‘ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน’ หนึ่งใน 15 พื้นที่ย่านสร้างสรรค์
จากนโยบาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ กทม.
พื้นที่ตัดผ่าน ระหว่างคลองชักพระ และคลองวัดตลิ่งชัน เป็นที่ตั้งของ ‘วัดตลิ่งชัน‘ โบสถ์เก่าแก่ของวัด หันหน้าเข้าหาแม่น้ำ สะท้อนความเจริญและอายุการใช้งานที่ยาวนานมาตั้งแต่ในอดีต และพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดแห่งนี้เอง เป็นจุดตั้งต้นของ ‘ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน‘ ตลาดน้ำวิถีวัฒนธรรมของเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ไม่ใช่แค่ตลาดที่ขายของริมฝั่งคลอง แต่ที่นี่ยังมีเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในบรรยากาศที่ล้อมรอบด้วยชุมชนริมคลอง เรียกว่าใครอยากหาบรรยากาศดีๆ วิถีสโลว์ไลฟ์ ต้องขอแนะนำให้มาที่นี่ ระหว่างที่คุณผู้อ่านกำลังตัดสินใจ The Active ชวนคุยกับ ‘ป้าอ้อย – นพรัตน์ สอนวิทย์’ ประธานวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน ถึงเรื่องราวที่มา และโอกาสพัฒนาย่าน ตามนโยบายและวิสัยทัศน์ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ’ ที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานราก และส่งเสริมคุณค่าอัตลักษณ์ประจำชุมชนทั่วกรุงเทพฯ
ตลาดริมสายน้ำ เส้นทางยกทัพก่อนตั้งกรุงธนบุรี
คลองชักพระ หรือคลองบางขุนศรี เคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ‘แม่น้ำอ้อม’ บางคนเรียกว่า ‘แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า‘ สำนักงานเขตตลิ่งชันให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนสมเด็จพระเจ้าตากสินเดินทัพผ่านแม่น้ำสายนี้ก่อนจะมาตั้งกรุงธนบุรี และในสมัยรัชกาลที่ 6 พื้นที่ริมคลองถูกจัดสรรปันส่วนเป็นสวน-ไร่-นา ที่นี่จึงเป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงคนในพระนครตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ส่วนที่เป็นขอบพื้นที่เกษตรกรรม ริมตลิ่งทำเป็นดินหนา ทำให้ดูเหมือนว่าตลิ่งสูงชัน เป็นที่มาของชื่อ ‘เขตตลิ่งชัน’ แม้ในปัจจุบันนี้ หากมีการขุดค้นทางโบราณคดีในแหล่งน้ำก็มักจะเจอซากปรักหักพังของอิฐปูนโบราณ ซากเรือสำเภาสมัยก่อน บ่งชี้ถึงความเจริญในอดีต
“เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตั้งแต่ตอนกลางกรุงศรีฯ แม้จะมีการขุดเส้นทางสายใหม่ทางฝั่งพระนครแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังมีความสำคัญ เป็นทางเดินทัพของพระเจ้าตาก ทำไมท่านเลือกฝั่งธนบุรี น่าจะเพราะแม่น้ำสายตัดใหม่อาจจะเชี่ยวมากกว่า ไม่เหมาะกับการเดินทัพ และเพราะฝั่งธนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เรียกว่า ‘ธนบุรีศรีมหาสมุทร’ ซึ่งการสร้างเมืองการรวบรวมไพร่พล ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนทางทรัพยากรเลี้ยงปากท้อง ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นพื้นที่เลี้ยงกรุงศรีฯ มาตั้งแต่ต้น และที่ท่านเลือกตั้งกรุงใหม่ก็คงด้วยเหตุนี้ไปเกี่ยวข้อง ช่วงเปลี่ยนแผ่นดินไปตั้งอีกฝั่งหนึ่ง ก็เป็นทุ่งที่ขยายพื้นที่ออกไปได้ แต่ถ้าเรื่องการเกษตรแล้วต้องฝั่งธนฯ”
คณะผู้บริหาร สำนักงานเขตตลิ่งชัน
ชุมชนที่อยู่ในละแวกนี้จึงเป็นชุมชนที่อยู่คู่กับคลอง มีคลองเป็นตัวเชื่อมระบบการเดินทาง อย่างคลองชักพระเชื่อมไปถึงคลองบางหลวง คลองบอน คลองมหาสวัสดิ์ และพื้นที่อีก 6 เขตที่อยู่ริมน้ำ แม้ในปัจจุบันจะไม่นิยมเดินทางโดยเรือแล้ว แต่ชุมชนริมคลองก็ยังให้บรรยากาศเหมือนเป็นเวนิสตะวันออก
