ถึง คุณผู้อ่าน
กว่าคุณจะได้อ่านจดหมาย (บทความ) นี้ สภาผู้แทนราษฏร ก็ลงมติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคุณคงทราบว่าผลการโหวตในวันนั้น สภาฯ ไม่รับร่างฉบับประชาชน และฉบับพรรคก้าวไกล (เดิม) แต่เลือกรับร่างของฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ, ฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชน (เดิม) และฉบับภูมิใจไทย เท่านั้น ส่งผลให้ความหวังของการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังในคดีอาญา มาตรา 112 อาจถูกยุติลงชั่วคราวในตอนนี้
ใช่ว่าเราจะไร้ความหวังไปเสียทีเดียว ในวันเดียวกันไม่กี่ชั่วโมงหลัง สภาฯ ปิดประตูร่างนิรโทษกรรมประชาชน เราพาตัวเองมาอยู่ที่งานนิทรรศการ Freedom Beyond Walls : นิทรรศการโปสการ์ดและจดหมายเพื่อส่งกำลังใจถึงเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ แม้เราอาจจะไม่ได้เขียนจดหมายถึงใครบ่อยนักในชีวิตประจำวัน แต่นิทรรศการนี้กำลังบอกเราว่า คงไม่สายเกินไป ที่จะลองเขียนจดหมายหาเพื่อนในเรือนจำดู
เราได้พูดคุยกับ แสงเทียน เผ่าเผือก เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในทีมงานจัดนิทรรศการ ที่บอกว่า การสร้างการรับรู้ การใช้สิทธิ และการมีความหวัง เป็นสิ่งที่เราควรมีพร้อม ๆ กัน

เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะพาคุณผู้อ่านไปเยี่ยมชมนิทรรศการผ่านจดหมายฉบับนี้…
ส่งต่อความหวัง ผ่านจดหมาย
แสงเทียน เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงการทำงานของแอมเนสตี้ฯ กับการติดต่อคนในเรือนจำ ที่หากสามารถคุยกับใครได้ ก็อยากคุยให้ได้มากที่สุด ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ความยินยอมของเพื่อนในเรือนจำ ความพร้อมของแอมเนสตี้ฯ และข้อจำกัดของเรือนจำ
เช่นเดียวกันกับจดหมาย หากเป็นไปได้ ก็อยากส่งเข้าไปให้ได้มากที่สุด เพราะจดหมายถือเป็นหนึ่งกำลังใจของผู้ต้องหา ซึ่งจากสถานการณ์ตอนนี้ กำลังใจสำหรับคนข้างในสำคัญมาก ๆ

ธี ถิรนัย อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง ซึ่งปัจจุบันได้รับการปล่อยตัวแล้ว เคยบอกว่า ทุกครั้งที่มีการประกาศให้ไปรับจดหมาย ทั้งจากแอมเนสตี้ฯ หรือจากคนอื่น ๆ เอง เป็นไฮไลท์ประจำวันของเขาเลย
นอกจากการให้กำลังใจแล้ว จดหมายยังเป็นตัวแทนที่บอกว่า คนข้างนอกไม่ลืมเขา และสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนที่มองว่า เขาควรจะได้ออกมาโลดแล่น ได้ทำตามความฝัน ได้อยู่กับครอบครัวและคนที่รัก ได้มีชีวิตภายนอกกรงขัง
“การที่มีคนบอกว่า ยังนึกถึงเขาอยู่ โคตรสำคัญ เพราะว่าชีวิตในเรือนจำมันจะเหมือนเดิมในทุก ๆ วัน บางทีก็จะลืมว่า เขาเองก็มีตัวตนอยู่ข้างนอก การที่มีคนมายืนยันว่าเขามีตัวตนอยู่ข้างนอกนะ มีคนพูดถึงนึกถึงเขา มันสำคัญมาก ๆ”
แสงเทียน เผ่าเผือก
ไม่ใช่แค่เขียนจดหมายเข้าไปข้างในเรือนจำเพียงอย่างเดียว แต่คนข้างในก็เขียนจดหมายออกมาถึงคนข้างนอกด้วยเช่น ในนิทรรศการมีโซน Letter of Silenced บอกเล่า เรื่องราวของผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้ง 51 คน และข้อความจากจดหมายจากผู้ต้องขังในเรือนจำจริง ๆ จดหมายบางฉบับ ยืนยันหลักการว่า ตัวเขาไม่ควรถูกคุมขัง บางฉบับแสดงความกังวล หรือบางฉบับ ขอบคุณคนที่อยู่ข้างนอกที่ไม่ทอดทิ้งพวกเขา

เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ฯ เน้นย้ำว่า ไม่ใช่แค่คนข้างนอกที่ให้กำลังใจคนข้างในฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่คนข้างในก็ได้ให้กำลังใจคนข้างนอกเช่นกัน เช่น ป้าอัญชัน ปรีเลิศ ข้าราชการเกษียณ หนึ่งในผู้ต้องขัง ก็รับรู้ว่าแอมเนสตี้ฯ ทำงานด้านนี้ และคอยเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ
สิ่งที่เธอจำได้ขึ้นใจ คือ ประโยคที่ ทนายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องขัง บอกว่า “การต่อสู้มันเหมือนการย่ำดิน” ซึ่งวันที่ได้เห็นข้อความนี้ เธอน้ำตาคลอ และได้กำลังใจกลับมาเช่นกัน
“การต่อสู้มันเหมือนการย่ำดิน สิ่งที่แอมเนสตี้ฯ และเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไปกำลังทำกันอยู่ มันต้องย่ำไปเรื่อย ๆ มันอาจจะย่ำครั้งเดียวแล้วยังไม่แน่น แต่มันเป็นการย่ำไปเรื่อย ๆ”
ข้อความจากทนายอานนท์ นำภา
การเขียน และส่งจดหมาย จึงเป็นการส่งกำลังใจและแบ่งปันความหวัง ทั้งจากภายนอกเข้าในเรือนจำ และจากภายในสู่โลกภายนอก
ไม่ใช่แค่ให้กำลังใจ แต่จดหมายยังเป็นแรงกดดันถึงรัฐ
แสงเทียน สะท้อนเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเป็นการให้กำลังใจแล้ว จดหมายยังมีบทบาทในการยืนยันกับทางรัฐและผู้มีอำนาจว่า มีคนข้างนอกที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการคุมขัง และไม่ได้ลืมผู้ต้องขังเหล่านี้

“มันไม่ใช่แค่ยืนยันให้กับคนที่ได้รับจดหมาย คือ ผู้ต้องขัง อย่างเดียว แต่มันเป็นการยืนยันกับทางรัฐด้วย กับผู้มีอำนาจด้วย ว่า คุณต้องเห็นนะว่าคนข้างนอก เขาไม่ได้ลืมว่ามันมีผู้ต้องขังจากการใช้สิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกอยู่”
แสงเทียน เผ่าเผือก
และหากในอนาคตมีการจับกุม คุมขังจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกอีก ก็จะเห็นว่ายังมีคนไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจเหล่านั้น และใครก็ตามจะใช้อำนาจตามใจไม่ได้
ข้อจำกัดของเรือนจำ สิทธิที่จะสื่อสารกับโลกภายนอก
กฎแมนเดลา (Mandela Rule) เป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ในข้อที่ 58 ระบุว่า “ผู้ต้องขังมีสิทธิในการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก”

แม้จะมีการส่งจดหมายถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ แต่หลาย ๆ ครั้ง การจะส่งจดหมายสักฉบับ (หรือหลายฉบับ) เข้าเรือนจำ อาจจะไม่ง่ายนัก ด้วยข้อจำกัดของเรือนจำ 3 ประการด้วยกัน
- ไม่มีระบบติดตาม (Tracking) การจะส่งจดหมายหรือพัสดุอะไรก็ตามเข้าไปในเรือนจำ ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะถึงมือเขาเหล่านั้นหรือไม่ จนกว่าเขาจะสะท้อนออกมา ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือของเครือข่าย เช่น จาก Freedom Bridge ที่คอยมาอัปเดตเวลาส่งจดหมายเข้าไปแล้ว ผู้ต้องขังสะท้อนกลับมาแบบนี้
- การปิดแอปพลิเคชัน Domimail จดหมายหลังกำแพง ที่ใช้พูดคุยกับคนข้างในเรือนจำ หนึ่งในวิธีการติดต่อกับคนในเรือนจำที่อาจมองได้ว่าเป็นวิธีที่ “ง่ายที่สุด” โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ปิดการให้บริการแอปฯ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา แสงเทียน ระบุว่า ทางแอมเนสตี้ฯ ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนว่า ปิดแอปฯ เฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครหรือไม่ หรือปิดระบบทั้งหมด
