โควิด-19 “เปิดคุก” ส่องความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ

กลางเดือนพฤษภาคม 2564 คนไทยกังวลประคนหวาดหวั่นมากขึ้น เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแตะแสนคน เป็นการระบาดขยายวงกว้างพุ่งเป้าไปที่ คนจนเมือง แรงงานต่างชาติที่เป็นประชากรแฝงในมหานครใหญ่ ในชุมชนแออัด ซึ่งควบคุมโรคอย่างยากลำบาก จนไม่เห็นจุดสิ้นสุดของการระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ขณะที่โควิด-19 ระบาดเหมือนไฟลามทุ่ง ทว่า นโยบายการฉีดวัคซีนปูพรมของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้ ก็เป็นไปอย่างล่าช้า และยังพบการติดเชื้อจำนวนมากในเรือนจำ/ทัณฑสถานจำนวน 8 แห่งจากทั้งหมด 142 แห่งทั่วประเทศ

ภายในเวลา 2 สัปดาห์ (ช่วงวันที่ 1-16 พฤษภาคม) พบว่ามีผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,748 คน เป็นการติดเชื้อครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ตรวจหาเชื้อ (ดังตารางประกอบ) คาดการณ์ว่า ภายในเดือนเดียวกันนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจแตะหลักหมื่นคนต่อวัน ยิ่งทำให้สถานการณ์ระบบบริการสาธารณสุขวิกฤตมากขึ้น จำนวนเตียงสนามที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งประเทศอาจไม่เพียงพอรองรับสถานการณ์นี้ได้

ข้อมูล: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.00 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สถานคุมขัง เรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วโลก มีความเสี่ยงที่โควิด-19 จะระบาดอย่างหนัก และอาจรุนแรงกว่าที่อื่น และจำนวนผู้ป่วยจะมีมากกว่าสังคมภายนอก ด้วยหลายปัจจัย เช่น จำนวนผู้ต้องขังจำนวนมากอยู่กันอย่างแออัดใกล้ชิดกัน, มีการหมุนเวียนเข้าออกของผู้ต้องขัง ทั้งการรับเข้าใหม่ การปล่อยตัว และการส่งต่อ, ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง หากมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สภาพความจำเป็นในการเข้าถึงบริการการแพทย์จำนวนมาก แต่ไม่สอดคล้องกับที่มีอยู่อย่างทรัพยากรจำกัด, อาการป่วยหนักไม่ว่าจะเกิดจากภาวะโรคร่วม รวมทั้งปัญหาโภชนาการ อาจเกิดขึ้นในหมู่ผู้ต้องขังมากกว่าประชาชนที่อยู่นอกเรือนจำ

ในคู่มือของ ICRC ระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่แล้ว ประเทศต่าง ๆ จะมีแผนการออกมารับมือกับการระบาดใหญ่ในระดับประเทศ แต่มีไม่กี่ประเทศที่จะมีแผนการออกมาเพื่อรับมือกับการระบาดที่เกิดขึ้นในสถานคุมขังเป็นการเฉพาะ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขไทยมีแผนการรับมือไว้แล้วตั้งแต่กลางปี 2563

แต่ในทางปฏิบัตินั้น แม้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุขจะแถลงข่าวร่วมมือกันควบคุมโรคอย่างโปร่งใสก็ตาม ทว่า เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น iLaw กังวลต่อสถานการณ์ข้างต้น จึงตั้งแคมเปญรณรงค์ทางสังคมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทำทันที 3 มาตรการ คือ (1) จัดสรรงบประมาณและวัคซีนให้เรือนจำ (2) ลดจำนวนคน ลดความหนาแน่น โดยให้ศาลพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัวและกำหนดเงื่อนไขการเดินทางสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจะหลบหนี และ (3) หยุดเอาคนเข้าไปเพิ่มในเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรือนจำที่พบผู้ติดเชื้อแล้วต้องไม่เพิ่มจำนวนประชากรโดยเด็ดขาด

“เพราะการเอาคนเข้าไปเพิ่มเปรียบเสมือนกับส่งคนที่ยังมีสุขภาพดีไปติดเชื้อ หรือส่ง คนที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อเข้าไปอยู่รวมกับคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้นและระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ควบคุม ตัวบุคคลใดควรจัดหาสถานที่อื่นในการควบคุมตัวเพื่อคัดกรองและกักตัวเป็นการชั่ว คราว เช่น ค่ายทหาร หรือสถานที่ฝึกอบรมของหน่วยงานราชการที่ภาวะปัจจุบันไม่ได้ ใช้งาน”

