รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีบทบาทอย่างมาก
เราอยู่ในยุคที่ต้องการกัปตันที่เก่ง และระบบทั้งหมดต้องดี
อีกโจทย์ท้าทายว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ คือเรื่อง ‘เศรษฐกิจ’ ที่หลายพรรคกำลังวางแผนตระเตรียมแพ็กเกจนโยบาย อาสาเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แข่งขันกับนานาประเทศ ในวันที่ทัั้งเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเผชิญกับมรสุมรุมเร้า
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญก่อนการเลือกตั้ง ดร.ต้นสน–สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เปรียบเทียบว่า ประเทศไทยในตอนนี้คล้ายกับ “นักกีฬาสูงวัย” ที่อาจถูกลืมในสนามแข่งขัน จำเป็นจะต้องเร่งปรับตัวสู่การเป็นนักกีฬาที่ชาญฉลาด ใช้ศักยภาพร่างกายอย่างคุ้มค่า เพื่อไปแข่งขันกับนักกีฬาเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซียที่เปรียบเป็นนักกีฬาเต็มวัย เต็มศักยภาพ
ส่วนเรากำลังยืนอยู่จุดไหนในระดับนานาชาติ ฉากทัศน์ของประเทศไทยที่ต้องระวังอย่าให้ไปถึงจุดนั้น และการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เนื้อหอมต่อนักลงทุนต่างชาติมากน้อยแค่ไหน ร่วมวิเคราะห์ไปกับบทสัมภาษณ์พิเศษ ของ สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการบริษัท Sea Group
‘การท่องเที่ยว’ พยุงเศรษฐกิจให้เติบโต
สันติธาร เริ่มต้นวิเคราะห์จากภาพในระยะสั้น คือ การส่งออก อยู่ในช่วงขาลง เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ในขณะเดียวกันมันเปลี่ยนจากด้านอุตสาหกรรมมาเป็นด้านท่องเที่ยวที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่าไทยได้เปรียบเพราะการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของเรา เพราะฉะนั้นการฟื้นตัวของท่องเที่ยวจะช่วยเศรษฐกิจเราพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบเรื่องการเจริญเติบโตของไทยกับประเทศอื่น ๆ จะเห็นว่าปีนี้เป็นน้อยประเทศที่ดูเหมือนจะดีกว่าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โจทย์ด้านเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนจากที่เรามุ่งเน้นความสำคัญไปที่ เงินเฟ้อ เพียงอย่างเดียว มาสู่ความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในปีนี้ด้วย โจทย์ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีนี้จึงอาจต้องเพิ่มขึ้นเรื่องมาตรการ การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย อีกทั้งในปีนี้ประเทศจีนเริ่มกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่อเมริกาอยู่ในช่วยเหยียบเบรก ฉะนั้นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนมาทางเอเชียมากขึ้นในปีนี้
“การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่มาก โดยรวม ๆ แล้วมีสิ่งที่มาช่วยบาลานซ์กันอยู่ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่ามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำของการเติบโตมากขึ้น คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างการท่องเที่ยว จังหวัดท่องเที่ยวก็จะได้ประโยชน์มากแต่จะกระจุกตัวเป็นจุด ๆ ส่วนด้านอุตสาหกรรมหรือส่วนที่ไม่เกี่ยวกับท่องเที่ยวก็อาจไม่ค่อยเติบโตเท่าไหร่”
‘ไทย’ เหมือนนักกีฬาสูงวัย ต้องใช้สมองและเทคนิคมากขึ้น
สันติธาร ประเมินว่า ถ้าเราเป็นนักกีฬาเด็กเราอาจไม่ต้องระวังตัวมาก ไม่ต้องคิดเรื่องเทคนิค หรือกินอาหารสุขภาพตลอดเวลาเพราะร่างกายเราแข็งแรงมาก เปรียบเทียบประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้เช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย แม้ว่าข้อจำกัดด้านการลงทุนในประเทศเหล่านี้ยังมีอยู่มากไม่ต่างจากไทย แต่ข้อได้เปรียบคือประชากรในประเทศเหล่านี้ยังเด็ก ประเทศเติบโตปีละ 5-7 % ยังมีศักยภาพให้เติบโตอยู่มาก เหมือนนักกีฬาที่เด็ก ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้เต็มที่
