คุยเรื่องเสรีภาพสุราไทย กับ ผศ.เจริญ เจริญชัย
กฎหมายสุรา หรือ พ.ร.บ.สุรา ของประเทศไทยมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ปัจจุบันถูกรวมอยู่ใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
“ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุรา หรือมีภาชนะทำเครื่องกลั่นสุราไว้ครอบครอง”
ระหว่างทางกว่าจะถึงปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติม เช่น การเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นขอตั้งโรงงานสุราได้ ส่งผลให้มีโรงงานเกิดขึ้นจำนวนมากใน พ.ศ. 2503
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราในประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2541 และไม่กี่ปีหลังจากนั้น รัฐออกนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยอนุญาตให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตและจำหน่ายสุราพื้นบ้านประเภทแช่และกลั่นชุมชนได้อย่างเสรีใน พ.ศ. 2544 แต่ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ข้อกำหนด คุณสมบัติ และมาตรฐานโรงงานสุราของกระทรวงการคลัง
อาจกล่าวได้ว่านโยบายตอนนั้นเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่เยอะขึ้น และเรียกว่าเป็นยุคของสุราเสรี
The Active ชวนคุยเรื่องความเสรีของสุราไทย และสถานการณ์สุราไทยผ่านมุมมองของ ‘ผศ.เจริญ เจริญชัย’ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และแอดมินเพจ สุราไทย ที่ติดตาม สนใจเรื่องการหมัก การต้ม การดอง และการทำสุรา โดยเฉพาะสุราไทย ซึ่งนอกจากเป็นอาจารย์แล้ว ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่คอยให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่เพจที่เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายสุราและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทำไมหันมาให้ความสนใจเรื่องสุราในสังคมไทย
เราไปเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย ซึ่งเรียนกับอาจารย์ที่เขาทำเรื่องไวน์ พอเรียนจบ ก็กลับมาดูผลิตภัณฑ์สรุาไทย อะไรที่ใช้เทคโนโลยีการหมัก ก็คือยีสต์ลูกแป้งที่ใช้สำหรับการทำสาโท และพอมาทำงานวิจัยตรงกับช่วงที่รัฐบาลเปิดเสรีให้รายเล็กผลิตได้ เมื่อ พ.ศ. 2544 ก็เริ่มจัดอบรม เพราะเราพอจะรวบรวมองค์ความรู้ได้
สำหรับสุราพื้นบ้านรวมถึงไวน์ผลไม้ จัด 2 หลักสูตร เริ่มจากการทำไวน์ก่อน โดยมองว่าผลไม้เอามาทำยังไงให้เป็นไวน์ รวมถึงสุราพื้นบ้านซึ่งยังไม่มีใครสอน ก็เปิดโดยทดลองอยู่ในห้องแล็บ โดยเอาข้าวทดลองกับลูกแป้ง สอนทำลูกแป้ง โดยเริ่มต้นเป็นการให้ความรู้ในสิ่งที่ประชาชนยังไม่รู้ เราทำเป็นแต่ละหัวข้อ เช่น ทำไมทำแล้วระเบิด ทำไมทำแล้วเปรี้ยว
กระทั่งมาถึงยุคที่เกิดปัญหาจริง ๆ เพราะการอนุญาตให้ผลิตได้มันมีข้อจำกัดและมีกระแสเรียกร้อง จากนั้นมาเจอเรื่องโฆษณา ตอนนั้นข้อจำกัดกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เอามาใช้กันเยอะ รัฐยังไม่มีการจับกุมชัดเจน เรื่องยังไม่มาถึงเรา แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเข้มงวดขึ้น มีหลายคนโดนจับเพียงแค่โพสต์ เราเลยรู้สึกว่ามันไม่โอเค ไม่ยุติธรรม กฎหมายเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข
ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มคราฟต์เบียร์ที่เป็นคนหนุ่มสาวที่มีความฝันจะสร้างโรงเบียร์เป็นของตัวเอง เขาก็ตั้งเป็นสมาคมกลุ่มก้อนขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ผลักดันออกมาช่วยกันต่อสู้ ขณะที่กลุ่มสุราพื้นบ้านที่ขอใบอนุญาตกันมาเป็น 10 ปี เขาก็ทำธุรกิจจึงไม่ได้มีช่วงเวลาให้เขาออกมาต่อสู้ ดังนั้น เราจึงมีเครือข่ายที่คอยเชียร์กับกลุ่มที่ออกไปลงถนน
ย้อนกลับไปเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2558 ผู้ประกอบการรายย่อยโดนปิดไปหลายราย มีการประสานกันและร้องเรียนที่สภานิติบัญญัติ และไปที่กรมสรรพสามิต เนื่องจากผมมีบทบาทคล้ายเป็นสื่อกลาง เป็นเพจ เป็นอาจารย์สอน ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราก็ประสานงาน จนตอนนี้เขาสามารถผลิตได้ แต่กลุ่มเบียร์ยังมีสิ่งที่ต้องการและยังเรียกร้องอยู่ คือเขาไม่สามารถบรรจุขวดได้ ต้องเป็นโรงใหญ่เท่านั้น ต้องไปเข้าคิวผลิต มันเลยทำให้เราออกมาต่อสู้ทั้งสองเรื่อง
เรื่องการผลิต เป็นเรื่องของสรรพสามิต ส่วน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีส่วน และควรเอามาคุยในอนุกรรมาธิการ กลายเป็นรายงานของอนุกรรมาธิการ ส่งให้กับคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนั้นมีคุณไหม (ศิริกัญญา ตันสกุล) เป็นประธาน ซึ่งคุณไหมรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เรามีทางเลือกในการแก้กฎหมายในฐานะเป็นฝ่ายค้านในสภา หรือจะเป็นฝ่ายรัฐบาลที่สามารถแก้กฎหมาย ตัวที่ใช้งานอยู่คือกฎกระทรวงได้เลย
สถานการณ์ตลาดสุราในไทย
สุราไทยแบ่งเป็นระดับชั้นแบบง่าย ๆ คือ บน กลาง ล่าง สำหรับ ตลาดบน คือกลุ่มที่ดื่มสุรานำเข้า เป็นกลุ่มติดแบรนด์ จะเห็นผู้บริหารผู้ใหญ่จะกินไวน์ก็ต้องเป็นยี่ห้อหนึ่ง กินเหล้าก็ต้องเป็นยี่ห้อหนึ่ง ต้องเป็นรุ่นนี้ ยี่ห้อนั้น แต่ผมรู้สึกว่าการยึดติดตรงนี้มันทำให้เขาไม่เห็นความหลากหลาย เรื่องไวน์มีให้เลือกหลายพันหลายหมื่นชนิด ไม่จำเป็นต้องจำเจอยู่กับแบรนด์และยี่ห้อเดียว แต่ผู้ใหญ่บ้านเราดื่มมาแต่โบราณ เป็นความเคยชินของเขา
ส่วนตลาดกลาง เป็นตลาดที่มีเหล้านำเข้า เหล้านอก นอกจากนี้ยังมีเหล้าชุมชนที่อัปเกรดขึ่นมาเป็นตลาดกลาง ราคา 500 บาท ก็ยังขายได้ ตอนนี้บางยี่ห้อ 800 บาท ก็ยังขายได้ ถือว่าเป็นกลาง ขึ้นบน แต่เป็นสุราขาวเท่านั้น ยังไม่สามารถทำบ่มไม้โอ๊ก ทำสุราสีได้ แต่สุราขาวยังทำได้ถึงขนาดนี้ คนที่เป็นเจ้าตลาดก็ต้องตกใจ ยิ่งถ้าเปิดให้ทำสุราสี เขาจะเหลืออะไร เพราะผู้ประกอบการใหม่เขาจะทำอ้อยบ่มโอ๊ก หรือเป็นข้าวเหนียวบ่มโอ๊กสร้างเรื่องราวขึ้นมา ซึ่งคนที่เป็นเจ้าตลาดตอนนี้ไม่คิดจะทำ ผมใช้คำว่า “เป็นสุนัขหวงก้าง” เพราะคุณไม่ทำและไม่ให้คนอื่นทำ คนอื่นอยากทำ ไม่อนุญาตให้ทำ
การไม่อนุญาตดูได้จากกฎหมาย คือ กฎกกระทรวงออกใหม่ เกณฑ์ผลิตขั้นต่ำสำหรับสุราสี 3 หมื่นลิตร/วัน ถ้าเป็นสุราขาว 9 หมื่นลิตร/วัน สุราขาวรวมวอดก้าด้วย และถามย้อนกลับไปว่าวอดก้า สุราขาว เหล่านี้ใครทำอยู่ มันเป็นการล็อกสเป็กอย่างชัดเจน อาจไม่ได้มีข้ออ้างหรือหลักฐาน แต่มองทุกอย่างแล้วภาพมันนำมาสู่ตรงนี้ เมื่อเขียนกราฟลากไป มันก็ไปอยู่ที่เส้นตัดตรงแกนตั้งนั้น
ตลาดล่าง เหล้าโรงใหญ่เขายึดตลาดล่างอยู่ เขาไม่ต้องการให้ของชาวบ้านมาแย่งตลาด ปี พ.ศ. 2558 มีการเข้าไปรื้อสุราชุมชนที่มีกำลังผลิตสูงโดยใช้หอกลั่นสุรา ถ้าเอาผิดเรื่องหอกลั่นไม่ได้ ก็เอาเรื่องแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ไม่ถึง 100 เมตร ลักษณะเป็นลำรางมีหญ้าขึ้น มันไม่ใช่ทางน้ำ แต่ว่าในแผนผัง แผนที่ของทางการเป็นทางน้ำก็ไม่ให้ทำ ให้ย้ายที่ แต่ชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีที่ดิน ถ้าไม่ได้ทำตรงที่ปู่ย่าตายายก็ต้องเลิกทำ
