“กินไป คุยไป” เมื่ออาหารสื่อสารเรื่องราวชนเผ่าพื้นเมือง

ยกสำรับชาติพันธุ์ ผ่านมื้อกลางวัน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ชวนรู้จัก “ต่าพอเพาะ” และ “หลาจือแป้แป้” 2 จาก 9 เมนูชาติพันธุ์ ที่ถูกนำขึ้นสำรับเสิร์ฟให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้ลิ้มลอง ระหว่างลงพื้นที่พบตัวแทนชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ในสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จ.เชียงใหม่ เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย. 2566)

นี่เป็นโอกาสไม่กี่ครั้ง ที่ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะอย่าง “กลุ่มชาติพันธุ์” จะได้กระทบไหล่บุคคลสำคัญ พวกเขาบอกว่า นี่เป็นครั้งแรก ที่ได้เข้าพบแบบใกล้ชิดกับว่าที่นายกฯ คนดัง ที่กำลังอยู่ในกระแสและถูกจับตา อาจเพราะภาพลักษณ์ที่ประทับใจผู้คนในโลกโซเชียล โดยเฉพาะการชอบชิมรสเมนูอาหารต่าง ๆ ด้วยความเป็นกันเองและเรียบง่าย อย่างภาพกินซอยจุ๊ ร้านลาบ หรือกินไข่ต้มร้านรถเข็นข้างทาง ทำให้ถูกมองว่าเป็นคนที่ติดดิน กินง่าย อยู่ง่าย เข้าได้กับทุกคน

การเดินทางมาพบกลุ่มชาติพันธุ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ ชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ จึงพร้อมใจทำเมนูอาหารที่พวกเขาคัดสรรวัตถุดิบและความใส่ใจในการปรุงไว้ต้อนรับ ทั้งหมด 9 เมนู  เช่น ส่าจ๊อย เมนูชาวลาหู่, ต่าพอเพาะ ของชาวกะเหรี่ยง, โอ่ปะโซ ยำผักกาดดอยอินทรีย์, โต๊กสะเบื้อก ของชาวละเวือะ, ต้มไก่ดำสมุนไพร ของชาวม้ง, ต้มไก่สมุนไพรว่านค้างคาวดำ น้ำพริกมะเขือเทศ และข้าวทิพย์ ของลีซู รวมถึง ลิ้นจี่ จากชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ เพื่อต้อนรับว่าที่นายกฯ และคณะ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการเตรียมทำอาหารเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองตามประเพณี แต่ครั้งนี้พวกเขาตั้งใจให้อาหารเป็นสื่อกลางของการสื่อสารเรื่องราวชาติพันธุ์

“อาหารชาติพันธุ์” สื่อกลางของการสื่อสารเรื่องราวชนเผ่าพื้นเมือง

อย่างเมนู “ต่าพอเพาะ” หรือ ข้าวเบ๊อะ ข้าวต้มเติมเนื้อสัตว์และสารพัดผักตามฤดูกาล เช่น ผักกาด พริก มะเขือ หยวกกล้วย นอกจากเป็นเมนูที่กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งใจทำขึ้นในโอกาสพิเศษต้อนรับแขกที่มาเยือน เมนูนี้ยังแฝงไปด้วยคำสอนและความหมายที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ในการเตรียมพร้อมรับมือหากต้องประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติต่าง ๆ เพราะเมื่อข้าวมีน้อย หุงไม่พอกิน การต้มรวมกับพืชผักวัตถุดิบต่าง ๆ จะทำให้มีปริมาณมากขึ้น กินอิ่มเพียงพอทั่วถึง ที่สำคัญทำให้เห็นถึงคุณค่าของข้าว อาหาร และทรัพยากรที่กลุ่มชาติพันธุ์ช่วยกันดูแล

สุพจน์ หลี่จา กรรมการบริหารกิจการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศ และนายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ หนึ่งในตัวแทนที่ร่วมล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกับพิธา บอกว่า เพราะมิติของอาหารไม่เพียงแต่สะท้อนศักยภาพ ความมั่นคงในชีวิต สุขภาพ ความสัมพันธ์ของผู้คนกับธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเข้ามาลดทอนศักยภาพ ทั้งการขาดสิทธิในการจัดการร่วม ทั้งที่ดินและทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งจากการพูดคุย ว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ดูมีความเข้าใจมาก ๆ ในเรื่องราวและปัญหาต่าง ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญอยู่ 

“คุณทิมบอกว่า อาหารชาติพันธุ์ เป็นทั้งมิติสำคัญ ให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้ผู้คนรู้จักและเชื่อมไปสู่การท่องเที่ยวได้ ที่สำคัญคือการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ซึ่งจากการพูดคุยกัน เขาดูสนใจ และยังย้ำว่าจะเป็นนายกฯ ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์“ 

สุพจน์ หลี่จา และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

โดยว่าที่นายกฯ กินทุกเมนู พร้อมทั้งเอ่ยชมอร่อยและชอบทุกเมนู ซึ่งเมนูที่ถึงขั้นอุทานว่า “ตื่นเลย แซ่บมาก ชอบมาก“ คือเมนู “น้ำพริกมะเขือเทศ“ หรือ หลาจือแป้แป้ ซึ่งก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ประทับใจและมีความหวังมาก

นอกจากอาหาร 9 เมนู ที่อยู่ในสำรับต้อนรับว่าที่นายกฯ ยังมีอีกหลากหลายเมนูชาติพันธุ์ ที่ The Active รวบรวมมาแนะนำให้ได้รู้จัก


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