเอาชนะความเชื่อแบบมุมอนุรักษ์ให้ได้
หากจะทำใหม่ ต้องทำให้ใหญ่ ต้องทำให้สวย ต้องปังกว่าแบบที่คนรุ่นเก่าเชื่อ มันคือความพยายามเอาชนะในแบบที่ตัวเองเชื่อ แต่สุดท้ายมันคือเรื่องของ ‘แนวคิดสถาบันนิยม‘
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ‘แนวคิดสถาบันนิยม‘ คือเรื่องปกติบนโลกที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ และหลาย ๆ ที่ ก็หยิบสถาบันนิยมนี้มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการแข่งขันเองก็มี เพียงแต่ของจุฬาฯ ไม่ได้เกิดแค่ประโยชน์ แต่เกิดโทษเพราะมันกลายเป็นแนวคิด ‘สถาบันนิยมสุดขั้ว’ มีคนคลั่งพระเกี้ยว เห็นรถกอล์ฟแล้วเขี้ยวงอก ตาแดง (หัวเราะ)
แต่จะสรุปว่ามันคือการคลั่งจุฬาฯ ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะบางคนที่คลั่ง เขาก็ไม่ได้เรียนจุฬาฯ แต่เขายึดถือพระเกี้ยวในฐานะตัวแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องนี้ยังสรุปได้ไม่แน่ชัด แต่คิดว่าสถาบันนิยมก็ไม่ได้แย่ แต่สถาบันนิยมของจุฬาฯ สุดขั้วเกินไป มีคนที่พร้อมทำร้ายคนอื่นจริง ๆ เพื่อปกป้องพระเกี้ยว เราว่า มันคือสถาบันนิยมที่ล้ำเส้นเข้าไปในเขตอันตราย
สำหรับ เคี้ยง แล้วในประเด็นที่ถูกกดดันจากทั้ง 2 ทาง เขามองว่า นี่คือสภาวะที่ลำบากของ อบจ. ชุดจัดงานบอล เพราะหันไปทางอนุรักษ์ก็โดนด่า หันไปทางก้าวหน้าก็โดนติ และทาง อบจ. ก็มีจุดยืนไม่หนักแน่นกับเรื่องนี้ อาจจะต้องชัดในประเด็นว่าสื่อสารอะไร และสื่อสารเรื่องจุดประสงค์ของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และงานบอลทั้งหมดเพื่อให้สังคมกระจ่างมากขึ้น
โพลความเห็นศิษย์เก่าฯ สะท้อนอะไร ?
เคี้ยง หัวเราะ พร้อมกับบอกว่า เป็นเรื่องตลกดี แม้แต่คนมาตอบโพลยังน้อย เรารวบรวมศิษย์เก่าได้เพียง 104 คน (ณ วันที่ 4 เม.ย. 67) แต่คนที่ตอบว่า อาสามาแบกเสลี่ยงนั้น น้อยกว่าคือมีเพียง 4 คนเท่านั้น และเรายังสอบถามความรู้สึกถูกย่ำยีจิตใจหลังเห็นขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวบนรถกอล์ฟหรือไม่ (0 คือไม่รู้สึกถูกย่ำยีใด ๆ, 10 คือรู้สึกเป็นอย่างมากที่สุด) เกือบทุกคนก็ให้ 0 คะแนนกันทั้งนั้น มีแค่บางคนที่ให้ 9 – 10 คะแนน
ดังนั้นก็พอตีความได้ว่าศิษย์เก่าไม่ได้คิดอะไร ยิ่งพอรู้แนวคิด เหตุผล ก็ยิ่งเข้าใจ แล้วเราเป็นเด็ก เป็นรุ่นน้อง มันก็ผิดพลาดกันได้ เอาใหม่กันได้ เพียงแต่จะมีศิษย์เก่าอนุรักษ์นิยมสุดขั้วบางคนเท่านั้นเองที่รู้สึกอะไรกับมันมากเป็นพิเศษ และรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อสนองคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ
‘ล้อการเมือง’ สิ้นมนต์ขลัง ไม่คม!
เพราะเงื่อนไขอื่น หรือเด็กทำไม่ถึง ?