ในพระอุโบสถ วัดตลิ่งชันยังมีพระประธานทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ ลักษณะคล้ายพระประธานที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา ความเชื่อหนึ่งมองว่า อาจถอดแบบมาจากที่เดียวกัน เนื่องจากช่วงเวลายกทัพของพระเจ้าตาก มีช่างฝีมือ ทหาร และไพร่พลจำนวนหนึ่งจากอยุธยา มาร่วมพัฒนาพื้นที่ย่านฝั่งธนฯ
ต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ สามารถพัฒนาเชิงท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีของดีของเด่นแตกต่างกันไป
”บวร” บ้าน-วัด-ชุมชน ฐานคิดเศรษฐกิจท้องถิ่น
ป้าอ้อย เล่าว่า ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เกิดขึ้นจากความเมตตาของพระคุณเจ้า พระมหาธวัช โพธิเสวี เจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน เจ้าคณะแขวงคลองชักพระ กรุงเทพมหานคร โดยมีดำริว่า “อยากให้คนรู้จักวัดตลิ่งชัน” เมื่อหารือกับชุมชนแล้วจึงมีข้อสรุปว่า “สร้างตลาดน้ำ” เป็นพื้นที่ค้าขายส่วนกลางแลกเปลี่ยนสินค้า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องและเครือข่ายชุมชนในชุมชนทั้ง 43 แห่ง ในเขตตลิ่งชัน พร้อมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน โดยให้ชุมชนเป็นพื้นฐานรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจ นำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารท้องถิ่น หัตถกรรมงานฝีมือ องค์ความรู้ปราชญ์ชาวบ้าน นำมารวมกันเป็นตลาดวิถีวัฒนธรรมชุมชน
”เราพยายามฟื้นคืนวิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมให้หวนกลับมา โดยเฉพาะตอนนี้หลวงพ่อมีดำริอยากจะให้นำวิถีการตักบาตรตอนเช้า ซึ่งเป็นวิถีคนริมคลองเกิดขึ้นอีกครั้ง ทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 8-9 โมง เราก็จะมีกิจกรรมตักบาตรริมคลองวัดตลิ่งชัน เพื่อส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจและทุนตั้งต้นของชุมชน โดยสภาองค์กรชุมชนเขตตลิ่งชัน ให้พี่น้องเรามาสร้างอาชีพสร้างรายได้ เป็นการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง อยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง”
ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน แบ่งโซนออกเป็น 4 โซน คือ A B C D ตามสัดส่วนของพื้นที่ ซึ่งจัดให้มีที่นั่งรับประทานอาหารริมฝั่งน้ำเรียงรายกัน ประกอบด้วยร้านอาหารจานเด็ด เช่น ผัดไท ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน ไม่ใช่แค่ขายของเท่านั้น ส่วนหนึ่งของตลาดยังถูกจัดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างศักยภาพชุมชน ในโซนที่มีชื่อว่า “ขยะแปลงร่างสร้างรายได้” ร่วมกับสถาบันการศึกษา จัดอบรมการทำงานประดิษฐ์ให้กับสมาชิกในชุมชนหรือผู้ที่สนใจ เช่น ดอกไม้ประดับจากหลอดพลาสติก ให้ชาวบ้านมีอาชีพ-รายได้เสริม และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
“ปัญหาของเราคือเรื่องขยะ เพราะแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีขยะเยอะ เพราะฉะนั้นบางอย่างที่เรานำมารีไซเคิลใหม่ได้ เป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ เราก็จะเปิดการอบรม และให้ชาวบ้านมาเรียน เมื่อได้ผลผลิตก็นำไปจำหน่ายที่ตลาดน้ำสองคลอง”
