จากกระแสโด่งดังในบทบาท “แด้ดดี้ศิธา” ที่กลายเป็นไวรัลต่อเนื่องในโซเชียลมีเดีย มาจนถึงปมร้อนแรงกับความเห็นทางการเมืองเรื่อง Advance MOU ที่หวัง ‘ยกระดับประชาธิปไตย’ แต่ถูกสวนกลับด้วยประเด็นเรื่อง ‘มารยาท’ จนเจ้าตัวต้องออกมาย้ำว่าจะพิจารณาตัวเอง
ผู้พันปุ่น-น.ต. ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ในช่วงการเมืองฝุ่นตลบกับ The Active ว่าไม่ได้รู้สึกเครียด ยังรู้สึกสบายใจกับที่สิ่งที่ได้พูดออกไป เพราะจุดประสงค์คือการทำเพื่อประเทศชาติ ถามแทนประชาชน แต่หากกลายเป็นอุปสรรค ก็เพียงขอเงียบไว้ก่อน…
จุดเปลี่ยน ‘นักบิน’ สู่ ‘นักการเมือง’
ผู้พันปุ่น เล่าย้อนให้ฟังถึงเส้นทางการเมืองก่อนจะจะมาถึงจุดนี้ว่า แต่ก่อนหน้านี้ช่วงที่เป็นนักบิน และมีโอกาสได้ไปเมืองนอก เริ่มได้คุยงานบนโต๊ะอาหาร ฟัง นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พูดอยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ก็เริ่มสนุกและอยากทำงานการเมือง ทั้งที่ตอนนั้นอีกไม่เท่าไหร่ก็จะได้เป็น ‘ผู้ฝูง’ แล้ว แต่ไม่อยากทำงานบนโต๊ะ อยากลงการเมืองมากกว่า
ตำแหน่งสุดท้ายของผู้พันปุ่น คือ รองหัวหน้าแผนกแผนร่วม กองนโยบายและแผน กรมยุทธการ กองทัพอากาศ ก่อนตัดสินใจลาออกจากราชการ เข้าสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัวในปี 2543 โดยเดินไปที่ พรรคไทยรักไทย และลงสมัคร ส.ส. นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเป็น นักการเมือง
ผู้พันปุ่น ผ่านการเลือกตั้งมา 4 ครั้ง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งในปี พ.ศ.2544 และปี พ.ศ.2548 สองสมัยติดต่อกัน และได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
อยากเห็นไทยเป็นประชาธิปไตย ไม่มีผู้มีอำนาจ ที่เรียกตัวเองว่า ‘คนดี’ มาบงการ
จากการเป็น ส.ส.ครั้งแรกทุกอย่างก็ยังดูดีไปหมด แต่การเมืองช่วงปี 2547-2548 เริ่มไม่สนุก มีม็อบ และการแบ่งขั้วของสื่อ จากเดิม ส.ส. นั่งรวมกันกินข้าวพูดคุย ตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว อย่าง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่นั่งแยกกับ ส.ส.ไทยรักไทย บรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนไปมาก เวลา ส.ส.ยกมือพูดในสภาฯ ก็จะเกร็งกว่าปกติ เมื่อก่อนได้รับการยอมรับว่า มีความสามารถ ก็จะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีบรรยากาศของการพูดคุยให้กำลังใจกันแบบนั้น
“อยากเห็นการเมืองไทยเป็น ประชาธิปไตย ไม่ต้องมีกลไกของกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่เรียกตัวเองว่าคนดี มาคอยบงการ
ครั้งนี้เป็น การเมืองที่สวยงามมากที่สุด อยากให้มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะต้องสู้กับกลไกรัฐประหารที่ฝังรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำลายประชาธิปไตยอย่างมาก”
น.ต. ศิธา ทิวารี
แลนสไลด์ กทม. กับโอกาสยกระดับมหานคร
ศิธาอธิบายหลักการทางการเมืองไทย 3 ส่วน
- กระสุน คือ เงินทุน ที่ใช้สำหรับการหาเสียง
- บ้านใหญ่ คือ คนสนิทคุ้นเคย ฐานเสียงที่ต้องเอาเงินไปให้
- กระแส คือ ความนิยมชมชอบของผู้คนในสังคม
ส่วนที่ 3 น่าสนใจเพราะกระแสทางการเมือง ความนิยมชมชอบ จะเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว เป็นความนิยมในคุณงามความดี เมื่อก่อนในส่วนของสัดส่วนของกระแส กระสุนบ้านใหญ่ หัวเมืองก็จะชนะ แต่พอขยับออกมาต่างจังหวัด กระสุน ก็จะชนะ ดูได้จากคะแนนของปาตี้ลิสต์ กับ ส.ส.เขต ที่ได้ก็จะชัดเจนว่าพื้นที่ไหนใช้กระแส พื้นที่ไหนใช้กระสุน
แต่ถึงแม้ ส.ส. มีบทบาทสำคัญที่จะต้องทำงานในสภานิติบัญญัติ ผู้ว่า กทม. จะมีบทบาทในฝ่ายบริหาร แต่จะเปลี่ยนแปลงมหานครได้ “รัฐบาล” อาจจะต้องมีวิสัยทัศน์ ที่เข้ามาช่วยยกระดับการแก้ปัญหาเมือง อย่าง กทม. รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้นักท่องเที่ยว ประชาชน “อยากมาอยู่ ไม่ใช่แค่อยากมาเที่ยวเมืองหลวง”
“ไม่ใช่แค่ ส.ส. หรือแค่ ผู้ว่าฯ กทม. แต่ต้องเป็นวิสัยทัศน์ของ รัฐบาล ที่ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินบางส่วนกับพี่น้องประชาชน เช่น ระบบขนส่งมวลชนที่ คนรวยอยากใช้ คนจนเข้าถึงได้”
น.ต. ศิธา ทิวารี
เพราะถ้าพูดถึง กทม. ทุกคนก็ต้องนึกถึงความเป็นเมืองหลวงของประเทศ ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยว มาสัมผัสวัฒนธรรมแบบไทย ๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการโหวตติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่ คนอยากมาเที่ยว แต่ไม่อยากมาอยู่ สะท้อนว่า กทม. มีทุกอย่างดีทั้งหมด แต่การบริหารจัดการให้ทั้งหมดอยู่ได้ โดยที่ผู้คนรู้สึกเหมือนอยู่บ้านแต่ต้องมาเจอเรื่องจุกจิกหลายอย่าง ทั้งมลภาวะ รถติด น้ำท่วม ฯลฯ ทุกปัญหาเกิดขึ้นมาพร้อมกันก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ เสียเวลาทำงาน และปัญหาที่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ กทม.จริง ๆ คือ “ปัญหาจราจร”
“ถ้าผมมีเวทมนตร์ ผมอยากเสกให้ กทม. มีรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกเส้นทาง กรอบคิดที่ดีที่สุด คือ ต้องทำให้คนรวยยอมชึ้น คนจนสามารถขึ้นได้เพราะราคาถูก ดังนั้น ราคาต้องถูกลง ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเยอะขึ้น รถข้างล่างก็จะติดน้อยลง ปัญหามลพิษก็จะเบาบางลง…”
น.ต. ศิธา ทิวารี
กทม.มีสถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน แม่น้ำเจ้าพระยา มีทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่ยังขาดการวางผังเมืองที่ดี ที่ผ่านมาแทบไม่มีการประสานงานที่ดี หากทำได้จริงก็จะทำให้ กทม. เป็นเมืองในอุดมคติ
อยากให้การเมืองไทยเป็น “นกอินทรี” ไม่ใช่ “เสือ สิงห์ กระทิง แรด”
ศิธา เปรียบภาพการเมืองไทยในปัจจุบันเหมือน “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” แต่อยากเห็น การเมืองเป็นแบบนกอินทรี คือ รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำมาหากินได้ด้วยตัวเอง อยู่อย่างสง่างามเป็นอิสระ พอเป็น “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” ก็ทำอะไรไม่ได้ มีกรอบของผู้คุมอำนาจ ปัจจจุบันกรอบเหมือนกะลาครอบ สิ่งที่ได้กลับมา คือ คนดี ๆ ไม่กล้าเข้าการเมือง มีแต่พวกยอมเสี่ยงคุกตารางเพื่อได้ผลตอบแทนจำนวนมาก และเอาผลตอบแทนมาวนซื้อเสียง
“เวลานี้สังคมไทยกำลังถูกยกระดับการเมืองให้สูงขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกกดลงมาอีกเมื่อไหร่ ด้วยกลไกทางการเมืองที่มีในปัจจุบัน”