แถลงการณ์ iLaw

คุกล้น: เมื่อความแออัดเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อจำนวนผู้ต้องขังจำนวนมากอยู่กันอย่างแออัด เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ให้โควิดระบาดอย่างหนักและอาจรุนแรงกว่าที่อื่น และจำนวนผู้ป่วยจะมีมากกว่าสังคมภายนอก คำถามสำคัญที่ตามมา คือ เรือนจำ/ทัณฑสถานของไทยแออัดขนาดไหน และมีผลต่อสุขภาพของผู้ต้องขังอย่างไรบ้าง?

ในงานวิจัย “ก้าวแรกของปฐมภูมิในเรือนจำกับชีวิตต้องขังที่กำหนดสุขภาพ” โดยสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เพิ่งทำเสร็จร้อน ๆ เดือนมีนาคม 2564 ระบุว่า สถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำในระดับโลกชี้ว่า ในปี 2564 มีผู้ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมกันมากกว่า 11 ล้านคน สำหรับประเทศไทย, ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 มีจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถานทั้งประเทศรวม 338,806 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้หญิง 42,377 คน และผู้ชาย 296,429 คน คิดเป็นอัตราส่วนผู้ต้องขัง 549 คนต่อประชากรแสนคน เมื่อเปรียบเทียบในระดับนานาชาติแล้วพบว่า ผู้ต้องขังไทยสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (World Population Review, 2021)

เมื่อย้อนมองจำนวนผู้ต้องขังของประเทศไปราว 30 ปีก่อน จำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศในปี 2535 มีเพียง 7.3 หมื่นคนเท่านั้น และตั้งแต่ปี 2553-2563 ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังได้ไต่ระดับเพิ่มจำนวนสูงขึ้นตลอดเวลา จากจำนวนสองแสนคนเศษในปี 2553 ด้วยเวลาเพียง 4 ปี ตัวเลขผู้ต้องขังรวมก็พุ่งสูงขึ้นกว่าสามแสนคนในปี 2557 และสร้างสถิติสู่ยอดสูงเกือบสี่แสนคนในปลายปี 2563 คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยถึงปีละประมาณ 1.6 หมื่นคน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ผู้ต้องขังล้นคุกไทยที่เรียกว่า “ความแออัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเผชิญ”

ที่มา: กุลภา และกฤตยา, 2564. (คำนวณจาก กรมราชทัณฑ์, 2564ก: กรมราชทัณฑ์, 2564ง)

จากตารางข้างต้น นอกจากจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว สัดส่วนระหว่างผู้ต้องขังหญิงและชายค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ แต่สัดส่วนผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เคยลดลงเหลือร้อยละ 62 ในช่วงปี 2561 กลับมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 80 ตั้งแต่ปี 2562

กล่าวได้ว่า ผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 80 ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถานด้วยคดีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ที่เหลืออีกร้อยละ 20 ได้แก่ ผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จราจร ชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเพศ และอื่น ๆ หรือพูดให้หนักแน่นขึ้น จำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มมากขึ้นจนล้นเกินพื้นที่ของเรือนจำ/ทัณฑสถานไทย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จนคนล้นคุกกลายเป็นภาพที่สังคมเคยชินจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

ครั้งหนึ่ง กิตติพงษ์ กิติยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนาหนึ่งว่า…

“สถิติผู้ต้องขังกว่า 300,000 คนของไทย ทำให้ไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีสถิตินักโทษสูงที่สุดของประเทศในกลุ่มอาเซียน… ความเป็นแชมป์ของไทยสะ ท้อนถึงปัญหาบางอย่างของกระบวนการยุติธรรม ปริมาณนักโทษที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผล มาจากการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด เปลี่ยนยาม้าให้เป็นยาบ้า ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับยา เสพติดถูกส่งเข้าเรือนจำเป็นสัดส่วน 70% ของเรือนจำชาย และ 87% ของเรือนจำหญิง… งบประมาณในแต่ละปีที่รัฐต้องจ่ายให้กับกรมราชทัณฑ์สูงถึง 12,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแยกเป็นงบฯ อาหารเลี้ยงนักโทษ 8,000 ล้านบาท ขณะที่สถิตินักโทษหลังปล่อยออกมามีการกระทำผิดซ้ำสูงกว่า 30%… ปัญหาที่เป็นระเบิดเวลาอยู่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องของราชทัณฑ์อย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ”

