เป็นความตั้งใจที่ ฟาอิก กรระสี จากสมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ เปิดบทสนทนากับ The Active พร้อมบอกถึงความปรารถนาในฐานะของคนรุ่นใหม่ ที่อยากเห็นความ สันติ เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้ง และความร่วมมือกันไปสู่จุดนั้น น่าจะทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มองเห็นโอกาสของ สันติภาพ ได้ไม่ไกลเกินเอื้อม
ฟาอิก วัย 19 ปี เป็นเด็กหนุ่มมุสลิม จาก จ.สตูล เขาไม่ใช่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ความผูกพันทางเชื้อชาติ ศาสนา และวิถีวัฒนธรรม ใช้ภาษามลายูสื่อสารได้คล่องแคล่ว จนมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้มา 7-8 ปี เขาจึงรู้สึกว่าตัวเองเปรียบเสมือนคนในพื้นที่ไปแล้ว
ย่างก้าว ‘คนรุ่นใหม่’ สู่บทบาท ‘ประชาสังคมชายแดนใต้’
ก่อนหน้านี้ ฟาอิก เป็นแค่เยาวชนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีความรู้สึกร่วม หรือรู้สึกเข้าใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่เวลาผ่านไปเขาก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับภาคประชาสังคมชายแดนใต้ อย่าง ‘สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้’ เมื่อเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย และเริ่มมีบทบาทมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
“ผมมีบทบาทเต็มตัวในภาคประชาสังคม ในฐานะที่เป็นเยาวชน ได้คลุกคลีไปเรื่อย ๆ จนเกิดความเข้าใจ ได้เรียนรู้ และสัมผัส จึงมีความรู้สึกที่อยากจะเชิญชวนเพื่อน ๆ เยาวชนคนอื่นได้เข้ามาทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยกัน”
สมาคมฟ้าใสฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำหน้าที่ดูแล ขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ ทั้งการเปิดโอกาส เปิดโลกเรียนรู้ เมื่อมาสู่ช่วงที่เริ่มเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ก็ได้เพิ่มความพยายามขับเคลื่อนความเข้าใจระหว่างเยาวชนพุทธ-มุสลิม และเยาวชนที่ต่างศาสนิกกัน พร้อมทั้งทำงานที่ครอบคลุมในทุกมิติ เช่น สุขภาพเด็กปฐมวัย ไปจนถึงคนชรา
คนรุ่นใหม่ มอง สันติภาพ
แน่นอนว่าบทบาทของสมาคมฟ้าใสฯ คาดหวังให้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้เกิด สันติภาพ ซึ่งคำนี้ สำหรับมุมมองของ ฟาอิก กลับเชื่อว่า เยาวชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มอง สันติภาพ เป็นคำที่ Negative (ลบ) เพราะดูจับต้องไม่ได้ เยาวชน คนรุ่นใหม่ จึงแทบนึกไม่ออกว่า แบบไหน ? คือสันติภาพที่ทุกคนอยากเห็น
อีกทั้งสันติภาพที่มีให้เห็นในเวลานี้ เป็นความพยายามที่มีลักษณะ Top to down หรือ จากบนลงล่าง และเป็นการสร้างสันติภาพแต่ในเชิงโครงสร้าง เช่น รัฐไทย กับ ขบวนการ มาเจรจากัน รวมทั้งการผลักดันในส่วนกรรมาธิการฯ ในสภาฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสันติภาพที่ประชาชนทั่วไปเห็นแค่โครงสร้างเท่านั้น
“สันติภาพที่เราเห็นในทุกวันนี้ถูกกำหนดไว้ให้คนใน ระดับบน หรือ Elite เท่านั้นที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ แต่คนรากหญ้าที่เป็นเพียงแค่คนธรรมดาในสังคม ไม่มีโอกาส หรือมีแค่โอกาสเล็กน้อยเท่านั้น ที่จะได้มีบทบาท และมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ แต่ถ้ามองในมุมของสันติภาพในชีวิตประจำวันที่เป็นสันติภาพแบบ Concept Bottom up หรือจาก ล่างขึ้นบน สิ่งนี้จะเป็นปฏิบัติการของคนธรรมดา สามัญชนทั่วไปในสังคม ที่พวกเขาพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้น”
สันติภาพในชีวิตประจำวัน ?