พวกเหล้าชุมชนก็จะหายไปจากตลาด เพื่อให้เหล้าตลาดล่างของผู้ที่ยึดครองตลาดเขากลับเข้ามาในความรับรู้ของผู้บริโภค และพอเหล้าชุมชนไปปรับตัว ปรับกำลังการผลิต ย้ายที่ตั้งให้ห่างจากน้ำ พอกลับมาขายก็ขายไม่ได้ เพราะคนซื้อเขาติดโรงใหญ่ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าเหล้าชุมชนในตลาดล่างตอนนี้เหลือน้อยมาก เพราะว่ามันเหนื่อย ต้องทำเยอะ กำไรต่อขวดน้อย ไม่มีการพัฒนาคุณภาพการผลิต ทำให้คุณภาพต่ำ ขายได้ราคาน้อย มันเป็นวัฏจักรแบบนี้และไม่มีทางจะลืมตาอ้าปากได้ เขาเลยทำแบบแอบขายเสียแสตมป์ครึ่งหนึ่งเพื่อให้อยู่ได้ จึงจะเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้ หรือแม้แต่ทำถูกก็ต้องมีจ่ายให้เจ้าหน้าที่ ฉะนั้น สุราตลาดล่างเป็นตลาดที่เหนื่อย และตลาดของสุราชุมชนจะย้ายไปสู่ตลาดกลางมากขึ้น
ตลาดไหนที่พบว่ามีปัญหามากที่สุด
จริง ๆ เรายังไม่แตะสุราตัวอื่นอย่างไวน์ผลไม้ ตรงนี้เราพูดถึงเหล้าที่อยู่ในกระแสสุราก้าวหน้าก่อน คือถ้าถามว่าตลาดล่างเป็นปัญหาไหม ก็มี เพราะเขาไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ เขาไม่มีต้นทุนพอ และคุณภาพเรื่องความปลอดภัยนี่ไม่ต้องห่วง แต่ว่าเรื่องของรสชาติพัฒนาอะไรไม่ค่อยได้ เขาจะต้องเอาส่วนที่ไม่หอมมีกลิ่นฉุนมาผสมเพื่อให้ได้ต้นทุน
ส่วนตลาดกลางที่เป็นเหล้าชุมชนที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ คือเรื่องอุปสรรคการทำงานกับเจ้าหน้าที่ที่เคร่งครัดเกินความจำเป็น ไม่รู้จำเป็นไหม แต่มันจำเป็น กระทั่งขยับตัวอะไรก็ไม่ได้ และเดือดร้อนว่าต้องทำรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เอาง่าย ๆ ถ้าเราบอกว่าจะขยายเป็น 50 แรงม้า คุณต้องทำ 5 แรงม้ามาก่อน 1 ปี หมายความว่าต้องเป็นรายเดิม มีบางพื้นที่บอกว่าจะต้องปิดโรงเดิม 5 แรงม้าก่อนเพื่อจะได้ใบอนุญาต 50 แรงม้า เพราะมันเป็นใบอนุญาตคนละใบ แล้วตอนที่ปิดแล้วขอใบใหม่มันจะมีกระบวนการอนุมัติที่ต้องใช้เวลา ที่เจอกันคือ 6 เดือน แล้ว 6 เดือนนั้จะเอาเหล้าที่ไหนมาขาย บางคนต้องไปเปิดโรงอื่น 5 แรงม้า ซึ่งเปิดได้ทันที และโรงเดิมปิดเพื่อขอเป็น 50 แรงม้า มันทำให้ต้องลงทุนเพิ่มเติม แทนที่จะปรับนิดเดียวเป็น 50 แรงม้าได้ คือมันมีการทำข้อแม้ที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายให้มันยาก อันนี้เป็นตัวอย่าง
เสรีภาพการทำเหล้าในไทย
เสรีภาพมีระดับหนึ่ง คือเรื่องนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2543-2545 ที่เขาให้รายเล็กทำได้ เพราะก่อนหน้านั้นทำไม่ได้เลย มีการผูกขาด 100% แต่ตอนนี้พอให้รายเล็กทำได้ ก็เป็นคู่แข่งกับรายใหญ่ ทำให้รายใหญ่ต้องออกมาหามาตรการต่าง ๆ ทำให้เป็นบอนไซไว้ แต่รัฐบาลก็ต้องมีข้อกำหนดอะไรบ้าง เช่น กำลังการผลิตขั้นต่ำที่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า บอกว่าให้เอาออก เขาเขียนง่าย ๆ ใน มาตรา 153 เขาจะแก้แค่มาตราเดียว การอนุญาตนั้นจะต้องไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคกีดกันการจะทะเบียน อย่างเช่นกำลังการผลิตขั้นต่ำ
ปรากฏว่ากฎกระทรวงการคลัง ก็เอากรณีสำหรับการทำเบียร์ออก แต่สุรากลั่นยังคงมีอยู่ ถามว่าใครทำสุรากลั่น เป็นเจ้าตลาดสุรากลั่น ส่วนเบียร์ แม้เอาเรื่องกำลังการผลิตขั้นต่ำออกก็จริง แต่เอาตัวอื่นมาแทน นั่นหมายความว่ากฎกระทรวงสับขาหลอกดูเหมือนดี แต่จริง ๆ แล้ว เอา EIA เข้ามาแทน ซึ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลาและงบประมาณ ประมาณ 2 ล้านบาท ใช้เวลาเป็นปี ใครจะทำได้ ต้องเป็นบริษัทใหญ่ ต่อไปจะต้องติดตั้งเครื่องเสียภาษีอัตโนมัติ เบียร์ที่เราเห็นไม่มีแสตมป์ติดเพราะเขาประทับตราเป็นสัญลักษณ์ เครื่องนี้กรมสรรพสามิตเป็นคนซื้อมาติดให้ ซึ่งบริษัทที่กรมสรรพสามิตจะติดให้ ต้องมีสายพานการผลิตแบบโรงที่ใหญ่ เพราะฉะนั้นนี่คือตัวล็อกสเป็ก จะบอกว่าเสรีก็เสรีไม่จริง เป็นเสรีแบบกั๊ก ๆ ฉะนั้น คนที่เป็นรายเล็กจะทำได้ก็ต้องทำบริวผับ ต้องมีอาหาร มีดนตรี มีที่นั่ง และมีเครื่องดื่มที่หลากหลาย ไม่ใช่มีแค่เพียงเบียร์ อย่างเหล้าก็มีเรื่องกำลังการผลิต
วิสกี้แบบซิงเกิล มอลต์ ที่เป็นโรงใหญ่ในประเทศไทยไม่มี คนที่อยากทำไม่ให้เขาทำ คนที่อยากทำยีสต์ รัมวอดก้าไม่ให้เขาทำ แต่ตัวเองก็ไม่ทำ รัมดี ๆ เราไม่เคยเห็น เห็นแต่รัมที่เป็นกากน้ำตาลเท่านั้นที่ออกมา แล้วมีกลิ่น ไม่ว่าจะทำอย่างไรออกมาก็เป็นเหล้ารัมกากน้ำตาลชัดเจน มันไม่เทียบเคียงกับรัมที่เขาใช้กันในบาร์ได้ เราไม่สามารถเอาเหล้าโรงใหญ่ที่ทำจากรัมมาผสมเป็นค็อกเทลได้ คุณภาพมันไม่ได้ และร้านค็อกเทลต่าง ๆ ก็ต้องใช้เหล้าจากนอกที่มาจากต่างประเทศ หากอยากใช้เหล้าไทย พอมีใครที่ทำได้ เจ้าหน้าที่ก็ไปจับเขา ไปแจ้งจับว่าทำไม่ถูกประเภท ก็มีหลายคนที่โดน สรุปเสรีก็เสรีไม่จริง แล้วทำอย่างไรเพื่อให้เสรีจริง
ความตลกร้ายของกฎหมายสุราไทย
ความตลกร้ายของมันคือการแฝงอะไรต่าง ๆ เอาไว้ แล้วให้ดูเหมือนว่าเสรีแล้ว ปลดล็อกแล้ว ทั้งเรื่องกำลังการผลิตขั้นต่ำ ตลกร้ายคืออะไร คือหากเป็นผู้ผลิตไวน์สุราแช่ จะไม่มีข้อกีดกัน เพราะโรงใหญ่หลายโรงเขาไม่ได้ทำ แต่คนทำไวน์เขาก็เสียว ๆ กังวลว่าจะมีกฎหมายมากีดกันเพราะตอนนี้เขาอิสระอยู่ คือไม่มีข้อกำหนดเรื่องการผลิตขั้นต่ำ ถ้าคุณทำไวน์ผลไม้ ไวน์องุ่น ไม่มีกำลังการผลิตว่าจะต้องเท่าไร แต่ถ้าเป็นอะไรที่เขาทำอยู่ตั้งแต่สมัยก่อน จะมีข้อกีดกันต่าง ๆ มันต่างกันตรงไหน ไวน์ สุราแช่ อุ มันต่างกันตรงไหนกับเบียร์ มันก็เป็นของเมาเหมือนกัน มีดีกรีไล่ ๆ กัน ก็อนุมานเอาได้ เด็กอนุบาลก็น่าจะคิดได้ ก็คือ คนนี้ทำอยู่ ก็ต้องไม่ให้คนอื่นทำ แต่คนนี้ไม่ได้ทำไวน์ เพราะฉะนั้น ฉันก็ไม่กีดกันไวน์ มันตลกร้าย มันไม่ตลกแหละ (หัวเราะ)
เหล้า ศีลธรรม ภูมิปัญญา ทุนผูกขาดและการเมือง
‘ศีลธรรม’ ก็คือศาสนา มันไม่ได้หมายความว่าคนทั่วไปจะต้องมีศีลธรรมโดยไม่ยึดศาสนา มันก็เกี่ยว คนจะต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ อันนั้นเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมทั่วไป ซึ่งเรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราพูดถึงศีลธรรมที่ว่า สุราเมรัย ถ้าศาสนาพุทธก็คือมีศีล 5 ที่เขาบอกว่าไม่ควรดื่มเพราะมันทำให้เราขาดสติ
ในวัฒนธรรมไทยไม่รู้ว่าเรานับถือพุทธมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ว่าทำไมสุรามันถึงอยู่ในสายเลือดของคนไทย ถ้าศาสนามาก่อน แสดงว่าคนไทยตั้งรกรากมาก่อนศาสนาพุทธเข้ามา อันนี้พูดแบบไม่ใช่นักประวัติศาสตร์นะ เพราะถ้าศาสนาพุทธเข้ามาก่อนยึดถือกันอย่างเคร่งครัด สุราไม่น่าจะเข้ามาอยู่ในสังคมไทยได้ หรือได้ก็น้อย แต่นี่มันอยู่ในสายเลือด หากจะเถียงว่าบางคนก็ไม่กินนะ แต่ถ้าเทียบสัดส่วนคนกินมันเยอะกว่า และไม่ใช่แค่ศุกร์เสาร์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ว่าเขากินได้ทุกวัน ตามผับบาร์คนแน่นทุกวัน มันแสดงให้เห็นว่าศีลธรรม เราหย่อนยานหรือเปล่า?