อย่างที่ว่าที่นายก อบจ. คนใหม่บอกไปว่า มันคือข้อจำกัดของกลุ่มทุนที่เขาต้องป้องกันความเสี่ยงจากชื่อเสียงของบริษัทตัวเอง แต่เราว่านั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือตัวนิสิตที่จัดงานเอง ที่สื่อสารเรื่องการล้อการเมืองออกมาได้ไม่คมจริง ๆ เพราะหันไปดูทางธรรมศาสตร์ เขาเล่นเรื่องนี้ได้คมกว่าเรา (จุฬาฯ) มาก ทั้งเรื่องสิทธิทางเพศ สิทธิทางการเมือง แซวฝ่ายค้าน แซวฝ่ายรัฐบาล แซวจุฬาฯ เพราะเขาคุ้นชินกับการเมืองมากกว่า นี่คือสนามของเขา
เขายังยอมรับว่า ทางจุฬาฯ เอง เรามีมุมมองทางด้านการเมืองน้อย เราไม่ได้พูดเรื่องนี้ในชีวิตประจำวันกัน แม้คุณจะเป็นเด็กรัฐศาสตร์เองก็ตามที เพราะในมหาวิทยาลัยมันไม่ได้พูดเรื่องนี้ได้อย่างเสรี เราโตมากับแค่สภาพการเมืองที่มันเป็นแค่ขาวกับดำ ฝั่งดำคือเผด็จการ รัฐประหาร ทหาร และฝั่งขาวคือประชาชน เราจึงด่าทหารได้เต็มปาก เพราะเรารู้ว่าเขาผิดอะไร แต่พอเป็นสภาวะการเมืองปัจจุบัน พอจะแซวเพื่อไทยก็กลัวทัวร์นางแบกด่า พอจะแซวติ่งส้มก็กลัวด้อมส้มมาลง มันเลยขาดมุมมองว่าจะล้อการเมืองเรื่องไหน เพราะมันไม่ใช่ขาวกับดำแบบที่เราคุ้นชิน มันคือสีเทาที่เราไม่เคยเจอ สุดท้ายมันเลยไปจบแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องเพศที่พยายามไม่กระทบใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ไม่สร้าง impact อะไรเลย
แล้วทำไม ? คนในสังคมต้องจริงจังกับ ‘งานบอลฯ’ อย่างเอาเป็นเอาตาย
เคี้ยง ตอบอย่างมั่นใจว่า เพราะมันคือความยิ่งใหญ่ ย้ำว่า 2 สถาบันนี้มีศิษย์เก่ากระจายอยู่ทั่วประเทศ บางคนยึดติดกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อนตัวเองได้เข้ามหาวิทยาลัยอีกด้วยซ้ำ ซ้อมร้องมหาจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่อยู่มัธยมฯ จนเรียนจบมาก็ยังยึดติดกับสถาบันอยู่ ประกาศให้โลกรู้ว่าฉันเรียนที่ไหน ส่งต่อค่านิยมการยึดติดกับสถาบันให้รุ่นต่อไป และคาดหวังว่าคนอื่นจะต้องยึดติดแบบเดียวกับฉัน
แต่ถ้าพูดกันตามตรง ทางฝั่งจุฬาฯ ยิ่งเอาเป็นเอาตายเป็นพิเศษ จะเห็นว่าไอ้คนที่เดือดร้อนกับเรื่องพระเกี้ยวมีสักกี่คนเชียวที่จบจุฬาฯ เพราะปัญหาคือเหง้าของจุฬาฯ เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากจนเกินไป จะยกเลิกบังคับชุดนิสิต ก็ทำไม่ได้เพราะเขาว่ามันคือชุดพระราชทาน จะปรับเปลี่ยนขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวก็ไม่ได้ เพราะเขาว่ามันคือสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5
เมื่อเป็นอย่างนั้นทุกองค์ประกอบในจุฬาฯ มันมีคุณค่าในฐานะตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจไม่ใช่ตัวแทนของประชาคมจุฬาฯ ที่ทุกคนในสังคมเคารพนับถือ แล้วสถานะแบบนี้ของจุฬาฯ เองก็เป็นเรื่องท้าทายของคนในประชาคมมาก เพราะเรารู้ว่ามีคนจับตาเราอยู่ สิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ส่งผลกับเรา มันส่งผลกับคนอื่นด้วย ยิ่งทำให้ขยับตัวยาก เปลี่ยนแปลงยาก และสภาวะเหล่านี้คนรุ่นใหม่จะเข้าใจได้ยากมากกว่า เพราะเขายึดติดกับอะไรน้อยกว่า ไม่เข้มข้นเท่า
สุดท้ายวันนึง ‘จุฬาฯ’ จะเป็นแค่ ‘จุฬาฯ สำหรับคนนอก’
เคี้ยง – อภิสิทธิ์ ฉวานนท์
ที่คนใน และประชาคมเอง หรืออย่างน้อยคนรุ่นใหม่
เขาจะไม่สนใจแล้ว
คนนอกคาดหวัง แต่คนในหมดใจทำ ในฐานะว่าที่นายกฯ อบจ. จะรับมืออย่างไร ?