ฟาอิก จึงเสนอมุมมองที่อยากเห็น สันติภาพอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่า Everyday peace น่าจะดูเป็นแนวทางของสันติภาพที่สามารถจับต้องได้มากกว่า เพราะสันติภาพในชีวิตประจำวัน คือ มุมมองเล็ก ๆ ในแต่ละวัน ที่สามารถที่จะนำมาประติดประต่อรวมกันเพื่อให้เกิดเป็นพลัง ซึ่งสิ่งนี้น่าจะช่วยเปลี่ยนมุมมองสันติภาพจากที่เคยรู้สึก Negative ให้กลายมาเป็นความรู้สึกที่ Positive (บวก) มากขึ้น
“ความเป็นจริงนั้น Everyday peace เป็นแนวคิดเก่าที่เกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ถือว่ายังเป็นแนวคิดใหม่สำหรับในประเทศไทย”
ผู้ที่จุดประกายแนวคิด Everyday peace ฟาอิก ยกเครดิตให้กับ ‘งามศุกร์ รัตนเสถียร’ นักปกป้องด้านสิทธิมนุษยชน และอาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำทฤษฎี Everyday peace มาถ่ายทอด และเสนอผ่านการอบรมเยาวชนในพื้นที่ นับว่าเป็น จุดเริ่มต้น ให้ฟาอิกมีความรู้สึกอยากจะนำเสนอเรื่องราวของสันติภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะปัจจุบันนี้เยาวชนในพื้นที่เอง ต่างมองไม่เห็นถึงปัญหาของความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่ พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับความขัดแย้ง เป็นกิจวัตรประจำวันของตนเอง
แค่ Peace คำเดียวยังไม่พอ ต้อง Everyday peace
Everyday peace จึงสามารถที่จะทำกิจกรรมอะไรก็ได้ในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะนำไปสู่สันติภาพในชีวิตประจำวัน เช่น การนำกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วเป็นปกติในชีวิตประจำวัน มาทำและสร้างคุณค่า
“ที่ผ่านมานั้นพวกเรา ได้ทำมาโดยตลอดเป็นประจำทุกวัน แต่เราไม่ได้มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำผ่านการมองจากเลนส์ของสันติภาพ จึงดูเหมือนว่าปล่อยผ่าน ที่เมื่อทำกิจกรรมกันเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป เหมือนสิ่งที่ทำนั้นไม่มีคุณค่าเลย”
ถ้าหวังจะสร้างแนวคิด Everyday peace ให้เยาวชนในพื้นที่หันกลับมามอง ก็ต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเล่นฟุตบอลด้วยกัน ซึ่งถ้าสามารถมองผ่านเลนส์ของสันติภาพในชีวิตประจำวันได้ เดิมทีนั้นอาจเล่นฟุตบอลแค่เฉพาะในกลุ่มเพื่อนมุสลิม ก็ให้เริ่มต้นเปลี่ยนมาเชิญชวนเพื่อนชาวพุทธ ให้เข้ามาร่วมเล่นด้วยกัน
ถ้ามองในเลนส์ของสันติภาพ คือ จะมีด้วยกัน 2 ส่วน 1. ต้องเปลี่ยนมุมมองของเยาวชนให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และสามารถมองผ่านเลนส์ของการสร้างสันติภาพในชีวิตประจำวันได้ 2. ทำให้กิจกรรมที่ทำอยู่ทุกวันนั้นเกิดการสร้างคุณค่า และเกิดประสิทธิภาพขึ้นมา และยังสามารถนำกิจกรรมที่พวกเขาทำหรือเล่นกันในทุก ๆ วัน ไปสร้างเพื่อให้เกิดความความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในพื้นที่เองก็มีสถานที่ ที่สามารถทำเป็นวงพูดคุยกันมากมาย เช่น ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ แต่จะสามารถทำให้ร้านคาเฟ่ทั่วไปเปลี่ยนมาเป็นวงพูดคุย เป็นพื้นที่ที่มีความ Impact ต่อการสร้างสันติภาพในชีวิตประจำวันได้ จะสามารถมีวงคาเฟ่ ที่เป็นการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนต่างศาสนาได้หรือไม่ หรือเป็นวงคาเฟ่ที่ไม่ใช่แค่การพูดคุยเรื่องราวทั่วไป แต่บทสนทนาที่พูดคุยกันทุกวันนั้น จะสามารถพัฒนาให้เป็นการพูดคุยกันในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนได้ไหม ?
“สิ่งที่เราทำได้ คือต้องสร้างความเข้าใจในฐานความคิดของเยาวชนก่อน เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ใหญ่ที่มีกรอบความคิดในแบบของเขาเองได้ แต่ถ้าเยาวชนนำแนวคิดนี้มาสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนด้วยกันเอง โปรยแนวคิดนี้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ หรือ ผ่านการให้ความรู้ในช่องทางของโซเชียลมีเดีย และทุกช่องทางเท่าที่จะสามารถทำได้ บ่งบอกรู้ว่าในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางเหตุการณ์เดียวกัน มีมุมมองที่คล้ายกัน ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ความขัดแย้งลดลงได้”
แต่ด้วยความเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ Everyday peace ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ลำพังแค่ประชาชนกับประชาชนเอง สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและยุติเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพราะยังมีเยาวชนอีกหลายคนที่กลัวเจ้าหน้าที่ กลัวการใช้กฎหมายความมั่นคง จึงต้องทำควบคู่กันไป โดยคาดหวังว่าหากเกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นในอนาคต อาจสามารถลดเงื่อนไขของความขัดแย้งลงได้
สร้างสังคมคุณภาพชายแดนใต้
ถึงตรงนี้ ฟาอิก เชื่อว่า หากต้องการให้สังคมชายแดนใต้มีคุณภาพมากพอ หน้าที่ของการพัฒนาสังคมจึงไม่ใช่แค่เพียงเยาวชนเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรับไม้ต่อ เพื่อสร้างสรรค์สังคมในแบบที่คาดหวัง
“ถ้าถนัดด้านการศึกษาก็ไปพัฒนาในเรื่องของการศึกษา หรือถนัดในด้านของเศรษฐกิจ ก็ไปพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไม่ว่าจะพัฒนาในด้านไหน ทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาได้ เพียงแค่ให้เรามีความรู้สึกที่อยากจะพัฒนาสังคม ซึ่งก็จะทำให้กลายเป็นสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไปได้”
เวลานี้แนวคิด Everyday peace ได้ถูกวางแผนไว้ว่า อนาคตจะมี ตลาดคนเดินเยาวชน ที่จะจัดขึ้นในพื้นที่ จ.ยะลา โดยเยาวชนทุกคน ทุกศาสนา จะมารวมตัวกันสร้างพื้นที่กิจกรรม สิ่งนี้ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพ เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน เพื่อเดินหน้าทำเรื่อง Everyday peace สันติภาพในชีวิตประจำวันให้เกิดขึ้นจริง ๆ
“ถ้าสามารถสกัดความขัดแย้งได้ จะไม่นำไปสู่ถึงความรุนแรง แต่ถ้าไปแก้ที่ความรุนแรงทันที เราอาจไม่สามารถที่จะกลับมาแก้ไขที่ความขัดแย้งได้ ในพื้นที่ชายแดนใต้ตอนนี้ ก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะเราไม่มีกิจกรรมที่จะสามารถสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกัน ซึ่งถ้าเรายังคงปล่อยปัญหานี้ไว้โดยที่ไม่ทำอะไรเลย เมื่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ ในเวลานี้เติบโตขึ้น พวกเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงขัดแย้งกันไม่รู้จบ”
ฟาอิก ฝากทิ้งท้าย