สำรับชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมือง กินอย่างเข้าใจธรรมชาติ สู่หนทางรับมือ ‘วิกฤต-ภัยพิบัติ’

รู้หรือไม่ ? ความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 80% บนโลกใบนี้ ถูกดูแลรักษาโดยชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่แค่ 5% ของประชากรโลก ซึ่งอยู่ในดินแดนชนเผ่าพื้นเมืองเพียง 15% เท่านั้น

ทำไม ? คนกลุ่มนี้ จึงดูแลรักษาจัดการทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ได้ จนทำให้เกิดเป็น พื้นที่ชีวิต พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติรุนแรง

ศักยภาพจากองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นพื้นเมือง ที่ว่ามา ไม่ได้ยกมาพูดกันเอง แต่ถูกยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลในระดับนานาชาติ รวมทั้งมีรูปธรรมจากพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งบางส่วนมาร่วมสื่อสารภายในงาน The Rotate  Festival  ตอน “มาเดาะ มากะ” ซึ่งหลายภาคส่วนร่วมกันสะท้อนมุมมอง ผ่านเวที Public Forum “สำรับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองกินอย่างเข้าใจธรรมชาติ” (Ethnic and Indigenous People Food System to Nurture Nature)

เนื้อหาเพิ่มเติม : ฟังดนตรี ล้อมวงกินข้าว งาน “มาเดาะ มากะ“ เทศกาลระบบอาหารชนเผ่าพื้นเมือง

ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD) เริ่มต้นสนทนาด้วยการยกเอาบทกวีทาปกาเกอะญอ “โอะ ที ถ่า พอ โอะ ที คี โอะ ฆู เหลาะ เม โบะ เม ชุย” ที่มีความหมายว่า “เราอยู่ต้นน้ำ คุณอยู่ปลายน้ำ อยู่แทนกันและกัน เลือกข้าวสารแล้วห่อข้าว เมื่อมาบ้านเรา เราเป็นคนรับผิดชอบ เมื่อกลับมาที่บ้านคุณ ซึ่งเป็นปลายน้ำ ก็พร้อมที่จะรับ” อันนี้เป็นทา ที่โยงใยระหว่างลุ่มน้ำ จากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ 

เพื่อจะโยงเข้าสู่ความหมาย ของ “มาเดาะ มากะ” คือ การเอามื้อ เอาแรง ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนตอบแทนกันและกัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว คำว่า “มาเดาะ มากะ” ใช้ในกระบวนการการทำไร่หมุนเวียนด้วย

“ไร่หมุนเวียน ไม่สามารถทำเดี่ยว ๆ ต้องใช้รูปแบบ มาเดาะ มากะ แลกเปลี่ยนแรงงาน ซึ่งการแลกเปลี่ยนแรงงานเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ทั้งระดับบ้าน และระหว่างหมู่บ้าน”

ประเสริฐ ตระการศุภกร

และสิ่งที่เป็นหัวใจของงาน มาเดาะ มากะ คือ ระบบอาหาร การให้คุณค่าอาหารของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เชื่อมโยงหลักคิดปรัชญาของปกาเกอะญอ ที่บอกว่า “เอาะ ที เก่อ ตอ ที เอาะ ก่อ เก่อ ตอ ก่อ” กินน้ำให้รักษาต้นน้ำ พึ่งพาป่า จงรักษาป่า คือ กินจาก ดิน น้ำ ป่า เราต้องกินแบบให้คุณค่า กินแบบเคารพและนบนอบ

“เจ๊ะ เปีย กึ๊ – บือ เต่อ เปีย กึ๊” คือ อีกด้านที่ต้องเผชิญในสถานการณ์ปัจจุบัน เงินเต็มกะชุ แต่ข้าวไม่เต็มกะชุ เป็นวิกฤติที่ละเลยข้าว แต่ยกย่องเงิน จนในที่สุดอดอยากมาก และต้องกลับมาหาพันธุ์ข้าวและปลูกกันใหม่

ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD)

กิน อยู่ จัดการองค์ความรู้ สู่ความหลากหลายทางชีวภาพ

เพราะฉะนั้นปกาเกอะญอ จะถือว่า “การกินอยู่ การผลิต เน้นที่อาหารการกิน มิใช่มุ่งเป็นเงิน เพราะฉะนั้น เรื่องเงินเรื่องทองเป็นเรื่องรอง”  

และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาหาร กลายเป็นประเด็นที่โลกกลับมาตื่นตัว เพราะว่าโลกกำลังแปรปรวน  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับโลก ทำให้สั่นสะเทือนเรื่องการกินอยู่ ซึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

ผอ.สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ย้ำว่า สิ่งที่ได้เจอะเจอในเวทีนานาชาติ อย่าง อนุสัญญา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มาตรา 8J  พูดชัดเจนว่า องค์ความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการจัดความหลากหลายทางชีวภาพของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ และจำเป็นต้องรักษา ขณะเดียวกันรัฐเอง ต้องส่งเสริมให้เกิดการผลิดอกออกผล ในการแก้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะที่ มาตรา 10C จะพูดถึงกฎจารีตประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นตัวกลไกหลัก ในการทำให้ การปกป้องรักษา การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้น

“ที่พูดแบบนี้ เพราะว่า มีนักวิจัย ที่เป็นนักศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก บอกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 80% ถูกดูแลรักษาโดยชนเผ่าพื้นเมืองที่มีจำนวนแค่ 5% ของประชากรทั่วโลก ในพื้นที่ดินแดนชนเผ่าพื้นเมืองเพียง 15% เท่านั้น จึงเริ่มมีการหยิบองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมือง มาเป็นกลไกขับเคลื่อน ให้โลกใบนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”

ประเสริฐ ตระการศุภกร

อย่าง IPBS หรือ องค์กรสหประชาชาติ ว่าด้วยการดูแลจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเวทีระหว่างรัฐบาล เรื่องการบริการความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2017 ได้ประกาศนโยบายหลัก ว่า องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมือง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น IPBS ต้องดำเนินกระบวนการส่งเสริมให้องค์ความรู้นี้ยังคงอยู่ และถูกพิทักษ์ ถูกขยายออกไปในการปฏิบัติ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น

‘คนกับป่า’ คุณค่าที่ยึดโยง พึ่งพากัน

เพื่อตอกย้ำศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองผ่านสายตาของนานาชาติ Phrang Roy Coordinator Indigenous Partnership for Agrobiodiversity and Food Sovereignty (TIP) Rome, Italy และเป็นตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง Khasi ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย สะท้อนว่า ปัญหาความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น หมู่บ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย หมู่บ้านทางตอนเหนือประเทศไทย ก็เจอกับน้ำป่าไหลหลากครั้งใหญ่ และที่สหรัฐอเมริกา ก็เจอกับพายุ ที่ทำลายบ้านเรือนเสียหายมหาศาล กระทั่งบริษัทประกัน ก็ยังปฏิเสธ ที่จะจ่ายค่าเยียวยาความเสียหายด้วย

Phrang Roy

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เห็นตรงกันว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือเรื่องจริง และส่งผลกระทบหนักมาก ๆ โดยหนึ่งในปัจจัยสาเหตุสำคัญ เกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพในสิ่งแวดล้อมที่หายไป จำนวนต้นไม้ที่ถูกตัดทิ้งไป จำนวนดิน สินแร่ ที่ถูกขุดขึ้นมาใช้

แต่ที่น่าสนใจ พบว่า การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพเกิดอย่างเร็วมาก แต่พื้นที่ที่ลดน้อยลงที่สุด หรือแทบจะไม่ลดเลย คือพื้นที่ที่เป็นชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง

ที่น่ากังวล คือเมื่อพูดถึงป่าธรรมชาติ ป่าดั้งเดิม ที่ต้องไม่มีใครไปรบกวน นำมาสู่แนวคิดว่า จะให้มีการอนุรักษ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องเอาคนออกจากพื้นที่ป่า ซึ่ง Roy เห็นว่า เป็นแนวคิดที่แย่ และอันตรายมาก อย่างกรณีของหินลาดใน และอีกหลาย ๆ ที่ คนอยู่กับป่าจริง ๆ ดูแลป่าจริง ๆ อยู่อย่างพึ่งพาอาศัย อยู่แบบแบ่งปันซึ่งกันและกันด้วย

“สิ่งที่ยึดเหนี่ยว ยึดโยงคนกับป่าด้วยกัน คือการมองเห็นคุณค่า คุณค่าการอยู่ร่วมกัน มองแบบการดูแล และแบ่งปันซึ่งกันและกัน เป็นหัวใจสำคัญในการเหนี่ยวรั้งทำให้คนพึ่งป่า ป่าพึ่งคน แต่จะทำให้ยั่งยืนได้ ควรมีกลไกระหว่างประเทศหลายตัว ๆ ที่ยอมรับการสนับสนุน ส่วนตัวมองว่า ที่ต้องทำและจำเป็นมากที่สุด คือ การให้ความสนใจ ยอมรับ หันไปมองคนที่อยู่กับป่า ที่ทำหน้าที่ดูแลปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ ในแต่ละพื้นที่ของเรา”

Phrang Roy

ความหลากหลาย คือ ตัวกระจายความเสี่ยง

สอดคล้องกับมุมมองของ Dhrupad Choudhury Advisor TIP, Rome and NESFAS, Northeast India, ผู้เชี่ยวชาญเกษตรบนพื้นที่สูง(ไร่หมุนเวียน) ในระดับเอเชีย พูดถึงการจัดงาน the rotate มาเดาะ มากะ ทำให้เห็นซุ้มการจัดแสดงอาหารที่หลากหลาย ทำให้ตั้งคำถามต่อไปได้ว่า

Dhrupad Choudhury

ประการที่ 1 เมื่อมีความหลากหลายแบบนี้ แล้วระบบการผลิตอาหารเหล่านี้เป็นอย่างไร เพราะหากเข้าไปในแต่ละซุ้ม จะเห็นว่า ระบบที่มาอาหาร  วัตถุดิบเหล่านี้ ไม่ได้มาจากระบบเชิงเดี่ยว แค่ระบบใดระบบหนึ่ง แต่มาจากชุมชนที่มีระบบการผลิตอาหารที่หลากหลาย ทั้ง ระบบเกษตรหลากหลาย การเพาะปลูก และที่เก็บหาจากธรรมชาติ

ประการที่ 2 ได้เรียนรู้ว่า ความหลากหลาย คือตัวกระจายความเสี่ยง

“จากการที่ชนเผ่าพื้นเมือง มีระบบการผลิตที่หลากหลาย ช่วยให้มีภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานมากขึ้นเวลาเจอวิกฤต ตรงข้ามกับการทำพืชเชิงเดี่ยว หรือระบบใดระบบหนึ่ง และบทเรียนสำคัญมากที่สุด คือแนวคิดแบบแบ่งปัน ชนเผ่าพื้นเมือง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก คือจะมีความแบ่งปัน ไม่เน้นปัจเจก เน้นหน้าหมู่ส่วนรวมส่วนร่วม”

Dhrupad Choudhury

และประการที่ 3  นำมาสู่สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามเรียนรู้ต่อไป ว่า เมื่อมีระบบการจัดการอาหารแบบนี้ มีรูปแบบการจัดการดิน บริหารทรัพยากร กฎ กติกา หรือจะเรียกว่า ธรรมาภิบาลในชุมชนอย่างไรบ้าง 

ดังนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้ 3 ประการ มีความหลากหลาย มีระบบการให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ ที่ควรจะยกระดับให้ถูกยอมรับ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ตอนนี้ มีหลายกลไกที่พูดถึงเรื่องนี้ ในระดับสากลเองก็ให้การยอมรับให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในทางปฏิบัติ ต้องกลับมาดูว่า จะทำอย่างไร ให้เกิดรูปธรรม กระบวนที่จะยอมรับ หรือต้องทำให้มีกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะสนับสนุน รูปแบบบริหารจัดการ รูปแบบวิถีแบบนี้ ทำกลไกเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม

‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ภูมิต้านทานเผชิญหน้าภัยพิบัติ

ชัยประเสริฐ โพคะ ผู้นำและปราชญ์ชาวบ้าน บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ยอมรับว่า ภัยพิบัติ น้ำป่าไหลหลาก ที่เกิดขึ้นกับชุมชนห้วยหินลาดใน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับ โลกใบนี้ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติที่ห้ามไม่ได้

ชัยประเสริฐ โพคะ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายคนอาจเสียใจ แต่ผมดีใจ เพราะมีความร่วมมือ และดีใจที่ธรรมชาติให้เราเรียนรู้ สิ่งใหม่ ๆจากสิ่งเก่า จะได้รู้ว่าคุณค่าธรรมชาติ เราต้องอ่านให้ถูก เขียนให้เป็น ถึงจะรู้คุณค่าธรรมชาติที่แท้จริง เป็นเรื่องราวที่บ่งบอกให้เราต้องมาเรียนรู้มากกว่านี้ ถึงจะอ่านได้ และเรียนเยอะกว่านี้ ถึงจะเขียนได้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้คนสาธารณชนรู้”

ชัยประเสริฐ โพคะ

ชัยประเสริฐ ยังกล่าวว่า คลิปน้ำป่าไหลหลากที่ห้วยหินลาดใน ทำให้หลายคนตั้งคำถาม แสดงความเห็นมาเยอะมาก มีการตอกย้ำเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่มีใครถูก หรือผิด เป็นสิ่งดี คือ ถ้าเราไม่โดน เราก็ไม่รู้ว่าธรรมชาติคืออะไร อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้แล้วว่า ธรรมชาติต้องให้เรารู้สิ่งเหล่านี้ 

บ้านห้วยหินลาดใน มีไร่หมุนเวียน มีป่า มีนา จึงชัดเจนว่า ไร่หมุนเวียน เป็นเรื่องอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และไร่หมุนเวียนที่ทำ จะมีการพักฟื้นไว้ 14 ปี ซึ่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำลายหรือส่งผลกระทบต่อไร่หมุนเวียนเลยซักแปลงเดียว อาหารไม่เสียหาย ทำให้ชุมชนรับมือสิ่งนี้ได้

“มีภัยพิบัติ ยังมีอาหารกิน ต่อให้มีคนที่ไม่เข้าใจจะมาซ้ำเติมว่าไม่ต้องไปช่วยเลย ก็ทำให้เห็นว่าชุมชนอยู่รอดได้ เรามีอาหาร เพราะว่าข้าว ในยุ้งข้าวก็มี ข้าวไร่ก็มี ในไร่มีหลายร้อยชนิด ป่าในพื้นที่วนเกษตร ยังเหลือมากกว่า 90% เป็นสิ่งที่ทำให้รับมือสิ่งเหล่านี้ได้ ผลกระทบในนี้แค่มาแล้วก็ไป ผมถือว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ถือว่าสร้างพลัง สร้างภูมิต้านทานให้กับชุมชน “

ชัยประเสริฐ โพคะ

กินอยู่ด้วย ‘ระบบธรรมชาติ’ วิถีแห่งความยั่งยืน

เช่นกันกับ ศิวกร โอ่โดเชา ผู้ริเริ่มต้นแบบธุรกิจชุมชน จากผลผลิตจากสวนคนขี้เกียจ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เล่าถึงที่มาที่ไปของสวนคนขี้เกียจ ว่า จริง ๆ แล้ว คนที่ริเริ่มสวนคนขี้เกียจ มาจากรุ่นพ่อ คือรุ่นพ่อเคยมีประสบการณ์จากการฟังคนที่จบเกษตรมา หรือคนที่พยายามาแนะนำว่า ต้องปลูกพืชเศรษฐกิจจึงจะมีรายได้ และความสำเร็จ

ศิวกร โอ่โดเชา


“ต้องใส่ปุ๋ยแบบนี้ ต้องใส่ยาฆ่าหญ้าแบบนี้ ต้องเก็บให้ได้หัวเท่านี้ เพื่อที่จะไปขายได้ราคาตามกำหนด แต่พอพ่อทำแล้วกลับไม่สำเร็จตามที่เขาว่าไว้ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ วันหนึ่งจึงสรุปบทเรียนว่า ทำไม ปู่ย่า ตายาย เขาไม่ทำ เขายังอยู่ได้ เลยหยุด เลยปล่อยสวนที่เคยทำตามที่คนอื่นแนะนำ  ให้เป็นธรรมชาติ อยากกินอะไรค่อยเอาเมล็ดไปหว่านเอา”

ศิวกร โอ่โดเชา

ศิวกร ยอมรับว่า เขาใช้เวลาเกือบ 40 ปี ปลูกไป ปล่อยไป วันนี้สวนที่พ่อปล่อยตามธรรมชาติ ต้นไม้ก็เอามาสร้างบ้านได้ เสลาหาฟืนไม่ต้องไปป่าชุมชนแล้ว ไปแค่ในสวน ก็ได้ใช้แล้ว แล้วมีพืชอาหารที่ปลูก มากกว่า 70 ชนิดเก็บกินตามฤดูกาล  มีแค่ตระกร้า 1 ใบ กลับมาทุกวันมีของให้กินทุกวัน เลยเป็นที่มาว่า ขี้เกียจแล้วได้กิน เลยใช้ชื่อสวนคนขี้เกียจ

และเมื่อเขากลับไปดู ภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่อยู่กับธรรมชาติ ใช้ 2 หลัก คือหลักที่ว่าเราเก็บหาของป่า เป็นการเก็บที่ไม่ได้ทำให้หมดไป เก็บแล้วเอาเมล็ดพันธุ์มาหยอดต่อทันที เลยทำให้สามารถเก็บได้เรื่อย ๆ ขยายได้เรื่อย ๆ

ต่อมาคือการเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียน โดยสังเกตวัฏจักรธรรมชาติ ฤดูกาล เช่น รู้จักว่าต้องตัดต้นไม้แบบนี้นะ ตัด 1  ต้น แล้วจะแตก 3 ต้น และเผาช่วงนี้ ต้นไม้จะไม่ตาย และก็ใช้วิธีการเผา เพื่อละลายธาตุอาหารไปอยู่ในดินเมื่อปลูกพืชแล้วจะงอกงาม เป็นการผสมผสาน เก็บหาและเพาะปลูก เราเรียนรู้กับธรรมชาติ ขี้เกียจแบบปกาเกอะญอ

“กลุ่มชาติพันธุ์ มักถูกมองเป็นคนขี้เกียจ ซึ่งเป็นวาทะกรรม ที่รัฐ หรือคนสร้างระบบอุตสาหกรรมตั้งขึ้น เพื่อบอกว่า ถ้าคุณขยันเท่านี้ คุณได้โอทีเท่านี้ ผลิตให้เยอะ นี่คือระบบอุตสาหกรรมตั้งขึ้นมา แต่ระบบธรรมชาติ บอกว่า เวลาคุณขยันมากไป ธรรมชาติไม่มีเวลาทำงานของมัน คุณเลยไปรบกวนธรรมชาติทั้งหมด แล้วบอกว่า คุณดี คุณสำเร็จ แต่จริง ๆ แล้วไปทำลายธรรมชาติ สร้างความสำเร็จแบบที่คุณคิด อันนี้ทำให้ธรรมชาติลำบาก”

ศิวกร โอ่โดเชา

ส่งต่อ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว

ปิดท้ายกันที่ หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ผู้ใหญ่บ้านห้วยอีค่าง จ.เชียงใหม่ และ อดีตประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย สะท้อนบทบาทของผู้หญิง ผ่านเรื่องราวของป่าผู้หญิง ซึ่งจริง ๆ แล้วชาวปกาเกอะญอ มีการแบ่งโซนป่าที่หลากหลาย ตามองค์ความรู้ ภูมิปัญญา เช่น เกอะเนอหมื่น หรือ ป่าผู้หญิง และ เกอะเน่อพา หรือ ป่าผู้ชาย 

หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง

โดยย้ำว่าที่พูดถึงป่าผู้หญิง ไม่ได้เป็นการปิดกั้นผู้ชายไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม แต่เราใช้พื้นที่ของเกอะเน่อหมื่อ บอกเล่าถึงบทบาทผู้หญิง

“โดยเฉพาะบทบาทการจัดการอาหาร บทบาทการทำระบบเศรษฐกิจสีเขียว บทบาทถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนรุ่นหลัง รวมถึง การสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่กลับมาอยู่ในชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทผู้หญิงในอดีต จะมีบทบาทในครัว เป็นธนาคารอาหารของบ้าน ของโลกด้วย มีบทบาทสูง และที่มาออกร้าน การทำอาหารให้ชิม ให้ช๊อป บทบาทตรงนี้เอง สามีหรือผู้ชายในชุมชนก็มีส่วนร่วม คือการเปิดพื้นที่สนับสนุน เปิดให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น เป็นรายได้สนับสนุนลูกหลานที่ไปเรียนหนังสือ”

หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง

แม่หลวง หน่อแอริ ยังย้ำว่า ป่าผู้หญิงเป็นตัวเชื่อมโยง ใช้พื้นที่เศรษฐกิจสีเขียว ใบไม้ เปลือกไม้ ราก ที่ใช้แล้วป่าไม่หายไม่ตาย และยังมีการปลูกเพิ่ม ปลูกทดแทน อยู่ร่วมกันให้สมดุล ใช้พื้นที่ป่าผู้หญิง เชื่อมเศรษฐกิจ เชื่อมองค์ความรู้ผู้หญิง ออกมาเป็นผลผลิตที่หลากหลาย จากองค์ความรู้ สืบทอด และแบ่งปัน

“รู้สึกประทับใจ ที่คนมาร่วมงานมีความสุข ปลื้มและดีใจที่ทุกคนได้เห็นวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง และหลายคนที่ได้พูดคุยกัน ก็สนใจป่าผู้หญิงด้วย ว่าป่าผู้หญิงหน้าตาเป็นยังไง อยู่ไหน ซึ่งเราก็มีความสุข เราอยากให้คนอยู่ในเมืองเข้าใจ และได้ไปสัมผัสป่าผู้หญิงถึงชุมชนเรา”

หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง

ถึงตรงนี้ น่าจะพอได้คำตอบ ถึงคุณค่าของกลุ่มคนที่มีเพียง 5% ของประชากรโลก แต่สามารถดูแลรักษาทรัพยากร ใช้องค์ความรู้จัดการวิถีความเป็นอยู่ จนนำไปสู่การสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร หัวใจสำคัญในยุคที่โลกเผชิญภัยพิบัติ และความเปลี่ยนแปลง

ไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะต้นทุนของชุมชนชาติพันธุ์ที่มีอยู่ กำลังสะท้อนศักยภาพที่บ่งชี้ถึงโอกาส และทางออกให้กับการรับมือโลกที่อยู่ท่ามกลางวิกฤต

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