ในมุมมองของ เคี้ยง ยังคงเชื่อว่า ต้องพยายามสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้น สังเกตว่า ตอนที่จุฬาฯ ยังไม่ออกมาชี้แจงว่าขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวที่ทำมีแนวคิดอะไร คนก็รุมด่ากันมาก แต่พอสื่อสารไปแล้วว่าทำด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่เอาพระเกี้ยวไปวางกลางกองขยะ แต่มันคือตัวแทนของศาสตร์ต่าง ๆ ในจุฬาฯ คนก็เข้าใจมากขึ้น หันมาให้กำลังใจ ติชมเพียงเรื่องความสวยงาม และด่าทอน้อยลง แม้จะยังหลงเหลือฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้วบางคนที่ยังด่าอยู่
เพราะอย่างนั้นเราคิดว่าต้องสื่อสารความตั้งใจให้สังคม และคนที่คาดหวังได้รับทราบว่าเราตั้งใจทำอะไรอยู่ และต้องทำจุดประสงค์ของงานบอลให้ชัด ถ้าจะสานสัมพันธ์ อะไรที่เราจะให้ความสำคัญที่สุด อะไรที่เราให้ความสำคัญรองลงมา ยอมรับว่าอะไรที่เราไม่ถนัด และรับฟังคำติชมของประชาคมจุฬาฯ และสังคม เราคิดว่ากระบวนการสื่อสารเหล่านั้นจะสร้างประชาคมจุฬาฯ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นหนึ่งเดียวกับงานบอล รวมถึงสังคมจะเข้าใจเรามากขึ้นและลดระดับความคาดหวังลง
คิดอย่างไร ? กับกระแสคว่ำบาตรเด็กจุฬาฯ ข้อหาหมิ่นประเพณี
เคี้ยง ยังเชื่อว่า สังคมบอยคอตจุฬาฯ ไม่ได้หรอก เพราะการทำงานเพื่อ serve สังคมมันคือหน้าที่พื้นฐานของมหาวิทยาลัยรัฐ เราผลิตงานวิจัย สร้างนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งมันเป็นแบบนี้มาตลอด และทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าพอจุฬาฯ มันไปผูกติดกับคุณค่าที่ไม่ได้มาจากผลงาน แต่เป็นคุณค่าด้านประเพณี มันก็เป็นธรรมดาที่คนภายนอกจะคาดหวังให้ประชาคมจุฬาฯ ทุกคนต้องสืบสานคุณค่าด้านประเพณี
“ในมุมเรา การที่สังคมจะไม่ยอมมองคุณค่าจากผลงาน แต่ยึดติดจุฬาฯ กับคุณค่าประเพณีเอง ก็คงโทษสังคมไปเสียทั้งหมดไม่ได้ คงต้องกลับมาโทษจุฬาฯ ด้วยที่เป็นตัวต้นเรื่องในการผูกติดตัวเองกับประเพณีตั้งแต่แรก”
สุดท้าย จริง ๆ มันก็คงไม่ผิดหรอกในสายตาผู้บริหารจุฬาฯ เพราะเขาก็คงชอบแบบนี้ เพียงแต่มันไม่ใช่สถานะที่เหมาะกับความคิดสร้างสรรค์ของนิสิต ฉะนั้นในการทำงานของ อบจ. เท่าที่เราทำได้ คงอยากทำให้มันมีพื้นที่เล็ก ๆ ในจุฬาฯ ที่ไม่ยึดติดกับประเพณี เป็นพื้นที่ทดลองปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของนิสิต
มีปัญหาของจุฬาฯ เรื่องไหน ? ที่มากไปกว่า ‘งานบอลฯ’
“งานบอลมันเป็นแค่ปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ที่มันดังเพราะมันเชื่อมโยงกับคุณค่าทั่วไปที่คนในสังคมยึดถือ“ เคี้ยง ย้ำ แต่ในจุฬาฯ เองก็มีอีกหลายปัญหาที่คนไม่สนใจ เพียงเพราะมันไม่ใช่เรื่องของคุณค่าที่เขายึดถือ เช่น ปัญหาการไล่ที่ชุมชนสามย่านของจุฬาฯ ทั้งที่ความจริงศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลืองเป็นเคสที่น่าหดหู่มาก
