คุยกับ “ชิ สุวิชาน และ ครูโจ บฤงคพ”
ผู้ร่วมบอกเล่าเรื่องราวของ “เรา” ในงาน “ดนตรีชาติพันธุ์”
ดนตรีในสวน ตอน “ดนตรีชาติพันธุ์” นับเป็นครั้งแรกของการผสมผสานบทเพลง ระหว่างวงดนตรีจาก 4 กลุ่มชาติพันธุ์ “ลีซู ดาราอาง ชาวเล และปกาเกอะญอ” ที่รังสรรค์เข้ากับการบรรเลงของวงออร์เคสตรา เพื่อสื่อความหมายของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เฉลิมฉลองในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก (International Day of the World’s Indigenous Peoples)
“ชิ สุวิชาน” หรือ ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ อีกด้านหนึ่ง เขาทำงานวิชาการด้านการจัดการภูมิวัฒนธรรม ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหนึ่งในตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมเล่นดนตรีในงานนี้ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการข้าวแลกปลา ในช่วงสถานการณ์การบาดของโควิด-19 ส่วน “ครูโจ” บฤงคพ วรอุไร จากวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะผู้ควบคุมวง ‘นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา’ คือผู้ที่นำพาวงออร์เคสตราจาก จ.เชียงใหม่ เข้ามามีส่วนสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญผ่านงานดนตรีชาติพันธุ์ในสวนกลางกรุง
ถ้าดนตรีคือภาษาสากล พวกเขาก็คือคนเท่าเทียมกัน
ชิ สุวิชาน กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับตัวเขาว่า เริ่มต้นจากการที่เชื่อมั่นว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะใช้สื่อสาร ทำความเข้าใจเรื่องราวของคนสู่คน และศิลปะที่จะทรงพลังมากกว่า คือถูกสื่อสารจากเจ้าของศิลปวัฒนธรรมนั้นเอง ในการแสดงครั้งนี้ จึงประกอบด้วยนักดนตรี ที่มีทั้งพี่น้องชาติพันธุ์ทางเหนือกลาง เหนือสูง ตะวันตก อีสาน และทางใต้ วิธีการ คือ ชวนพี่น้องชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคทุกพื้นที่ทั่วประเทศมานำเสนอบทเพลงของตนเอง ซึ่งนอกจากดนตรีวัฒนธรรมท้องถิ่น ไฮไลท์ในงานนี้คือมีวงออร์เคสตรามาร่วมด้วย เพื่อที่จะแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของ พหุวัฒนธรรมพี่น้องชาติพันธุ์กับสังคมเมือง
“ดนตรีมันสามารถเล่นด้วยกันได้ ทั้งจากชาติพันธุ์ที่ต่างกลุ่มกัน และดนตรีสากล เพราะดนตรีวัฒนธรรมคือสิ่งสากล ภาษาดนตรีคือสากล ภาษามนุษย์ สื่อนัยคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน บนฐานของความเท่าเทียม ในทางสังคมเรียกสิทธิมนุษยชน”
อาจารย์ชิ คาดหวังว่าสิ่งที่พวกเขาคิด วิธีการนำเสนอ สื่อสารทั้งภาพ เสียง และเนื้อหาจากบทเพลง ที่ตั้งใจสื่อถึงสาธารณชน ให้คนกรุงเทพฯ ได้ชม ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจ ศิลปวัฒนธรรมจะทำให้คนเมืองและรัฐเข้าใจความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้มากขึ้น ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้หลักคิด 3 อย่าง คือ ความจริง ความดี ความงาม
“ความจริง คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตกับชนเผ่าพื้นเมือง มีทั้งความจริงที่โรแมนติก และความจริงที่ดรามาติก ความงาม คือสิ่งที่อยู่ในตัวเรา เพราะแต่ละชาติพันธุ์มีความงดงามแตกต่างกัน และทำให้ได้เห็นว่าแต่ละจังหวะของดนตรีมีความงามอย่างไร สุดท้ายคือ ความดี หมายถึงคุณค่าทางภูมิปัญญาที่เรามี ว่าเป็นอย่างไรบ้าง หวังว่าคนในเมืองน่าจะเข้าใจ ได้ยินเสียงของเรา ได้เห็นภาพของเรา และเข้าใจเรามากขึ้น”
ด้าน ครูโจ บฤงคพ วรอุไร ผู้ควบคุมและดูแลวง ‘นิมมาน สตรีท ออร์เคสตรา’ (Nimman Street Orchestra) เล่าต่อว่า เขารู้สึกชื่นชอบ ชื่นชม และอินกับดนตรีชาติพันธุ์อยู่แล้ว ด้วยความสนใจตั้งแต่แรก และทำให้ได้ทำงานเกี่ยวกับดนตรีชาติพันธุ์ ในช่วงแรกเน้นศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดนตรี เป็นการมองในเชิงศิลปะ แต่ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรม แต่ภายหลังได้ออกเดินทางกับอาจารย์ชิ และเรียนรู้ความเป็นดนตรีชาติพันธุ์ จึงรู้ว่าดนตรีเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตด้วย ประกอบกับการเดินทางที่ทำให้เห็นว่าชาติพันธ์ุมักอยู่ในพื้นที่ชายขอบของเมือง ไม่ค่อยมีพื้นที่ในเมือง ทำให้เขาและอาจารย์ชิ พยายามร่วมกันสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านการเล่นดนตรีด้วยกันมานานกว่า 20 ปี
“พอรู้ว่าจะมีงานเกิดขึ้นที่สวนลุมฯ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่จะมีดนตรีชาติพันธุ์จากหลากหลายกลุ่มมารวมกันกลางเมืองหลวง และได้รับการติดต่อให้เอามาผสมกับดนตรีอื่น ๆ อย่างออร์เคสตรา ก็ตื่นเต้นมาก เพราะปกติผมจะเล่นกับชาติพันธุ์ล้านนา แต่งานนี้จะพาเราออกไปไกลจากสิ่งที่คุ้นเคย”
แล้วทำไมต้องมีออร์เคสตรา? ครูโจตอบคำถามนี้ว่า ถ้าชาติพันธุ์เล่นกันเอง ก็จะเป็นเหมือนการเล่นตามวัฒนธรรมชนเผ่าดั้งเดิม และถ้าทำอย่างนั้น ชาติพันธุ์ก็ถูกมองว่าเป็นดนตรีชายขอบเหมือนเดิม แค่ย้ายพื้นที่จัดแสดงเข้ามาในเมือง เหมือนดูของในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสักแห่ง แต่งานครั้งนี้ ทำให้พวกเขามีพื้นที่แสดงออก และเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านดนตรีกับวงดนตรีสากลด้วย เป็นการแสดงออกร่วมกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และทำให้เป็นสากลมากขึ้น แต่เขายอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย มีความตื่นเต้น กังวลอยู่บ้าง
“น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีชนเผ่าบนดอย ประกอบกับการใช้ออร์เคสตราวงใหญ่ครั้งแรก ที่เล่นกับหลายกลุ่มในเวลาพร้อมกันครั้งแรก ยอมรับเลยว่ามีความตื่นเต้น มีความกังวล ว่าจะคุมไม่ได้หรือเปล่า ก็มีความกังวลนิดหน่อย เพราะเราก็ไม่มีเวลาที่จะซ้อมร่วมกันมากนัก (ใช้เวลาซ้อมร่วมกันก่อนวันงานจริงแค่วันเดียว) แต่ด้วยความที่สนิทสนมกับพี่น้องนักดนตรีชนเผ่าอยู่บ้าง วิธีการง่ายสุดคือให้ชาติพันธุ์ทุกกลุ่มส่งคลิปเพลงที่จะแสดงให้ดู ทางฝั่งนักดนตรีออร์เคสตราก็จะนำมาเรียบเรียงใหม่ตามหลักทฤษฎีดนตรี (บรรทัด 5 เส้น) ให้สามารถเล่นได้จังหวะเดียวกัน”
ชนนี้มีดนตรีกาล เป็นพลังแห่งการสื่อสาร เรื่องราวมวลชน
ในเพลย์ลิสต์การแสดงดนตรี มีทั้งหมดนับ 10 เพลง แต่เพลงที่อาจารย์ชิ ตั้งใจถ่ายทอดด้วยตัวเอง มี 2 เพลงพิเศษ คือ เพลงข่อดึเดอ และเพลงแบแล ว่าแต่สองเพลงนี้บอกเล่าเรื่องอะไรบ้าง…
อาจารย์ชิบอกว่า เพลงข่อดึเดอ ภาษาไทยแปลว่า คืนวันเก่า ๆ บทเพลงนี้พูดถึงเรื่องของ “คนปกาเกอะญอ” โดยเปรียบว่าเราคือฝักเครือเดียวกัน เป็นฝักเครือที่ประกอบด้วยหลายกิ่ง หลายก้าน หลายดอก หลายลูก ซึ่งการแปรเปลี่ยนพัฒนาการของธรรมชาติที่ทำให้เราเติบโต ขยับขยายงอกงาม แต่พอเริ่มเติบโต กลับมีการแบ่งแยกว่าส่วนนั้นส่วนนี้ของฝักเครือของใคร และพยายามใช้ประโยชน์ในส่วนของตนมากที่สุด เขาเปรียบฝักที่มีสีเขียว เป็นโลกทั้งใบ เมื่อคนบนโลกพยายามแก่งแย่งกันมากขึ้น ทำให้โลกร้องไห้ เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทำให้มนุษย์ก็ต้องเดือดร้อนไปด้วย เช่น ภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เดือนเมษายนมีอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเราต่างรับรู้ได้ว่า เดือดจริง ๆ แม้เพลงจะมีการเปรียบเทียบในเชิงนามธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือรูปธรรมที่เรารับรู้ได้
“เปรียบแกงฟักเขียวกับไก่สีขาว เป็น green economy culture คือการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว ที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะถ้าคิดแต่เศรษฐกิจที่ขูดรีด โลกจะไม่หยุดร้องได้ เราควรจะต้องกลับมากินขันโตกเดียวกัน ฝรั่งเรียก round table dialog (หรือการประชุมล้อมวงสนทนา) เพื่อที่จะร่วมกันบอกโลกให้หยุดร้องไห้”
นอกจากการเล่นดนตรีในสวนครั้งนี้ ยังมีกิจกรรมสาธิตการทำอาหารพื้นเมืองฟิวชัน จาก 5 ภาค มีกิจกรรมข้าวแลกปลา ซึ่งจะเป็นโอกาสในการชวนผู้คนมารู้จักวัฒนธรรมการกินขันโตก และอาหารพื้นถิ่นของชนเผ่าจริง ๆ ด้วย แลกเปลี่ยนกันทั้งคนดอย (ภาคเหนือ-อีสาน) คนเมือง (ภาคกลาง) และคนทะเล (ภาคใต้)
ส่วน เพลงที่สอง ชื่อเพลง แบแล ภาษากลางแปลว่า อร่อยมาก ๆ ภาษาใต้คือหรอยจังฮู้ ภาษาอีสานเรียกแซ่บอีหลี ภาษาโยนกคือลำแต้ เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ตั้งใจจะพูดถึงวิถีชีวิตของคนในป่าและความสัมพันธ์กับธรรมชาติว่า การอยู่ในป่าไม่ใช่ว่าไม่ใช้ประโยชน์จากป่าเลย เพราะมนุษย์ต้องกิน ป่าจึงต้องกินได้ ไม่ใช่อนุรักษ์อย่างเดียว ต้องมีทั้งต้นไม้และคน แต่จะกินหรือใช้ทรัพยากรอย่างไรไม่ให้หมด นั่นคือความสำคัญ ต้องอนุรักษ์ไป ฟื้นฟูไป กินใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งนั่นคือวิถีของคนในป่าอยู่แล้ว