ก็ไม่ใช่ เพราะสุราเมรัยเป็นเรื่องเดียวในบรรดาศีลทั้ง 5 ข้อ ที่คนไทยฝ่าฝืน ศีลขาดอยู่ข้อเดียวเป็นหลักเลย เป็นเพราะอะไร
อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของเรา ถ้าเราคุยกันแบบในห้องสมุด เราคุยกันได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเราคุยในบาร์ เราก็จะคุยกันได้อย่างลึกซึ้งกว่า เราจะมีเพื่อนฝูงที่สนิทกว่า วัฒนธรรมการชนแก้วมันไม่ใช่แค่ชน มันบอกถึงสถานะทางสังคม คุณรักกัน คุณชนกัน คุณเป็นรุ่นน้องชนใต้รุ่นพี่มานิดหนึ่ง แค่การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ มันบ่งบอกถึงการให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน มันเป็นมากกว่าศาสนาแต่เป็นวัฒนธรรม
“เราไม่ขัดถ้าคุณจะเคร่งในศาสนาเพื่อการบรรลุ หรือการมีความสุขในทางจิต แต่ว่าก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของคนอื่นที่เขาอยากจะดื่มด้วย แต่ขณะเดียวกันคนที่ดื่มก็ต้องเคารพสิทธิคนที่ไม่ดื่มด้วยเช่นกัน แต่พบว่าปัญหาคือคนไทยไม่สามารถบันยะบันยังได้ ตรงนี้จะต้องหาทางที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม ซึ่งกฎหมายเรื่องการโฆษณาที่มีมันไม่ได้ช่วย เพราะแม้ไม่ให้ขายวันพระ เราก็ซื้อมาตุนไว้ก่อน เราก็ดื่มเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม”
มันจะมีเหล้าบางตัวที่เป็น ‘ภูมิปัญญา’ แต่บางตัวไม่ใช่ภูมิปัญญา เพราะบางตัวมันเป็นการปรับปรุงกระบวนการโดยนักวิทยาศาสตร์หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างเช่นไวน์ผลไม้ เขาก็จะมีวิธีการปรับให้คุณภาพของผลไม้ออกมาใกล้เคียงกับองุ่นเพื่อให้มันเป็นไวน์ที่เลียนแบบองุ่น ที่ต้องมีความฝาด มีสีแดง มีรสจืด มีความเปรี้ยว มีระดับแอลกอฮอล์ ขวดต้องเป็นลักษณะเหมือนขวดไวน์ ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่เกิดจากการพัฒนาของนักวิทยาศาสตร์ใม่ใช่ภูมิปัญญา
“เพราะบางอย่างมันสาบสูญ มันถูกตัดตอนจากการผูกขาด และไม่ให้คนทำ เพราะพอเขาไม่ให้ทำมันก็เหมือน 2- 3 ชั่วคน ที่มันไม่ได้ทำ เหลือแต่บ้านที่แอบทำใต้ดิน และแอบเอาไปฝังตามทุ่งนามันก็มีบ้างที่หลงเหลืออยู่ แต่มันไม่มีการพัฒนาจริง ๆ”
เหล้าข้าวของทางเหนือตอนที่ห้ามผลิต เขาก็แอบทำเป็นเหล้าป่าหรือที่เขาเรียกว่าเหล้าเถื่อนหนีภาษี เขาทำสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง จะมีบางหมู่บ้านของภาคเหนือ เขาจะล้อมรั้ว หากใครจะเข้าต้องมีการตรวจตรา เจ้าหน้าที่สรรพสามิตจะเข้าไปไม่ได้ ถ้าเข้าไปแล้วอาจจะไม่ได้ออก ฉะนั้น เหล่านี้คือเรื่องเล่า ซึ่งผมเคยเข้าไปในหมู่บ้านเหล่านี้ ต้องเป็นคนในท้องถิ่นพาเข้าไป ถ้าเราไปเองอาจรู้สึกหวาดเสียว เขาไม่พูดภาษากลาง เขาใช้ภาษาท้องถิ่น แล้วยิ่งเราพูดภาษาวิชาการ
ภูมิปัญญามันมีแต่ไม่ได้รับการพัฒนา ทำอย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้น เรายังคงเห็นเหล้าแบบนี้อยู่ในชุมชนบ้าง เขาไม่นิยมทำขาย เพราะมันไม่ถูกกฎหมาย แต่ถ้าจะทำแบบถูกกฎหมายมันก็ทำยาก เพราะมันต้องทำให้ไม่ต้องไปหมักต่อในขวด ขวดต้องไม่ระเบิด อย่างทางใต้เป็นตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว แต่ต่อให้เป็นภูมิปัญญามันก็ต้องใช้เทคโนโลยีมาจับ เพราะฉะนั้นการจะให้ภูมิปัญญาไปต่อในแบบเขาเอง จะไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ จะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาเรื่องการติดเชื้อและภูมิอากาศที่อาจจะมีเชี้อปนเปื้อน มันอาจจะต้องเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยจับ เพราะฉะนั้น ในบางครั้งที่เราลงต่างจังหวัดก็พยายามให้ข้อมูลเหล่านี้ลงไป เพื่อปรับภูมิปัญญาให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานการทำเหล้า
‘การเมือง’ ก็ต้องไปด้วย ‘ทุน’ เราเห็นชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาล มันน่าจะไหลมาตกตะกอนกันตรงที่ว่ามาจากกลุ่มทุนหรือเปล่า การที่จะตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีทุนและมาโดยนโยบายจริง ๆ ประชาชนอยากได้จริง ๆ แต่มันไม่มีทุนสนับสนุน มันก็อาจโดนเล่นแร่แปรธาตุได้ แล้วมันมีที่ไหนที่ได้คะแนน 300 กว่าคะแนนแล้วจัดตังรัฐบาลไม่ได้ มันถูกล็อกสเป็กไว้แล้ว จริง ๆ หลายคนก็ลงคะแนนประชามติมาว่า ให้ สว. เลือกนายกฯ ได้
“แต่ว่าเราไม่นึกถึงว่ามันจะมีผลมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย พอมันมีผลตอนนี้มันเลยกลายเป็นว่าทำไมเขาสามัคคีลงคะแนนแบบเดียวกันเลย มันก็มีกล้วย เชื้อเพลิง ถ้าเทียบกับวงการสุราก็ต้องมีเชื้อเพลิง มีเชื้อไฟให้เครื่องกลั่นมันเดินได้ แล้วเชื้อเพลิงนี้มาจากไหน ก็มีคนที่ได้ประโยชน์จากการเมืองไปทำให้มันมีมูล ส่วนคนที่ไม่มี มันก็สู้ไม่ได้ในประเทศไทย”
เราไม่สามารถจะหลุดพ้นเรื่องแบบนี้ไปได้ เพราะฉะนั้นหลายครั้งหลายหนผมยอมแพ้ เพราะผมสู้ไป ผมก็ไปเจอเชื้อเพลิง เพราะไม่สามารถที่จะต่อสู้กับเขาได้ เพราะผมเดินเครื่องด้วยความอยากทำ ถ้าจะบอกว่าเรามีอุดมการณ์มันก็จะสูงส่งเกินไป เพราะเราเห็นว่าอะไรไม่ชอบมาพากลเราอยากแก้ไข แต่ว่าเราทำด้วยตัวเราคนเดียวกระเทียมลีบ มีคนอื่น ๆ มาสนับสนุนบ้าง มันไม่สามารถที่จะสู้คนมีเชื้อเพลิงได้
“รวมทั้งการโฆษณาด้วยนะครับ กระทรวงสาธารณสุขมีเชื้อเพลิงเยอะ อาจไม่ใช่เชื้อเพลิงของกลุ่มทุน แต่เป็นเชื้อเพลิงของกลุ่ม NGO ที่เขามีเงินเข้ามาสนับสนุนจากภาษีเหล้า เพราะฉะนั้น ในเมื่อเงินตรงนี้มันเยอะ ถ้าไม่มีโครงการใช้เงินมันจะเอาออกมาไม่ได้ วิธีการทำโครงการ เรื่องของการใช้เงินมันก็คือการต้านเหล้าที่เป็นเรื่องชัดเจนที่สุดที่จะทำมันได้ง่าย ๆ ฉะนั้นการต้านเหล้าเป็นอาชีพของเขา เขาต้องทำให้ถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่มีเชื้อเพลิง”
สมดุลเรื่องเหล้า และการต้านเหล้า
การอ้างเรื่องอุบัติเหตุ เพราะตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ทั้งที่ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมไม่ให้คนเมาอยู่บนถนน ในเมื่อทำไม่ได้ รัฐจึงใช้อำนาจออกกฎหมายมาควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งกฎหมายก็มีพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์ อย่างการกำหนดเปอร์เซ็นแอลกอฮอล์และต้องไม่มีสารปนเปื้อนอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ลอกมาจากต่างประเทศ แต่ภายหลังมีการปรับตัวเลขให้เหมาะสมกับอะไรบางอย่าง บางคน บางกลุ่ม โดยมาตรฐานนั้นอาจไปเอื้อใครบางคน บางกลุ่มเช่นกัน
เมื่อกฎหมายไม่เอื้อ ทำให้ภูมิปัญญาไปไม่ถึงไหน สุราไทยมีเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างข้าว หากทำให้ดีก็จะมีเอกลักษณ์ ซึ่งญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็ไม่มีทางเหมือนเพราะใช้ข้าวคนละสายพันธุ์ ยุโรปมีมอลต์ ซึ่งไม่ได้เป็นผลไม้ที่มีเอกลักษณ์เหมือนไทย เวลาฝรั่งมาก็ต้องมาหากินผลไม้ไทย เมื่อผลไม้ไทยไปอยู่ในขวดมันสร้างมูลค่า สร้างสตอรี่ได้ แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องภูมิปัญญา แต่ต้องเชื่อมกับเทคโนโลยีและมีกฎหมายที่เอื้อกัน ต้องไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีเรามี ภูมิปัญญาเรามี วัตถุดิบเราก็มี แล้วเราขาดอะไร เราขาดกฎหมายที่จะเอื้อต่อการพัฒนา เราต้องแก้กันต่อไป แต่อาจต้องแตะมือกับคนรุ่นหลัง เพื่อมาช่วยกันสานต่อ