ในขณะที่นักกีฬาที่แก่ตัวลง สมรรถนะร่างกายมันจะอ่อนตัวลง เราต้องเปลี่ยนเป็นผู้เล่นที่ฉลาดมากยิ่งขึ้น เราต้องรู้จักว่าเมื่อไหร่จะทะนุถนอมร่างกายอย่างไร รักษาสุขภาพอย่างไร ต้องใช้เทคนิคมากขึ้น สมองมากขึ้น ใช้กำลังอย่างเดียวไม่ได้แล้ว คนที่ทำด้านนี้สำเร็จอย่างสิงคโปร์ซึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนกันแต่เขาปรับตัวขึ้นเยอะ พยายามทำให้ตัวเองเป็น Global Hub ลดกติกาซ้ำซ้อนต่าง ๆ ทำให้การทำธุรกิจในประเทศง่ายมาก มันถึงเป็นเหตุผลว่าทำไม สตาร์ตอัป ต่าง ๆ กองทุนต่าง ๆ ไปตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ สตาร์ตอัปในไทยหลาย ๆ อันก็ไปจบที่สิงคโปร์ เพราะมีความง่ายในการหาเงินทุนทำธุรกิจ
ไทยเป็นนักกีฬาที่เข้าสู่สูงวัยแต่ยังไม่ได้ปรับตัวไปแบบสิงคโปร์ เรายังพึ่งบุญเก่า ๆ ฉะนั้นในโหมดของเราจำเป็นที่ต้องปรับตัว จากที่เราเคยชินว่าแต่ก่อนเคยเน้นใช้พละกำลังเพียงอย่างเดียว เช่น การที่เราอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีของโลกระหว่างทั้ง จีน อินเดีย และอยู่ตรงกลางของอาเซียน รวมถึงทรัพยากรที่เพียบพร้อม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดคน ทั้งหมดนี้เราจะพึ่งบุญเก่าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันจะค่อยๆหมดไปเรื่อย ๆ
“เราต้องปรับจากนักกีฬาที่เน้นพลังไปสู่นักกีฬาที่ฉลาดมากขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนที่ไทยต้องไป แต่ตอนนี้ไทยยังไม่ได้ไปทางนั้น และนี่คือความเสี่ยงที่เราจะเป็นนักกีฬาที่ถูกลืม ถูกโลกแซงไป ถูกตัวใหม่ ๆ แซงไป เราไม่ล้ม แต่วิ่งตามใครไม่ทัน เป็นนักกีฬาที่อยู่ในทีมแต่บทบาทน้อยลงเรื่อย ๆ นี่คือความเสี่ยงของเราตอนนี้”
รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง มีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน
สันติธาร มองว่า การเลือกตั้งสำคัญมาก ในอดีตนักลงทุนที่จะมาทำธุรกิจในเมืองไทยจะมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนรัฐบาลไม่สำคัญ เพราะเศรษฐกิจไปได้เพราะเอกชนนำ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่มีอยู่นานมาก ซึ่งผมมองว่ามัน ‘เคยจริง’ ในระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันมันไม่จริงอีกต่อไป
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในจุดที่เป็น Auto Pilot ได้แล้ว สมัยก่อนที่เราเป็นนักกีฬาเด็กนั้นทำได้ ไม่ต้องอาศัยบทบาทของรัฐบาลที่ต้องทำนโยบาย หรือปฏิรูปอะไรมากนักเพราะส่วนใหญ่มันยังไปของมันได้ อัตราการเติบโตยัง Auto Pilot ได้ แต่ปัจจุบันที่เรายังเจอปัญหาสังคมสูงวัย เราเริ่มขาดแคลนคน เรากำลังตามโลกไม่ทัน เราต้องปรับตัวอย่างมาก
ถ้าเราไม่ปฏิรูปสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ 1. การเจริญเติบโตจะช้าลง 2. ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น 3. ไม่ยั่งยืน คือไม่ยั่งยืนทางด้านการเงิน มีปัญหาหนี้สะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งระดับภาครัฐและครัวเรือน และความไม่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการปรับตัว
“รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีบทบาทอย่างมาก เราอยู่ในยุคที่ต้องการกัปตันที่เก่ง ทีมต้องเก่ง และระบบทั้งหมดต้องดี ถ้ากลับไปเปรียบประเทศเหมือนนักกีฬา เราต้องมีทีมโค้ชที่ดี นักโภชนาการที่ดี นักกายภาพบำบัดที่คอยดูร่างกายของเราไม่ให้เสื่อมเร็ว”
3 ฉากทัศน์ที่ไทยต้องระวัง และไม่อยากให้เกิดขึ้น !
