การเอ่ยปาก “ขออภัย” ของ ทักษิณ ชินวัตร ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ไม่ว่าคำพูดจากปาก อดีตนายกฯ จะสะท้อนความจริงใจหรือไม่ ?
ทักษิณ กับ คำขอโทษ…ตากใบ
แต่ รอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ก็ยังมองว่า นี่คือรูปแบบของคำตอบ ที่มาจากจากการตั้งคำถามโดยผู้สื่อข่าว และเท่าที่จำได้ อดีตนายกฯ ทักษิณ พูดคำขอโทษ ขออภัย ต่อเหตุการณ์ตากใบในที่สาธารณะมาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งแรก คือ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 65 ในวาระครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นการวิดีโอคอลให้สัมภาษณ์ The Reporters ในรายการ CareTalk X CareClubhouse มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับครอบครัวผู้สูญเสีย ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน ว่า วันนั้นขณะเกิดเหตุ ได้รับรายงานขณะตีกอล์ฟย่านบางนา ว่า มีประชาชนมาล้อมสถานีตำรวจ ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าเอาอาวุธไปส่งให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จึงมาล้อมขอเอาตัวออกไป ซึ่งตำรวจถามผมว่าจะทำยังไง ผมบอกว่าจะทำแบบนั้นไม่ได้ ตำรวจต้องดำเนินคดีตามกฎหมายก่อน ผมพูดแค่นี้ หลังจากนั้นก็ตีกอล์ฟต่อ มารู้อีกทีก็หลังเหตุการณ์เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมและมีผู้เสียชีวิต ซึ่งยืนยันได้ว่า ไม่ได้เป็นผู้สั่งการ”
“ผมถือว่า ถึงแม้ผมไม่ได้สังการ แต่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย แก่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นด้วย เพราะจริงๆ ที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้น”
ทักษิณ ชินวัตร (25 ต.ค. 65)
นั่นเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่ รอมฎอน นึกถึงคำขอโทษต่อเหตุการณ์ตากใบที่เคยเกิดขึ้น จากปาก ทักษิณ ชินวัตร และอีกครั้งก็คือ การลงพื้นที่ชายแดนใต้ 23 ก.พ.ที่ผ่านมานี้
“ตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจและห่วงใยประชาชน 100% แต่การทำงานก็มีผิดพลาดได้บ้าง ถ้ามีอะไรผิดพลาด ที่ไม่พอใจ ก็ขออภัยด้วย ให้ช่วยกันเผื่อแก้ปัญหา ซึ่งคนมุสลิมจะมีสิ่งที่สำคัญมาก คือ ความเข้าใจ เกรงใจ เเละการให้อภัย ผมก็ขออภัยด้วย”
ทักษิณ ชินวัตร (23 ก.พ. 68)

คำขอโทษ ‘คดีตากใบ’ จะไม่หมดความหมาย…ถ้าพูดไวกว่านี้
รอมฎอน เห็นว่า ถ้านับแค่ 2 ครั้งนี้ อาจพูดได้ว่า ทักษิณ พูดคำขอโทษ ขออภัย อย่างกว้าง ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งปฏิกิริยาของผู้คนในโลกโซเซียลฯ ก็รู้สึกว่า มันเบาไป ไม่ได้แสดงถึงความจริงใจอะไร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ตอนนี้มีสถานการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น
เขายังมองว่า ถ้าจะทำให้คำพูดขอโทษ ขออภัย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ มีพลังมากกว่านี้ อาจต้องทำก่อนที่คดีตากใบจะขาดอายุความ ยกตัวอย่าง เช่น การลงพื้นที่มาชายแดนใต้ของ อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ.ปีก่อน ถ้าครั้งนั้น ทักษิณ ลงพื้นที่มาด้วย แล้วมาพูดขอโทษในตอนนั้น เชื่อว่าน่าจะมีพลัง ส่งผลต่ออะไรหลาย ๆ เรื่อง
“คุณทักษิณมาพูดตอนนี้ มันเบาไปแล้ว มีคำถามใหญ่ ๆ คือ หนึ่งในจำเลยที่ศาลรับฟ้องแล้ว เป็นอดีตแม่ทัพภาค 4 และเป็น สส.พรรคเพื่อไทย ถ้าคุณทักษิณจริงใจมากพอ ก็ต้องพูดตั้งแต่ตอนนั้น ตอนที่คดียังไม่ขาดอายุความ และก็ต้องแสดงความพยายามทำทุกวิถีทางให้ สส.ในพรรคเพื่อไทย ที่ตกเป็นจำเลยของคดีนี้ อย่าง พล.อ. พิศาล วัฒนวงศ์คีรี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ก็พบว่า ทุกคนในพรรคเพื่อไทยได้พยายามทำเรื่องนี้น้อยไปหน่อย เมื่อมาพูดขอโทษ ขออภัยในวันที่คดีมันจบไปแล้ว จึงทำได้แค่ขออภัยในสิ่งที่กระทำที่ผิดพลาดเฉย ๆ ไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความยุติธรรมที่ครอบครัวผู้สูญเสียควรได้รับ”
รอมฎอน ปันจอร์
ขอโทษด้วย ที่… ?
คำขออภัยจากปากอดีตนายกฯ ทักษิณ ครั้งนี้ ยังส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาของผู้คนที่ในโลกออนไลน์ไม่น้อย หลายคนแสดงความเห็นในเชิงตั้งคำถาม และเปรียบเปรยกับสิ่งที่เกิดขึ้น The Active ยกตัวอย่างจากโพสต์หนึ่งที่ถูกแชร์ไปจำนวนมาก โดยเจ้าของโพสต์ที่ใช้ชื่อ Sakesit Yaemsanguansak ระบุถึง คำขออภัยต่อกรณีตากใบเอาไว้ ว่า
ขอโทษด้วย : ที่คดีตากใบ ดันเกิดภายใต้แนวนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของผมพอดี
ขอโทษด้วย : ที่ในสมัยรัฐบาล สมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์ จากพรรคผม ดันไม่ได้คืนความเป็นธรรมเป็นชิ้นเป็นอันอะไร
ขอโทษด้วย : ที่พอถูกถามเรื่องคดีตากใบในคลับเฮาส์ ผมดันเผลอตอบไปว่า “จำไม่ได้แล้ว”
ขอโทษด้วย : ที่คดีมันดันมาหมดอายุความ ในสมัยรัฐบาลลูกสาวผมพอดี ซึ่งก็ขอโทษอีกที ที่ไม่ได้ดำเนินการอะไร
ขอโทษด้วย : ที่ สส. พรรคผม ที่เป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ดันหนีออกนอกประเทศ ไม่ยอมกลับมา จนคดีหมดอายุความ
ขอโทษด้วย : ที่รองประธานสภาฯ จากพรรคผม เป็นคนเซ็นอนุมัติให้ สส. ที่เป็นผู้ต้องหาคนนั่น ลาไปนอกประเทศ
ขอโทษด้วย : ที่รองนายกฯ จากพรรคผมบอกว่า สส. คนนั้น ได้ลาออกจากพรรคไปแล้ว เรื่องจึงไม่เกี่ยวกับพรรคผมอีก
ขอโทษด้วย : ที่พอมีการยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. ขยายอายุความคดี รัฐบาลลูกสาวผมก็ดันไม่ได้ทำอะไร
ขอโทษด้วย ที่… ‘คนเพื่อไทย’ ลอยนวล ?
คำขอโทษ…ที่โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้น ยังสอดคล้องกับมุมมองของ มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ ที่ปรึกษาสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ยอมรับกับ The Active ว่า ตอนนี้ผู้คนไม่ได้มองการขอโทษ ไม่ขอโทษแล้ว เชื่อว่ามันเลยจุดนั้นไปแล้ว ความไม่พอใจของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อได้เลยจุดของการของโทษไปแล้ว เพราะจริง ๆ คือ คำขอโทษของ ทักษิณ ก็พูดหลายครั้ง แต่ความจริงคือ การขอโทษ กับ การดำเนินคดี มันคนละเรื่องกัน

“การมาในรอบนี้ เราไม่ได้มองว่ามาแล้วต้องให้อภัย เพราะได้ยินทักษิณ ขอโทษหลายครั้งแล้ว ถ้าจะขอโทษจริง ๆ ก็ต้องขอโทษที่ไม่สามารถเอา สส.เพื่อไทย มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้มากกว่า คนไม่ได้ติดใจเรื่องตากใบอะไรแล้ว มันผ่านมานานแล้ว แต่ที่ผู้คนยังค้างคา คือในเมื่อมีอำนาจจริง ทำไมไม่สามารถเอาคนเหล่านั้น เอาคนในพรรคตัวเองมาพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมได้เลย”
มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ
วัดความจริงใจ หยุดสร้างเงื่อนไขใหม่ ไปต่อสันติภาพ
มูฮัมหมัดอาลาดี ยังชี้ให้เห็นประเด็นเรื่องกระบวนการสันติภาพอีกด้วย เพราะเชื่อว่า การที่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุย ยิ่งทำให้คนตั้งคำถามว่า แล้วรัฐบาลยังสนใจเรื่องสันติภาพที่ชายแดนใต้อยู่หรือไม่ ทั้งที่หลายฝ่ายยอมรับ และเห็นผลกันไปแล้วว่ากระบวนการสันติภาพเป็นสิ่งจำเป็น เหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงหลายปีก่อนลดลงเพราะมีกระบวนการเหล่านี้ แต่พอกระบวนการนี้ไม่เกิดขึ้น ทิ้งช่วงไว้นาน สิ่งที่กังวลก็คือ สถานการณ์จะแรงขึ้น และการใช้วิธีปราบปรามของฝ่ายความมั่นคงก็จะแรงขึ้นตามกัน
“มันก็เป็นโอกาสที่ดี สำหรับบทบาทใหม่ของคุณทักษิณ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าทิศทางของการเจรจาจะไปทางไหน การกดดันกลุ่มเห็นต่าง กลุ่มคนที่เคลื่อนไหว ก็เคยใช้มาแล้ว พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล หรือจะเป็นการกลับมาพูดถึงนโยบายพาคนกลับบ้าน เอาคนอยู่มาเลเซีย มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่ผ่านมาก็เคยมีแล้ว ซึ่งวิธีการนี้มันก็ไม่ค่อยได้ผล”
มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ

ที่ปรึกษาสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จึงเสนอว่า หากจะทำให้เหตุการณ์สงบลงจริง ๆ ก็ต้องพูดคุยเจรจาสันติภาพ แล้วลดการสร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ จากฝ่ายหน่วยงานความมั่นคง ต้องพยายามไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ เช่น การมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ รอบนี้ อาจต้องส่งสัญญาณไปถึง กอ.รมน. เลยว่า ต้องใช้แนวทางการพูดคุยแก้ปัญหา เปิดใจ รับฟังกัน ไม่ใช่ใช้แต่กฎหมายมาเล่นงานทางการเมือง อย่างการฟ้องนักกิจกรรมคดีชุดมลายู การติดตาม คุกคามนักเคลื่อนไหว ถ้าเรื่องเก่าที่ยังค้างคาอยู่แบบนี้ ก็มีแต่สร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ให้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพทั้งสิ้น
ไม่ต่างกันกับ รอมฎอน ที่เชื่อว่า ความไม่ชัดเจนเรื่องการพูดคุยสันติภาพ และการทบทวนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาล ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของ อดีตนายกฯ ทักษิณ ดูไม่ค่อยมีน้ำหนัก การที่ออกมาขีดเส้นว่า การแก้ปัญหาควรจบให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ คำพูดแบบนี้ได้ยินมาแทบทุกรัฐบาล ตอนรัฐบาลประยุทธ์ ก็ขีดเส้นเส้นไว้เหมือนกัน รองนายกฯ ประวิตร ตอนนั้น ก็บอกว่าต้องแก้ปัญหาให้จบ สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณ พูดก็ไม่ต่างกัน ทุกคนก็พูดได้ แต่ไม่เห็นรายละเอียด ตอนนี้มีการพูดถึงการกลับไปใช้นโยบายพาคนกลับบ้าน ใช้นโยบาย 66/2523 ก็ต้องมาคุยกันต่อ พูดง่าย ๆ คือ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร
ส่วนการมาในฐานะของที่ปรึกษาประธานอาเซียน สำหรับ รอมฎอน แล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ที่สุด สำหรับการลงพื้นที่ชายแดนใต้ของ อดีตนายกฯ ทักษิณ ครั้งนี้ โดยเตรียมอาศัยบทบาทที่ได้รับชวนประเทศอาเซียนมาร่วมกันหาทางออก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ก็ยังไม่เห็นรายละเอียด ยังเป็นทิศทางกว้าง ๆ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า วางเป้าหมายได้ ให้ความเชื่อมั่น วางกรอบเวลาได้ แต่การจะทำจริง ๆ อาจต้องรอพิสูจน์ต่อไป