- มาตรฐานของเรือนจำที่แตกต่างกัน ทั้งการตรวจจดหมายและการตีกลับ ก่อนหน้านี้เคยมีจดหมายที่ถูกตีกลับมา ด้วยเหตุผลที่ว่า โปสการ์ดมีข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา” และทางเรือนจำตีความว่า ข้อความนี้ไม่เคารพคำตัดสินของศาล สะท้อนให้เห็นมาตรฐานที่ไม่ชัดเจนของแต่ละเรือนจำ เนื่องจากบางเรือนจำเข้าได้ บางเรือนจำเข้าไม่ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่เครือข่ายพยายามผลักดัน ทั้งผ่านการพูดคุยกับกระทรวงยุติธรรมและเรือนจำว่า ต้องมีมาตรฐาน และเป็นสิทธิของผู้ต้องหาในการสื่อสารกับโลกภายนอก
“(การเขียนจดหมาย) อยู่บนพื้นฐานสิทธิในการสื่อสารของคนข้างในสู่โลกภายนอก เป็นสากลตามกฎแมนเดลา เพราะฉะนั้นจริง ๆ เรือนจำก็มีหน้าที่ต้องทำให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นให้ได้”
แสงเทียน เผ่าเผือก
แคมเปญฟรีราษฎร เมื่อสิทธิเสรีภาพอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา
กิจกรรมเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เป็นหนึ่งในแคมเปญ ฟรีราษฎร (FreeRatsadon) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ชวนประชาชนมาร่วมกันภายในแคมเปญนี้
เช่น การปฏิบัติการร่วม (Urgent Action) หรือการล่ารายชื่อยื่นเพื่อให้รัฐและกระทรวงยุติธรรม ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในการชุมนุม ซึ่งทำบ่อยในช่วงที่มีการจับกุมเยอะ ๆ หรืออย่างการประท้วง การแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ในวันสำคัญ เช่น จัดปาร์ตี้เล็ก ๆ เป่าเค้กหน้าเรือนจำในวันเกิดป้าอัญชัน
แสงเทียน ยังเห็นว่า กิจกรรมแนวประท้วง ไปหน้าเรือนจำ ก็จะได้เจอแนวร่วมที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ในขณะที่หากเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ก็จะได้เจอคนใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มาก่อน เช่น การจัดเวิร์กชอปศิลปะ กิจกรรมทำกำไลเชือกเทียน ที่ให้คนเข้าร่วมได้เลือกว่าอยากให้กำไลที่ทำสะท้อนคุณค่าแบบไหน ถือเป็นหนึ่งในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของแต่ละคน
กิจกรรมไลฟ์สไตล์เหล่านี้คือการย้ำว่า สิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน
“บางทีคนอาจจะอยากส่งเสียงของตัวเอง อยากใช้สิทธิของตัวเอง แต่เขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เราพยายามสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับเขาในการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเขา”
แสงเทียน เผ่าเผือก
อีกหนึ่งโซนที่เราอยากเชิญชวนให้ลองมาเดินดู คือ “โซนกำแพงแห่งความหวัง” ที่จัดแสดงผลงานการออกแบบโปสการ์ดกว่า 75 แผ่น ผ่านการตีความคำว่า “สิทธิ เสรีภาพ การแสดงออก” ในรูปแบบศิลปะ แต่ละคนก็ตีความวลีนี้แตกต่างกัน บางคนก็อาจตีความตรง ๆ อย่าง “ปล่อยเพื่อนเรา” บางคนตีความเป็น ผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นยักษ์ในตะเกียงวิเศษ จากเรื่องอะลาดิน ที่รอคนมาปลดปล่อย ซึ่งก็น่าสนใจแตกต่างกันไปตามการตีความของแต่ละคน