สันติธาร วิเคราะห์ถึง 3 ฉากทัศน์ ที่ต้องระวัง ได้แก่ “ประเทศไทยที่ถูกลืม” บางคนอาจมองว่าเป็นฉากทัศน์ที่ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ บางคนเปรียบเปรยสถานการณ์นี้ว่าเป็นเหมือน การต้มกบ (กบจะไม่รู้ตัวว่าอยู่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิค่อย ๆ สูงขึ้น) คือไม่ได้มีวิกฤตอะไร แต่สุดท้ายมันค่อย ๆ ถูกลืม คือถูกคนอื่นแซงไป เมื่อก่อนเราบอกว่าเราแข่งกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ตอนหลังเรามาแข่งกับเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ต่อไปเราอาจจะกลายเป็นว่าแข่งกับกัมพูชาหรือเปล่า อันนี้คือสถานการณ์ที่ค่อย ๆ ถูกลืมไปเรื่อย ๆ ซึ่งคือสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด
“ไทยถูกถล่มด้วยทุนสีเทา” เราอยากให้คนเข้ามาลงทุนในไทยเยอะ ๆ แต่ในที่นี้อาจเป็นการลงทุนในรูปแบบที่เราไม่ต้องการ เพราะว่าตอนนี้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เนื้อหอม ตอนนี้มีปัญหาการค้าระหว่างอเมริกากับจีน เงินที่เคยลงทุนที่จีนย้ายมาอยู่ในอาเซียน แต่ทุนที่ย้ายมามีทั้งทุนที่ดี และทุนที่ไม่ดีซึ่งต้องระวัง เพราะทุนเหล่านี้วิ่งเข้ามาไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่อยู่ที่ว่าเราสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ดีแค่ไหน ซึ่งตอนนี้เราเริ่มมีให้เห็นแล้วว่าเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายและไม่ใช่คนไทยทำด้วยซ้ำ ซึ่งทุนเหล่านี้เข้ามาไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนไทยในประเทศเลยและเราก็ไม่สามารถควบคุมได้เพราะอยู่นอกเหนือกฎหมาย
“ไทยถูกถล่มด้วยภัยพิบัติ” เพราะประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆในการศึกษาว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบหนักมากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ และโจทย์ของการปรับตัวของเรายังค่อนข้างน้อย ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก เมื่อก่อนเราพูดถึงว่าเมืองไทยในน้ำมีปลาในนามีข้าว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไปคือ ในน้ำอาจจะไม่มีปลา ในนาอาจจะไม่มีข้าว และเกษตรอาจจะเป็นปัญหาใหญ่มากเพราะเป็นภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบหนักมากจาก Climate Change กระทบไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม น้ำแล้ง ถูกกระทบในแง่กำแพงภาษีของพืชที่สร้างมลพิษ หรือแม้กระทั่งว่ากรุงเทพฯ เองจะจมน้ำหรือไม่อันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่มาก ๆ
จาก 3 ฉากทัศน์ เราเล็งเห็นว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมีโอกาสที่จะเกิดฉากทัศน์เหล่านี้ได้ ดังนั้นต้องระวังอย่างมาก
5 ทักษะสำคัญสู่การเป็นคนทันโลกยุคดิจิทัล
ในฐานะ ‘นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย’ สันติธาร มองว่าสทักษะสำคัญที่จะพาคนไทยก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล นั้นควรจะต้องมี 5 ทักษะสำคัญได้แก่
1. การมีทักษะพื้นฐานในการเข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อความจำเป็นในอนาคต เพราะเมื่อเราพูดถึงโลกดิจิทัลไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานแทรกซึมอยู่ในทุกๆเรื่อง เช่น การเบิกเงินออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมี รวมถึงต้องมีภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันภัยทางออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กัน