กลับกัน การอนุรักษ์อย่างเดียว ใช้คำว่าอนุรักษ์โดยไม่เอาคน หรือเอาคนออกจากป่า ทำง่ายมากด้วยอำนาจ ใครเข้าไป จับขัง จับยิง อาจารย์ชิมองว่า แบบนี้จะทำให้คนไม่รักธรรมชาติ เมื่อคนไม่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ก็จะไม่มีความตระหนักว่าธรรมชาติเป็นประโยชน์ หรือมีความสำคัญ ไม่รู้ว่าธรรมชาตินั้นคือชีวิต ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามทำให้ธรรมชาติกับคนเป็นคนละเรื่องกับคนและชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เขากังวล
“เพราะเราดูแลธรรมชาติ เราจึงมีกิน มันคือ circular economy เพราะเราใช้ป่า เราจึงต้องดูแล ถ้าบอกว่าเราไม่ต้องใช้ ดูแลอย่างเดียว ถ้างั้นจะดูแลไปทำไม หรือกันคนออกจากป่า แต่วันดีคืนดี อนุญาตให้นายทุนใช้ได้ วันดีคืนดีทำป่าให้เป็นเหมือง เช่น อมก๋อย แม่ลาน้อย บ้านผมกำลังจะกลายเป็นเหมือง ถามว่าคนที่ทำเหมืองเคยปกป้องดูแลรักษาอะไรไหม?“
เนื้อหาของ เพลงแบแล จะบอกว่า เพราะเรากินปลา เราจึงต้องรักษาห้วย เรากินเขียด เราจึงต้องรักษาป่า เราอยู่บนดอย เราต้องกิน เราอยู่ในป่า เราต้องใช้ ไม่ให้ใช้ไม่ได้ แต่เรากิน เราใช้ และเรารักษา วันนี้พื้นที่สีเขียวจึงอยู่ในบ้านเรา “ขอให้เข้าใจเราเถอะ อย่าแยกเราออกจากป่า อย่าเอาป่าออกจากเรา เพลงพูดสิ่งนี้ ถ้าเราอยู่แบบนี้ เรากิน ใช้ รักษาที่บ้านเรา เป็นความยั่งยืน กินอิ่ม นอนอุ่น มื้อไหนก็อร่อยแน่”
ด้านครูโจ เล่าว่า หลังจากที่วงออร์เคสตราได้ฟังบทเพลงทั้งหมด ก็ทราบได้เลยว่าแต่ละเพลงมีสีสันที่ต่างกัน เมื่อเอามาผสมผสานกับดนตรีออร์เคสตรา และเมื่อมาแสดงในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งทุกอย่างต่างบริบทไปจากเดิม และสร้างสีสันให้กับเมือง สร้างความเป็นไปได้ในหลาย ๆ อย่างเมื่อคนในเมืองตื่นตัว
โดยปกติธรรมชาติ ดนตรีเป็นของสาธารณะ เป็นเรื่องงานสังคม ที่หลาย ๆ คนมารวมตัวกัน แต่พอทุกอย่างถูกมองเป็นธุรกิจ ดนตรีก็ถูกจับใส่ให้ห้องแสดง งานในครั้งนี้จึงเป็นการนำดนตรีกลับมาเป็นของสาธารณะ ให้ทุกคนได้ชม และเป็นการทำให้ดนตรีมีวิถีดั้งเดิมจริง ๆ
”ตัวนักดนตรี เจอกันในสถานที่ที่สนุกสนาน มีเพื่อน ๆ รอบ ๆ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะเป็นโอกาสที่ดี ของดนตรีที่หาฟังได้ยากจะมาแสดงให้ดูที่สวนลุมฯ สะดวกกับคนในกรุงเทพฯ ที่จะมาสัมพันธ์กัน และอยากชวนให้พี่น้องชนเผ่าในเมืองได้มาฟังเพลงด้วย หลายคนอาจมาจากหลายที่ มาอยู่ในกรุงเทพฯ อยากให้รู้ว่ามีเพื่อน ๆ ของเขาอยู่ อยากให้มีพี่น้องชนเผ่ามาเป็นทั้งคนแสดงและคนฟัง”
ครูโจ ย้ำว่า ทั่วโลก มีวงเครื่องดนตรีท้องถิ่น มีความหลากหลายเช่นกัน แต่ก็ยังยากที่จะเห็นการรวมตัวกันของดนตรีชนเผ่าและออร์เคสตรา เพราะมีความยาก ทั้งในเรื่องการจัดการ ต่างคนอยู่คนละกลุ่ม คนละที่ ดังนั้น งานนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีมาก
คนเมือง ในมุมมองของชาติพันธุ์
อาจารย์ชิ กล่าวว่า พลวัต โลกทัศน์ของสังคมไทยที่มีต่อชาติพันธุ์ ปริมณฑล ภูมิทัศน์ของสามคำนี้ ต้องบอกว่าตอนนี้สังคมไทยเห็นเรามากขึ้น จากที่เคยมองเราแต่ไม่เห็น หรือมองข้ามเรา แต่ปัจจุบัน มองเห็นเรามากขึ้น เห็นว่าอยู่ที่ไหน มองเห็นตัวตนของเราเป็นอย่างไร ได้ยินเสียงเราบ้าง แต่การที่ได้ยินเสียงเรา มีทั้งจากที่ได้ตั้งใจฟังจริง ๆ หรือได้ยินแบบบังเอิญว่าเสียงเราดังขึ้น เพราะมีคนช่วยเราส่งเสียงมากขึ้น ก็เลยทำให้ได้ยืนเสียงเรามากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับสมัยก่อน คือไม่มีคนสนใจจะฟังหรือได้ยินเลย
“การเข้าใจเราในอดีต ก็มีเข้าใจ แต่เข้าใจผิด ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนทำลายป่า คนต่างด้าวต่างแดน เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นโจร คนน่ากลัว เข้าใจว่าเราเป็นผู้ผลิตยาเสพติด ฯลฯ แต่สิ่งที่เปลี่ยน คือ มีคนเข้าใจมากขึ้นว่าไม่ใช่ทุกคนที่ค้ายา อาจจะมีบ้างแค่บางคน และคนเมืองก็มาร่วมทำด้วยนะ หลายคนเข้าใจเราถูกมากขึ้นผ่านการรับรู้ข้อมูล เริ่มเห็นว่าเรามีอัตลักษ์ทางวัฒนธรรม ขายได้ อย่างการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ยังไม่เข้าใจว่านอกจากขายได้ คุณค่าความหมายของวัฒนธรรมเราเป็นอย่างไร”
อาจารย์ชิ อธิบายว่า การก่อเกิดวัฒนธรรมของเรามาจาก ดิน-น้ำ-ป่า ทั้งหมดนี้หลอมเป็นจิตใจของเรา สังคมยังไม่เข้าใจในส่วนนี้ ยังเข้าไม่ถึงความสัมพันของวิถีชีวิตและวัฒนธรมของเรา ทั้ง คน-คน คน-ธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต-ธรรมชาติ บ้างถูกมองอย่างด้อยคุณค่า ด้วยการตัดความสัมพันและความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ออกไป
มารู้จักกัน มารับฟังบทเพลง เพื่อบรรเลงทำนองของ “เรา” ไปด้วยกัน
ดนตรีในสวน ตอน “ดนตรีชาติพันธุ์” ครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชผ.) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร The Active และ Thai PBS ในวาระ “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565”
นอกจากการแสดงข้างต้น ยังมีการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ วงคลีโพ, เสียงสาละวิน และรำตง จากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี รวมทั้งกิจกรรมชิมอาหาร 10 เมนูชาติพันธุ์จากเชฟชนเผ่าไททรงดำ มอญ ญัฮกุร โซ่ทวึง อูรักลาโว้ย มอแกลน ไทใหญ่ กะแย ปะโอ ลีซู ปกาเกอะญอ และอาหารชาติพันธุ์ฟิวชันจากเชฟมิชลินสตาร์ “เชฟโบ” ดวงพร ทรงวิศวะ ด้วย
พบกัน ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 19.00 น.
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมอื่น ๆ ได้ที่ https://bit.ly/3brD77g
ดูเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ได้ทาง https://theactive.net/topic/indigenous/