ผลของการใช้มาตรการทางอาญากับปัญหายาเสพติดข้างต้น ทำให้ “นักโทษล้นคุก” หากพิจารณาตามความจุมาตรฐานที่กำหนดว่า ผู้ต้องขัง 1 คนต่อ 2.25 ตารางเมตรแล้ว เรือนจำ/ทัณฑสถานในประเทศไทยจำนวน 143 แห่ง สามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 110,667 คนเท่านั้น หรือเกินความจุมากกว่า 4 เท่าตัว ภาพสถานการณ์ความแออัดของเรือนจำไทยจึงตกเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ มาโดยตลอด

ที่มา: กุลภา และกฤตยา, 2564 (คำนวณจากกรมราชทัณฑ์, 2563)

จำนวนผู้ต้องขังที่ล้นเกินความสามารถในการดูแลข้างต้นนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยรากฐานสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทุกด้าน ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้าเรือนนอนอีกครั้ง หรือแม้กระทั่งความหลากหลายของอาหาร

กรมราชทัณฑ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขัง 54 บาทต่อคนต่อวัน (แบ่งเป็นค่าข้าว 8 บาท ค่าอาหารดิบ 44 บาท ค่าแก๊สหุงต้ม 2 บาท) โดยงบประมาณต่อปีที่ได้รับนั้นครอบคลุมผู้ต้องขังประมาณ 1.9 แสนคนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในด้านสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล พบว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้ต้องขังล้นคุกนั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรตามพื้นที่และเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ความจุที่ล้นเกินของผู้ต้องขังต้องเบียดเสียดแออัดอยู่ในเรือนนอนอันคับแคบในเวลายาวนาน บางแห่งผู้ต้องขังไม่สามารถนอนหงายเหยียดยาวได้อย่างอิสระ ทำได้เพียงนอนตะแคง นอนหดขา นอนสลับฟันปลา หรือนอนไขว้เสียบขาชนกันเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่เรือนนอนไม่พอ
บางครั้งมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำดื่มส่งผลต่อการเกิดโรคติดต่อทางเดินอาหาร ท้องร่วง ท้องเสียในเรือนจำ ความเป็นอยู่ที่แออัดและสภาพการนอนที่เบียดเสียดกันมากทำให้โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพลำดับต้น ๆ ของผู้ต้องขัง

นอกจากนี้แล้ว การใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ต้องขังจนทำให้เจ็บป่วยกลายเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ เช่น การขาดแคลนน้ำใช้ทำให้หลายเรือนจำต้องหมุนเวียนให้ผู้ต้องขังอาบน้ำเป็นรอบ แข่งกับเวลาและพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ในช่วงฤดูร้อน หลายเรือนจำมักมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลต่อน้ำกินและน้ำทำความสะอาดเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ และเข้าห้องน้ำขับถ่าย การเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดอย่างเพียงพอทำให้ผู้ต้องขังหญิงจำนวนหนึ่งต้องกลั้นปัสสาวะนาน ๆ จนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาจเป็นโรคติดเชื้อในช่องทางสืบพันธุ์ได้

ชีวิตในเรือนจำกำหนดสุขภาพ

งานวิจัยข้างต้น เก็บข้อมูลการให้บริการสุขภาพของสถานพยาบาลในเรือนจำ/ทัณฑสถาน 15 แห่ง ที่รวบรวมระหว่างปี 2560-2562 ในภาพรวมพบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอย่างแออัด การใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงภายใต้ตารางเวลาที่กำหนด อยู่ภายใต้ระเบียบวินัยและการควบคุมทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ หลับนอน และทำกิจกรรมประจำวันอื่น ๆ อย่างเคร่งครัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง ทำให้กว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงที่มีปัญหาสุขภาพในเรือนจำในแต่ละปีนั้น ป่วยเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 กลุ่มโรค

  1. หายใจด้วยอากาศเดียวกัน: การอยู่ร่วมกันอย่างแออัดในเรือนนอน ตั้งแต่ 16.30 น. ถึง 06.30 น. สูดอากาศเดียวกันเป็นเวลานาน ทำให้โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน รองลงมาคือ ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด และมีอาการแพ้อากาศ เจ็บคอ ไอ ฯลฯ และพบความชุกของการเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคนี้ในเรือนจำ/ทัณฑสถานสำหรับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สอด คล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ความแออัดในเรือนจำที่ผู้ต้องขังชายอยู่กันอย่างแออัดสูงกว่า
  2. เคลื่อนไหวในพื้นที่จำกัด: โรคเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยเฉพาะอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในเรือนนอน ฝึกวิชาชีพหรือทำงานด้วยท่าซ้ำ ๆ อยู่ในโรงงาน กินข้าวอาบน้ำอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ของผู้ต้องขังซึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายตามอำเภอใจได้มากนัก
  3. ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ต้องไปสถานพยาบาล: ปัญหาสุขภาพอันดับสามของผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน คือ การบาดเจ็บ การเป็นพิษจากเหตุภายนอก หมายถึงการได้รับอุบัติเหตุจากการฝึกวิชาชีพ ทำงานในโรงงาน การเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ หกล้ม หรือได้รับแผลบาดเจ็บ รวมทั้งการเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ ท้องผูก ปวดท้อง ฯลฯ แม้เป็นความเจ็บป่วยทั่วไป แต่ผู้ต้องขังไม่สามารถปฐมพยาบาลตัวเองได้ จึงต้องไปขอยาหรือทำแผลที่สถานพยาบาลในเรือนจำ
  4. การสัมผัสใกล้ชิดในพื้นที่ปิด: โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเป็นกลุ่มโรคอันดับสี่ ที่ผู้ต้องขังเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของเรือนจำ/ทัณฑสถาน ได้แก่ อาการผื่นคันหรือผื่นแพ้ตามร่างกาย กลาก เกลื้อน หิด และสะเก็ดเงิน เป็นต้น ด้วยเหตุที่ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดสูง รวมทั้งดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเองได้จำกัด ผู้ต้องขังชายมีปัญหาสุขภาพนี้มากกว่าผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะโรคหิด ขณะที่ผู้ต้องขังหญิงนั้น, โดยสัดส่วนแล้วความชุกของการเป็นผื่นคัน ผื่นแพ้ สูงกว่าผู้ต้องขังชาย
  5. 8 ชั่วโมงกับอาหาร 3 มื้อ: เนื่องจากมื้ออาหารของผู้ต้องขังแต่ละวัน คือ อาหารเช้าในเวลา 7 โมงเช้า อาหารกลางวันเที่ยงตรง และอาหารเย็นประมาณบ่าย 3 โมง ที่ทุกคนต้องปรับร่างกายตามกฏการกินในเวลาที่กำหนด โรคในระบบย่อยอาหารจึงเป็นกลุ่มโรคอันดับห้า ที่พบความชุกในผู้ต้องขังชายมากกว่าผู้ต้องขังหญิง สัมพันธ์กับสถิติในกลุ่มโรคมะเร็งและเนื้องอกที่พบว่า ผู้ชายมีความชุกของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารสูงกว่าผู้หญิงมาก นอกจากนี้, ก็คือปัญหาเหงือกและฟัน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดและส่งผลทำลายฟันจนผุกร่อนรุนแรงกว่าปกติ

นอกจาก 5 อันดับกลุ่มโรคข้างต้นแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพที่ต้องการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ต้องขังหญิงและชาย ได้แก่ กลุ่มโรคติดเชื้อและปรสิตบางโรค โดยเฉพาะเอชไอวี/เอดส์และวัณโรค กลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิต โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง กลุ่มโรคต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิซึม โดยเฉพาะเบาหวาน ไทรอยด์ ความผิดปกติ ทางจิตและพฤติกรรม รวมทั้งมะเร็ง

ปัญหาสุขภาพที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในเรือนจำอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ต้องขังหญิงมีความชุกของการเป็นโรคในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สูงกว่าผู้ต้องขังชาย สัมพันธ์กับข้อมูลในกลุ่มโรคมะเร็ง เนื้องอก ที่พบว่าผู้หญิงมีความชุกของการเป็นมะเร็งในช่องทางสืบพันธุ์สูงกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ต้องขังชายมีความชุกของการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคไต นิ่ว รวมทั้งการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร สูงกว่าผู้ต้องขังหญิง สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลสุขอนามัยทางเพศ บริหารเชิงป้องกันโรคในช่องทางสืบพันธุ์ เช่น การตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ เป็นอีกความจำเป็นเร่งด่วนของบริหารสุขภาพในเรือนจำ

ในบริบทของประเทศไทย ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีสถานะเศรษฐกิจและสังคมต่ำ คือมีการศึกษาน้อยและยากจน เป็นกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสและเป็นชายขอบของสังคมแล้ว เรือนจำยังเข้ามากำหนดสุขภาพพวกเขาอีก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ และการถูกกีดกันจากสังคม

ศักยภาพเรือนจำรับมือโควิด-19

เรือนจำ/ทัณฑสถานในประเทศไทยทุกแห่งมีสถานพยาบาลอยู่ภายใน เรียกกันว่า “แดนพยาบาล” หรือ “พบ.” แยกต่างหากออกมา เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยในแต่ละวัน โดยสถานพยาบาลสามารถจัดสรรพื้นที่เป็นห้องพักให้ผู้ต้องขังป่วยนอนพักค้างคืนเป็นผู้ป่วยในได้ด้วย ส่วนใหญ่จัดพื้นที่เป็นห้องแยกโรค สำหรับผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค เป็นต้น โดยภาพรวมแล้ว พบว่า “แดนพยาบาล” ให้บริการแก่ผู้ต้องขังเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แม้การดูแลสุขภาพอนามัยจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับขณะต้องโทษก็ตาม

เนื่องจากเรือนจำ/ทัณฑสถานมีหลายประเภท มีขนาดพื้นที่ โครงสร้างกายภาพ กำลังคน อำนาจความรับผิดชอบ และจำนวนผู้ต้องขังแตกต่างกัน จึงมีศักยภาพในการให้บริการผู้ต้องขังแตกต่างกัน

สถานพยาบาลในสังกัดกรมราชทัณฑ์มีทั้งหมด 142 แห่ง โดยขึ้นทะเบียนเป็น “สถานพยาบาล” กับกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ

  1. ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวของกรมราชทัณฑ์ สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ทั้งหมด 350 เตียง เป็นทั้งหน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการส่งต่อ ซึ่งรับผิดชอบเครือข่ายสถานพยาบาลของเรือนจำ/ทัณฑสถานอีก 7 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร
  2. สถานพยาบาล เรือนจำกลางบางขวาง มีเจ้าหน้าที่ประจำเป็นแพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 1 คน พยาบาล 8 คน นักจิตวิทยา 1 คน เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1 คน สามารถรับผู้ต้องขังป่วยค้างคืน ในกรณีเพื่อสังเกตอาการรได้ประมาณ 30 เตียง
  3. สถานพยาบาลระดับกลาง มีเจ้าหน้าที่ประจำเป็นพยาบาล 2-4 คน ให้บริการผู้ต้องขังแบบคนไข้นอก บางแห่งสามารถให้มีการพักค้างคืนภายในสถานพยาบาล มีการดูแลต่อเนื่อง สามารถรองรับผู้ต้องขังป่วยได้ 10-30 เตียง
  4. สถานพยาบาลระดับเล็ก มีเจ้าหน้าที่ประจำเป็นพยาบาล 1-2 คน ให้บริการผู้ป่วยแบบคนไข้นอก ไม่สามารถพักค้างคืนได้

จากโครงสร้างข้างต้น โรงพยาบาลราชทัณฑ์คือสถานพยาบาลที่ส่งต่อผู้ต้องขังป่วยจากเรือนจำกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ผู้ต้องขังป่วยที่จำเป็นต้องส่งตัวออกไปรักษานอกเรือนจำที่เหลือมากกว่าร้อยแห่ง ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายในเขตที่มีเรือนจำ/ทัณฑสถานนั้น ๆ ตั้งอยู่ การนำผู้ต้องขังป่วยออกนอกเรือนจำแต่ละครั้งต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมติดตามไปอย่างน้อย 2 คน หากเป็นการใช้บริการผู้ป่วยในที่ต้องมีการพักค้างคืนก็ต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลค้างคืน 2 คนเช่นกัน ระเบียบเช่นนี้ ทำให้การนำผู้ต้องขังป่วยออกจากเรือนจำไปรักษาตัวข้างนอกไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายนักตลอดมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้วางแนวทางจัดการในกรณีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก และระบาดในวงกว้าง โดยระบุว่า ลักษณะจำเพาะของสถานคุมขังทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า “จะมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน” หลังจากพบผู้ป่วยยืนยันรายแรก แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมตามคำแนะนำแล้วก็ตาม ถ้าในกลุ่มประชาชนทั่วไประดับการแพร่เชื้อจากผู้ป่วย 1 คน สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้ป่วยรายต่อไปได้ 1.5-2.5 คน แต่ถ้ามีการระบาดใน สถานที่คุมขัง ตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มเป็น 10 – 100 ก็เป็นได้ และการระบาดอาจเกิดขึ้นรวดเร็วส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

“…ในการลดความรุนแรงและผลกระทบของการระบาด ควรจัดตั้ง ‘ทีมงานโดย รวบรวมผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ เรือนจำ/ทัณฑสถาน และผู้แทนจากองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การ อนามัยโลก คณะกรรมการการชาดระหว่างประเทศ เป็นต้น เข้าร่วมวิเคราะห์สถาน การณ์ และจัดทำแนวทางและวิธีการสื่อสารระหว่างทีมงานด้วย”

ในคู่มือของ ICRC ยังเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องระหว่างการควบคุมโรค “เคารพสิทธิของผู้ต้องขัง” ใช้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างโปร่งใส และปราศจากการเลือกปฏิบัติเพื่อรับรองว่าผู้ต้องขังทุกคนจนจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและบรรเทาได้เท่าเทียมกัน รวมทั้งการเลือกใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อคุ้มกันผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างกักกันโรคปราศจากการทารุณทุกรูปแบบ และเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติหรือละเลยผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในการติดเชื้อด้วย

นอกจากนี้ องค์การรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ (HRW) ของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกร้องรัฐบาลไทยควรดำเนินมาตรการโดยทันทีเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังและนักโทษทั้งหมดสามารถเข้าถึงมาตรการเพื่อการป้องกันและการดูแลสุขอนามัยได้เพียงพอ และควรลดความแออัดภายในเรือนจำลงด้วยการปล่อยตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อสังคมเป็นอิสระ

“รัฐบาลไทยควรดำเนินการเร่งด่วนคือ การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้ผู้ต้องขัง อย่างเพียงพอ จัดให้มีน้ำ ระบบที่ถูกสุขลักษณะ สุขอนามัย ให้กับนักโทษและผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานควรกำหนดและควบคุมให้มีมาตรการรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ควรเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในเรือนจำทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ คนในเรือนจำและต่อสาธารณชน ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาสภาพแออัดของเรือนจำตามแนวทางและขั้นตอนที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดไว้ รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังสูงอายุ หรือที่มีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงสูงหากได้รับเชื้อโควิด-19 เป็นอิสระ ซึ่งในขณะนี้ทางการไทยยังดำเนินการน้อยเกินไปและช้ามากเกินไป”

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของเอชอาร์ดับเบิลยู

เบื้องต้น ขณะนี้ กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก การแยกผู้ต้องขังแรกเข้า การแยกผู้ป่วยออกไปรักษาในโรงพยาบาลสนามของราชทัณฑ์ ทั้งที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับสถานการณ์การติดเชื้อแบบก้าวกระโดด โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เตรียมเสนอกระทรวงสาธารณสุข มีความจำเป็นที่ต้องเอาผู้ต้องขังและผู้คุม ที่ไม่ติดเชื้อในทุกเรือนจำ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน

“ถ้าเราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษา 10,000 คน หัวหนึ่ง 5,000 บาท จะใช้เงินถึง 50 ล้าน บาท แต่หากใช้วัคซีนกับผู้ต้องขัง 300,000 คนหัวละ 1,000 บาทจะใช้ 300 ล้านบาท จะหยุด เชื้อในเรือนจำได้ทั้งหมด ผมจะเสนอไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ให้เรียบร้อย ซึ่งหวังว่าทางนายอนุทินจะเข้าใจและเร่งดำเนินการให้”

เขายังกล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการรักษาจะใช้ฟาวิพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจรรักษาเข้าช่วยรักษาในขณะที่รอดูอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในระดับสีเขียวที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ และคนระดับสีเหลืองที่กำลังเริ่มมีอาการ นอกจากนี้ จะมีการตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทุกคน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ของกรมราชทัณฑ์ทุกคน 55,000 คน พร้อมทั้งให้มีการแถลงจำนวนผู้ต้องขัง ที่ได้ตรวจเชิงรุกไปแล้วมีจำนวนเท่าไร

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมจะพิจารณานโยบายการพักโทษในรูปแบบพิเศษ เช่น การติดกำไลอีเอ็มให้ละเอียดรอบคอบ โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวะของผู้ต้องขังเพื่อกำหนด นโยบายการพักโทษขึ้นมาด้วย


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์