หากพูดเรื่องการผลิตสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่พูดถึง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่ได้ เพราะเมื่อกฎหมายเปิดทางให้ทำสุราได้มากขึ้น ก็จะนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุรา รัฐบาลจึงออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อมาแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ควบคุมการห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายในบางสถานที่หรือบางเวลา ห้ามขายให้เด็ก นักวิชาการหลายคนมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมการเข้าถึงแอลกอฮอล์ที่ถูกที่ถูกทาง รวมทั้งเป็นกฎหมายที่ตัดขาผู้ประกอบการรายเล็กและเอื้อให้ทุนรายใหญ่ ที่บอกว่าเอื้อหมายถึงอะไร เพราะทุนรายใหญ่ต่อให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ แต่เขามีทุนในการโฆษณาสินค้าชนิดอื่นที่มีโลโก้เดียวกับสินค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้โลโก้ต่างกันนิดหน่อย แต่เป็นชื่อแบรนด์เดียวกัน ขณะที่รายเล็กมีทุนน้อย ไม่สามารถทำสินค้าที่หลากหลายเหมือนรายใหญ่ ทำให้โอกาสที่สินค้าจะถูกกล่าวถึงหรือสื่อสารเป็นไปได้น้อยกว่า
ความกังวลเรื่องคุณภาพหากการทำสุราถูกปลดล็อกให้เสรีมากขึ้น
คุณภาพเป็นแค่ข้ออ้าง สมมติเราเข้าไปเถียงในสภา ก็จะบอกว่า พอให้ทุกคนทำ จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพการผลิต ประชาชนจะเจอสารพิษต่าง ๆ สุราทุกตัวที่ขออนุญาตผลิตและมีแสตมป์ติด ต้องส่งวิเคราะห์ ซึ่งตัวเลขที่ต้องส่งวิเคราะห์ค่ามาตรฐานมีอยู่ 2 ตัว แต่สรรพสามิตไปเพิ่มปริมาณให้ อย่างเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์พิษ ที่ในอินเดียนำมาทำเหล้าขายแล้วมีคนตาย แต่เมืองไทยมันไม่เกิดเพราะเหล้าของเราไม่มีเมทิลแอลกอฮอล์ แต่เขาก็เพิ่มให้มี 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งมันสูงมาก
ดังนั้น เหล้าชุมชนของเรามันไม่เกินมาตรฐานอยู่แล้ว อีกตัวหนึ่งที่เป็นปัญหาคือกลิ่นของลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางคนยังเข้าใจว่าในเหล้ามีแล้วหอม ซึ่งมันหอมจากตัวทำละลายเป็นสารเคมี หมายถึงเป็นกลิ่นที่เกิดจากแบคทีเรียนปนเปื้อนการหมัก เรื่องนี้สอนทุกครั้ง พูดตลอดในวงการว่ามีกลิ่นนี้ไม่ได้ แต่ก็ยังพบในไวน์ผลไม้บางจังหวัด แต่ในสุรากลั่น เป็นที่รู้กันว่าไม่ควรจะมี
“ปรากฏว่ามาตรฐานสรรพสามิตก็เอาออกไป ไม่มีการวิเคราะห์ลูกโป่งวิทยาสาตร์แล้ว ฉะนั้น มาตรฐานของสรรพสามิตเขาดูแค่ความปลอดภัย ตัวนี้มีนิดหน่อยได้ไม่เป็นไร แต่เขาไม่ได้ดูเรื่องคุณภาพ กลายเป็นว่าถ้าคุณจะขายเหล้ารสชาติห่วยยังไงก็ขายได้ เพราะว่าเขาไม่คุม”
ต่อไปหากกินแล้วท้องเสียเข้าห้องน้ำ ก็ต้องบอกก่อนว่าในการตรวจมาตรฐานสุราจะไม่มีการตรวจจุลินทรีย์ คือต่างจากมาตรฐานอาหาร และหากบอกว่าสิ่งใดที่เรากินไปแล้วมีอันตรายจากจุลินทรีย์ รัฐบาลก็ต้องมีกฎหมายตรวจสอบจุลินทรีย์แบบในอาหารแทบทุกตัว แต่ทำไมสุราไม่ตรวจ ก็เพราะมันไม่มี เมื่อใดที่มีแอลกอฮอล์ เชื้อก่อโรคก็ไม่มีแล้ว ถึงจะมียีสต์อยู่ เหมือนสาโทที่ขายแบบสดก็ท้องไม่เสียเพราะมีแอลกอฮอล์ เพราะฉะนั้น การอ้างว่าให้ทำเสรีแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องของสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องอ้างเฉไฉไปเพื่อไม่ให้เกิด เพื่อจะบอกว่าโรงใหญ่ดีอยู่ฝ่ายเดียว โรงเล็ก ๆ ทำไม่ได้เดี๋ยวท้องเสีย ถ้าใครพูดว่ากินเหล้าแล้วท้องเสีย นั่นคือไม่ได้เรียนมา เรื่องนี้ผมพูดไปบ้างแล้ว เดี๋ยวก็จะเตรียมกับ สส. ไว้ เรื่องที่ว่าไม่มีมาตรฐานประเทศใดตรวจเชื้อจุลินทรีย์ มีแต่เขาตรวจในโรงผลิตว่าถ้าเป็นไวน์ต้องไม่มียีสต์หลงเหลือไปหมักซ้ำในขวดได้ เพราะมันจะทำให้ซ่า ซึ่งไวน์มันไม่ควรซ่า เหล่านี้เป็นการควบคุมการผลิตของโรงงาน ถามว่ามียีสต์เป็นอันตรายไหม ยีสต์ เรากินอยู่ทุกวันในขนมปัง ขนมถ้วยฟู ขนมตาล
การไปต่อสุราเสรี กับขั้วการเมืองปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้มีการประกาศแก้กฎกระทรวงการคลัง ก็คาดว่าเป็นการตัดหน้า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เข้าสภาวาระ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ถ้าเขาไม่ตัดหน้า สส. ที่จะไม่ลงคะแนนสนับสนุนและจะคว่ำก็จะไม่มีเหตุให้คว่ำ
“ฉะนั้น การประกาศกฎกระทรวงใหม่ แล้วไม่มีการกำหนดแบบเดิม มีการอนุญาตขยายกำลังแรงม้าในการผลิต ก็เป็นข้ออ้างให้คว่ำร่างกฎหมาย ซึ่งชนะกันแค่ 2 เสียง รวมทั้งเป็นการ ล็อบบี้ ที่จะดึง สส. มา ดึงคะแนนให้ชนะ เพราะถ้าเขาไม่สู้จนหยดสุดท้าย พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะผ่าน แต่รัฐบาลยอมไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอ ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน รัฐบาลเสียหน้า”
ผมมองว่าทำไมคุณจะเสียหน้าไม่ได้ ถ้ากลัวเสียหน้าก็ทำอีกร่างหนึ่งเป็นของรัฐบาล ก็เขียนให้เหมือนกัน แล้วรัฐบาลเสนอด้วย แล้วก็สนับสนุนให้ผ่านไปเลย
“สุดท้ายกลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่เอาชนะฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่องของกลุ่มทุนที่สนับสนุนไม่ให้เกิดคู่แข่ง“
เราก็รอว่ารัฐบาลไหนที่จะมองเห็นและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ และถ้าให้ เท่าพิภพ (ลิ้มจิตรกร) เอาเข้าสภาฯ มันก็ต้องเข้ากระบวนการแก้กฎหมาย วาระ 1 – 2 – 3 ใหม่ นับ 1 ก็จะเจอบล็อกในสภาฯ อีก เพราะเขาไม่ต้องการให้กฎหมายฝ่ายค้านเข้าไปแล้วผ่านสภาได้ หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่ง คือกลุ่มที่ดูแลรัฐบาลอยู่ก็ยังคงเป็นกลุ่มนายทุน นายทุนก็ไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเหล่านี้ ฉะนั้น ผมมองว่าโอกาสที่เราจะได้ทำยังอีกยาวไกล ไม่ใช่ง่าย ๆ หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้น คนที่จะทำเหล้าตอนนี้ให้ทำเท่าที่มันเป็นไปได้ก่อน คือสุราขาวจากวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์ เอาแค่นี้ เราสามารถขายไปได้หลากหลายแล้ว ส่วนเบียร์เรายังมีข้อจำกัดอยู่ เราถึงเห็นเบียร์ใต้ดินเฟื่องฟูในปัจจุบัน เพราะเขาทนไม่ได้ที่ต้องไปขออนุญาตและต้องไปเข้าคิวจ้างผลิตโรงใหญ่ ทุกคนต้องการผลิตเองเพื่อความภาคภูมิใจที่ยังเกิดไม่ได้ตอนนี้
เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องไปเสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แก้มาตรา 153 ใหม่ เรื่องกำลังการผลิตที่ไม่ให้ระบุเพื่อกีดกันต่าง ๆ ก็คือร่างเดิม ในสภาใหม่ เริ่มต้นกระบวนการใหม่ รับฟังความคิดเห็น ผ่านวาระ 1 – 2 – 3 แล้ว อาจจะไปโดนบล็อกเหมือนเดิม เพราะตราบใดที่ยังมีกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายเดิมมาร่วมบริหารประเทศ
หรือกระทั่งหากเราไว้ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะแก้กฎหมายนี้ ก็ไม่ใช่ เพราะเขาต้องประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้น นโยบายพรรคร่วมเป็นนโยบายที่ใช้เชื้อเพลิง ก็ต้องเป็นไปในแนวที่ผ่านมา ผมจึงมองว่าเรื่องของการแก้กฎหมายเป็นไปได้ยาก แต่เชื่อว่าหากคะแนนเสียงมากพอก็ทำได้ แต่ถ้าอีกฝ่ายร่วมมือกัน ก็มีโอกาสที่จะถูกคว่ำอีก หรือวิธีการทางลัดที่สุดที่จะทำได้ก็คือการแก้กฎกระทรวงอีกครั้ง
หมายเหตุ สัมภาษณ์เดือนกรกฎาคม 2566