มองบทเรียน สู่อนาคต กลุ่มคอมโควิด-19

สุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือหมอ แต่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน

การระบาดของโควิด-19 สายพันธ์เดลตา เมื่อปี 2564 นับเป็นวิกฤตของโรคที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศไทย แต่เราผ่านมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะกลไกและระบบที่หนุนเสริมจากเครือข่ายภาคประชาชน

The Active คุยกับกลุ่ม “คอมโควิด-19” (Community-led COVID-19 Support Workforce) หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชน ที่ลุกขึ้นมาดูแลและจัดการผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่แสดงอาการหรือกลุ่มสีเขียว ก่อนที่นโยบายระดับชาติจะขานรับ และหันมาใช้แนวทางเดียวกันนี้ จนรู้จักกันในนาม Home Isolation และ Community Isolation

รู้จักคอมโควิด-19 

ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2564 เวลานั้นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยรายวันสูงถึงหลักหมื่นคนติดต่อกัน จนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว มีข่าวผู้ติดเชื้อนอนตายข้างถนน ไม่มีที่รักษา เป็นภาพที่หดหู่อย่างมาก สถานการณ์ยิ่งดูเลวร้ายมากขึ้น เมื่อเกิดการระบาดขนาดใหญ่ของกลุ่มประชาชนคนเปราะบางในชุมชนแออัด 

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ว่า เวลานั้นชาวบ้านในชุมชนแออัดที่เครือข่ายทำงานอยู่ 23 ชุมชน ทยอยติดเชื้อกันภายในครอบครัวเป็นจำนวนมาก พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้ ตกงาน ไม่มีทั้งเงิน อาหาร เครือข่ายฯ จึงรีบปรึกษากับแกนนำชุมชนและพยายามกู้วิกฤต และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะใช้พื้นที่ว่างส่วนกลางในชุมชนจัดทำศูนย์พักผู้ป่วยรอการส่งตัว พร้อมกับสร้างอาสาสมัครในชุมชนขึ้นมาดูแลผู้ป่วย รวมถึงปากท้องของผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องกักตัว

“ช่วงแรกก็ทุลักทุเล แต่เราพยายามมองหาสิ่งที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือก่อน เริ่มอบรมอาสา หาสถานที่ อุปกรณ์ ส่งข้าวส่งน้ำ คิดว่ายังไงชุมชนก็ต้องรอด”

คอมโควิด-19
อาสาสมัครช่วยส่งอาหาร พร้อมประเมินอาการกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่กักตัวในชุมชน

จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากพลังเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่ต่างมีบทบาทตามความถนัดในการดูแลกันเองในชุมชน แต่สถานการณ์ในเวลานั้นไม่คลี่คลายโดยง่าย จากศูนย์ฯ ที่ตั้งใจทำเพียงรอการส่งตัว แต่กลับพบว่าการรอคอยนั้นยาวนาน ทำให้ผู้ป่วยบางคนจากที่ไม่มีอาการ กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง แดง จนกระทั่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ซึ่งเข้ามาร่วมกับเครือข่ายฯ กลายเป็นหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาดูแลให้คำปรึกษาในด้านการแพทย์ช่วงรอตรวจ รอเตียง โดยพัฒนาระบบการลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อรับประเมินอาการทุกวัน รวมถึงการจ่ายยาที่จำเป็นในบางกรณี การทำงานร่วมกันครั้งนี้ จึงกลายมาเป็นที่มาของเครือข่าย “คอมโควิด -19 (Community-led COVID-19 Support Workforce)” 

ขยายเครือข่ายจากภาคประชาชนสู่เอกชนและรัฐ

เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บอกว่า หลังจากที่เครือข่ายฯ ทำงานสร้างระบบดูแลกันเองภายในชุมชนได้สักระยะหนึ่ง ประกอบกับสถานการณ์การระบาดในช่วงนั้นสุกงอม จนกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดจะกู้วิกฤตด้วยการสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวภายในบ้านและชุมชน เวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมการแพทย์   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีโอกาสระดมข้อมูลและแสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการดูแลผู้ป่วย จนในที่สุดเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานขึ้น ระบบของคอมโควิด-19 ยังคงทำงานต่อไป แต่ได้รับงบประมาณ ยา อุปกรณ์สนุบสนุนจากสปสช. และคอมโควิด-19 ยังทำหน้าที่แบ่งเบาภาระผู้ป่วยที่ล้นจากระบบของ สปสช. ที่โทรผ่าน 1330 เข้ามาดูแลเองส่วนหนึ่ง

ส่วนกรมการแพทย์ได้ขานรับโมเดลของภาคประชาชนจนนำมาสู่การมีระเบียบข้อบังคับ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการระบบนี้ในระดับประเทศ มีคลินิกอบอุ่นเข้ามาดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้านและในชุมชน

คอมโควิด-19
ตัวแทนคอมโควิด-19 อบรมแกนนำชุมชนในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวในชุมชน

แต่ความร่วมมือและความสำเร็จที่เกิดขึ้นแม้เป็นหมุดหมายอันดีของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน ภาคประชาชน แต่ก็มีบทเรียนที่ต้องทบทวนอยู่ไม่น้อย พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหาร IHRI กล่าวว่า จุดแข็งที่ทำให้คอมโควิด-19 มาถึงวันนี้ คือ การมองคนในชุมชนเป็นศูนย์กลางและมองให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ และค่อย ๆ ขยายกลุ่มออกไป แต่ที่ผ่านมา ยอมรับว่าพบอุปสรรคและข้อจำกัดของการทำงาน โดยเฉพาะช่วงแรกซึ่งมีปัญหามากคือการสื่อสารของภาครัฐไม่ชัดเจน

“การสื่อสารไม่ชัดเจน สร้างความสับสน ทำให้การทำ HI/CI ยาก การสื่อสารเกินความคาดหวัง ทั้งเรื่องการส่งอาหาร ยา ทั้งที่ความจริงบางครั้งคือมันไม่เกิดขึ้น และต้องยอมรับว่ารัฐไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำ HI/CI ซึ่งมันจะเกี่ยวโยงกับเรื่องงบประมาณ ซึ่งคลินิกอบอุ่น พริบตา ไม่สามารถเบิกจ่ายได้แม้แต่ในเวลานี้”

หากจะเดินหน้าต่อสู่การปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกันกับเชื้อโควิด-19 หรือที่รัฐบาลเตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่น 4 เดือนหลังจากนี้  พญ.นิตยา เห็นว่ารัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจน ลดความสับสนและลงทุนกับชุมชนให้มากขึ้น เพราะครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชุมชนมีศักยภาพและหากได้รับการสนับสนุน ไม่เพียงแค่โรคระบาดแต่ทุกปัญหาชุมชนสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนยังคงเดินหน้าทำงานขยายโมเดลโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ให้กระจายออกไปในทุกภูมิภาคของประเทศ และในเวลานี้มีเครือข่ายทำงานร่วมกันถึง 136 ชุมชน 

สุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือแพทย์พยาบาลเท่านั้น แต่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน

รางวัลบุคคลเกียรติยศ ที่ มูลนิธิโกมลคีมทอง มอบให้แก่ กลุ่มคอมโควิด-19 ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “ระบบสุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือแพทย์พยาบาลเท่านั้น แต่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน”

รสนา โตสิตระกูล กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโกมลคีมทอง กล่าวว่า การทำงานของกลุ่มคอมโควิด-19 คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนต่าง ๆ มีศักยภาพในการดูแลปัญหาสุขภาพของตนเอง หากชุมชนมีองค์ความรู้และมีความมั่นใจที่สามารถส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลผู้ติดเชื้อหรืออยู่ร่วมกันได้ หากรัฐเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาสุขภาพได้อย่างเป็นระบบ โดยไม่ผูกขาดการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นฝ่ายเดียวย่อมทำให้ปัญหาสุขภาพในมิติต่าง ๆ ของประชาชนมีทางออก

คอมโควิด-19
ตัวแทนคอมโควิด-19 รับรางวัลโกมลคีมทอง

นี่คือบทสรุปสุดท้ายที่ พญ.นิตยา ภานุภาค ตัวแทนคอมโควิด-19 ในการขึ้นรับรางวัลเกียรติยศ กล่าวกับ The Active ถึงบทเรียนและก้าวต่อไปในอนาคตภายใต้การทำงานในระบบนี้

“สุดท้าย เราหวังว่างานที่พวกเราทำจะถูกยอมรับในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค ว่าการลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ทำให้รัฐมองเห็นว่า ต่อไปการลงทุนพัฒนาศักยภาพประชาชนเพื่อจะดูแลสุขภาพของตัวเอง เป็นระบบบริการสุขภาพในชุมชนที่นำโดยชุมชนเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงแม้รัฐจะไม่ตอบรับ เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมาได้หว่านเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้เห็นความเข้มแข็งของประชาชนในชุมชนหลาย ๆ แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลาย ๆ จังหวัด ให้พร้อมจะมีส่วนร่วมในการวางแผนเรื่องระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต” 

พญ.นิตยา ภานุภาค

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส