48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทย
คุณฝันเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า? จะดีกว่าไหมถ้าประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ สามารถนำเสนอนโยบายที่อยากเห็น สู่ภาพอนาคตหลังการเลือกตั้งไปด้วยกัน…
The Active Thai PBS ร่วมกับสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย UNDP และอีกหลายองค์กร เปิดพื้นที่ Hack Thailand 2575 ชวนภาคส่วนของสังคมทำ Policy Hackathon 48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทย รายละเอียดเป็นอย่างไรชวนทำความรู้จักกันในบทความชิ้นนี้
Hackathon = Hack + Marathon วิธีคิดนอกกรอบหาคำตอบแบบใหม่
ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) เล่าว่า Hack มันเหมือนการไปล้วงแคะ แกะ เกา อะไรสักอย่าง เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ไปเคยมีใครทำมาก่อน กับ Marathon คือการทำอะไรบางอย่างนานๆ ยาวๆ Hackathon จึงเป็นคำ 2 คำ ที่เอามารวมกัน เพื่อพยายามที่จะแก้ปัญหา หรือกาคำตอบจากเรื่องบางเรื่องด้วยวิธีการใหม่ ๆ โดยที่เราสุมหัวอยู่กับมันยาว ๆ นาน ๆ จนกว่าจะได้วิธีเหล่านั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้กันในหมู่ของสตาร์ทอัป หรือแวดวงเทคโนโลยี โดยที่อาจจะใช้เวลาแก้ปัญหา 1-2 วัน ในการแก้ปัญหาบางอย่าง สำหรับ Hackathon ที่มีชื่อเสียง เช่น เฟซบุ๊ก ก็มีทีม Hackathon ของเขาเหมือนกันเพื่อหาวิธีสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งคำตอบในครั้งนั้นได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นปุ่มแชร์ ปุ่มไลก์ เป็นต้น คือตัวอย่างของการเกิด Hackathon ขึ้นมา
“เวลาที่เราทำ Hackathon คือเราเอาโจทย์เป็นตัวตั้ง พอเรามีโจทย์แล้วก็มาดูว่าโจทย์มันคืออะไร เราก็หยิบมาพิจารณาโอกาสและดูความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่จะนำมาแก้ไขโจทย์นี้ได้ วิธีการมีอะไรบ้าง แน่นอนว่าวิธีการแรกๆ เราอาจจะได้เฉพาะวิธีที่เรานึกออก แต่เราจะถามต่อไปเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาในทางที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อเราให้เวลากับมันนาน ๆ กับโจทย์เดียว มันจึงทำให้มีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เยอะ และเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำงานเป็นทีม จากคนที่มี background แตกต่างกัน วิธีคิดแตกต่างกัน ก็ทำให้มีแนวทางแปลก ๆ และความคิดสร้างสรรค์ที่ตามมา”
ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
ธนกฤษณ์ เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) มองว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธี Hackathon จะต่างจากการจัดงานระดมวามคิดเห็นทั่วไป เนื่องจากการระดมความคิดเห็นมักจะได้ผลลัพธ์ในรูปแบบไอเดีย แต่เป้าหมายสุดท้ายของ Hackathon คือต้องการต้นแบบที่จับต้องได้ วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้จริง ซึ่งด้วยเวลาที่จำกัดก็จะทำให้กระบวนการ Hack ต้องพยายามใช้ไอเดียใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาแทนการใช้วิธีการเดิม ๆ และบางรายการอาจจะเป็นการแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และติดตามดูว่าไอเดียเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ต่ออย่างไร