ผู้จัดกิจกรรมคนนี้ มองว่า กิจกรรมนี้เปิดพื้นที่ให้นักวาดแต่ละคนได้ใช้สิทธิของตัวเอง ได้ตีความตามแบบของตัวเอง และหวังว่าสิ่งนี้จะยังประทับอยู่ในตัวเขาต่อไป อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดในการพูด สื่อสาร รวมถึงออกไปใช้สิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกตามมา
“เพราะเราเชื่อว่า คนพยายามและอยากจะใช้สิทธิของตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าเขาอาจจะยังไม่มีพื้นที่ในการรวมมันเข้าด้วยกัน ระหว่างตัวตนของเขากับการพยายามใช้สิทธิของเขา”
แสงเทียน เผ่าเผือก
ทำความเข้าใจ – มีความหวัง
หากคุณผู้อ่านมีโอกาสได้มาชมนิทรรศการ เรายังขอแนะนำอีกจุดที่ชื่นชอบคือ กระดานกราฟ โดยแกนนอนเป็น ความหวัง (สิ้นหวัง-มีหวัง) และแกนตั้งเป็น การรับรู้ (ยังไม่เข้าใจ-รับรู้และเข้าใจ) เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการแปะสติ๊กเกอร์ที่สะท้อนความเป็นตัวเอง ในวันที่เราไปส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งมีหวัง และรับรู้และเข้าใจ แต่ก็มีบางส่วนที่รับรู้และเข้าใจ แต่ก็สิ้นหวังเช่นกัน

เรายืนลังเลอยู่หน้ากระดานสักพัก สุดท้ายก็ไม่ได้แปะสติ๊กเกอร์ลงไป เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ในมิติของการรับรู้ แต่เป็นมิติของความหวัง
สาเหตุที่ผมชอบกระดานนี้คือ มันเปิดโอกาสให้เราสิ้นหวังและยังไม่เข้าใจได้ แม้อาจเป็นด้านลบ หากคุณสิ้นหวัง กระดานจะบอกคุณว่า “เราอยู่ข้าง ๆ นะ” และหากคุณยังไม่เข้าใจ กระดานก็จะบอกคุณว่า “ไม่เป็นไร เริ่มนับ 1 ด้วยกันนะ”
แสงเทียน ยังอธิบายถึงกลไกของกระดานนี้ว่า หากเรารู้สึกสิ้นหวัง การมองสติ๊กเกอร์อื่น ๆ ไม่ใช่การเปรียบเทียบว่า “ทำไมเราเป็นคนสิ้นหวัง” แต่ทำให้เห็นว่า เราไม่ใช่แค่สติ๊กเกอร์เดียว และเราไม่ได้อยู่คนเดียว อาจมองว่าเราสู้ไปด้วยกันได้ ยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนของทุกคนได้ และวันหนึ่งเราจะได้ใช้ความหวังนั้นไปพร้อม ๆ กับคนอื่นด้วยเช่นกัน
และหากวันนี้ยังไม่เข้าใจ แสงเทียน ก็ย้ำว่า ไม่เป็นไรเลย ลองศึกษาทำความเข้าใจ ตั้งคำถามกับมันก็ได้ ยิ่งตั้งคำถามเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะคำถามที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจในอนาคต
อีกสิ่งหนึ่งที่เธอพบจากการสังเกต คือ กระดานนี้ทำงานกับคนที่มาร่วมงานเช่นกัน บางคนอาจเดินเข้ามาที่กระดานนี้แล้วแปะเลย เพราะรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนในกราฟนี้ บางคนมาคนเดียวก็อาจใช้เวลาเยอะหน่อย ในการอยู่และคิดกับตัวเอง บางคนอาจมาเป็นกลุ่ม ได้คุยกัน ตอนแรกอาจแปะที่หนึ่ง แต่พอได้พูดคุยกับเพื่อนที่มาด้วย ก็อาจจะพบมิติใหม่ ๆ ของตัวเอง เช่น “เราก็มีหวังเหมือนกันนี่” หรือ “เราก็เข้าใจเรื่องราวประมาณหนึ่งเหมือนกันเนอะ” แล้วเขาก็เลือกแปะใหม่ เพราะเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ไม่ไช่แค่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้สะท้อนตัวเอง แต่กระดานกราฟนี้ยังสะท้อนการทำงานของแอมเนสตี้ด้วยเช่นกัน