นอกจากนี้ ยังมีส่วนของ ‘ลานวัฒนธรรมชุมชน’ เปิดพื้นที่ให้ทุกชุมชนสามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ หากต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลางก็แจ้งความประสงค์ ถือเป็นบริการสังคม เช่น กิจกรรมส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส
แม้ในช่วงโควิด-19 ระบาดครั้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของตลาดน้ำสองคลอง ไม่มีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ ทำให้พ่อค้าแม่ค้ายังคงประครองชีพได้ตามวิถีชาวบ้าน และมีการจัดทำกลุ่มออมทรัพย์ของคนในตลาดร่วมกัน เป็นทุนใช้ยามฉุกเฉิน และผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ชาวบ้านก็กลับมาใช้ชีวิตปกติค้าขายเหมือนเดิม โดยค่าเช่าพื้นที่ค้าปกติ ราคาเพียง 40 บาทต่อวัน ส่วนค่าน้ำ ไฟ สาธารณูปโภค หลังหักค่าใช้จ่าย จะส่งเงินบำรุงวัด อย่างน้อง 6,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นใครที่มาอุดหนุนตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน ก็เท่ากับช่วยทำบุญให้วัดไปในตัว
“หลัก ‘บวร’ บ้าน วัด โรงเรียนหรือหน่วยงานภาครัฐ มาช่วยกัน หนุนเสริมกันและกัน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นโดยเริ่มจากชุมชนให้ ‘ระเบิดจากภายใน’ ให้ชุมชนสามารถคิด-ริเริ่ม และให้หน่วยงานท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ดังเช่นการเอื้อพื้นที่วัดให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางทางการค้าของชุมชน ทั้งนี้หากหน่วยงานราชการในท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดความเจริญมากขึ้นไป”
ความหวังต่อนโยบายพัฒนาย่าน ของ ผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’
ป้าอ้อย บอกว่า ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชันเปิดดำเนินการมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพราะชุมชนไม่มีทุนในการประชาสัมพันธ์มากนัก อาศัยความร่วมไม้ร่วมมือของชุมชนเป็นแรงหนุนให้ตลาดยังคงดำเนินการต่อไปได้ โดยถือคติ “ทำอยู่ตลอดเวลา” แต่หากเป็นไปได้อยากให้สำนักงานเขตตลิ่งชัน หรือสำนักพัฒนาสังคม ของ กรุงเทพมหานคร มาช่วยส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในฐานะที่เป็นชุมชนบริหารจัดการตนเอง อยากให้เห็นความสำคัญว่า ”ที่นี่ใช้ชุมชนขับเคลื่อนงานส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้”
”ถ้าตรงนี้จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นมันก็ต้องเริ่มจากชุมชน แต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยสนับสนุนผลักดันให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะถ้าได้มีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยเฉพาะนโยบายของท่านผู้ว่าฯ ในเรื่องการพัฒนาย่าน ถ้าเราสามารถทำให้ย่านตรงนี้เป็นถนนสายวัฒนธรรม ทำให้เป็นย่านสร้างสรรค์และยั่งยืนตลอดไปได้เป็นการดี”
ย่านสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยปัจจัยอะไรอีกบ้าง? ป้าอ้อยตอบว่า อย่างแรกคือการปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น ทางเดินทางสัญจร ซึ่งเวลานี้ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานเขตตลิ่งชัน พยายามปรับปรุงให้มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน และตลาดน้ำตลิ่งชัน ที่อยู่ถัดออกไปอีกราว 200 เมตร ด้วยการทาสีวาดเขียนกำแพงทางเดินให้เป็นเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ เพื่อเชื่อมย่านเข้าไว้ด้วยกัน
“เดิมจะมีเส้นทางเดิมเก่าแก่ จากวัดตลิ่งชันไปยังสำนักงานเขตตลิ่งชันหรือที่ว่าการอำเภอในอดีต (ซึ่งอยู่ติดกับตลาดน้ำตลิ่งชัน) เป็นถนนประวัติศาสตร์เพราะได้มีการจัดสร้างตั้งแต่ปี 2480 สร้างโดยอดีตเจ้าอาวาสชื่อดัง (หลวงปู่กลีบ) ท่านได้รวบรวมเงินจากชาวบ้าน ลงขันกันสร้างสะพาน ชาวบ้านเรียกว่าสะพานเหลือง หรือสะพานราษฎร์ดำเนิน ก็จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชันมากขึ้นให้ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถสร้างอาชีพรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ทั้ง 43 แห่งของเรา และส่งเสริมวิถีชีวิตคนกับคลองให้อยู่คู่กันต่อไป”
สมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน กล่าวว่า เราตั้งใจช่วยให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการค้าขาย เพราะทุกชุมชนในเขต ยังมีสินค้า OTOP ที่พร้อมจำหน่าย ก็จะถูกนำมาแจกจ่ายในพื้นที่ทั้ง 2 ตลาด
“ตอนนี้เราจะเชื่อม 2 ตลาดไว้ด้วยกัน และมีเสริมด้วยกิจกรรมการแสดงวันเสาร์อาทิตย์ โดยนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้มีพื้นที่แสดงผลงาน และส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไปในตัวด้วย”
ว่าที่ร้อยตรี จีรวุฒิ โรยสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน กล่าวว่า เขตเน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยเอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง เน้นทำงานอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งต้นทุนเดิมคือประชาคมต่างๆ ที่มีอยู่ถึง 9 เขต เราจะสร้างตลาดแห่งโอกาส ให้กับทั้งชุมชน ผู้สูงอายุ คนพิการ และมีแผนที่จะขุดลอกคลองเพิ่มเติมด้วย เพื่อเชื่อมโยงคลองต่างๆ พัฒนาบริบทพื้นที่ไปด้วยกัน อย่างคลองวัดตลิ่งชันจะเชื่อมไปคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย และคลองอื่น ๆ ตามลำดับ ซึ่งจะทำเพิ่มเติมจากการลอกท่อระบายน้ำทั่วไป
“บางคนอาจคิดว่าการมีตลาดน้ำจะทำให้น้ำเน่าเสียหรือเปล่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่การจัดตลาดน้ำช่วยให้เกิดการส่งเสริมอนุรักษ์คูคลอง และทำให้การระบายน้ำดีขึ้น เพราะมีการสัญจรทางเรือ มีการค้าขายทางเรือ ทำให้น้ำไหลเวียนไม่นิ่ง และการมีประชาชนอยู่คู่กับคลองทำให้แหล่งน้ำได้รับการดูและ ที่ไหนถ้าไม่มีคนที่นั่นจะกลายเป็นที่รกร้าง แต่คลองที่มีการพัฒนาเชื่อมต่อ การค้าขาย ก็จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ดูแลคน ดูแลพื้นที่ไปพร้อมกัน เหมือนซอยไหนที่มีคนเดินอยู่ประจำ ซอยนั้นก็จะปลอดภัยมากกว่าซอยเปลี่ยว”
สำหรับตลาดน้ำในเขตตลิ่งชันที่มีชื่อเสียง ทั้งหมด 5 ตลาด สำนักงานเขตตลิ่งชันเชิญชวนประชาชนเข้ามาเที่ยวชมจ่ายตลาด ได่แก่ 1.ตลาดน้ำตลิ่งชันหน้าเขต 2.ตลาดน้ำคลองลัดมะยม 3.ตลาดน้ำวัดสะพาน 4.ตลาดน้ำวัดจำปา และ 5.ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน
สำหรับการส่งเสริมตลาดชุมชน เป็นหนึ่งในนโยบาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่การจัดหาพื้นที่ให้แก่คนพิการได้ทำการค้าขาย เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การจัดกิจกรรมถนนคนเดิน ในหลายเขต เช่น สาทร บางรัก และมีการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมถนนคนเดิน ในย่านสร้างสรรค์ 15 ย่าน ทั่วกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นคือ ย่านตลิ่งชัน
คุณผู้อ่านที่สนใจ สามารถติดตาม ย่านสร้างสรรค์ทั้ง 15 ย่าน กับ The Active ได้อย่างต่อเนื่อง