“เวทีระดมความคิดเห็น อาจทำให้เราเห็นไอเดียดี ๆ ต่าง ๆ มากมาย แต่ก็เป็นแค่ไอเดียไม่ได้เห็นภาพ แต่ end goal (เป้าหมายปลายทาง) ของ hackathon คือการที่ทำให้ได้ผลลัพธ์แก้ไขปัญหาแบบที่เรามองเห็นได้ หรือที่เรียกว่า prototype (ต้นแบบ) ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนระดมความเห็นกันมา เป็นต้นแบบที่มองเห็นได้ จับต้องได้ หมายความว่านอกจากจะมี Idea แล้ว ก็ยังมี I do ด้วย ซึ่ง hackathon สามารถจัดได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ หลายประเด็น ที่ต่างประเทศมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์เวิร์ดก็มีการจัด Hackathon ให้นักศึกษามา Hack ไอเดียต่าง ๆ เพื่อชิงรางวัลกัน และจะมีตัวแทนจากภาคเอกชน ภาคส่วนต่าง ๆ มารับฟัง หากสนใจก็จะได้นำไปต่อยอดได้”
ธนกฤษณ์ เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
กระบวนการต้นแบบกับความสำเร็จของ Hackathon
ผศ.ยุทธนา เล่าว่าในต่างประเทศอย่างที่ไต้หวัน ใช้กระบวนการ Hackathon ได้อย่างดีและเป็นตัวอย่างกับหลายประเทศ เพราะไต้หวันมีรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องไอซีทีโดยเฉพาะ เป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นแฮกเกอร์ ก็เลยเอาวิธีการอย่างที่สตาร์ทอัปหรือบริษัทเทคโนโลยีเอามาใช้ คือเราโจทย์ปัญหาทางสังคมของประเทศ มา Hack ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตหรือทั่วไป ก็เอาคนมาระดมสมองกันในวิธีการที่แปลกแหวกออกมา ซึ่งบ้านเราก็มีตัวอย่างด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่าง 2 โครงการ
โครงการแรกเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นโครงการที่กรมสรรพากร ร่วมกับไทยสตาร์ทอัป และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa จัดตั้งโครงการ HackaTax โจทย์คือสรรพากรคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้การจัดการภาษีง่ายกว่านี้ได้บ้าง ก็เลยมาถามสตาร์ทอัปว่าจะทำอย่างไรให้ภาษีไทยถูกใจประชาชนได้
“พอเราได้โจทย์ชัดแล้ว สตาร์ทอัปก็มาระดมความคิดกัน 3 วัน 2 คืน ช่วยกันคิด ตกผลึกร่วมกัน โดยคิดร่วมกันเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่กรมสรรพากรด้วย และดูว่าโจทย์ที่มันยากจะทำให้มันง่ายอย่างไรได้บ้าง อย่างโครงการที่ผมเสนอคืออยากช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถจัดการภาษีได้อย่างถูกต้องที่สุดโดยที่เขาอาจไม่จำเป็นต้องรู้ระบบภาษีที่ซับซ้อนก็ได้ วิธีการคือเอาบัญชีธนาคารมาใช้จัดการภาษีได้อัตโนมัติ พี่ ๆ สรรพากรก็งงเลยว่าทำได้ด้วยหรอ นี่คือผลจากการที่เราทำ Hackathon เพราะจริง ๆ มันมีวิธีมากมายที่แก้ปัญหาได้ แต่เพราะเราอาจจะเคยชินกับวิธีการเดิมๆ เลยไม่รู้ว่าวิธีอื่นก็ทำให้มันเกิดขึ้นได้”
ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
ผศ.ยุทธนา เล่าว่า อีกโพรเจกส์หนึ่งที่สมาคมไทยสตาร์ทอัปทำร่วมกับกรุงเทพมหานคร มีชื่อว่า Hack BKK โจทย์มีอยู่ว่ากรุงเทพมหานครโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีนโยบายอยู่ 216 เรื่อง เขาก็ขอความร่วมมือว่าใครจะช่วยนโยบายตรงไหนก็ทำได้ เราก็เอานโยบายต่าง ๆ ไปแจกสตาร์ทอัปและดูว่ามีเรื่องอะไรที่พวกเขาตื่นเต้นและอยากจะร่วมแก้ปัญหา ร่วมงานเพื่อทำให้เมืองมันดีขึ้น รูปแบบก็คล้ายกันคือ ถ้าใครสนใจนโยบายเรื่องความเท่าเทียม นโยบายเรื่องความเหลื่อมล้ำ หาบเร่แผงลอย ก็กระโดดเข้ามาหาวิธีกัน ผลลัพธ์คือเราก็ได้แนวทางขับเคลื่อนนโยบายเรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่งหลายๆ โครงการก็มีการนำไปทำต่อ และใช้งานได้จริง
ธนกฤษณ์ กล่าวเสริมว่า ในโปรเจคส์ Hack Bkk มีสตาร์ทอัปที่สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 60 ทีม จากนั้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร คัดสรรและคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบ และจับคู่ตามประเด็นที่เหมาะสมจากนั้นทางกรุงเทพมหานครก็ส่งบุคลากร รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ มาร่วม Hack ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดมุมมองมากมาย ระดมความคิดแก้ปัญหา ทำให้เกิดนโยบายที่มาจากหลายภาคส่วน ขณะเดียวกันก็ได้เปิดโปรแกรม Hack สำหรับประชาชนทั่วไป เรียกว่า Public track ซึ่งมีหลายโพรเจกส์ที่ผ่านเข้ารอบและได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร
โดยผลลัพธ์จะโครงการ Hack Bkk มี 6 เรื่องสำคัญ ดังนี้
- ไอเดียในการสร้างระบบแพลตฟอร์มจองการใช้งานพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ แก้ปัญหาการขอใช้สถานที่ราชการที่ยุ่งยาก และทำให้พื้นที่ของรัฐถูกใช้ประโยชน์สูงสุด
- ระบบขึ้นทะเบียนจัดการหาบเร่แผงลอย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถจัดการรายรับรายจ่าย ภาษี สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้ง่ายขึ้น
- โปรแกรมจัดทำฐานข้อมูลห้องพักราคาถูกที่เข้าถึงได้ ช่วยให้กลุ่ม first jobber สามารถมีที่พักใกล้กับที่ทำงาน ในราคาถูก และแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัยให้คนเมือง
- แนวทางการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อฉุกเฉิน ด้วยการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วย ให้ได้รับบริการสะดวกรวดเร็วขึ้น
- ระบบปฏิบัติการที่ช่วยให้คนพิการทำงานได้ผ่านระบบออนไลน์ ลดปัญหาการเดินทาง และช่วยสร้างรายได้ ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการด้วย เช่น งานแอดมินตอบปัญหา ข้อร้องเรียนในเว็บไซต์กทม. Online chat agent / non-voice center
- การทำฐานข้อมูลชุมชน เพื่อวางระบบจัดการความเสี่ยงทุกด้าน เช่น เรื่องการป้องกันอุบัติภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัด
มองอนาคต 10 ปี ข้างหน้าของไทย ผ่าน Hack Thailand 2575
ธนกฤษณ์ กล่าวว่า โครงการ Hack Thailand 2575 คือโครงการ Hackathon มีจุดเริ่มต้นจากการประเมินฉากทัศน์ 10 ปี อนาคตประเทศไทย โดยสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ Nida ร่วมกัน Thailand Future Foundation และภาคี ด้วยโจทย์ว่า ปี พ.ศ. 2575 หรือ 10 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ใน 6 ประเด็น คือ เรื่องสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และจาก 6 หัวข้อนี้จะนำมาแตก ย่อยเป็น 12 หัวข้อ และมีกระบวนการ Hack 9 ขั้นตอน ตั้งแต่การค้นหาไอเดียระดมสมอง และนำเอาไอเดียเหล่านั้นไปสอบถามความคิดเห็น และนำมาพัฒนาต่อยอด เรียกว่า Build-measure-learn (BML) คือการสร้าง วัดผล และนำมาประกอบการสร้างใหม่
- อ่าน ทำความรู้จัก Strategic Foresight คำตอบแห่งอนาคต ที่ไม่ได้มีคำตอบเดียว
- อ่าน ฉากทัศน์ประเทศไทย ก้าวข้ามโจทย์ระยะสั้น ดึงประชาชนร่วมถักทออนาคตตัวเอง
ผศ.ยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการ Hack จะมีตัวแทนจาก 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง สตาร์ตอัป ประชาชนทั่วไป เยาวชน กลุ่มคนเปราะบาง และอื่น ๆ มาคุยกันว่า จากโจทย์เราเหล่านี้เราจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นได้ โดยตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้านี้ และหากระบวนการที่จะทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ
ข้อดีของการที่ชวนคนที่ไม่เหมือนกันเลยมาอยู่รวมกันคือเราจะได้เห็นแง่มุมที่เราอาจจะคิดไม่ออก เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา เราพูดในมุมของผู้ออกนโยบาย แต่ไม่เคยถามว่าเด็ก ๆ คิดอย่างไร เราก็จะไปถามเขา เขาก็อาจจะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ฝั่งสตาร์ทอัปพอฟังปุ๊ปอาจจะรู้สึกว่า ทำไมต้องใช้เครื่องมือนี้ มีอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่าและได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่านะ ก็หยิบขึ้นมาพูดคุยกัน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ศึกษามาเยอะ ก็จะแชร์ข้อมูลกันได้ แต่ละคนมีความรู้ ประสบการณ์ที่อีกฝ่ายอาจจะไม่เคยรู้ มันเป็นความหลากหลายทางสังคมอย่างหนึ่ง มันก็น่าจะมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา
ดังนั้น กระบวนการคือ 2 วันแรกจะคิดแต่เรื่องการหาวิธีการแก้ไข และวันที่ 3 เราจะมีการนำเสนอ ซึ่งการนำเสนอเรามีแบ่งกันตามประเด็น มีไอเดียอะไรที่จะปรับปรุง เดินหน้าได้บ้าง และทำให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในปี 2575 และในกระบวนการตรงนี้ ก็จะให้ตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ มารับฟังความคิดเห็นที่เรานำเสนอ
“มันจะมีคำที่บอกว่าทำไม่ได้หรอก ทำไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะใช้เวลา 48 ชั่วโมง กับโครงการนี้ ดูสิว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรได้บ้าง แล้วร่างเป็นนโยบายเป็นแนวทางการแก้ปัญหา มีผลลัพธ์ที่ทำให้เห็นว่านี่คือประเทศไทยที่ฉันอยากเห็น และนำไปเสนอให้กับพรรคการเมือง เพราะช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง ก็ให้ดูว่ามีนโยบายไหนว่าที่คุณดูแล้วว่าเป็นประโยชน์ เป็นไปได้ สามารถนำไปผลักดันแล้วดีกับคนในประเทศไทย ซึ่งบังเอิญมากว่า 2575 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าจะครบ 100 ปีประชาธิปไตยในไทยพอดี (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475”
ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
ผศ.ยุทธนา ย้ำว่าน่าจะเป็นโครงการนึงที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แสดงนโยบาย ไม่ใช่แค่รอดูว่าพรรคการเมืองจะคิดนโยบายอะไรมากให้ แต่เราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ วิธีคิดเชิงนโยบายไปให้เขาหยิบ และนำไปใช้ได้จริงด้วย
“นี่เป็นการจัด Hackathon ระดับประเทศครั้งแรก ที่ประชาชนจะเป็นฝ่ายขายของบ้าง ปกติเราฟังแต่นักการเมืองขายของอย่างเดียว ตอนนี้ภาคประชาชนกำลังจะขายของบ้าง ผลลัพธ์สุดท้ายมันจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อย มันคือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็น นำเสนอนโยบายให้พรรคการเมืองได้นำไปต่อยอด สิ่งที่เราเสนออาจจะไม่ได้หยิบไปใช้ได้ 100% พรรคการเมืองอาจจะมีวิธีคิดที่ดีกว่า เพราะเขาเตรียมตัวมาหลายปี แต่เราใช้เวลา 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่คิดว่าหลายอย่างเราอาจร่วมมือกันได้ ระหว่างสิบปีมันอาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นได้ บุคคลที่มาช่วยในวันนี้ก็สามารถไปทำงานร่วมกับพรรคการเมืองได้ หรือไปหาความร่วมมือพันธมิตรใหม่ ๆ ได้ นี่เป็นความหวังว่ามันจะเกิดขึ้น”
ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
ผศ.ยุทธนา กล่าวเสริมว่า Hack Thailand 2575 แม้จะเป็นครั้งแรก แต่ถ้าหากว่าได้รับการสนับสนุนส่งเสริมติดตามเป็นอย่างดี สังคมให้ความสนใจ คิดว่ามันจะไม่จบแค่ก่อนเลือกตั้ง แต่หลังจากนี้ในระหว่างที่เราได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว เราก็อาจจะทำกระบวนการแบบนี้อีกและนำเสนอต่อยอดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งยิ่งเราสนใจมากก็จะยิ่งได้ไอเดียที่ดีมาก และมีช่องทางสื่อออนไลน์ให้ร่วมแสดงความเห็นได้ตามประเด็นที่สนใจ
“ครั้งที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นนโยบายถูกคิดโดยพรรคการเมือง แต่ถ้าพวกเรารวมตัวกันให้พรรคการเมืองได้นำไปใช้ต่อ ภาคราชการเอาไปต่อยอด หน่วยงานอื่น ๆ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เราก็หวังว่า Hack Thailand 2575 ก็จะได้ผลลัพธ์ของนโยบายที่เราอยากเห็นและเกิดขึ้นจริง”
ธนกฤษณ์ เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)