“ในฐานะแอมเนสตี้ฯ เราทำงานอยู่ 2 อย่างใหญ่ ๆ (การสร้างการรับรู้และการมีความหวัง) ในการทำแคมเปญ มันก็คือพื้นที่ที่คนทำงานต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน แล้วเราต้องเพิ่มอะไรให้มันเยอะขึ้น”
แสงเทียน เผ่าเผือก
ร่างนิรโทษกรรมอาจตกไป แต่พลังประชาชนไม่ได้ตกตาม
ในบางครั้ง บางวัน บางสถานการณ์อาจทำให้รู้สึกโกรธ เสียใจ และหมดหวังไม่ใช่น้อย เช่น จากกรณีสภาฯ คว่ำร่างนิรโทษกรรมทั้ง 2 ฉบับ ผมเชื่อว่าอาจมีหลายคนรู้สึกหมดหวังอยู่

แสงเทียน เน้นย้ำว่า อย่าพึ่งหมดหวัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ กฎหมายอาจตกไป แต่พลังของประชาชนไม่ได้ตกไปตาม และอย่างน้อยเราก็รู้ว่ามีคนอีกมากที่อยากให้เพื่อนในเรือนจำได้รับเสรีภาพ
“เราว่าสิ่งที่ตกไปมันคือตัวกฎหมาย แต่ไม่ใช่พลังของประชาชน 36,000 คน ที่เขียนลงชื่อรับรองในวันนั้น พลังของ 36,000 คน และอาจจะมากกว่านั้นด้วยที่สนับสนุนเรื่อง นิรโทษกรรมฯ การปล่อยเพื่อนในเรือนจำที่ถูกคดีทางการเมืองมันไม่ได้หายไปพร้อมกับกฎหมาย”
แสงเทียน เผ่าเผือก
เธอ เล่าถึงประกาศของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่บอกว่าเรายังมีโอกาสอื่น ๆ อีก เช่น การเลือกตั้งครั้งถัดไป ผ่านการสนับสนุนคนที่พร้อมต่อสู้เพื่อประชาชน รวมถึงการแสดงพลังให้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภาฯ ได้รับรู้ว่า เราต้องการ และไม่ควรมีใครในอนาคตต้องถูกดำเนินคดีแบบนี้อีก
“การนิรโทษกรรมประชาชนมันไม่ใช่แค่การปล่อยให้คนที่ถูกคุมขังตอนนี้ออกมาอย่างเดียว แต่มันคือการยืนยันว่าในอนาคตไม่ควรมีใครถูกคดีทางการเมืองอีก”
แสงเทียน เผ่าเผือก
กระบวนการนิรโทษกรรมจึงต้องครอบคลุมทั้งเยียวยาอดีต สะสางความขัดแย้งปัจจุบัน รวมถึงการวางมาตรฐานอนาคต และแม้กฎหมายจะตกไปแล้ว เรายังคงสามารถยืนยันหลักการ “นิรโทษกรรมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้” โดยในวาระ 2 และ 3 ก็จะมีการพิจารณาเรื่องหลักการและรายละเอียด เราก็ยังสามารถแสดงให้เขาเห็นว่านิรโทษกรรมที่กำลังพิจารณาอยู่ มันต้องรวมทุกคนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นร่างของใครก็ตาม
บทส่งท้าย : ความหวังยังอยู่กับเราเสมอ
กระดาษจดหมายวางอยู่บนโต๊ะกลางงานนิทรรศการ ยังรอคนเข้ามาเขียนและส่งต่อความหวังถึงเพื่อนในเรือนจำ
เรื่องราวและข้อความจดหมายจากผู้ต้องขังถูกแขวนไว้ ยังรอคนเข้ามารับรู้เรื่องราวและความรู้สึกนึกคิด
ภาพวาดบนโปสการ์ด 75 แผ่น ยังรอคนเข้ามาเยี่ยมชม อ่านเรื่องราวการตีความ
กระดานกราฟ ยังรอคนมาสำรวจและแบ่งปันที่ทางของตัวเอง รับรู้ว่ายังมีคนอื่น ๆ อยู่เช่นกัน
สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำว่า ความหวังยังอยู่กับเราเสมอ เพราะเราไม่ได้อยู่ลำพัง เราไม่ลืมเขา และเสียงของเขาจะไม่ถูกลืม
จาก เราเอง
งาน Freedom Beyond Walls : นิทรรศการโปสการ์ดและจดหมายเพื่อส่งกำลังใจถึงเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ จัดขึ้นในวันที่ 15-27 ก.ค. 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 1 มุมสามเหลี่ยม และสามารถเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำได้ทั้งทางออฟไลน์ในกิจกรรมดังกล่าวและในกิจกรรมอื่น ๆ ของแอมเนสตี้ฯ และทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ freeratsadon.amnesty.or.th