Corporate America : อุปสรรคนโยบายลดโลกร้อนของ “โจ ไบเดน”

1 ใน 17 คำสั่งแรก ที่ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ใช้อำนาจของผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง (Executive order) ลงนามทันที หลังเสร็จสิ้นพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 คือ การนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วม ความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement อีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ในยุค “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ประกาศถอนตัวเมื่อปี 2560 ซึ่งเพิ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563

Paris Agreement เป็นความตกลงตามกรอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว มีขึ้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สาระสำคัญของข้อตกลงปารีส คือ กำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายหลักของอนุสัญญาฯ คือ ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และยังต้องพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมด้วย โดยมาตรการนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2563

ก่อนเข้าร่วมข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2560 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก (อันดับหนึ่ง คือ จีน) ทำให้การประกาศกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสของ ไบเดน หลังการประกาศถอนตัวเพิ่งมีผลเพียง 77 วัน จึงเรียกได้ว่าสร้างความหวังให้โลกเลยก็ว่าได้

The Active ชวน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์แนวโน้มความหวังของโลก หลัง ไบเดน ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว   

นโยบายโลกร้อนของไบเดน ใน Corporate America

ธารา กล่าวว่า แม้จะเห็นความตั้งใจที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่คำถามสำคัญ คือ ไบเดน จะสามารถปฏิบัติได้จริงตามนโยบายที่ประกาศออกมาหรือไม่ ภายใต้ระบบการเมืองอเมริกาที่เป็นอยู่ในขณะนี้

“เรื่องการกลับไปลงนามในความตกลงปารีสไม่ใช่ประเด็น ยังไงก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็มีคำถามว่า จะมีรูปธรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า อิทธิพลของบรรษัทและอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ รวมถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเป็นบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครต ก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเงินของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล”

ธารา ยกตัวอย่างกรณีที่รายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไบเดนนั้นรวม ทอม วิลเซ็ค ในฐานเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) โดย ทอม เคยเป็นรัฐมนตรีเกษตรในสมัยโอบามา 2 สมัย (2552-2560) และเขาได้รับสมญาว่า “มิสเตอร์มอนซานโต้”  เนื่องจากผลักดันนโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ เช่น การอนุมัติให้มีการปลูกจีเอ็มโอชนิดใหม่ ๆ มากกว่าที่รัฐมนตรีคนใดเคยทำมาก่อน

“เห็นได้ชัดว่า สุดท้าย ไบเดน ก็ต้อง “เล่น” การเมือง โดยหาสมดุลระหว่างนโยบายที่หาเสียงไว้กับความเป็นจริงทางการเมือง”

ส่วนเหตุที่ ไบเดน ประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายแรก ๆ ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดนโยบายยุคอดีตประธานาธิบดีโอบามา และยังมี Climate Activists ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ยุคนั้น เข้าไปมีส่วนเสนอแนะต่อร่างนโยบายในครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นโยบายลดโลกร้อนของ ไบเดน ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะไปผนวกอยู่กับนโยบายอื่น ๆ เช่น นโยบายต่างประเทศ (ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีโลก) นโยบายเศรษฐกิจ (การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายโลกร้อน) รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเพื่อลดกระแส กลุ่มผู้ปฏิเสธโลกร้อน ประกอบกับคนอเมริกันรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น

ซึ่งนอกจากการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส ไบเดน ยังมีอีกหลายนโยบายสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ เช่น การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน 100 % ระบบการคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยานพาหนะไฟฟ้า และการประหยัดพลังงานในอาคารบ้านเรือน ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงาน ตลอดจนการยกเลิกโครงการ Keystone XL ซึ่งแผนการสร้างท่อน้ำมันขนาดยักษ์ข้ามพรมแดนสหรัฐ-แคนาดา ในวันแรก ๆ ของการรับตำแหน่ง

จับตาแผนลดโลกร้อนของอเมริกา ใน COP26 ปลายปีนี้

ธารา กล่าวว่า รูปธรรมแรกที่ต้องจับตา คือ NDC : Nationally Determined Contribution หรือ แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก ที่อเมริกาจะต้องนำเสนอแผนนี้ในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้

แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก คือ รูปธรรมที่จะบอกว่าประเทศที่อยู่ในความตกลงปารีส มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร และจะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ว่านั้นได้อย่างไร ในกรณีของนโยบายโลกร้อนของ โจ ไบเดน ซึ่งมุ่งมั่นทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission ภายในปี ค.ศ. 2050 ส่วนจีนกำหนด Net Zero emission ที่ปี ค.ศ.2060

ธารา กล่าวว่า ที่ต้องจับตาเพราะการประชุม COP26 ปลายปีนี้ ถือเป็น แลนด์มาร์ก สำคัญของการเจรจาโลกร้อน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เนื่องจากการประชุม COP21 ที่ปารีสเมื่อปี 2558 กำหนดไว้ว่า ทุก ๆ 5 ปี จะต้องมีการ ยกระดับ แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็ตรงกับปีนี้พอดี (ขยับจากปี 2563 เนื่องจากโควิด-19) โดยเฉพาะต้องจับตาว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ อย่างอเมริกาและจีนว่าจะมีแนวทางตามแผน Net Zero Emission อย่างไร เพราะแค่สองประเทศนี้รวมกันก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบครึ่งของโลกแล้ว

ไบเดน มีเวลาก่อนเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ที่จะต้องทำแผนที่นำทางออกมา ก่อนการประชุมสุดยอดโลกร้อนที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ และมีเวลาทำงานตามแผนในตำแหน่งนี้อีก 4 ปี สิ่งที่รัฐบาล โจ ไบเดน น่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้ คือ net zero emission ของระบบพลังงานในประเทศภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เขาได้ใช้หาเสียงไว้ รวมถึงการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน 100 %

ถ้าเป็นไปตามนั้น เส้นทางไปสู่ Net zero emission ภายใน ค.ศ. 2050 และการบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส โลกของเราก็จะมีโอกาสมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยและผลกระทบที่ไม่อาจฟื้นคืนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ส่วนอีกประเทศที่ต้องจับตาเช่นกัน คือ จีน โดยปีนี้จะครบกำหนดที่จีนต้องทำแผนชาติ 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่กำลังจะออกมาในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งหากในแผนชาติของจีนพูดเรื่องการลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลลง โดยเฉพาะเรื่องการไม่เปิดโอกาสให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ เพราะที่ผ่านมาจีนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเยอะมาก ก็จะทำให้มีโอกาสเข้าใกล้เป้าหมายของความตกลงปารีสที่จะทำให้จำกัดอุณหภูมิที่ 1.5 องศาได้มากขึ้น

“ไบเดน ก็เป็นเหมือนก้อนหนึ่ง และจีนก็อีกก้อนหนึ่ง ซึ่งถ้าก้อนใหญ่ทั้ง 2 ก้อนทำได้ ก็จะเป็นนโยบายที่สร้างผลสะเทือนให้เกิดกับเรื่องของการกู้วิกฤตโลกร้อนได้มากที่สุด เท่าที่เคยทำมา แต่หลายคนก็กลัวว่า ไบเดนอาจจะพูดมากกว่าทำ”

เพราะนอกจากต้อง ฝ่าทางตัน ของระบบการเมืองและอิทธิพลของบรรษัทแล้วนั้น ไบเดน ยังต้องพยายามบาลานซ์ความเห็นต่างที่เกิดรุนแรงขึ้นในสังคมอเมริกันอีกด้วย ธารา เห็นว่า สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ ไบเดน อาจจะต้องดำเนินนโยบายแบบไม่สุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่ง

“การเมืองอเมริกา ถ้าต่อรองผลประโยชน์กันได้ ไม่เทไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงออกทางความคิดเห็นโดยไม่ใช้กำลัง ก็เป็นไปได้ แต่ก็ขึ้นกับ ไบเดน อย่างที่เขาเคยกล่าวว่า เขาจะเป็นประธานาธิบดีของทุกคน ไม่ว่าประชาชนจะเลือกใคร และรัฐบาลเขายังมีความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยพอบาลานซ์ให้นโยบายเขาไปได้”

ถ้าไม่ทำอะไร โอกาสช่วยโลกก็จะน้อยลง

ธารา กล่าวว่า COP26 ไม่ใช่แค่การเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของการประชุมสุดยอดโลกร้อน แต่ยังสำคัญต่อสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ด้วย เพราะตั้งแต่เกิดข้อตกลงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 2015 จนถึงปัจจุบันนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก ก็ยังเพิ่มขึ้น และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่ได้มีผล ต่อแนวโน้มระยะยาวแต่อย่างใด

หลังจากนักวิทยาศาสตร์ของ NASA พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี 2563 มีความร้อนเท่ากับปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ถูกบันทึกว่าร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ทำให้ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จึงกลายเป็น ช่วงที่ร้อนที่สุดของศตวรรษ

“แต่ถ้า ไบเดน ล้มเหลวในการฝ่าทางตันของระบบการเมืองอเมริกาเพื่อผลักดันนโยบายโลกร้อนให้เป็นจริง ขณะที่แผนชาติ 5 ปี ของจีนรวมเอาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เข้าไปด้วย COP26 ปลายปีนี้ เราก็จะถอยหลังกลับ และโอกาสที่จะช่วยโลกก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์