จุฬาฯ ฟ้องผู้ดูแลศาลเจ้าหลักร้อยล้าน แต่พอมันไม่ใช่สิ่งที่เชื่อมโยงกับคุณค่าที่นับถือผู้คนก็ไม่ค่อยสนใจกัน หรือแม้กระทั่งปัญหาการริดรอนเสรีภาพการแสดงออกในพื้นที่จุฬาฯ เวลามีแขวนป้ายทีไร ก็โดนเก็บไวมาก หรือจัดม็อบที จุฬาฯ ก็เรียกตำรวจเข้ามาในมหาวิทยาลัย อะไรแบบนี้คนไม่ค่อยสนใจ แต่มันส่งผลกระทบไปจนถึงงานบอลอย่างที่บอกว่าเราพูดเรื่องการเมืองได้น้อย ขบวนสะท้อนสังคมจึงทำไม่ถึง แต่คนก็ไม่สนใจ
มันมีชีวิตและผู้คนอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ เรายังมีนิสิตที่ถูกเรียกคุยเพราะเรื่องยกเลิกบังคับชุดนิสิต เรายังมีศาลเจ้าแม่ทับทิมที่โดนไล่ ถูกฟ้อง
เคี้ยง – อภิสิทธิ์ ฉวานนท์
ตลอดจนต้องจับตากระบวนการแต่งตั้งหาอธิการบดีคนใหม่
…จุฬาฯ มันมีเรื่องที่ต้องสนใจมากกว่าแค่พระเกี้ยวจริง ๆ
เพราะมหาวิทยาลัยอนุญาตให้เรียนรู้ข้อผิดพลาด
โปรดอย่าลืมว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัย คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของบรรดานักศึกษา พวกเขาสามารถลองผิด – ลองถูกได้ บนความเชื่อหรือสมมติฐานใด ๆ ก็ตามที่เขาเลือกจะเชื่อ (และหลังจากนั้นเขาจะยังเชื่ออยู่หรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของเขาเอง) ทุกความสำเร็จและข้อผิดพลาด ล้วนเป็นบทเรียนและเป็นแรงผลักให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้น เป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะมากขึ้น แต่กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ยาก หากพื้นที่ทดลองนั้นไม่ปลอดภัย ไม่เป็นส่วนตัว หรือไม่เปิดกว้างมากพอ
แน่นอนว่าการแสดงความเห็นไม่พอใจ การตำหนิ ติเตียน หรือการโต้แย้ง ย่อมกระทำได้ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสาธารณะประโยชน์ ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง และพวกเขาในฐานะผู้เล่าเรียน ก็จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ และต้องรับฟังความเห็นของสาธารณชนด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการศึกษา การพัฒนาผู้เรียนให้ตระหนักต่อสังคม มิใช่การหวังทำลายล้าง ตีตรา สร้างมลทิน หรือตัดโอกาสไม่ให้พวกเขาได้เรียนรู้อีกต่อไป
เคี้ยง ทิ้งท้ายว่า ไม่เกี่ยวที่ถูกมองเป็นสถาบันปัญญาชน เป็นสถาบันอันดับหนึ่ง แล้วจะต้องเก่ง และดีพร้อมเสมอไป เพราะถ้าเช่นนั้นแล้วคงไม่จำเป็นที่จะต้องมา ‘ศึกษา’ อะไรอีก สิ่งสำคัญคือ เราสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ และจะดีมากขึ้นไปอีก ถ้าเราลองหันหน้ามาคุยกันถึงหนทางในการพัฒนา แก้ไข หรือต่อยอดร่วมกัน สังคมจะพบโอกาสสู่ความเป็นได้ใหม่ ๆ นับไม่ถ้วน
เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของงานบอลฯ แต่หมายถึงทุกเรื่องในสังคม