2.การมีทักษะที่สามารถสร้าง Big Data ใหม่ ๆ หรือทำ Coding รวมถึงการพัฒนามนุษย์ให้ก้าวไกลกว่าระบบ AI หรือ Chat GPT ที่ชาญฉลาดขึ้นมาก เพราะฉะนั้นเราต้องมีการปรับตัว สร้างทักษะใหม่ ๆ ที่หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีทำตามไม่ได้ เช่น ทักษะกลุ่ม Creativity หรือการที่มีความเข้าอกเข้าใจกันและกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีนั้นทำได้ยากแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์
3. ทักษะการบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวกับโลกที่ไม่แน่นอนคือทักษะชีวิตที่สำคัญในโลกดิจิทัล โลกดิจิทัลไม่ได้หมายถึงดิจิทัลอย่างเดียวแต่หมายรวมถึงความรวดเร็ว เป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ที่อยู่ดี ๆ อาจจะเกิดเงินเฟ้อขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือมีสงครามในที่ต่าง ๆ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทักษะทางด้านการปรับตัว การบริหารความเสี่ยงสำคัญมากขึ้นเยอะในยุคดิจิทัล
4. ทักษะการล้มแล้วลุกอย่างไม่ยึดติดกับความล้มเหลวเก่า ( Growth mindset ) สิ่งนี้สำคัญเพราะทางที่เลือกในบางครั้งอาจจะผิด พอผิดแล้วหลายคนยังยึดติด ไม่ยอมเปลี่ยนไม่ยอมปล่อยยึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ มันทำให้เปลี่ยนทิศทางไม่ได้เพราะมันขาดสิ่งที่เรียกว่าความสามารถในการปรับตัว
5. ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) เพราะทักษะทั้ง 4 ข้อข้างต้นเป็นการช่วยเหลือตนเอง แต่ทักษะของความเป็นผู้นำคือเราช่วยเหลือผู้อื่น คนในครอบครัวคนในสังคม ช่วยดึงคนอื่นให้ไปด้วยกันได้
ทักษะทั้ง 5 นี้ ไม่สามารถผลักดันได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยองค์กร หรือภาพใหญ่คือรัฐบาลที่คอยผลักดันนโยบายให้ทักษะพวกนี้อยู่ในตัวของคนไทยทุกคน
3 การเชื่อมโยง สู่ภาพอนาคตประเทศไทยที่ใฝ่ฝัน
ประเด็นสุดท้ายสำหรับภาพอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้นจำเป็นต้องเร่งสร้าง 3 เชื่อม คือ
เชื่อมโลก : อยากเห็นประเทศไทยเชื่อมโยงกับระดับโลกมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐกิจที่ดึงดูดกลุ่มคนเก่ง ๆ หรือทุนที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และโอกาสให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันคนไทยก็ออกไปต่างประเทศเพื่อไปหาประสบการณ์ เป็น Global Citizen แล้วนำความรู้ประสบการณ์กลับมาช่วยเหลือประเทศต่อไป
เชื่อมอนาคต : อยากเห็นคนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้นทุกระดับทุกที่ และอีกแง่หนึ่งคือการเชื่อมกันของรุ่น (Generation) ซึ่งปัจจุบันช่องว่างระหว่างวัยเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งพอสมควร เราเชื่อว่าถ้าเราจะเชื่อมอนาคตได้เราต้องฟังคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้นเพราะพวกเขาเหล่านี้จะอยู่กับโลกในอนาคตที่เราสร้างหรือทำลาย เพราะฉะนั้นรุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะสำคัญมากต้องรับฟังกันใหม่มากขึ้นและให้บทบาทในการตัดสินใจถึงโลกอนาคตของเราร่วมกัน
เชื่อมโอกาส : การสร้างโอกาสสำหรับคนตัวเล็ก หรือการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เพียงแค่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส เพราะหลายคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสดี ๆ ในชีวิตได้ ทำอย่างไรให้คนตัวเล็กก็มีโอกาสชนะ ทำอย่างไรให้คนตัวเล็กก้าวขึ้นมาเป็นระดับแชมป์ได้ เพราะการมีโอกาสจะทำให้ทุกคนมีประสิทธิภาพและเห็นความหวังในทุก ๆ ชีวิต สุดท้ายจะสามารถพัฒนาประเทศเพราะทุกคนรู้สึกว่าต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน