ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ช่วงวันสำคัญทางศาสนาจะเห็นภาพของศาสนิกชนหรือผู้นับถือศาสนานั้น ๆ เข้าร่วมพิธีกรรมตามความเชื่อกลายเป็นหลักปฏิบัติที่สืบทอดกันมาเนิ่นนาน
แต่อาจจะไม่ใช่กับตัวผู้เขียนเอง…แม้นับถือศาสนาพุทธ แต่ถ้าถามถึงเรื่องทางหลักธรรมในพุทธศาสนา ก็อาจจะเรียกได้ว่ามีอยู่น้อยนิด ยิ่งพิธีทางศาสนา ๆ ก็ไม่ได้ชำนิชำนาญอะไร
แต่ถ้าวัดกันที่ความทะยานอยากและใคร่รู้เรื่องของศาสนา ผู้เขียนเชื่อว่าตนเองก็พอจะมีบ้าง ที่สำคัญคือเชื่อว่าการได้สนทนาเรื่องต่าง ๆ ที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ความเชื่อ ย่อมทำให้ตัวเรามีทัศนวิสัยที่กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่ นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ลุ่มลึกขึ้น
โชคดีที่วันนี้เราได้ชวนนักเขียนหน้าใหม่ วริศ ดาราฉาย เจ้าของรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award 2024 (ยุวศิลปิน) ในผลงานรวมเรื่องสั้น “โปรดปรารถนาความตาย” และ รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 หมวดรวมเรื่องสั้น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 21 “จึงจารจดด้วยหยดน้ำตา”
และที่สำคัญ เขายังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดบทวิจารณ์วรรณกรรมและสื่อร่วมสมัยดีเด่น “ดวงใจวิจารณ์” ปี 2566 ในบทวิจารณ์ ด้วยพระนามของพระเจ้า เรากำลัง “กัดกิน” สิ่งใดในนามของพระองค์? : ว่าด้วย “ศาสนา” และ “ผู้คน” ในรวมบทกวีนิพนธ์ “กัดกินฉันอีกสักคำสิ” ของ สันติพล ยวงใย
นี่จึงอาจการันตีความสนใจต่อเรื่องศาสนา ที่น่าชวนสนทนาในฐานะคนรุ่นใหม่ กับการช่วยเปิดมุมมองต่อศาสนาที่กว้างขึ้น

วริศ เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวกับปรัชญา สนใจปรัชญาเป็นพิเศษ ซึ่งปรัชญาในแง่หนึ่งพูดถึงสิ่งที่ใกล้เคียงกัน และ ทับซ้อนกับศาสนา
“ในความเป็นอักษรศาสตร์ เรามองว่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างหนึ่ง เนื่องจากมนุษย์แต่ละสังคม ก็มีความเชื่อของเขา มีศาสนาของเขา แต่ในต่างบริบท ต่างสังคม ต่างยุคสมัย ก็มีลักษณะความเชื่อที่ต่าง เพราะฉะนั้นศาสนาเอง ในแง่หนึ่งได้สะท้อนตัวตนของกลุ่มคน ตัวตนของบุคคลในระดับปัจเจก”
วริศ ดาราฉาย
‘โลกทัศน์’ ที่แตกต่างของศาสนา
ในขณะเดียวกัน ศาสนาก็สะท้อนให้เห็นถึง โลกทัศน์ สำหรับ วริศ มองว่าคำ ๆ นี้สำคัญมาก โลกทัศน์ของคนต่างศาสนากัน ย่อมต่างกัน สิ่งนี้ก็สำคัญ เพราะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันเรามีคำว่า พหุวัฒนธรรม เยอะมาก สังคมพหุวัฒนธรรม และตัวคำว่าพหุวัฒนธรรมเอง ก็เจอในหลาย ๆ กิจกรรมทางศาสนาเหมือนกัน อย่างเช่น ศาสนาพุทธก็บอกว่าเราเป็นพหุวัฒนธรรม สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ที่เปิดกว้างให้กับคนหลาย ๆ ศาสนาได้
แต่ศาสนาอื่น ๆ ที่เป็นกลุ่มน้อยในบริบทสังคมไทย ต่างก็มีคำว่าพหุวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ในศาสนาอิสลาม หลาย ๆ สถานศึกษาทางศาสนา หรือแม้แต่สำนักจุฬาราชมนตรี ก็เคยจัดการประกวดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพหุวัฒนธรรม
“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ศาสนาในยุคปัจจุบันเล็งเห็น คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ว่าจะต่างทัศนะในศาสนาเดียวกันก็ดี หรือต่างศาสนาก็ดี อาจจะมองคำว่าสันติต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สันติ หรือ ความสงบสุขระหว่างศาสนา ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญ ทั้งจากคนที่อยู่ในศาสนาเอง หรือคนที่อยู่ต่างศาสนากัน”
วริศ ดาราฉาย
ถึงเวลาเข้าใจความต่างของโลกทัศน์ที่ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา
แต่แน่นอนในโลกทุกวันนี้ หรือแม้แต่ในอดีต ความไม่เข้าใจโลกทัศน์ระหว่างศาสนาก็ยังคงเกิดขึ้น อย่างคนพุทธ จะมีโลกทัศน์แบบหนึ่ง โดยมองว่า ทุกอย่างคือความทุกข์ เพราะฉะนั้นคนที่นับถือศาสนากลุ่มเทวนิยม จะนมัสการพระเจ้าทำไม ? หากเราเป็นคนดี ไม่ทำชั่ว เราก็พ้นทุกข์แล้ว เราหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารได้ก็จบแล้ว
ส่วนคนที่นับถือศาสนากลุ่มเทวนิยม ก็อาจจะคิดว่า ทำไมคนพุทธถึงใช้ชีวิตแบบนี้ เราต้องมีที่พึ่ง ต้องมีพระเจ้า จะเห็นได้ว่า รากฐานต่างกัน เพราะฉะนั้นมันอาจจะต้องย้อนกลับมาดูว่าเราต่างกันที่ตรงไหน จึงต้องพยายามทำความเข้าใจกัน จะได้ไม่เกิดปัญหา
และที่ควรย้ำเตือนกันเสมอ คือ ต้องไม่แบ่งเขา แบ่งเรา ต้องมองทุกคนว่าเป็นเราเหมือนกัน ก็จะทำให้อยู่ด้วยกันได้ดีมากขึ้น สิ่งนี้ไม่ได้ใช้กับศาสนาอย่างเดียว ใช้กับอย่างอื่นก็ได้ อุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ ใช้กับความนิยมชมชอบ เช่น มีคนหนึ่งที่อาจจะไม่สมาทานแนวคิดศาสนาหนึ่ง ก็อาจอยู่ร่วมกับคนที่สมาทานแนวคิดทางศาสนานั้นได้ ตราบเท่าที่เราไม่ก้าวล่วงกัน หรือกระทบกระทั่งกัน
“ประเด็นเรื่องโลกทัศน์ที่ต่างกันก็ดี ประเด็นเรื่องศาสนามีผลต่อการกำหนดตัวตน หรือโลกทัศน์ที่มีโลกต่อโลกนี้ก็ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือประเด็นศึกษา เป็นสนามในการศึกษาทางทางอักษรศาสตร์ ทางปรัชญา ทางวัฒนธรรมศึกษา และประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจและอยู่ในความสนใจโดยตรง”
วริศ ดาราฉาย
ความรู้ทางศาสนาเปรียบเทียบ เป็นประเด็นศึกษาทางวิชาการที่น่าสนใจ จึงชักนำให้ วริศ มีความรู้สึกอยากเข้าไปพูดคุย ไปขุดคุ้ย ไปถกเถียงเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เมื่อตัวเองก็มีศาสนาที่นับถือ การที่ต้องไปพิจารณา มุมอื่น ๆ ของคนอื่น แน่นอน ไม่ได้หมายถึงการที่จะสมาทานว่านี่คือความเชื่อของฉัน ไม่ใช่การแสวงหาว่าควรเลือกศาสนาไหนดี แต่คือการค้นคว้าหาความรู้ทางวิชาการ และความพยายามทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น ท้ายที่สุดจึงจะทำให้เข้าใจว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ด้วยกันกันอย่างไร ? จะทำให้เห็นปัญหา นำไปสู่การตั้งคำถาม และที่สำคัญมากกว่า คือ ทำให้เราพอมองออกว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในอนาคต
มอง ‘จุดร่วม’ ของศาสนา มากกว่าจ้องหาความต่าง
บทสนทนาเริ่มออกรสมากขึ้น เมื่อมาถึงตรงนี้ที่ วริศ ชวนมองอีกแง่มุมสำคัญจากที่ได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจศาสนา เขาพบว่า คนต่างศาสนากัน มักจะไปมุ่งเน้นองค์ประกอบที่ต่างกันเวลาพูดถึงศาสนา เช่น อิสลามไม่กินหมู พุทธกินหมูได้ คริสต์กินหมูได้ คนเรามักจะมองส่วนที่ต่างกันของศาสนา แต่สิ่งที่เราอาจจะละเลยไป คือ สิ่งที่มีร่วมกัน

หากคนพุทธบอกว่า ต้องทำดีต่อพ่อแม่ อิสลามก็บอกว่า การทำดีต่อพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญมาก คริสต์ก็เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่มีร่วมกัน ในความแตกต่างที่เรารับรู้มาตลอดว่าแตกต่าง อย่างเช่น พุทธไม่นับถือพระเจ้า อิสลามนับถือพระเจ้า ในเชิงหลักธรรมลึก ๆ แล้ว บางอย่างก็เหมือนกัน เช่น หลักว่าด้วยการเมตตา มีการกล่าวถึงความเมตตาในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ต้องมีความเมตตา โดยรายละเอียดอาจจะต่างว่าเมตตาแบบไหน แต่สุดท้ายแล้วมีอะไรร่วมกันอยู่ และในลักษณะร่วมกันนี้มีความน่าสนใจเหมือนกัน หรือว่ากำลังสะท้อนพื้นฐานอะไรของมนุษย์อยู่ก็ได้
เรื่องของความทุกข์ ถ้าไปดูคำอวยพรหรือพรที่พระเจ้าให้ของทุก ๆ ศาสนา เกี่ยวกับทุกข์หมด เลยขอให้ไม่มีทุกข์ เช่นกันกับความไม่มีโรค เช่น ศาสนาอิสลามบอกว่าต้องไม่ละเมิดหลักความพอดี ต้องไม่กินมากเกินไป การไม่มีโรค การมีสุขภาพที่ดี นั่นก็เป็นสิ่งที่พระเจ้าให้ เป็นความโปรดปรานของพระเจ้า
ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้กับพระเจ้าปเสนทิโกศล เรื่อง ความไม่มีโรค ท่านบอกว่า อโรคยา ปรมาลาภา คือความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คริสต์ก็เหมือนกัน ขอให้มีสุขภาพดี พระเจ้าอวยพร
“สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนเหมือนกันว่า ศาสนามีอิทธิพลกับมนุษย์ และถ้าพูดถึงความทุกข์ ซึ่งในที่นี้คือ โรค เป็นความทุกข์ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะฉะนั้นศาสนาในแง่นี้ ตอบสนองต่อมนุษย์ ในเรื่องพื้นฐานเราต้องการเหมือนกันคือการกลัวว่าสุขภาพจะไม่ดี การเจ็บป่วย”
วริศ ดาราฉาย
ถ้าเป็นในเรื่องของรายละเอียด ในพุทธศาสนาบอกว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่หมายถึง การมีอยู่ การมีอยู่ของเราคือความทุกข์ มีนักวิชาการคนหนึ่ง เคยบอกว่า ในมุมมองของพุทธศาสนา คือ Suffering of Existence ความเป็นทุกข์ของการมีอยู่ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจะมองว่า ถ้ามีชีวิตอยู่วนเวียนกลับชาติมาเกิด นี่คือการมีอยู่คือความทุกข์ ในขณะที่ คริสต์ อิสลาม มองว่า ความทุกข์คือ Existence of Suffering คือ การมีอยู่ของความทุกข์เฉย ๆ นี่คือความต่าง
ดังนั้นแบบแรก คือ ทุกข์ตราบเท่าที่คุณมีชีวิตอยู่ แบบที่สองจะมองว่า มีความทุกข์ เพราะความทุกข์มันมีอยู่ ถ้ามองให้ลึกขึ้น อย่างการมีอยู่คือความทุกข์ เพราะฉะนั้นวิธีการที่พุทธศาสนาจะไปสู่เป้าหมาย คือ การพ้นทุกข์ หลุดพ้น ส่วนศาสนาอิสลาม จะมองว่า ความทุกข์เกิดจากการที่มีอยู่ของความทุกข์นั้น เพราะฉะนั้นเขาจะต้องหาที่พึ่ง และที่พึ่งนั้นคือพระเจ้า เพราะพระเจ้าเป็นผู้ที่ให้ความสุขได้ พระเจ้าเป็นผู้ที่ให้สวรรค์ที่เป็นนิรันดรได้
“นี่คือพื้นฐานเรื่องง่ายที่สุดที่มนุษย์ทุกคนเจออย่าง
วริศ ดาราฉาย
ความทุกข์ ในแต่ละศาสนา มันก็ต่างกันแล้ว”
หรือถ้าคุณบอกว่าเป็นคนดีของศาสนาพุทธ คนดีนี่ต้องมี สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ดี) สัมมาอาชีวะ (หาเลี้ยงชีพสุจริต) สัมมาสติ (มีสติรู้ตัว) ปฏิบัติแบบมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ฯลฯ คนที่ไม่ไปทำมิจฉาทิฐิ ไม่ไปทำอกุศลกรรม ทำแต่กุศลกรรม อย่างนี้หรือเปล่าคนดีตามพุทธศาสนา ?
คนดีตามหลักคริสต์ คือ คนที่เชื่อในพระเจ้าและเชื่อในพระเยซูคริสต์ ศาสนาอิสลาม คือ คนที่ปฏิบัติตามคำสอนของอัลเลาะห์ เห็นไหม โดยหลักคำสอนโดยหลักปฏิบัติมันต่าง เพราะฉะนั้นถ้าบอกทุกศาสนาสอนคนที่เป็นคนดี เราก็ต้องเคารพทุกศาสนา แน่นอน อาจจะส่งผลดีในแง่ที่เราอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องระวังว่าอาจจะทำให้เราไม่เข้าใจกันจริง ๆ เพราะความเข้าใจต้องการบทสนทนา การมีปฏิสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่รู้จักผ่านการเล่าเรื่อง ถือแต่ว่า เรื่องของคุณ เรื่องของผม ศาสนาคุณ ศาสนาผม คือต่างคนต่างอยู่ อย่างนี้ไม่ใช่สังคมสงบสุขโดยแท้จริง
“เวลาที่บอกว่าทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี
วริศ ดาราฉาย
คำถามคือ คนดีนี่มันเป็นยังไง คนดีของแต่ละศาสนาต่างกันมาก”
ดังนั้นแล้ว ความรู้ศาสนาช่วยอะไรบ้างในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อย่างแรก ไม่ใช่แค่ถ้าเรารู้จักอีกศาสนาหนึ่ง จะหมายความว่าเรารู้แค่สิ่งที่ต่าง แต่สุดท้ายถ้าย้อนกลับมามองดี ๆ เราจะเห็นลักษณะร่วมกัน
ถ้าให้ตอบในฐานะนิสิตอักษรศาสตร์ ก็จะตอบว่า สิ่งนี้สะท้อนความเป็นมนุษย์ และการนิยามตัวตนที่เหมือนกัน แม้ในโลกทัศน์ที่ต่างกันก็ตาม แต่ถ้ามองในฐานะมนุษย์ทั่วไป เวลาที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราจะห่างกันน้อยลงและใกล้กันมากขึ้น คือ เราจะพยายามเข้าใจเขามากขึ้น ในความต่างมันก็มีความเหมือน ในขณะเดียวกันในความเหมือนเองก็มีความต่าง และถ้าเราพยายามลดอคติ ในที่สุดก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง อย่างสงบสุขและสันติ
ทุกศาสนาสอนให้เป็น ‘คนดี’ จริงหรือ ?
ถ้าดูงานของผู้นำทางความคิดพุทธศาสนาในไทยที่น่าสนใจ คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเขียนงานชิ้นหนึ่งเรียกว่า ภาษาคน ภาษาธรรม งานชิ้นนี้คือความพยายามที่จะบอกว่าพุทธศาสนาเอง เข้าถึงแก่นของของความเป็นศาสนา คือ ไม่มีศาสนาอยู่ในโลก

ท่านพุทธทาส บอกว่าจริง ๆ แล้ว หลักการทางศาสนาเหมือนน้ำ น้ำอยู่ในบ่อ ก็เรียกน้ำบ่อ น้ำนั้นผสมกับเกลือหน่อย ก็เป็นน้ำเกลือ อยู่ในทะเลเรียกน้ำทะเล อยู่บนฟ้าเรียกน้ำฝน อยู่ในแก้วเรียกน้ำดื่ม องค์ประกอบที่เติม หรือพื้นที่ที่อยู่ ส่งผลต่อการเรียกที่ต่างกัน
ภาษาธรรมบอกว่า หลักสูงสุดของศาสนา คือ หลักธรรม แต่ภาษาคนอาจจะเรียกต่างกัน อิสลามอาจจะเรียกว่านี่คือพระอัลเลาะห์ คริสต์เรียกพระเยซู พระยะโฮวา พุทธอาจจะเรียกว่าหลักธรรม ทุกอย่างคืออย่างเดียวกัน แต่สิ่งที่เป็นเปลือกเป็นกระพี้ เติมเข้าไปเหมือนเติมเกลือลงไป ทำให้เกิดลักษณะรูปลักษณ์ที่ปรากฏในศาสนา เช่น ศาสนาอิสลาม อาจจะหมายถึงน้ำเกลือ ศาสนาคริสต์อาจหมายถึงน้ำหวาน แต่เมื่อแยกแล้วตัดองค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยออก แก่นหลักจริง ๆ คือ น้ำ
เพราะฉะนั้นทุกศาสนามี น้ำ เหมือนกัน คือ มีแก่นเหมือนกัน พุทธพูดถึงสิ่งที่เป็นสัจจะเที่ยงแท้ ทุกศาสนาสอนเหมือนกัน แก่นแท้ของศาสนาเหมือนกัน แต่ถ้าไปดูจริง ๆ ในน้ำมันประกอบด้วยอะไร ไฮโดรเจน 2 อะตอม ออกซิเจน 1 อะตอม ถ้าแยกลงไปอย่างงั้นก็จะค้นพบว่า ไม่มีศาสนาอยู่ เพราะมันไม่มีน้ำอยู่จริง ๆ มันคืออะตอมของไฮโดรเจน กับอะตอมของออกซิเจน
ท่านพุทธทาส จึงกำลังเสนอว่า เราบอกนี่คือ พระเจ้า อิสลาม พุทธ คริสต์ ละหมาด สวดมนต์ ทำวัตร ถือศีลอด เหล่านี้เป็นองค์ประกอบย่อยหมดเลย หลักแก่นแท้มีเหมือนกัน คือ การปฏิบัติธรรม ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี ทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ถอนออกจากการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แล้วยึดหลักธรรมเป็นศูนย์กลาง แต่มุมนี้อาจมองว่า คือ การเหมารวมโดยมีกรอบพุทธศาสนากำกับอยู่ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว หนีไม่พ้นจะกล่าวว่า ทัศนะที่ดีนี้เอง โดยสารัตถะแล้ว คือการเหมารวมว่าทุกศาสนาต้องมีทัศนะแบบพุทธ ซึ่งถ้าย้อนมาพิจารณาอย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างพุทธศาสนาบอกว่า เราต้องหลุดพ้นทุกข์ให้ได้ ในขณะที่ อิสลามบอกทุกข์มันมี เราต้องยอมทุกข์เพื่อพระเจ้าบ้าง หรือบางทีเราจะไม่มีทุกข์เพราะเราเชื่อพระเจ้า เป้าหมายมันต่างกัน มุมมองต่อสิ่งเดียวกันก็ต่างกัน ฉะนั้นแก่นแท้มันจะเหมือนกันได้ยังไง
“กรอบที่ว่า ไม่สนใจความแตกต่าง ต่างช่างมัน เพราะเป็นเปลือก เป็นกะพี้ แต่แก่นแท้เหมือนกัน อย่างนั้นอยู่ด้วยกันได้ มันคือการละเลย ถ้าอยากให้เข้าใจกันถ่องแท้ ต้องตระหนักว่ามันคือความต่าง และความต่างนี้ไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราต้องยอมรับให้ได้ว่า เราทุกคนต่าง แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคม เพื่อที่เราจะได้เข้าใจเขามากกว่า เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเอาตัวเราไป คัดกรอง คนอื่น ซึ่งในแง่ของการที่เราจะสร้างสันติในระยะยาวและมีเสถียรภาพมันจะเป็นไปได้ยาก”
วริศ ดาราฉาย
ศาสนากับคนยุคนี้
ความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) มีอิทธิพลต่อศาสนาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อแนวคิดจากตะวันตกเข้ามามีบทบาทในโลกตะวันออก ซึ่งปรัชญาสมัยใหม่จำนวนหนึ่ง เช่น อัตถิภาวนิยม (Existentialism) เสนอว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดความหมายของชีวิตตนเอง ไม่ขึ้นกับศาสนาหรือพระเจ้า แนวคิดนี้ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมที่มองว่าชีวิตมนุษย์มีความหมายเพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำหนดไว้
ฟริดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน กล่าววลีโด่งดังว่า “God is dead” ซึ่งไม่ใช่เพียงการปฏิเสธศาสนา แต่เป็นการวิจารณ์ว่า โลกสมัยใหม่ได้สละศูนย์กลางทางจริยธรรมที่เคยมีรากฐานจากพระเจ้าไปแล้ว
แนวคิดเหล่านี้สอดคล้องกับกระบวนการที่เรียกว่า Secularization หรือ การลดบทบาทของศาสนาในด้านต่าง ๆ ของสังคม เช่น การเมือง การศึกษา และชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกสมัยใหม่จะพึ่งพาวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่มนุษย์ก็ยังคงมีความกลัวและต้องการที่พึ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกินขอบเขตของเหตุผล เช่น ภัยธรรมชาติ เรามักหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งการ มูเตลู
ดังนั้น คำถามว่าเหตุใดในยุคปัจจุบันเรายังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้ยอมรับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ อาจมีคำตอบหนึ่งว่า ศาสนายังคงตอบสนองความต้องการพื้นฐานบางอย่างของมนุษย์ได้ นั่นคือ ความกลัว และการแสวงหาที่พึ่งทางจิตใจ
“ดังนั้น การตอบคำถามว่า ทำไมในยุคนี้เรายังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าเราจะยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า แต่สุดท้ายเราก็ต้องการศาสนา หรือความเชื่ออะไรสักอย่างเป็นที่พึ่ง ปัจจุบันศาสนาก็เลยยังมีบทบาทอยู่ในแง่หนึ่ง เพราะมันยังรองรับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อยู่ คือ ความกลัว และ ต้องการมีที่พึ่ง”
วริศ ดาราฉาย
การมีอยู่ของศาสนาในอนาคต
ศาสนาจะมีอยู่ต่อไป แต่ถามว่าอยู่อย่างไร ? หลายคนก็จะมองว่าศาสนาต้องปรับเปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกัน การที่ศาสนาไม่ปรับ ก็ไม่ได้แปลว่าศาสนานั้นจะหมดไป เพราะสุดท้ายก็มีศาสนิกชนที่เขารักษาขนบเดิม คือเขามองว่าสิ่งที่ทำอยู่ดีแล้ว คนที่อยากให้ปรับก็มี คนที่ไม่เชื่อเลยก็มี
“เราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างคน 3 กลุ่มนี้ ต้องคุยกันให้ดีว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ให้ไม่กระทบกระทั่งกันจนเกิดเป็นความรุนแรง เพราะแต่ละคนมีมุมมองทางศาสนาแตกต่างกัน ในที่นี้เราไม่ได้มาหาคำตอบว่าศาสนาต้องปรับหรือไม่ปรับ แต่เราหาทางอยู่ร่วมกันต่างหาก”
วริศ ดาราฉาย
เขาเน้นย้ำด้วยว่า เราไม่ได้กำลังคุยว่าศาสนาต้องปรับหรือไม่ เพราะสุดท้ายการอยู่ร่วมกันต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจมากกว่า
สำหรับงานเขียนที่คุณอ่านมาถึงตรงนี้ อาจเป็นเพียงมุมมอง ความคิดเห็นของนักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรมหน้าใหม่ ที่มีความสนใจทางด้านปรัชญาและศาสนาคนหนึ่งเท่านั้น
แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว เราก็อาจได้ขบคิดอะไรบางอย่างจากบทสนทนานี้ไม่มากก็น้อย หวังว่าเราจะเรียนรู้ความแตกต่างของศาสนา เพื่อทำให้ได้เข้าใจกันและกันอย่างลุ่มลึกขึ้น โดยมีสันติภาพเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกัน